söndag 11 september 2016

2 ขั้วทยอยร่วง ระทึก…ศึกการเมือง สิ้นสุดแล้ว…เหลือใคร?

2 ขั้วทยอยร่วง ระทึก...ศึกการเมือง สิ้นสุดแล้ว...เหลือใคร?

ความขัดแย้งของบุคคล กลุ่มคน รวมไปถึงมหาชนในระยะ 10 ปี
ที่ผ่านมากำลังคืบเคลื่อนเข้าสู่ “วันพิพากษา”
ท่ามกลางความขัดแย้งที่ปรากฏ ความขัดแย้งางการเมืองสำแดงเห็นขั้วได้ชัดแจ้ง
ขั้วหนึ่ง คือ ทักษิณ ชินวัตร
อีกขั้วหนึ่ง คือ ไม่เอา ทักษิณ ชินวัตร
ขั้วทักษิณ ชินวัตร มีพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย เป็นกลไกขับเคลื่อนทางการเมือง
มีแนวทางแนวคิดที่เข้าร่องเข้ารอยกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นชป.
ตัวเอกของขั้วทักษิณ นอกจากตัวนายทักษิณแล้ว ยังมีเครือญาติ และสมาชิกพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน
รวมทั้งพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน
ส่วนขั้วไม่เอาทักษิณ มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นกลไกขับเคลื่อนในสภา
ขณะที่การขับเคลื่อนนอกจากมีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในช่วงแรก
และ กปปส. ในช่วงหลัง
โดยขณะนี้มีกลุ่มทหาร เป็นหัวหอกไม่เอาทักษิณ โดยดำรงเป้าหมายไม่ให้เสียของมาตั้งแต่ยึดอำนาจ

การต่อสู้ระหว่าง 2 ขั้วเป็นไปอย่างดุเดือด
ขั้วทักษิณ ใช้นโยบายประชานิยมเป็นกลไกดึงดูดประชาชนให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
ได้อำนาจจากการเลือกตั้งแล้วก็นำนโยบายไปผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อรักษาอำนาจหรือการสนับสนุนจากประชาชน
ขั้วไม่เอาทักษิณ ใช้ข้อกล่าวหากลุ่มทักษิณทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นอาวุธ ห้ำหั่น ฟาดฟัน และปลุกมวลชนขึ้นมา
กระทั่ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน สมัยเป็น ผบ.ทบ. นำกำลังทหารออกมายึดอำนาจ และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำของทักษิณและรัฐบาล
ผลการตรวจสอบสรุปว่า ทักษิณมีความผิดเป็นส่วนใหญ่
เริ่มตั้งแต่ ทักษิณมีโทษจำคุก 2 ปีในคดีที่ดินรัชดา จนทักษิณหนีคำพิพากษา และระเห็จอยู่ในต่างประเทศมาจนถึงปัจจุบัน
หลังจากนั้นรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
การทำรัฐประหารของ พล.อ.สนธิ ได้สิ้นสุดลงเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550
ผลจากการทำรัฐประหารครั้งนั้นทำให้เกิด นปช. ขึ้นมา
การเลือกตั้งในเวลาต่อมา ทำให้พรรคพลังประชาชน ซึ่งก็คือพรรคไทยรักไทยเดิมกลับคืนสู่อำนาจ
แต่อีกไม่นาน นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีก็ต้องคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ
พรรคพลังประชาชนก็ต้องคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ
สมาชิกพรรคพลังประชาชนโยกไปรวมกันอยู่ที่พรรคเพื่อไทย และผลักดัน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกฯ
แต่สุดท้ายนายสมชายก็ต้องคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ
ขณะที่การเมืองเกิดการสลับขั้ว
พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

ในช่วงรัฐบาลพรรคพลังประชาชน กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้พยายามขัดขวางคัดค้านรัฐบาล
อาทิ ปิดสภา ปิดสนามบิน โดยฝ่ายรัฐบาลพยายามสลายการชุมนุม
เหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บ
ในช่วงรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่ม นปช. ได้มีการเรียกร้องประชาธิปไตย และกดดันให้รัฐบาลยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่
มีการชุมนุมในกรุงเทพฯ มีการปิดถนนแยกราชประสงค์
และในปี 2553 มีผู้เสียชีวิตจากการปะทะ นับตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2553 เป็นต้นไป
โดยวันที่ 19 พฤษภาคมปีนั้น รัฐบาลได้สลายการชุมนุม มีผู้เสียชีวิต 99 ราย ได้รับบาดเจ็บเป็นพัน
ย่านธุรกิจบริเวณราชประสงค์ และสยามถูกเผา
ผลจากการสลายการชุมนุม นำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น
ต่อมามีการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยชู น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี ปรากฏว่าประชาชนโหวตให้อย่างท่วมท้น
พรรคเพื่อไทยยังคงใช้นโยบายเป็นกลไกในการเรียกความนิยม หรือเรียกว่า ประชานิยม
นโยบายหลักๆ คือ จำนำข้าว 15,000 บาทต่อตัน และผลักดันรถไฟฟ้าไฮสปีดและยกเครื่องระบบโลจิสติกส์ 2 ล้านล้าน ฯลฯ
แต่การบริหารงานของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก
นโยบาย จำนำข้าวถูกกล่าวหาว่าทุจริต ทำให้ประเทศเสียหาย โครงการรถไฟฟ้าไฮสปีดสะดุด เพราะศาลรัฐธรรมนูญมองว่าวิธีการกู้ 2 ล้านล้านบาทนั้นขัดรัฐธรรมนูญ
การเมืองในสภาขัดแย้งรุนแรง ถึงขนาดขว้างแฟ้ม ชี้หน้าด่าทอ
ความขัดแย้งจากในสภาหลุดออกไปนอกสภา เมื่อรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม
และเป็นจุดกำเนิด กปปส. และการเคลื่อนไหวของ กปปส. ก็นำไปสู่การยึดอำนาจอีกครั้ง
การยึดอำนาจครั้งล่าสุด มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า

ระยะเวลาความขัดแย้งตั้งแต่ต้นจนบัดนี้ทำให้บรรดาแกนนำของขั้วอำนาจร่วงโรยไปเรื่อยๆ
ระยะหลังคดีความต่างๆ เริ่มเข้าสู่จุดสุดท้าย
เริ่มเข้าสู่ “วันพิพากษา”
ทักษิณ ชินวัตร ต้องคำพิพากษาให้จำคุก 2 ปีไปแล้ว
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีไอซีทีในรัฐบาลทักษิณ เพิ่งต้องคำพิพากษาติดคุก 1 ปี
นายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ฯลฯ ต้องโทษถอดถอน
ล่าสุด ป.ป.ช.ฟันอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ต้องการให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

ป.ป.ช.ชี้ว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ นายอุดมเดช รัตนเสถียร ในฐานะผู้ควบคุมการประชุมมีความผิด
นายนริศร ทองธิราช เองก็ผิดที่เสียบบัตรแทน
ขณะที่ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยหลายรายทยอยเข้าคุกในข้อหาต่างๆ ซึ่งหมายความว่าอนาคตทางการเมืองสิ้นสุด
ส่วนคู่กรณีฟากฝั่งตรงข้ามทักษิณเองสะบักสะบอมเหมือนกัน
ผลจาก “วันพิพากษา” ทั้งคดีการเมืองและคดีส่วนตัว ได้กระทบต่อบุคคลเหล่านั้น
กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต้องชดใช้จากพฤติกรรมปิดสนามบินในวงเงินมหาศาล
นายสนธิ ลิ้มทองกุล ต้องคำตัดสินของศาลฎีกาว่า ปลอมแปลงเอกสารค้ำกู้เงินจากธนาคารกรุงไทยนับพันล้านบาท
ศาลอุทธรณ์เคยพิพากษาลงโทษมาแล้ว
คราวนี้ศาลฎีกายืนตามศาลอุทธรณ์ สั่งจำคุก 20 ปี!
พร้อมกันนั้นยังมีคดีความที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาในองค์กรอิสระ และในชั้นศาลอีกหลากหลาย
อาทิ คดีสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 คดีสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553
คดีปิดสนามบินเมื่อปี 2551 คดีอื่นๆ ทั้งเรื่องปิดถนน ปิดคูหาเลือกตั้ง ซึ่งแต่ละคดีมีโทษฉกรรจ์
คดีต่างๆ มีบุคลากรทั้ง 2 ขั้วเป็นผู้ต้องหา และทุกคดีกำลังคืบคลานไปถึงวันพิพากษา
และเมื่อถึงเวลานั้น การเมืองไทยคงต้องตรวจแถวกันอีกคำรบ
เพราะสมาชิกบนเวทีนี้ติดคุกบ้าง ถูกห้ามเล่นการเมืองบ้าง บางส่วนโดนศาลสั่งให้ชดใช้ความเสียหาย
นักสู้บนเวทีการเมืองทั้ง 2 ขั้ว กำลังมีจำนวนน้อยลง
น้อยลง น้อยลง น้อยลงจนกระทั่งน่าจับตาว่า เมื่อถึงเวลาที่สงครามการเมืองสิ้นสุด
จะเหลือใคร กลุ่มไหน พรรคไหน ยืนเด่นพร้อมกับอำนาจบริหารประเทศ

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar