söndag 23 oktober 2011

การตายของกัดดาฟี่

คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?
เรื่อง ความตายของกัดดาฟี่
โดย กาหลิบ
การ สังหารโหดอดีตผู้นำลิเบีย พันเอกมูอัมมาร์ กัดดาฟี่ เกิดขึ้นระหว่างน้ำหลากครั้งใหญ่ในเมืองไทย ใจคอคนไทยอย่างเราๆ ก็เวียนวนอยู่กับเรื่องใกล้ตัว ไม่อยากคิดอะไรไกลนักในระยะนี้ แต่การหักมุมในการเมืองระหว่างประเทศที่ปลิดชีพกัดดาฟี่เที่ยวนี้ออกจะมี ความหมายต่อโลกในหลายมิติ จะเพิกเฉยไปเลยคงไม่สมควร โดยเฉพาะในความเกี่ยวข้องกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไทย เพื่อนร่วมทุกข์ในเมืองไทยทุกๆ ท่านคงเข้าใจที่จะไม่พูดเรื่องน้ำสักวัน
ข่าว สารทุกวันนี้รวดเร็วถึงขนาดที่ภาพการจับตัวและกลายสภาพเป็นร่างไร้วิญญาณของ กัดดาฟี่มาถึงเร็วว่าเนื้อข่าว เราเห็นภาพกัดดาฟี่ที่ดูงุนงงตื่นกลัว ถูกกลุ้มรุมอย่างไม่เป็นมิตรโดยผู้คนที่มีอาวุธในมือ แล้วภาพก็ตัดไปที่ร่างเปื้อนเลือดของอดีตผู้นำลิเบียที่กำลังถูกนำขึ้นแสดง บนเวทีต่อหน้าประชุมชนที่เมืองเซิร์ต และเห็นได้ชัดว่าถูกปลิดชีพลงเสียแล้ว จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่ากระสุนนัดสุดท้ายที่ฆ่ากัดดาฟี่มาจากที่ใด จากกองกำลังติดอาวุธฝ่ายประชาชนที่รุมล้อมอยู่หรือจากองครักษ์คนสุดท้ายที่ ตัดสินใจลั่นกระสุนใส่ศีรษะอดีตเจ้านายของตนเพื่อให้พ้นจากประชาทัณฑ์และ พิทักษ์ศักดิ์ศรีกันแน่ แต่นั่นเป็นภาระหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์และผู้สนใจในการรวบรวมหลักฐาน เพื่อประกอบภาพขึ้นใหม่
สิ่งที่มีความหมายต่อเราในเมืองไทยคือการตายของกัดดาฟี่และผลกระทบต่อเนื่องจากวันนี้
ข้อ เท็จจริงที่ควรบันทึกไว้ก่อนที่อารมณ์ล้างแค้นจะไหลเข้ามาแทนที่คือ กัดดาฟี่มิได้ถูกโค่นโดยประชาชนเพียงอย่างเดียว แต่ด้วยสรรพาวุธของมหาอำนาจที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะฝรั่งเศส เพราะเขาไปหลบซ่อนตัวอยู่ที่บ้านเกิดคือเซิร์ตอย่างปลอดภัย กองกำลังประชาชนเข้าไม่ถึงตัวนานถึงสองเดือน แต่เมื่อเขาตัดสินใจย้ายที่หลบซ่อนตัวนั่นเองที่ข่าวรั่ว ขบวนรถกันกระสุนของเขาถูกโจมตีปานสายฟ้าแลบจากเครื่องบินรบฝรั่งเศสซึ่งได้ รับข้อมูลอย่างแม่นยำ แต่กัดดาฟี่ก็ยังไม่ตาย วิ่งออกจากซากรถที่สิ้นสภาพขบวนอารักขา พร้อมกับลูกชายและหัวหน้าฝ่ายข่าวกรองประจำตัวแล้วไปหลบซ่อนในท่อน้ำ จากนั้นเองกองกำลังติดอาวุธฝ่ายประชาชนก็เข้าถึงตัว แล้วการฆาตกรรมทางการเมืองจึงเกิดขึ้น จะโดยใครก็ตาม
ชาว ประชาธิปไตยทั่วโลกผู้รู้ถึงพฤติกรรมเลวร้ายยาวนานของกัดดาฟี่ รวมทั้งนักประชาธิปไตยไทย คงกำลังสาธุการกับการตายของเขา กัดดาฟี่คือคนที่ฆ่า ทรมาน และละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ของคนลิเบียมานานถึงสี่ทศวรรษ ชีวิตมนุษย์ถูกกระทบกระเทือนอย่างสาหัสจากระบอบเขามาไม่รู้จักเท่าไหร่ แม้แต่ประชาคมระหว่างประเทศก็ยังชิงชังในความเป็นผู้ก่อการร้ายสากลของเขา การสิ้นชีพอย่างน่าสยดสยองของเขาจึงเสมือนว่าบาปอันหนักได้สนองเขาเข้าให้ ดูจะเป็นสมดุลแห่งชีวิตอยู่
ประชาชน ผู้ถูกกดขี่ทำร้ายจนต้องลุกขึ้นสู้กับผู้เผด็จการและระบอบชั่วร้าย ถือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติของสังคมมนุษย์ และเป็นความงอกงามของประชาธิปไตย แต่สมควรหรือไม่ที่ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจจะเข้าร่วมแทรกแซงด้วยอย่างนี้?
สิ่ง ที่ควรเกิดขึ้นตามธรรมชาติคือประชาชนลุกขึ้นสู้ด้วยตนเอง เมื่อถูกทำร้ายโดยผู้มีอำนาจรัฐก็ย่อมมีสิทธิ์ในการป้องกันตนเองอย่างเต็ม ที่ หากจะมีประชาคมระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องในบางขั้นตอนก็ควรเป็นองค์การ สหประชาชาติ มากกว่าจะเป็นประเทศอื่นที่มีสิทธิ์มีเสียงเท่ากันในความเป็นพลโลก พูดง่ายๆ ว่าถ้าจะเอาผิดกัดดาฟี่ในอาชญากรรมทางการเมืองอันมากมายของเขา ชาวลิเบียก็ควรเป็นผู้ชี้นำและดำเนินการเอง อดีตผู้นำควรถูกนำตัวขึ้นศาล ใช้หลักนิติธรรมมาเป็นเนื้อ โทษจะถึงขึ้นประหารชีวิตหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับขั้นตอนนั้น
ไม่ใช่การไล่ฆ่าโดยกองกำลังต่างชาติ และต้อนให้กระเซอะกระเซิงไปถูกฆ่าโดยคนที่กำลังโกรธแค้นชิงชัง
การลงโทษคนที่มีหัวใจเป็นสัตว์ ต้องกระทำโดยจิตใจที่สูงกว่า การลดตัวลงไปเป็นสัตว์ด้วยมิใช่สิ่งพึงกระทำ
เรา ไม่ต้องการกลายเป็นเผด็จการระบอบใหม่ที่มาแทนเผด็จการระบอบเก่า แต่ต้องการนำความเป็นมนุษย์ที่สูงกว่าเข้ามามอบแก่สังคม เราต้องระวังความคิดและจิตใจของเราให้ดี
ความ ตายของกัดดาฟี่นั้นเข้าใจได้ แต่ชาวประชาธิปไตยควรคิดใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งถึงผลทางสังคมในอนาคต ก่อนที่เราจะต้องตกอยู่ในที่นั่งนั้นเอง.
------------------------------------------------------------

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar