torsdag 11 maj 2017

The Tyrants King .. "I'm the boss"


พรฎ.จัดระเบียบราชการในพระองค์: เลิกสำนักราชเลขาธิการ?, ทรัพย์สิน"ของ"พระมหากษัตริย์คือ?, สถานะองคมนตรี-สนง.องคมนตรี

ข้อสังเกตบางประการ พรฎ.จัดระเบียบราชการและบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ.๒๕๖๐ : เลิกสำนักราชเลขาธิการ?, อะไรคือทรัพย์สิน "ของ" พระมหากษัตริย์?, และสถานะขององคมนตรีและสำนักงานองคมนตรี
ผมไม่อยู่ปารีส 3-4 วัน เพิ่งกลับ ยังเหนื่อยๆจากการเดินทางอยู่ (ขนาดไม่อยู่ปารีสยังอุตส่าห์มีเรื่องชวนปวดหัวตามมารบกวนจากกรุงเทพหลายเรื่อง - แต่ใครบังเอิญเห็นกระทู้ของเทพมนตรีที่ว่า สศจ. จะ "ไม่รอด" ก็ไม่ต้องรีบดีใจ/ตกใจ ยัง "รอด" เป็นปกติอยู่ครับ)
พรฎ.จัดระเบียบราชการและบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ.๒๕๖๐ ที่ประกาศเมื่อวานนี้ (ดูภาพประกอบ หรือดูต้นฉบับที่นี่ https://goo.gl/RNg98m) ผมอ่านแล้ว มีข้อสังเกตเบื้องต้น 4 เรื่องดังนี้
(1) สำนักราชเลขาธิการ "หาย"
ถ้าใครยังจำได้ ตอนที่กษัตริย์ใหม่ประกาศ พรบ. บริหารราชการในพระองค์ เมื่อ 10 วันก่อน หนึ่งใน 5 หน่วยงานที่ถูก "โอน" ให้กลายเป็น "ราชการในพระองค์" คือ สำนักราชเลขาธิการ (ดูกระทู้เรื่อง พรบ.ดังกล่าวได้ที่นี่ https://goo.gl/ueNVxD) ซึ่งเดิมขึ้นต่อนายกฯและเป็นหน่วยงานที่มีมานาน
แต่ใน พรฎ.ฉบับใหม่นี้ ได้แบ่งส่วนราชการในพระองค์เป็นเพียง 3 ส่วนดังนี้ (มาตรา ๓)
- สำนักงานองคมนตรี
- สำนักพระราชวัง
- หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์
ไม่มี "สำนักราชเลขาธิการ" อยู่แล้ว
สำนักราชเลขาธิการเดิม มีการแบ่งหน่วยงานภายในเป็น ๑๕ หน่วยงาน รวมทั้งหน่วยงานที่เรียกว่า "สำนักงานเลขาธิการองคมนตรี"
ดู "กฏกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักราชเลขาธิการ พ.ศ.๒๕๕๓" ได้ที่นี่ https://goo.gl/48oBza และดูเว็บไซต์ของสำนักงานฯ (ซึ่งคงจะมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในเร็วๆนี้) ได้ที่นี่ https://goo.gl/UdloSz
ผมสงสัยว่า ยกเว้น "สำนักงานเลขาธิการองคมนตรี" ซึ่งคงกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของ "สำนักงานองคมนตรี" ดังจะกล่าวข้างล่าง งานอื่นๆของสำนักราชเลขาธิการ คงถูกยุบ-กระจายรวมเข้าไปในสำนักพระราชวังตามพรฎ.ใหม่นี้หมด
ประเด็นหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจและคงต้องรอดูพัฒนาการต่อไป คือ เดิมทีเดียว สำนักราชเลขาธิการจะมี "กองราชเลขานุการ" และ "กองงานในพระองค์" สำหรับราชินีสิริกิติ์, พระเทพ, ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ และพระองค์โสม อยู่ด้วย (ในบรรดา ๑๕ หน่วยงานภายใน) แต่คราวนี้ ไม่แน่ใจว่า จะมีการตั้งหน่วยงานทำนองเดียวกันให้ทุกพระองค์ในสำนักพระราชวังตามโครงสร้างใหม่ หรือไม่ ถ้ามีก็อาจจะให้อยู่ใน "กรมราชเลขานุการในพระองค์" หรือ "กรมกิจการในพระบรมวงศานุวงศ์" ก็ได้ (ดูหัวข้อถัดไป)
เรื่องนี้ อาจจะมองในแง่ว่า กษัตริย์ใหม่รวบอำนาจเข้าหาตัวเองมากขึ้น แม้แต่กับบรรดาญาติพี่น้องตัวเอง คือเดิมนั้น แม้สำนักราชเลขาธิการทั้งหมดจะขึ้นต่อวังหรือต่อเจ้าในทางปฏิบัติ แต่การที่โดยทางการยังอยู่ใต้นายกฯ และมีหน่วยงานย่อยสำหรับเจ้าแต่ละพระองค์ดังกล่าว ก็ทำให้เจ้าแต่ละพระองค์มีลักษณะอิสระของตัวเองในระดับหนึ่ง แต่คราวนี้ พรบ.ราชการในพระองค์และ พรฎ.ที่เพิ่งออกนี้ มีลักษณะรวมอำนาจเข้ามาขึ้นที่กษัตริย์วชิราลงกรณ์โดยตรง (และจัดการทุกอย่าง "ตามพระราชอัธยาศัย") ลักษณะรวมศูนย์-ควบคุม-ขึ้นต่อ ระหว่างกษัตริย์ใหม่กับพี่น้องตัวเอง ก็อาจจะสูงขึ้น (ความจริงคือ ผมได้ยินการบอกเล่ามาสักระยะหนึ่งแล้วว่า กษัตริย์ใหม่พยายามเข้าควบคุมกิจกรรม โดยเฉพาะเรื่องเงินๆทองๆ การบริจาคถวายเงิน ของพี่น้องตัวเอง)
(2) สำนักพระราชวัง
ตาม พรฎ.ใหม่นี้ สำนักพระราชวัง มีการแบ่งส่วนราชการใหม่เป็น ๗ ส่วน ในระดับกรม (มาตรา ๗ ของ พรฎ.) คือ ศาลาว่าการสำนักพระราชวัง, กรมราชเลขานุการในพระองค์, กรมกิจการในพระบรมวงศานุวงศ์, กรมมหาดเล็ก, กรมสนับสนุน, กรมกิจการพิเศษ และ ส่วนราชการอื่นตามที่กำหนดโดยประกาศสำนักพระราชวัง
เดิมสำนักพระราชวัง มีการแบ่งหน่วยงานภายในเป็น ๑๕ หน่วยงาน ในระดับกอง (ดู "กฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการสำนักพระราชวัง พ.ศ.๒๕๔๗" ที่นี่ https://goo.gl/uYymP2 หรือดูข้อมูลจากเว็บไซต์ของสำนักพระราชวัง ที่นี่ https://goo.gl/uKKxl9)
(3) ทรัพย์สิน "ของ" พระมหากษัตริย์ คืออะไร(หว่า)?
สิ่งที่ผมอ่านแล้วสะดุดใจมากๆคือ ใน พรฎ.นี้ มีการกำหนดว่า (มาตรา ๖) "สำนักพระราชวังมีหน้าที่เกี่ยวกับราชการในพระองค์ทั่วไป...การดูแลรักษาทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์และการอื่นตามพระราชอัธยาศัย"
ใครที่ไม่ได้สนใจเกี่ยวกับกฎหมายทรัพย์สิน #ฝ่าย พระมหากษัตริย์ (คำว่า "ฝ่าย" เป็นคำที่ใช้ในกฎหมาย หมายถึง "เกี่ยวกับ" คือครอบคลุมทุกประเภทหรือ categories ของทรัพย์สินเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์) อาจจะไม่สะดุดใจอะไร
แต่ถ้าใครคุ้นเคยกับ "พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.๒๔๙๑" ที่ใช้กันทุกวันนี้ ควรสะดุดใจว่า "ทรัพย์สิน #ของ พระมหากษัตรย์" ที่ตาม พรฎ.ใหม่ให้สำนักพระราชวังดูแลนี้ คืออะไร(หว่า)?
เพราะตาม พรบ.ทรัพย์สินฯ ๒๔๙๑ นั้น มีประเภทหรือ categories ของทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์เพียง ๓ ประเภท ดังนี้ ทรัพย์สินส่วนพระองค์, ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน (พวกวังต่างๆ) และ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (อันสุดท้ายคือที่มักเป็นข่าว ที่มีการเอามาพูดว่า ในหลวงภูมิพลเป็นกษัตริย์รวยสุดของโลก ที่มีสำนักงานตึกแดงตรงเทเวศร์เป็นคนจัดการน่ะ)
(ต้นฉบับจริงของ พรบ.ทรัพย์สินฯ ๒๔๙๑ ดูได้ที่นี่ https://goo.gl/xx26vi)
ไม่มีประเภท "ทรัพย์สิน #ของ พระมหากษัตริย์" ตามที่เขียนไว้ใน พรฎ. ใหม่ที่ว่าให้สำนักพระราชวังดูแลรักษานี้เลย
เดิมนั้น สำนักพระราชวัง มีหน้าที่ดูแลรักษา "ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน" คือพวกวังต่างๆ และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เฉพาะที่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภค (เช่นพวกถ้วยชาม ฯลฯ) - ดูมาตรา ๕ ของ พรบ. ๒๔๙๑ - ซึ่งทรัพย์สินประเภทนี้ (วัง ถ้วยชาม ฯลฯ) เป็นอะไรที่จัดว่ามีลักษณะเป็นของกษัตริย์แบบส่วนพระองค์น้อยที่สุดในบรรดาทรัพย์สินฯที่แบ่งเป็น ๓ ประเภท
ทีนี้ "ทรัพย์สิน #ของ พระมหากษัตริย์" ตาม พรฎ.ใหม่ จะหมายถึงอะไรได้? ผมนึกไม่ออก จะว่าหมายถึง "ทรัพย์สินส่วนพระองค์" ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะส่วนนั้น มีสำนักงานดูแลต่างหากอยู่แล้ว (และเร็วๆนี้ กษัตริย์ใหม่ มีการตั้งผู้จัดการดูแลขึ้นมา สมัยก่อนสำนักงานที่ดูแลทรัพย์สินส่วนพระองค์ของในหลวงภูมิพล อยู่ในวังสระปทุม)
ที่สำคัญ ในทางกฎหมาย ถ้าจะมีการกำหนดประเภท หรือ category ใหม่ของทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ หรือมีการกำหนดหน้าที่ในการดูแลใหม่ จะต้องทำเป็นกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมเข้าไปยัง พรบ.ทรัพย์สินฯ ๒๔๙๑ ไม่ใช่มาใส่ไว้ลอยๆใน พรฎ.ใหม่แบบนี้ ดังที่เพิ่งกล่าวไป ใน พรบ.ทรัพย์สินฯ ๒๔๙๑ สำนักพระราชวังมีหน้าที่ดูแลเพียง ทรัพย์สินส่วนสาธารณะของแผ่นดิน (วังต่างๆ) และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภคเท่านั้น ไม่มีหน้าที่ดูแล "ทรัพย์สิน ของ พระมหากษัตริย์" (ซึ่งคืออะไรก็ยังไม่รู้) ตาม พรฎ.ใหม่นี้
ก็คงได้แต่สรุปว่า วังกษัตริย์ใหม่ ยังคงทำอะไรมั่วๆในทางกฎหมายและกฎระเบียบตามพระสไตล์ต่อไป
(4) สถานะขององคมนตรีและสำนักงานองคมนตรี
เอาเรื่องหลังก่อน สำนักงานองคมนตรี ต้องถือเป็นหน่วยงานใหม่เอี่ยม เดิม(ดังที่กล่าวในตอนต้น) มีแต่สำนักงานเลขาธิการองคมตรี ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของสำนักราชเลขาธิการที่ขึ้นต่อนายกฯ ใน พรฎ.ใหม่ สำนักราชเลขาธิการ "หาย" ไปและหน้าที่การงานเดิมคงถูกกลืนเข้าไปในสำนักพระราชวังตาม พรฎ.ใหม่ แต่มีการตั้งสำนักองคมนตรีแยกมาต่างหาก
ในแง่นี้ สำนักงานองคมนตรีก็มีลักษณะที่มาขึ้นตรงกับกษัตริย์มากขึ้นกว่าเดิม (สำนักงานเลขาธิการองคมนตรีเดิม ขึ้นต่อองคมนตรีเองมากกว่า)
ทีนี้ เรื่องสถานะองคมนตรี ความจริง เรื่องนี้มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ
คราวที่กษัตริย์ให้แก้รัฐธรรมนูญ มีการเพิ่มประโยคหนึ่งเข้าไปในคุณสมบัติองคมนตรี ที่ต่างออกไปจากข้อความในหมวดกษัตริย์ที่ผ่านๆมา คือ ให้กำหนดว่า องคมนตรี "ต้องไม่เป็น...ข้าราชการเว้นแต่การเป็นข้าราชการในพระองค์ในตำแหน่งองคมนตรี" ตอนนั้น ผมดูแล้วก็งงๆอยู่บ้างว่า หมายถึงอะไร ตอนหลัง พอมี พรบ.ราชการในพระองค์เมื่อเร็วๆนี้ และยิ่งมามี พรฎ. ฉบับนี้ ก็ชัดเจนว่า ที่เพิ่มเข้าไปในรัฐธรรมนูญ ก็เพื่อมีผลในทางที่ว่า ต่อไปนี้ องมนตรีถือเป็น "ข้าราชการในพระองค์" ตาม พรบ.และ พรฎ.ของกษัตริย์ใหม่ด้วย
เดิมนั้น องคมนตรีมีสถานะพิเศษที่ไม่จัดอยู่ในประเภทข้าราชการใดๆ (ไม่ใช่แม้แต่ "ข้าราชการพลเรือนในพระองค์" ตาม "พรฎ.ว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในพระองค์ พ.ศ.๒๕๕๒" ซึ่งครอบคลุมเฉพาะข้าราชการในสำนักพระราชวังและสำนักราชเลขาธิการ - ดูตัวกฎหมายที่นี่ https://goo.gl/409YWv)
เห็นได้ชัดว่า ต่อไปนี้ องคมนตรีมีสถานะขึ้นต่อกษัตริย์ใหม่ในทางกฎหมายมากยิ่งขึ้น
ยิ่งกว่านั้น ใน พรฎ.ใหม่ ยังมีข้อความสำคัญ ที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญมาตราว่าด้วยองคมนตรี เขียนไว้ด้วย ดังนี้ (มาตรา ๑๒ ของ พรฎ.ใหม่)
"การปฏิบัติหน้าที่ขององคมนตรี นอกจากที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว องคมนตรีในฐานะข้าราชการในพระองค์มีหน้าที่ปฏิบัติภารกิจตามที่พระมหากษัตริย์ทรงกําหนดหรือทรงมอบหมาย"
ซึ่งเดิมข้อความในรัฐธรรมนูญที่ผ่านๆมา มีเพียงบอกว่า "องคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ" (มาตรา ๑๐ ใน รธน.๒๕๖๐) คือจะเห็นว่า มีแต่เรื่องการ "ปรึกษา" หรือให้ความเห็นในเรื่องต่างๆเท่านั้น
พรฎ.ใหม่ ถ้าแปลเป็นภาษาบ้านๆหน่อย คงต้องการให้บอกทั้งองคมนตรีและบอกต่อสาธารณะว่า "I'm the boss" ตรูคือเจ้านายของพวกเอ็ง และหน้าที่ของพวกเอ็งเป็นอะไรก็ได้ที่ตรูกำหนดขึ้นและสั่งให้ทำ ซึ่งจะมีผลทั้งต่อตัวองคมนตรี และต่อสาธารณะในอนาคตได้ด้วย คือ ต่อไปนี้ กษัตริย์สามารถสั่งให้องคมนตรีไปทำโน่นนี่อะไรก็ได้ มากกว่าการให้คำปรึกษา   

Image may contain: textImage may contain: text
 Image may contain: textImage may contain: text
 Image may contain: textImage may contain: textImage may contain: text

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar