หมายเหตุ: ชื่อบทความเดิม ’ “ใครถอยและใครทน พิสูจน์ได้เมื่อภัยมา”: ตอบจดหมายกรณี นิติราษฎร์-ครก.112 ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล
เรียน พี่เสก ที่นับถือ
ผมอ่านจดหมายชี้แจงกรณี “นิติราษฎร์-ครก.112” ของพี่เสกด้วยความรู้สึกเศร้าใจมากกว่าอย่างอื่น ความจริง ผมว่า พี่เสก คง “ชรา” แล้วอย่างที่พี่เสกพูดถึงตัวเองในจดหมายจริงๆ จึงตัดสินทำอะไรที่ไม่ควรทำเช่นนี้ ที่ในระยะยาวมีแต่จะเป็นการลดทอนชื่อเสียงเกียรติภูมิและฐานะทางประวัติศาสตร์ของพี่เสกลงไปอีก
ก่อนอื่น ใครที่ได้อ่านจดหมายของพี่เสกฉบับนี้ ก็ยากจะหลีกเลี่ยงอดคิดไม่ได้ว่า ที่พี่เสกเพิ่งมาออกจดหมายฉบับนี้ – สองสัปดาห์หลังจากมีการประกาศชื่อผู้ร่วมลงนามสนับสนุนร่างแก้ไข 112 ของ นิติราษฎร์ (ซึ่งรวมชื่อพี่เสกอยู่ด้วย) ก็เพราะหลายวันที่ผ่านมา มีกระแสโจมตี “นิติราษฎร์” อย่างหนัก ซึ่งนับเป็นเรื่องน่าเสียใจว่า “เสกสรรค์ ประเสริฐกุล” ผู้เคยนำมวลชนลุกขึ้นสู้อย่างกล้าหาญไม่ถอย เมื่อ 40 ปีก่อน (ในท่ามกลางเพื่อนรุ่นเดียวกันหลายคนที่หวั่นไหวกับการขู่ของอำนาจทหารฟัสซิสต์) กลายมาเป็นคน “ใจเสาะ” อ่อนไหวง่ายกับกระแสโจมตี ที่ทั้งหมด มีแต่เสียงคำรามแบบป่าเถื่อน ไม่มีร่องรอยของภูมิปัญญาอยู่เลยนี้ ไปได้เสียแล้ว
ความจริง กระแสโจมตีในขณะนี้ พุ่งเป้าไปที่นิติราษฎร์เท่านั้น เรียกว่าไม่มีการกล่าวถึงคนอื่นๆที่ร่วมลงนามเลย อย่าว่าแต่พี่เสกเลย แม้แต่คนที่ใกล้ชิดหรือมีท่าทีสนับสนุนนิติราษฏร์มากกว่าพี่เสกหลายเท่า เช่น อาจารย์ชาญวิทย์ หรือ อาจารย์นิธิ (ที่พูดในงานเปิดตัวด้วย) ก็ยังเรียกว่าไปไม่ถึง ก็แล้วทำไมพี่เสกจะต้อง “ร้อนตัว” ออกจดหมายมาชี้แจงแบบนี้เล่า?
ผมเชื่อว่า ทุกคนตระหนักดีว่า ในการรณรงค์ที่ใช้รูปแบบร่วมลงชื่อกันมากๆ เป็นร้อยคนขึ้นไปเช่นนี้ แต่ละคนย่อมอาจจะมีเหตุผลเฉพาะของตัวเอง และไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกับคนที่เป็นผู้ริเริ่มทั้งหมด แต่อย่างน้อย ในฐานะที่แต่ละคนเป็นผู้ใหญ่มีวุฒิภาวะและวิจารณญาณกันแล้ว (อย่าว่า “ชรา” แล้ว อย่างพี่เสก) การลงชื่อ หรือยอมให้ชื่อของตัวเองรวมเข้าไปด้วย ย่อมมาจากการต้องเห็นด้วยกับข้อเสนอเช่นนั้น ไม่ว่าจะมีเหตุผลหรือมุมมองเฉพาะของตัวเองอย่างไร ดังนั้น จะว่าไปแล้ว ก็ไม่เห็นจะมีความจำเป็นที่แต่ละคนจะต้องออกมาชี้แจงเลย ยิ่งในเมื่อกระแสโจมตีในกรณีนี้ หาได้พุ่งเป้าไปที่ใครโดยเฉพาะ (นอกจากนิติราษฎร์) ที่แน่ๆ ผมก็ไม่เห็นกระแสโจมตีนี้ ไปแตะถึงตัวพี่เสกเลย
แต่ตอนนี้ พี่เสกกลับรู้สึกว่าจำเป็นต้อง “ชี้แจงจุดยืนของตัวเองให้กระจ่าง” โดยอ้างว่า ที่ลงชื่อไปนั้น “เนื่องจากถูกขอร้องโดยผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ และผมเองก็ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่อยู่ในกรอบของการปฏิรูปกฎหมาย มีเนื้อหากลางๆ ออกไปในแนวมนุษยธรรม และที่สำคัญคือยังคงไว้ซึ่งจุดหมายในการพิทักษ์รักษาสถาบันสำคัญของชาติ”
ก่อนอื่น ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า หลังๆ ดูๆ พี่เสกจะชอบ “ออกตัว” เวลาทำอะไรที่มีลักษณะเป็นประเด็นถกเถียง (controversial) ในลักษณะนี้คือ “ถูกผู้ใหญ่ขอร้อง” คราวที่พี่เสกไปรับตำแหน่งในคณะกรรมการปฏิรูป ก็บอกว่า “หนึ่ง-ผมเกรงใจท่านอดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน ที่อุตส่าห์เชิญผมไปร่วมงาน” (ใน คำสัมภาษณ์นิตยสาร “ค คน”) พี่เสกก็แก่มากแล้ว ทำไมจะต้องคอย “ออกตัว” (แก้ตัว) ในลักษณะนี้ให้เด็กๆ อายุคราวหลานหลายคนที่เขาร่วมลงชื่อครั้งนี้รู้สึกสมเพชด้วยเล่า? พวกเขาเด็กปานนั้น ยังไม่เห็นมีใครเคยบอกว่าที่ทำไปเพราะคนเป็นผู้ใหญ่กว่าขอให้ทำเลย
แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือการออกมาชี้แจงด้วยเหตุผลที่เห็นได้ชัดว่า ต้องการให้ตัวเอง “ดูดี” ว่า ไม่ได้เป็นพวก “ล้มเจ้า” แบบที่กระแสโจมตีอันป่าเถื่อนกำลังกล่าวหา “นิติราษฎร์” ในขณะนี้ ไม่เช่นนั้น ทำไมจะต้องอุตส่าห์ใส่ข้อความว่า “ที่สำคัญคือยังคงไว้ซึ่งจุดหมายในการพิทักษ์รักษาสถาบันสำคัญของชาติ” ด้วย มิหนำซ้ำ ในข้อความที่ตามมา ยังอุตส่าห์เขียนในลักษณะ “เป็นนัยๆ” ในลักษณะที่ฝรั่งเรียกว่า innuendo (พูดเป็นนัยๆ ให้เสียหาย) ว่า “ผมต้องขอยืนยันว่าผมไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับนักวิชาการกลุ่มนี้ และยิ่งไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับข้อเสนอในประเด็นอื่นๆ ที่กลุ่มดังกล่าวได้ประกาศออกมาอย่างต่อเนื่อง”
คือถ้าพูดกันด้วยภาษาชาวบ้านๆ ใครที่อ่านหนังสือไทยได้ ก็เข้าใจว่า พี่เสกกำลังบอกเป็นนัยว่า “ผมจงรักภักดีนะ ผมไม่เกี่ยวข้องกับพวกนั้น (นิติราษฎร์) เลย ที่พวกนั้นออกมาในแนวไม่จงรักภักดี (คือไม่มี “จุดหมายในการพิทักษ์รักษาสถาบันสำคัญของชาติ” เหมือนผม) ผมไม่รู้ไม่เห็นด้วยนะ” – คือถ้าไม่ให้ตีความเช่นนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะอธิบายการที่พี่เสกต้อง “ร้อนตัว” มาบอกว่า ไม่เกี่ยวข้องกับนิติราษฎร์ได้ยังไง ในเมื่อ (ก) ในประเทศไทย ไม่เห็นมีใครเคยบอกว่าพี่เสกเกี่ยวข้องกับนิติราษฎร์ และ (ข) ถ้า “ข้อเสนอในประเด็นอื่น” ที่นิติราษฎร์ “ประกาศออกมาอย่างต่อเนื่อง” เป็นเรื่องอื่น ไม่ใช่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ (ที่พวกเขาเสนอให้ปฏิรูปตามอารยประเทศประชาธิปไตย) พี่เสกจะต้องออกมา “ชี้แจง” เช่นนี้ และต้องพาดพิงถึง “ประเด็นอื่นๆ ที่กลุ่มดังกล่าวได้ประกาศออกมาอย่างต่อเนื่อง” ด้วยหรือ?
ผมเสียใจที่พี่เสกยิ่งแก่ยิ่งกล้าหาญน้อยลงๆ ถ้าพี่เสกเห็นว่า สิ่งที่นิติราษฎร์ “ประกาศออกมาอย่างต่อเนื่อง” เป็นอะไรที่ไม่ดีต่อสถาบันกษัตริย์ (ที่พี่เสกปวารณาจะ “พิทักษ์รักษา”) ก็ควรกล้าที่จะอธิบายออกมาตรงๆ ไม่ใช่ใช้วิธี innuendo แบบนี้
น่าเสียใจด้วยว่า ในคำสัมภาษณ์ “ค คน” พี่เสกได้พูดถึง “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” โดยเสนอว่า ลักษณะ “โครงสร้างแบบอำนาจนิยม” ของ “ชนชั้นนำ” ในปัจจุบัน “เป็นโครงสร้างอำนาจเดียวกับสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์” จริงอยู่ พี่เสกกำลังโจมตีนักการเมือง ซึ่งเป็น “ผู้ใช้อำนาจการปกครอง [ในปัจจุบัน] ไม่ใช่พระมหากษัตริย์เหมือนแต่ก่อน” (พี่เสกพูดต่อด้วยคำที่เบาลงมาด้วยว่า “หรือบางทีก็เป็นผู้นำกองทัพ”) แต่ในเมื่อพี่เสกกล่าวว่า “โครงสร้าง” การใช้อำนาจปัจจุบันซึ่งพี่เสกวิพากษ์นั้น “แทบจะเหมือนเดิมทุกประการ” กับสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็ย่อมหมายความว่า พี่เสก ไม่เห็นด้วยกับสมบูรณาญาสิทธิราชย์เช่นกัน แต่ไฉน พี่เสกจึงมายอมค้อมหัวให้กับกระแสโจมตีนิติราษฎร์ในขณะนี้ ที่มาจากอุดมการณ์และวิธีคิดแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างชัดเจนด้วยเล่า?
วินาทีแรกที่ผมอ่านจดหมายของพี่เสกจบ ผมนึกถึงกาพย์ของจิตร ภูมิศักดิ์ ท่อนนี้ ขึ้นมาทันที
หนทางพิสูจน์ม้า และเวลาพิสูจน์คน
ใครถอยและใครทน พิสูจน์ได้เมื่อภัยมา
ด้วยความเศร้าใจจริงๆ
สมศักดิ์ เจียมธีรส
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar