30 บาทอยู่ในอันตราย!
ใบตองแห้ง
พาดหัวอย่างนี้ ไม่ใช่ตีปี๊บว่ารัฐบาลจะล้มบัตรทอง เดี๋ยวโฆษกไก่อูต้องปฏิเสธพัลวัน ปัดโธ่ รัฐบาลไหนก็ไม่กล้าล้ม 30 บาทหรอก แม้รัฐราชการมองเป็นภาระ
เอาไว้ถ้าลงทะเบียนคนจน 14 ล้านคน พิสูจน์ว่าได้ผล ตรงเป้า อีกซัก 1-2 ปี อาจมีคนเรียกร้องให้ยุบบัตรทองรวมกับบัตรเครดิตคนจน ไอ้พวกที่เหลืออีก 34 ล้านคนตัดหางไป ไม่จนจริงนี่หว่า
แต่วันนี้ยืนยันแทนไก่อูได้ว่า รัฐบาลไม่ล้ม 30 บาท เพียงแต่มีคนจ้องจะล้ม หรือยึด สปสช.ต่างหาก สังเกตสิครับ พวกหมอที่ออกมาโวยวาย กระทั่งหมอตายก็โทษ สปสช. ล้วนยืนกรานว่าไม่ล้ม 30 บาท แค่อยากให้ยุบ สปสช. เอางบประมาณกลับไปที่กระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น
ข้ออ้างของหมอๆ มีร้อยแปดพันเก้า สรุปคร่าวๆ คือหาว่า สปสช.ทำให้โรงพยาบาลขาดทุน จนพี่ตูนต้องวิ่งลิ้นห้อย ออกกฎเกณฑ์ค่ารักษา โรงพยาบาลเบิกได้เพียงร้อยละ 50-70 ของค่าใช้จ่ายจริง ที่เหลือโดน “ชักดาบ” กำหนดกฎเกณฑ์จนหมอไม่สามารถรักษาตามความเหมาะสมเป็นจริง
ถามหน่อยสิครับ ถ้ายุบ สปสช.โอนงบกลับ สธ.แล้วปล่อยให้พวกท่านรักษาสั่งยาตามต้องการ มันจะไม่ขาดทุนบานเบอะกว่านี้หรือ
สปสช.ได้งบรายหัวจากรัฐบาล ปี 2560 ได้ 3,109.87 บาท ก็เอามาเฉลี่ยวางกฎเกณฑ์การใช้จ่าย ซึ่งไม่ใช่กำหนดค่ารักษามั่วๆ ก็ให้พวกอาจารย์หมอนี่แหละมาทำระบบ DRG RW วางมาตรฐาน เช่น ผ่าไส้ติ่งทั่วไป ไม่มีโรคแทรกซ้อน ค่ารักษาควรเป็นเท่าไหร่
แน่ละครับ เงินมันจำกัดจำเขี่ย จะให้เหมือนสวัสดิการข้าราชการหัวละ 14,000 บาทได้อย่างไร แต่แทนที่จะช่วยเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มเงิน พวกหมอกลับรุมกระทืบ สปสช.
เอาเข้าจริงคือหมอๆ ไม่พอใจ “ระบบหลักประกันสุขภาพ” ที่ตั้ง สปสช.ขึ้นเหมือนบริษัทประกัน รับเงินรายหัวจากรัฐบาลไป “ซื้อบริการ” ให้ประชาชน 48 ล้านคน ซึ่งถ้ามองภาพใหญ่ ประเทศไทยมี 3 กองทุน ได้แก่ สปสช. ประกันสังคม และข้าราชการ ซื้อบริการจากสถานพยาบาลให้ “ลูกค้า” ของตน
ระบบนี้เปลี่ยนสถานะ ร.พ.กระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นผู้ให้บริการ “รับจ้าง” แต่ละกองทุน ได้เงินมาก็ต้องบริหารจัดการตัวเอง ไม่ใช่รับงบจากรัฐบาลมาใช้จ่ายไม่อั้นขาดเหลือเท่าไหร่เบิกได้เช่นในอดีต
หัวใจของร่าง พ.ร.บ.นี้คือ แก้ไขสัดส่วนคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จากเดิมมีที่มา 5 ส่วน ได้แก่ ส่วนราชการ ปลัดกระทรวงต่างๆ 8 คน ภาคประชาชน 5 คน อปท. 4 คน ตัวแทนวิชาชีพ 5 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน จะเพิ่ม “ผู้ให้บริการ” คือตัวแทนโรงพยาบาลต่างๆ ทั้ง ร.พ.ของ สธ. ร.พ.สังกัดต่างๆ และ ร.พ.เอกชน รวม 7 คน พร้อมกับให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองประธาน
ขณะเดียวกันยังจะเพิ่มตัวแทน ร.พ.ในบอร์ดควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน จาก 35 เป็น 42 คน
นี่ขัดหลักการของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติตรงๆ เลยนะครับ ที่ต้องการแยก สปสช.เป็น “ผู้ซื้อบริการ” สธ. และ ร.พ.ต่างๆ เป็น “ผู้ให้บริการ” นี่กลับจะเอามานั่งในบอร์ด ทั้งที่มีตัวแทนวิชาชีพ แพทย์ พยาบาล เภสัช ฯลฯ เป็นปากเสียงให้อยู่แล้ว
ไม่ต้องพูดถึงบอร์ดควบคุม ถามว่าคุมใคร ก็คุมคุณภาพ กำหนดมาตรฐานการรักษาให้ ร.พ.ต่างๆ รับเรื่องร้องเรียน ฯลฯ ถ้าเอาตัวแทน ร.พ.มานั่งในบอร์ด ถามว่า “ประโยชน์ ทับซ้อน” ไหม
สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือ การแพ็กกันของตัวแทนกระทรวงสาธารณสุข ระบบราชการ ร.พ.ต่างๆ ผู้แทนวิชาชีพ (ซึ่งยังจะรวมกันเป็นเสียงข้างมากเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ) ถีบภาคประชาชนและท้องถิ่นเป็นกระเทียมลีบ เข้ามาควบคุมจัดสรรงบประมาณ กำหนดค่ารักษาตามที่พวกหมอๆ ต้องการ
มองโลกแง่ดีอาจดีก็ได้ ตรงที่สุดท้ายงบไม่พอก็ให้ด่ากันเอง หรือแห่ไปขอรัฐบาลจาก 1.5 แสนล้าน เป็น 3 แสนล้าน แต่กว่าจะถึงตอนนั้นระบบคงเละไปหมด แล้วก็คงจะนำไปสู่แนวคิด “ร่วมจ่าย” หรือตัดหางไอ้พวกไม่จนจริง
นี่ยังไม่พูดถึงประเด็นไม่ให้อำนาจ สปสช.จัดซื้อยาราคาแพง ซึ่งเป็นอีกปม ทุกวันนี้ สปสช.จัดซื้อยาทีละเยอะๆ ราคาถูกกว่า เช่น ยาไวรัสตับอักเสบบี เม็ดละ 70 บาท ซื้อได้ 12 บาท ยา HIV มะเร็ง ฯลฯ พวกนี้ถ้าให้ ร.พ.แยกซื้อเองเจ๊งเลยนะ
ยืนยันให้อีกที ไม่มีใครล้ม 30 บาทหรอก แต่ถ้าล้ม สปสช. ล้มหลักการแยกผู้ซื้อบริการกับผู้ให้บริการ ระบบหลักประกันสุขภาพก็จะเละ งบประมาณจะบานปลาย คุณภาพก็แย่ลง จนล้มไปเองในที่สุด
ซึ่งขั้นนี้ก็อยู่ที่พลังคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นี่แหละว่าจะไหวไหม
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar