lördag 1 oktober 2011

การเมืองการปกครองในมุมมองของนักกฎหมาย : ชาติ

โดย ประเวศ ประภานุกูล

สิ่งที่เห็นอยู่ในสังคมนี้ มีการอ้างคำนี้กันเป็นปกติ “ชาติ” โดยเฉพาะกับวาทะกรรม “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์”

ผมเคยตั้งคำถาม 3 ข้อในเฟสบุ๊คต่อพวกUltra Royalist* หนึ่งในนั้นคือ “ชาติ คือ อะไร” ก็ไม่เห็นมีใครในหมู่พวกนี้ตอบได้ มีแต่การใช้ถ้อยคำหยาบคายด่าทอ ที่ดูจะมีโวหารหน่อยก็เสียดสี เหน็บแนม

มันคงสรุปเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจาก พวกเขาไม่สามารถให้คำจำกัดความคำๆนี้ได้ ในเมื่อตอบไม่ได้ ผมก็จะตอบให้เอง

ก่อนอื่นมาดูคำอีกคำก่อน “ประเทศ” ตามพจนานุกรมให้ความหมายเดียวกับ “รัฐ” ซึ่งน่าจะมาจาก “State” แต่ตามที่เคยเห็นในพระไตรปิฎก คำนี้ “ประเทศ” น่าจะมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “ท้องถิ่น” มากกว่า ดูเหมือนจะหมายถึง อาณาเขตแดนเล็กๆแห่งหนึ่ง น่าจะเป็นเขตแดนที่เล็กกว่า “ชนบท” ด้วยซ้ำ

ในทางรัฐศาสตร์ที่ผมพอรู้แบบงูๆปลาๆ การจะเป็นรัฐ หรือ State ได้ จะต้องมีองค์ประกอบดังนี้

-มีดินแดน ที่มีอาณาเขตที่แน่นอน
-มีประชากรที่มีพื้นฐานหรือวัฒนธรรมร่วมกัน
-มีผู้ปกครอง หรือรัฐบาล ซึ่งอาจรวมถึงระบบการปกครองด้วย

ทีนี้ย้อนกลับไปดูคำว่า “ชาติ” ในความหมายของพวกUltra Royalist น่าจะหมายถึง รัฐ หรือประเทศ(ในความหมายตามพจนานุกรม) แต่การที่พวกเขาอธิบายความหมายไม่ได้ เพราะพวกเขามุ่งหมายไปถึงสิ่งที่เป็นนามธรรมที่มีความหมายเหนือกว่า รัฐ

ในความหมายของพวกเขา ชาติ ใช้แทนได้ด้วยคำอีกคำหนึ่ง “แผ่นดิน” ว่าที่จริงคำว่า แผ่นดิน นี้ ถูกใช้ในความหมายแทนคำว่า ชาติ หรือ รัฐ กันอย่างแพร่หลายมานานแล้ว ไม่เว้นแม้แต่ในหมู่คนฝ่ายประชาธิปไตย ก็ยังเห็นอ้างอิงคำนี้ในความหมายของ ชาติ หรือ รัฐ

ผมคงไม่มีปัญญาค้นหาต้นตอว่ามีที่มาอย่างไร ถึงได้ใช้คำ “แผ่นดิน” ในความหมายนี้ แต่ที่อยากเขียนถึง เป็นลักษณะ และผลของการใช้คำนี้ “แผ่นดิน” ในความหมายของ ชาติ หรือ รัฐ

คำว่า “แผ่นดิน” มีความหมายที่บ่งบอกอยู่ในตัวเองว่า หมายถึงพื้นดิน หรืออาณาเขตที่เป็นเขตแดนของรัฐ การนำมาใช้ในความหมายนี้จึงหมายถึง ชาติ คือ แผ่นดิน หรือแผ่นดิน ก็คือชาติ การใช้คำนี้ในความหมายนี้ได้ส่งผลทางสัญลักษณ์โดยตรงต่อระบอบการปกครองของรัฐนี้...รัฐไทย

ในเมื่อชาติ คือ แผ่นดิน แผ่นดินซึ่งเป็นดินแดนที่มีอาณาเขตแห่งหนึ่งบนแผนที่โลก จึงย่อมมีเจ้าของแผ่นดิน และเจ้าของแผ่นดินก็คือ”กษัตริย์” แนวคิดนี้ของพวกUltra Royalist ถูกแสดงออกในวาทะกรรม
“แผ่นดินนี้ทุกตารางนิ้วเป็นของพ่อ” “ใครไม่รักพ่อก็ไม่ควรอยู่ในแผ่นดินของพ่อ”

เมื่อชาติ หรือแผ่นดินมีเจ้าของ แน่นอนว่าเจ้าของแผ่นดิน คือ กษัตริย์ ในแนวคิดนี้มันจึงเป็นความชอบธรรมที่พวกUltra Royalistจะ ขับไล่ คนที่ตนเห็นว่า “ไม่จงรักภักดี” ออกจากรัฐนี้ ดังที่พวกคลั่งเจ้าชอบอ้างกัน ชาติ หรือ รัฐ ในความคิดของพวกเขา จึงเป็นสิ่งเดียวกับ “กษัตริย์”

แนวคิดนี้ยังได้ส่งผลสะท้อนหลายอย่างต่อสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ในสังคมนี้...แต่เอาไว้ว่ากันวันหลัง

จากคำจำกัดความของ รัฐ ในทางรัฐศาสตร์ถ้าชาติ หมายถึง รัฐ ชาติ ย่อมเป็นที่รวมขององค์ประกอบอย่างน้อย 3 อย่างดังกล่าว ในความหมายนี้ กษัตริย์ จึงอาจไม่ใช่ส่วนประกอบของ ชาติ เว้นแต่ในระบบการปกครองแบบ สมบูรณาญาสิทธิราช หรือ ราชาธิปไตย ที่กษัตริย์เป็นผู้ปกครองรัฐโดยตรงเท่านั้น กษัตริย์จึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในฐานะผู้ปกครองรัฐ

ในอีกด้านหนึ่ง องค์ประกอบของรัฐข้อใดสำคัญที่สุด สำคัญถึงขนาดขาดไม่ได้ คำตอบคงต้องเป็นทั้ง 3 ข้อ การขาดข้อใดข้อหนึ่งคงถือเป็นรัฐไม่ได้ อย่างน้อยก็ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก หรือไม่เป็นที่ยอมรับของรัฐอื่น

แต่หากขาดผู้ปกครอง หรือรัฐบาล ประชาชนที่อยู่ในเขตแดนร่วมกันย่อมสามารถเลือกผู้ปกครอง หรือรัฐบาลใหม่ได้

ในอดีต ชนชาติยิว เคยสูญเสียดินแดน ไร้แผ่นดินอยู่ ต้องแยกย้ายไปอยู่ในเขตแดนอาณาเขตของรัฐอื่น แยกย้ายกันไปอยู่เป็นเวลานานกว่า 2,000 ปี จึงได้ตั้งรัฐขึ้นใหม่เป็นประเทศอิสราเอลอย่างในปัจจุบันนี้

ด้วยลักษณะเช่นนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดอันจะขาดไม่ได้ของ รัฐ คือ ประชาชน

แท้ที่จริงแล้ว..ชาติ คือ ประชาชน

*******
*Ultra Royalist -นายปรีดี พนมยงค์ ให้ความหมายว่า ผู้ที่เกินกว่าพระราชา หรือโดยนัยก็คือพวกที่ทำตนเป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดีนั้น แทนที่จะเป็นผลดีต่อพระมหากษัตริย์กลับจะเป็นการทำร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์เสียด้วยซ้ำ อ่านรายละเอียดคลิ้ก

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar