onsdag 3 maj 2017

หลักฐานต่างๆชี้ชัดว่ากษัตริย์ใหม่เลวยิ่งกว่าพ่อ...

พรบ.ราชการในพระองค์: กษัตริย์ไทยประกาศกม.ไทยบนดินแดนเยอรมันได้ไง? ผิดมารยาทและระเบียบการทูต ผิดทั้งกม.ไทยและกม.สากล


 

Somsak Jeamteerasakul
พรบ.ราชการในพระองค์: กษัตริย์ไทยประกาศกม.ไทยบนดินแดนเยอรมันได้ไง? ผิดมารยาทและระเบียบการทูต ผิดทั้งกม.ไทยและกม.สากล

พรบ.ราชการในพระองค์: กษัตริย์ไทยประกาศใช้กฎหมายไทยบนดินแดนเยอรมันได้ยังไง? ผิดมารยาทและระเบียบวิธีทางการทูต และน่าจะผิดทั้งกฎหมายไทยและกฎหมายสากล
....................
[ข้อความที่มีเครื่องหมาย * กำกับ คือมี "เชิงอรรถ" อธิบายเพิ่มเติมอยู่ท้ายกระทู้]
ถ้าใครติดตามอ่านผมประจำ คงจำได้ว่า ตอนที่ร่าง พรบ.บริหารราชการในพระองค์ ๒๕๖๐ ถูกนำเข้า สนช.เป็น "วาระเร่งด่วน" ประชุมลับผ่านสามวาระรวด ผมได้ตั้งข้อสงสัยว่า จะประกาศอย่างไรในเมื่อกษัตริย์ยังอยู่ในเยอรมัน และที่ไปครั้งนี้ก็ไม่มีการตั้งผู้สำเร็จไว้ด้วย (ขอบคุณ "มิตรสหายนักกฎหมายท่านหนึ่ง" ที่ยกประเด็นนี้ขึ้นมาคุยกับผมก่อน)** ผมเคยชี้ให้เห็นว่า อาจจะมีทางออกอย่างหนึ่งคือ ถึงเวลาจะประกาศ ถ้ากษัตริย์ยังไม่กลับ ก็ใช้ตาม รธน. มาตรา ๑๗ ที่กษัตริย์เองให้แก้ คือตั้งอันดับแรกจากลิสต์ของบุคคลที่กษัตริย์ทำไว้ล่วงหน้าว่าให้เป็นผู้สำเร็จฯ มาเซ็นแทน (ลิสต์ดังกล่าวไม่มีกำหนดให้ประกาศ ดังนั้น เราไม่รู้ว่าตอนนี้มีการทำลิสต์ไว้หรือยัง ผมสงสัยว่าจะยัง)
ปรากฏว่า เมื่อวานนี้ กฎหมายนี้ได้ถูกประกาศออกมา (ดูกระทู้ก่อน https://goo.gl/ueNVxD) โดยที่กษัตริย์ได้ "ลงพระปรมาภิไธย" หรือ "ให้ไว้" ตามคำใน พรบ. (ดูภาพประกอบ) "ณ วันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐"
แต่วันดังกล่าวกษัตริย์ยังอยู่บนดินแดนเยอรมันแน่นอน ตอนนี้ก็น่าจะยังอยู่ - ที่ผมได้ยินมาคือถึงราวสัปดาห์หน้า - ข้อมูลของคุณแอนดรูที่ว่า กลับเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน น่าจะผิด ดูคำอธิบายในท้ายกระทู้ก่อนตามลิงค์ที่เพิ่งให้ ผมขอเพิ่มเติมในที่นี้ด้วยว่า ปกติกษัตริย์องค์นี้ ถ้าไม่ใช่เพราะมีงานหรือพิธีอะไรต้องทำในไทย ก็ไม่กลับมา หลายวันนี้ ไม่มีข่าวกษัตริย์ออกงานอะไรในไทย ซึ่งสนับสนุนสมมุติฐานผมว่ายังอยู่เยอรมัน แต่ต่อให้กลับวันที่ ๒๘ จริง การที่กษัตริย์ให้ใช้กฎหมายนี้ ก็มีขึ้นระหว่างยังอยู่ในเยอรมันแน่นอน
การ "ลงพระปรมาภิไธย" ประกาศใช้กฎหมายสำคัญนี้ คือการใช้อำนาจอธิปไตยของกษัตริย์ในฐานะประมุขรัฐ
แต่ตามหลักการกฎหมายระหว่างประเทศที่ใช้กันทั่วโลก การใช้อำนาจอธิปไตยของประมุขรัฐในลักษณะนี้ จะต้องใช้ภายในดินแดนของตน ในกรณีนี้คือในประเทศไทยเท่านั้น เพราะประมุขรัฐไทย จะไปมีหรือใช้อำนาจอธิปไตยออกกฎหมายไทยขณะที่อยู่บนดินแดนรัฐอื่นไม่ได้ เยอรมันไม่ใช่เมืองขึ้นของไทย ที่กษัตริย์ไปอยู่เยอรมันก็ยังเสมือนอยู่บนดินแดนไทย (ผมรู้ดีว่าคอนเซ็พเรื่องอำนาจอธิปไตย มีความซับซ้อนมาก ดูคำอธิบายเชิงวิชาการเพิ่มเติมท้ายกระทู้ แต่เฉพาะประเด็นนี้ ไม่มีปัญหาว่ากษัตริย์ทำผิดแน่)*
ลองนึกดูว่าถ้าคุณเป็นรัฐเยอรมันที่มีอธิปไตยของตนเอง แล้วจู่ๆประมุขรัฐไหนสักแห่ง มาอยู่ในดินแดนคุณ แล้วก็เซ็นประกาศบังคับใช้กฎหมายของประเทศตัวเอง คือเอ๊กเซอร์ไซส์อำนาจอธิปไตยของรัฐประมุขคนนั้นบนดินแดนคุณ คุณจะรู้สึกอย่างไร "เฮ้ ยู ไอไม่ใช่เมืองขึ้นของยูนะ(เฟ้ย) ยูจะมานั่งอยู่ที่ประเทศของไอนี่ แล้วใช้อำนาจประกาศกฎหมายประเทศยูได้ไง(ฟะ) ยูไม่มีอำนาจจะทำแบบนั้นได้ที่นี่(โว้ย)"
นี่เป็นการกระทำที่ผิดมารยาทและระเบียบวิธีการทูตอย่างแรง และถ้าพูดตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญของไทย และหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ก็ผิดด้วย นั่นคือการประกาศ พรบ.ราชการในพระองค์ ต้องถือเป็นโมฆะ เพราะเป็นการประกาศอย่างผิดกฎหมาย
ขณะนี้เรารู้กันทั่วแล้วว่า กษัตริย์ไทยองค์นี้ ทำอะไรตามใจชอบ ไม่คำนึงถึงกฎหมาย หรือระเบียบวิธีปฏิบัติใดๆทั้งสิ้น (แม้แต่ประเพณีครอบครัวตัวเอง) แต่การไปใช้อำนาจอธิปไตยไทยบนดินแดนประเทศอื่น ประกาศกฎหมายที่ใช้บังคับบนดินแดนไทย บนดินแดนประเทศอื่นครั้งนี้ เป็นอะไรที่เรียกว่า "สุดๆ" มาก
และเป็นเรื่องของความมักง่ายด้วย คืออย่างที่เขียนไปข้างต้น มีวิธีทำได้ไม่ยุ่งยากอะไรเลย ตามรัฐธรรมนูญที่ตัวเองอุตส่าห์ให้แก้ไปแล้ว (อย่างผิด รธน.ที่แล้ว ให้แก้หลังประชามติ) คือก็ให้คนที่เมืองไทย ประกาศใครสักคนเป็นผู้สำเร็จฯชั่วคราว เซ็นแทนในไทยก็สิ้นเรื่องแล้ว แต่ก็ "ตามพระสไตล์" ของเขาจริงๆ คือแม้แต่เรื่องที่ทำให้ถูกระเบียบ(ที่ตัวเองให้กำหนดเอง)ง่ายๆแบบนี้ ก็ไม่ยอมทำ (และดังที่เคยพูดไป ด้วยความเป็นนักเลงใหญ่ของกษัตริย์ บรรดาลูกน้องและที่ปรึกษาทุกระดับลงมาถึง คสช. ก็ไม่มีใครกล้าท้วง)
..................
*ปัญหาคอนเซ็พเรื่อง sovereignty หรือ "อำนาจอธิปไตย" เป็นปัญหาที่มีความยุ่งยากซับซ้อนทั้งในทางประวัติศาสตร์และในปัจจุบัน มีหนังสือและงานที่เกี่ยวกับเรื่องนี้มหาศาล แต่เท่าที่ผมเคยอ่านมาไม่น้อย และยังได้อ่านเพิ่มเติมเพื่อเขียนเรื่องนี้ ไม่เคยมี และเป็นไปไม่ได้ที่จะมีว่า ประมุขรัฐหนึ่งไป "เอ๊กเซอร์ไซส์ sovereignty" ของประเทศตัวเอง บนดินแดนรัฐอธิปไตยอื่นในลักษณะนี้
เรื่องการ "ขยาย" อำนาจอธิปไตยไปไกลเกินกว่าดินแดนประเทศตน (คอนเซ็พเรื่อง external sovereignty) อย่างมากที่สุด ก็จะเป็นเรื่องการมอบอำนาจ (delegation) ตัวแทนของประเทศตนไปดีลกับประเทศอื่น (เช่นในการไปเจรจาต่อรอง ประชุมองค์การระหว่างประเทศ - วชิราลงกรณ์ไม่ได้ไปเยอรมันอย่างเป็นทางการในฐานะตัวแทนประเทศอะไรด้วยซ้ำ) หรือการที่ sovereignty มีผลต่อเนื่องไปถึงสภาวะที่รู้จักกันดีเรื่อง diplomatic immunity หรือเอกสิทธิ์ทางการทูต เช่นตัวแทนของประเทศหนึ่ง รวมถึงตัวประมุขรัฐเวลาไปต่างประเทศ จะถูกดำเนินคดีไม่ได้ (แม้เรื่องนี้ตอนหลังจะมีประเด็นถกเถียงกันขึ้นมาไม่น้อย) แต่ไม่มีกรณีที่กษัตริย์วชิราลงกรณ์ทำแน่ คือไปออกกฎหมายบังคับใช้เฉพาะในประเทศตัวเอง บนดินแดนประเทศอื่นแบบนี้
ใครสนใจอยากอ่านคำอธิบายค็อนเซ็พอำนาจอธิปไตยในระบบกฎหมายมหาชนระหว่างประเทศแบบสั้นๆ (หลายสิบหน้าอยู่) ลองเข้าไปดู "สารานุกรมกฎหมายมหาชนระหว่างประเทศของสถาบันแม็กซ์ พลังก์" (Max Planck Encyclopedia of Public International Law [MPEPIL]) ซึ่งถือเป็นงานอ้างอิงมาตรฐาน ได้ที่นี่ http://opil.ouplaw.com/…/9780199231…/law-9780199231690-e1472 เสียดายว่า ถ้าเป็นคนทั่วไป จะเข้าดูฟรีๆไม่ได้ ยกเว้นสถาบันการศึกษาที่เป็นสมาชิก หรือไม่ก็ต้องใช้วิธี "ลักไก่" ซึ่งผมขอไม่อธิบายในที่นี้)
**ผมไม่ชอบเลยที่ไม่สามารถให้เครดิตใครโดยระบุชื่อได้ เพราะถ้าระบุไป โดยเฉพาะในกระทู้เรื่องนี้ มีหวังเขาเดือดร้อนแน่ ประเด็นเรื่องกษัตริย์เซ็นชื่อประกาศใช้กฎหมาย ทั้งๆที่อยู่ในเยอรมันเป็นการผิด "มิตรสหายนักกฎหมายท่านหนึ่ง" เป็นคนบอกผมมาก่อน ผมฟังแล้วคิดดูก็เห็นว่าน่าจะจริงและไปคิด-ค้นคว้าต่อแล้วเขียนออกมานี้ แต่คงดีไม่น้อยถ้าสามารถให้เครดิตคนที่บอกมาก่อนโดยระบุชื่อได้
  

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar