måndag 18 mars 2019

แพทริค โจรี เขียนถึง สศจ.

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลที่ผมรู้จัก: แพทริค โจรี เขียนถึง สศจ.

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในงาน Twilight of the Idols ของนิทเช่ อธิบายการปรากฏตัวของโสกราตีสและวิธีการสร้างเหตุผลของเขาในเอเธนส์โบราณไว้ว่า
… ด้วยโสกราตีส รสนิยมกรีกได้เปลี่ยนไปรับแนวทางวิภาษวิธี เกิดอะไรขึ้นที่นั่นกันแน่? เหนืออื่นใด รสนิยมของชนชั้นสูงถูกกำราบและด้วยแนวทางวิภาษวิธี สามัญชนจึงก้าวขึ้นมาแทนที่ ก่อนหน้าโสกราตีสการปฏิบัติตามวิภาษวิธีไม่ได้รับการยอมรับในสังคมที่ดี มันถูกมองว่าเป็นกิริยาที่เลวทราม ไม่น่าไว้วางใจ ผู้เยาว์ได้รับการตักเตือนให้ต่อต้านมัน ยิ่งไปกว่านั้นทุกการเสนอเหตุผลตามวิภาษวิธีของใครสักคนหนึ่งย่อมได้รับความแคลงใจ สิ่งอันสุจริตเช่นสุจริตชนย่อมไม่ยึดถือเช่นนั้น... อะไรที่ต้องได้รับการพิสูจน์เป็นเบื้องแรกคือสิ่งที่ด้อยคุณค่า ไม่ว่าที่ไหนก็ตามที่ผู้มีอำนาจมีส่วนในการกำหนดทิศทางที่ดีหรือที่ซึ่งพวกเขาเอาแต่ออกคำสั่ง แต่ไม่ใช้เหตุผลวิภาษวิธีย่อมเป็นประเภทตัวตลก ณ ที่แห่งนั้นผู้คนเอาแต่หัวเราะเขาและมองเขาอย่างไม่จริงจังแต่โสกราตีสเคยเป็นตัวตลกที่ได้รับการมองอย่างจริงจังมันเกิดอะไรขึ้นที่นั่นกันแน่?[1]
นิทเช่เสนอว่า ณ จุดหนึ่งในพัฒนาการของสังคมการสร้างเหตุผลที่สมเหตุสมผล (“วิภาษวิธี”) กลายมาเป็นอาบัติของสังคม “ชนชั้นสูง” ซึ่งเป็นสังคมที่ได้รับการชี้นำด้วย “คนดี” และเป็นสังคมที่กิริยาดีจะได้รับการเชิดชูเหนือสิ่งอื่นใด ความเปลี่ยนแปลงต่อการสร้างเหตุผลและการถกเถียงสะท้อนให้เห็นแรงท้าทายจาก “สามัญชน”หรือชนชั้นล่างต่อสังคมที่ถูกชี้นำด้วยคนดีกิริยาดีถูกท้าทายด้วยการสร้างเหตุผลแบบวิพากษ์วิจารณ์
ผมนึกถึงข้อสังเกตของนิทเช่เกี่ยวกับการเกิดขึ้นของการสร้างเหตุผลที่สมเหตุสมผล เมื่อผมคิดถึงตำแหน่งแห่งที่ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลในวงวิชาการไทยอาจารย์สมศักดิ์เป็นที่รู้จักในแง่ความดุดัน ความไม่ไว้หน้าและความตรงไปตรงมาในคำวิพากษ์วิจารณ์ของเขาอันเป็นคุณลักษณะที่เป็นปัญหาอย่างมากในสังคมไทยที่ซึ่งมารยาทความนอบน้อมและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้รับการให้คุณค่าอย่างสูงเป็นที่ชัดเจนว่าเป้าหมายหลักในคำวิพากษ์วิจารณ์ [ของอาจารย์สมศักดิ์] คือระบอบกษัตริย์ซึ่งเป็นภาพแทนของ“สังคมที่ถูกชี้นำด้วยคนดี” และผู้สนับสนุนระบอบดังกล่า
ถึงกระนั้น เพื่อนร่วมงานในวงวิชาการของสมศักดิ์ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในแบบเดียวกัน ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่ยืนอยู่ข้างเดียวกับเขาในทางการเมือง ถึงแม้ว่าจะมีภัยคุกคามจากกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ความพยายามในการลอบสังหารเขาที่บ้าน และการลี้ภัยอย่างไม่มีทางเลือกหลังจากการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคมปี 2557 อาจารย์สมศักดิ์ยังคงยวนยีผู้มีอำนาจด้วยคำวิจารณ์ทางการเมืองอันเป็นปกติของเขาต่อไป เขาเป็นหนึ่งในจำนวนไม่กี่คนท่ามกลางนักวิชาการไทยที่พูดอย่างตรงไปตรงมา มีกระดูกสันหลังในตำแหน่งแห่งที่ของเขามาตลอดหลายปีและมีความตั้งใจที่จะ “พูดในสิ่งที่พูดไม่ได้” เท่าที่ผมรู้ เขาเป็นนักวิชาการคนเดียวที่วิพากษ์วิจารณ์สมาชิกของราชวงศ์อย่างเปิดเผย นั่นคือบันทึกเปิดผนึกถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารีเกี่ยวกับความรุนแรงในเดือนพฤษภาคมปี 2553 อาจารย์สมศักดิ์ไม่เคยปิดปากเงียบแม้จะมีภัยอันตรายอย่างสาหัสต่อความปลอดภัยของตัวเขาเองก็ตาม ด้วยเหตุนี้เขาจึงเป็นผู้ที่ควรค่าแก่การได้รับความเคารพนับถือจากเรา

ผมพบกับอาจารย์สมศักดิ์ครั้งแรกที่แคนเบอร์ร่าในช่วงต้นทศวรรษที่ 2530 เมื่อผมยังเป็นนักศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เขาเดินทางมาจากเมลเบิร์น เมืองที่เขาสำเร็จการศึกษาปริญญาเอก เขาพักอยู่กับพวกเราหนึ่งคืน ผมจำได้ว่าเขาเป็นคนสุภาพเป็นมิตรจริงใจและในบางทีก็เอาจริงเอาจังและมีความแหลมคมทางปัญญาอย่างที่สุด ผมทราบว่าเขามีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม แต่ในช่วงเวลานั้นผมยังไม่ได้อ่านงานของเขา ผมจำได้ว่าเราพูดคุยกันเล็กน้อยเกี่ยวกับพุทธทาสและพุทธศาสนาซึ่งเป็นสิ่งที่ผมกำลังศึกษาอยู่ในขณะนั้น แต่เขามีความสนใจไม่มากในหัวข้อนี้ ไม่นานหลังจากการมาถึงของเขา เขาก็กลับไปยังประเทศไทยและเราก็ไม่ได้ติดต่อกันอีกราวๆ 10 ปีต่อมา
การพัฒนาอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยทำให้ผมได้รับรู้ถึงงานของอาจารย์สมศักดิ์มากขึ้น ในปี2548 ผมกำลังสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และผมกลายเป็นหนึ่งในผู้อ่านทั่วไปของเว็บบอร์ดมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งในขณะนั้นเป็นหนึ่งในพื้นที่ถกเถียงทางวิชาการที่มีชีวิตชีวาที่สุด สิ่งนี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับช่วงแรกของความขัดแย้งระหว่างทักษิณและสนธิ และเว็บบอร์ดมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกลายมาเป็นพื้นที่ของการถกเถียงที่เข้มข้น ต่อมาเมื่อวิกฤตทางการเมืองตึงเครียดมากขึ้น การถกเถียงนี้ได้ย้ายไปยังเว็บบอร์ด ฟ้าเดียวกัน บล็อก New Mandala ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียก็เป็นพื้นที่หลักในโลกภาษาอังกฤษสำหรับการถกเถียงเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ในประเทศไทย อาจารย์สมศักดิ์เป็นผู้มีส่วนร่วมอยู่เสมอสำหรับการถกเถียงในโลกออนไลน์เหล่านี้ ความเกี่ยวข้องของผมนั้นค่อนข้างจำกัด แต่ผมจำได้ว่ากระทู้ของอาจารย์สมศักดิ์นั้นมีความเป็นเหตุเป็นผลมากที่สุด รวมไปถึงก้าวหน้ามากที่สุดด้วย ซึ่งในขณะนั้นแวดวงวิชาการไทยและเกือบทั้งหมดในแวดวงไทยศึกษาของโลกภาษาอังกฤษยืนอยู่ในขบวนต่อต้านทักษิณและรัฐบาลไทยรักไทย อาจารย์สมศักดิ์ยังเป็นผู้มีส่วนในวารสารวิชาการ ฟ้าเดียวกัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ใหม่สำหรับการถกเถียงทางวิชาการ
ในช่วงต้นปี 2550 เมื่อเรื่องระบอบกษัตริย์เป็นใจกลางในการถกเถียงทางการเมืองและทางวิชาการ ผมจำได้ว่าผมพบกับอาจารย์สมศักดิ์ที่งานสัมมนาซึ่งคิดว่าเป็นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เขามอบหนังสือของเขาพร้อมลายเซ็นให้ผมหนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง แม้ว่าผมจะรู้จักอาจารย์สมศักดิ์ตั้งแต่ครั้งที่ผมเป็นนักศึกษาปริญญาเอก แต่ผมก็อ่านงานของเขาน้อยมาก ยกเว้นวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขาเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง สร้างความประทับใจให้กับผม ผมคิดต่อมาจนถึงตอนนี้ว่านี่คืองานประวัติศาสตร์ที่เขียนเกี่ยวกับระบอบกษัตริย์ไทยในยุคร่วมสมัยที่ดีที่สุด ผมคิดว่ามันสำคัญมากที่จะคิดถึงว่าในช่วงปี 2544 ที่หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์เป็นช่วงเวลาก่อนหน้าหลายปีของหนังสือThe King Never Smiles ของแฮนด์ลีย์และทฤษฎี “เครือข่ายราชสำนัก (network monarchy)” ที่ทรงอิทธิพลของแมคคาร์โกซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างดีในแวดวงวิชาการตะวันตก และที่สำคัญยังเป็นช่วงเวลาก่อนหน้าการผงาดขึ้นมาของทักษิณและพรรคไทยรักไทย
ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง แสดงให้เห็นวิธีการทางประวัติศาสตร์ของอาจารย์สมศักดิ์ที่แม่นยำและไม่ไว้หน้า เขาใช้พื้นที่หลายหน้ากระดาษเพื่อขยายความสิ่งที่ดูเหมือนว่าเป็นประเด็นรอง แต่กลับมีความสำคัญอย่างมากต่อข้อเสนอทั้งหมด
อีกแง่มุมหนึ่งที่โดดเด่นในงานของเขาคือโวหารความเรียงที่เป็นแบบอย่างของความชัดเจนและมีตรรกะ
ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง เป็นการรื้อสร้างอย่างถึงแก่นต่อประวัติศาสตร์ระบอบกษัตริย์สมัยใหม่ กระนั้นมันก็ถูกเขียนขึ้นด้วยแนวทางที่มีศิลป์เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะโดยตรงกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อย่างน้อยในช่วงที่มันถูกใช้ในปี 2544 หนังสือเล่มนี้ไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่จะถูกตีพิมพ์ในปัจจุบัน ประเด็นที่อาจารย์สมศักดิ์วิเคราะห์ในหนังสือเล่มนี้ได้แก่การเมืองในช่วงเวลาหลังจากการโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี 2475 ความพยายามในการต่อต้านคณะราษฎรของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลในปี 2489 ความวุ่นวายทางการเมืองในทศวรรษ 2490 ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างสฤษดิ์และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ความเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาในทศวรรษที่ 2510 กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ประวัติศาสตร์นิพนธ์เกี่ยวกับเหตุการณ์14 ตุลาคม บทบาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม ประเด็นทั้งหมดเหล่านี้ไม่สามารถได้รับการถกเถียงอย่างสมควรในปัจจุบัน หากปราศจากการอ้างอิงถึงงานของอาจารย์สมศักดิ์ในหนังสือเล่มนี้
อีกหนึ่งสิ่งที่กระตุ้นความสนใจต่อผมคือการศึกษากรณีการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลในปี 2489 ของอาจารย์สมศักดิ์ที่ละเอียดและแม่นยำซึ่งได้รับการเผยแพร่ส่วนหนึ่งในโลกออนไลน์ งานชิ้นนี้ไม่สามารถได้รับการเผยแพร่ได้อย่างแน่นอนท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองในปัจจุบัน ไม่มีนักวิชาการคนใดที่เลือกจะเขียนเกี่ยวกับการลอบปลงพระชนม์โดยไม่อ่านงานชิ้นนี้ก่อนเป็นอันดับแรก
นับตั้งแต่ที่วิกฤตทางการเมืองไทยเริ่มต้นขึ้นในปี 2548 งานของอาจารย์สมศักดิ์ทั้งหมดปรากฏอยู่บนเว็บไซต์เฟซบุ๊กนี่เป็นอีกหนึ่งแง่มุมในการทำงานของเขา เขาใช้และเรียนรู้เทคโนโลยีออนไลน์ที่ทันสมัยอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นห้องแชทเว็บบอร์ด บล็อกหรือเฟซบุ๊กเพื่อสื่อสารความคิดของเขาไปยังสาธารณะผมเป็น “เฟซบุ๊กเฟรนด์” และเป็นผู้อ่านกระทู้ของเขาอยู่เสมอเช่นเดียวกับคนอีกเป็นจำนวนมากในมุมมองของผมกว่าสิบปีที่ผ่านมา กระทู้เฟซบุ๊กของอาจารย์สมศักดิ์เป็นข้อวิจารณ์เกี่ยวกับวิกฤตทางการเมืองที่ดีที่สุด
ครั้งสุดท้ายที่ผมพบกับอาจารย์สมศักดิ์คือในปี 2556 เราพูดคุยกันหลายชั่วโมงเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองและสภาวะยากลำบากในชีวิตของเขาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของเขากำลังอยู่ในขั้นตอน เขาค่อนข้างมองโลกในแง่ร้ายเกี่ยวกับอนาคตทั้งทางการเมืองและชีวิตของเขา แต่เขาก็คิดหาหนทางที่จะจัดการกับมันแม้กระนั้นเขาก็ยังคิดว่าจะเผยแพร่งาน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง ฉบับปรับปรุงดีหรือไม่
นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ผมนึกถึงคำกล่าวของมาร์กซิสต์ชื่อดังนามว่าอันโตนีโอ กรัมชีซึ่งอาจารย์สมศักดิ์มักอ้างถึงในข้อเขียนของเขาที่ว่า “มองโลกในแง่ร้ายในทางสติปัญญา แต่มองเห็นแง่ดีในทางจิตใจ” อันหมายถึงเราไม่ควรหลอกตนเองด้วยการคิดในแง่ดีมากเกินไปหรือมีความหวังอย่างล้นเกิน แต่กลับคิดโดยไม่ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน เราควรที่จะใช้เหตุผลของเราในระดับที่มากที่สุดเพื่อวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ ในขณะเดียวกันแม้ว่าเราจะพบกับประสบการณ์ที่ยากลำบากและลำเค็ญเราก็ไม่ควรจมปลักไปสู่การจำนนหรือสูญเสียภาพแห่งอุดมคติไปนี่คือ “มองเห็นแง่ดีในทางจิตใจ”
คติพจน์ข้างต้นเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยในประเทศไทยปัจจุบัน

อ้างอิง 
[1]Nietzsche, Twilight of the Idols, 5; ตัวเอียงเป็นของผู้เขียน [แพทริคโจรี].

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar