"จะสร้างเอกลักษณ์รวมหมู่ใหม่ ระบบคุณค่าแบบใหม่ อย่างไร"
นี่เป็นปัญหาที่ผมทิ้งท้ายไว้ในกระทู้เรื่อง "ประเพณีประดิษฐ์ที่เพิ่งสร้าง" เกี่ยวกับกรณีพิธีถวายบังคมฯของจุฬา (https://goo.gl/yZPHCE)
ความจริง นี่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น ที่ผมหมกมุ่น พยายามคิด อ่าน ค้นคว้าศึกษาในหลายปีหลังนี้ คือ
"เราสามารถสร้างการเมืองประชาธิปไตยที่มีพื้นฐานจากวัฒนธรรมตะวันตก ในประเทศไทยที่มีวัฒนธรรมคนละอย่างได้หรือไม่ แค่ไหน อย่างไร"
[คำเตือน : กระทู้นี้ยาวมากๆ]
....................
ผมเห็นว่า จนบัดนี้ คนที่เรียกว่า "ฝ่ายประชาธิปไตย" รวมทั้งบรรดาปัญญาชนนักวิชาการของฝ่ายนี้ ไม่เคยมีคำตอบที่เป็นระบบและชัดเจนเพียงพอ อันที่จริง ผมคิดว่า หลายคนไม่ตระหนักถึงความหนักหน่วงของปัญหานี้เพียงพอ ไม่ acknowledge หรือยอมรับอย่างเพียงพอว่ามันเป็นปัญหา
(ในแง่หนึ่ง ก็พอจะเข้าใจได้เพราะเรื่องการเมือง ถ้า "ยอมรับ" ว่าเป็นปัญหา ก็กลัวจะ "เข้าทาง อีกฝ่ายหนึ่ง" ที่เสนอว่า ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตกไม่ได้)
ต้องย้ำว่า #กระทู้นี้ไม่มีคำตอบเหมือนกัน แต่อย่างน้อย ผมจะพยายามอธิบายให้เห็นว่ามีปัญหาอย่างไร โดยใช้กรณีพิธีถวายบังคมฯจุฬา เป็นกรณีตัวอย่าง
ก่อนอื่น เพื่อให้เห็นปัญหาในภาพกว้างออกไป ผมขออนุญาตท้าวความถึงสิ่งที่ผมเขียนเป็นปีก่อนรัฐประหารครั้งหลัง (จน "มิตรสหายบางท่าน" ฉุนผมมาก) นั่นคือ ผมเสนอว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมวลชนฝ่ายเสื้อแดงกับนักการเมืองของตน (ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์) มีลักษณะ unhealthy หรือสุขภาพไม่ดี โดยเปรียบเทียบกับความสัมพันธ์ของมวลชนเสื้อเหลืองกับนักการเมืองของตน (ประชาธิปัตย์) คือ ฝ่ายหลังมีลักษณะขึ้นต่อ ยึดติด น้อยกว่าฝ่ายแรกมาก แน่นอน ส่วนหนึ่งเพราะฝ่ายหลังหรือมวลชนเสื้อเหลือง มีอะไรที่สูงขึ้นไปกว่านั้น - ในหลวงภูมิพล - ไว้ยึดติดแล้ว ... แต่ถ้าเทียบความสัมพันธ์เฉพาะกับนักการเมือง ผมว่าฝ่ายเสื้อเหลืองมีลักษณะ healthy กว่าฝ่ายเสื้อแดงแน่
ผมเห็นว่า ลักษณะ unhealthy ของความสัมพันธ์ระหว่างมวลชนฝ่ายเสื้อแดง ที่เรียกว่า "ฝ่ายประชาธิปไตย" กับนักการเมืองของตน ซึ่งมีลักษณะหรือคาแร็กเตอร์ของความสัมพันธ์คล้ายคลึงกันมาก #ในเชิงวัฒนธรรม กับความสัมพันธ์ฝ่ายเสื้อเหลืองกับเจ้า (เช่น ไม่ยอมรับกระทั่งว่า ผู้ที่ตัวเองเชิดชูนั้นเคยทำผิดร้ายแรง คือต่อให้ทำผิดร้ายแรงยังไงก็มองไม่เห็น จะหาข้ออ้างมาแก้ตัวให้ได้เสมอ - พูดเช่นนี้ เสื้อแดงส่วนใหญ่คงยืนกรานว่าไม่จริง และไม่ยอมรับ ประเด็นของปัญหา "เชิงวัฒนธรรม" คือแบบนี้แหละ คือถ้ารู้ตัวหรือยอมรับว่าเป็น ก็ไม่ใช่เรื่องทางวัฒนธรรมแล้ว การไม่รู้ตัวหรือไม่ยอมรับว่าเป็นปัญหา คือปัญหาทางวัฒนธรรมที่ว่า)
เรื่องนี้เรสปัญหาที่กว้างออกไปว่า ในประเทศที่รากฐานทางวัฒนธรรมต่างกันอย่างสำคัญกับตะวันตก ซึ่งสะท้อนออกมาแม้แต่ในหมู่พวกที่ประกาศต้องการประชาธิปไตยแบบตะวันตก - ในประเทศแบบนี้ การเมืองแบบตะวันตกจะสามารถเกิดขึ้นได้หรือไม่ แค่ไหน?
ถ้าจะถามว่าอะไรคือแก่นสำคัญของวัฒนธรรมแบบตะวันตกที่เป็นรากฐานของประชาธิปไตยสมัยใหม่? ผมเสนอว่า คือลักษณะ individualism หรือที่แปลว่า ปัจเจกชนนิยม เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าจะอภิปรายในที่นี้ได้ แต่ขอตั้งเป็นปัญหาสั้นๆให้คิดอีกประเด็นที่เกี่ยวข้องกัน
หลายคนคงไม่รู้ว่า individaulism ที่นำไปสู่ไอเดียเรื่อง "เสรีนิยม" หรือ liberalism ของตะวันตก ในฐานะระบบคิด มีพื้นฐานมาจากไอเดียทางศาสนาคริสต์ - จอห์น ล็อค ที่ถือกันว่าเป็น "บิดาของเสรีนิยม" วางรากฐานของข้อเสนอเรื่องบุคคลมีคุณค่าเท่าเทียมกัน บนไอเดียคริสเตียนเลย
ทีนี้ ในประเทศไทย ที่มีวัฒนธรรมพุทธอย่างเข้มข้น idividualism หรือไอเดียแบบ "เสรีนิยม" จะสามารถลงหลักปักฐานได้หรือไม่?
ผมจะกลับมาที่ประเด็นเกี่ยวกับศาสนาพุทธข้างท้ายกระทู้
................
เอาละ เรามาพูดถึงกรณีรูปธรรมที่เพิ่งเกิดขึ้น เรื่องพิธีถวายบังคมฯของจุฬา
ภาพประกอบกระทู้นี้ ผมเอามาจากพิธีทำนองเดียวกัน ที่โรงเรียนเก่าของผม (สวนกุหลาบ วัดเลียบ) ซึ่งเป็น "ประเพณีประดิษฐ์ที่เพิ่งสร้าง" เหมือนของจุฬา และเกิดขึ้นในช่วงใกล้ๆกัน (ราวกลางทศวรรษ 2540) ใครสนใจ ดูกระทู้เล่าความเป็นมาของ "พิธีถวายบังคมลา" ของสวนกุหลาบ ได้ที่นี่ https://goo.gl/E63TjF
ผมเข้าใจว่า ไม่เพียงจุฬาหรือสวนกุหลาบ แต่มหาลัยหรือสถานศึกษาหลายแห่ง ก็มีการ "ประดิษฐ์ประเพณี" หรือ "พิธี" ในลักษณะคล้ายกันนี้ ในช่วงใกล้ๆกันนั้น
ทุกกรณี สะท้อนปริบทที่ผมอธิบายไปวันก่อน เรื่องการขึ้นสู่อำนาจนำของในหลวงภูมิพล คือเป็นภาพสะท้อนกระแสเชียร์ในหลวงภูมิพลที่เกิดขึ้นอย่างมากในหมู่ชนชั้นกลางในเมือง
ขณะเดียวกัน ดังที่ผมเสนอไปด้วยว่า สิ่งที่เป็นรากฐานทางสังคมของกระแสเชียร์ที่ว่านี้ คือการที่ลูกหลานคนจีน ที่เป็นชนชั้นกลางในเมือง ได้หลอมกลืนเข้ากับสังคมไทย (จนการเป็น "เจ๊ก" ไม่ใช่ปมด้อยอีกต่อไป) แต่ด้วยความที่ "ขาดราก" คือจะสร้างเอกลักษณ์รวมหมู่ของตนจากวัฒนธรรมจีนของบรรพบุรุษก็ห่างไกลเกินไป ก็เลย "รับ" หรือ adopt เอาวัฒนธรรมแบบเจ้า หรือที่คิดว่าเป็นแบบเจ้าๆ และรับเอาในหลวงภูมิพลเป็นตัวแทนของเอกลักษณ์รวมหมู่ของตน
ในแง่หนึ่ง สำหรับคนที่ต้องการประชาธิปไตยแบบตะวันตก อาจจะมองแบบมีความหวังว่า ความที่ในหลวงภูมิพลเป็นศูนย์รวมของการเกิดขึ้นของวัฒนธรรมหรือประเพณี "ที่เพิ่งสร้าง" เหล่านี้ ในเมื่อในหลวงภูมิพลไม่อยู่แล้ว และกษัตริย์องค์ใหม่ก็ ..อะแฮ่ม.. อย่างที่รู้ๆกัน
ความเข้มข้นของความนิยมใน "ประเพณีประดิษฐ์เพิ่งสร้าง" เหล่านี้ อาจจะค่อยๆลดน้อยลง ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้ ทุกวันนี้ อย่างที่เห็นกันว่า กษัตริย์องค์นี้และมวลชนรักเจ้าเรียกว่าทั้งหมด ก็ล้วนแต่ยังอ้างอิงในหลวงภูมิพลอยู่ตลอดเวลา (วันก่อนที่ "แท็ค" โพสต์ด่า "อิมเมจ" เรื่อง "แผ่นดินของพ่อ" เป็นต้น) ซึ่งไม่น่าจะทำแบบนี้ไปได้อย่างมีผลมากอีกสักกี่ปี
แต่ปัญหาเรื่องนี้ ที่ยาก เพราะมันมีด้านที่เป็นปริบทหรือฐานทางวัฒนธรรมที่กว้างออกไปกว่าเรื่องตัวบุคคลของในหลวงภูมิพล (อันที่จริง กระแสการเชียร์อำนาจนำของในหลวงภูมิพลที่ผมพูดถึง เกิดขึ้นได้ นอกจากปริบทเฉพาะแล้ว เพราะมีฐานทางวัฒนธรรมแบบนี้อยู่ด้วย)
พูดอย่างรูปธรรมให้เห็นง่ายๆ เรื่องการหมอบกราบ
ในทางพุทธศาสนา ถือเอาการหมอบกราบพระและพระพุทธรูปเป็นเรื่องปกติ ความจริงถือเป็นเรื่องเหมาะสมที่ควรหรือต้องทำเลยด้วยซ้ำ (เผื่อใครอยากรู้นะ เวลาผมมีความจำเป็นต้องเข้าวัด ผมหมอบกราบพระและพระพุทธรูปแบบที่คนอื่นที่ผมไปด้วยทำเหมือนกัน ทั้งที่ผมไม่ได้นับถือพุทธ - ปกติให้เข้าวัดคนเดียว ผมไม่เข้า ยกเว้นไปดูศิลปะ) และหลังๆ ก็มีความนิยมกันมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นกลาง ที่จะแสดงการหมอบกราบแบบนี้กับพ่อแม่ (นึกถึงภาพถ่ายวันรับปริญญา)
ทำนองเดียวกับกระแสเรื่องเชียร์ในหลวงภูมิพลที่เกิดขึ้นใน 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ผมคิดว่า พูดได้ว่า มีกระแสเรื่องความนิยมใน "พุทธศาสนา" มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในหมู่ชนชั้นกลาง (บรรดามนุษย์เงินเดือนอ๊อฟฟิศทั้งหลาย) - ผมมองว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของการพยายามสร้างหรือหาเอกลัษณ์รวมหมู่เหมือนกัน โดยเฉพาะในภาวะท่ามกลางการเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ (modernity) ของสังคมไทย แล้วคนพยายามหา "ที่พึ่งทางใจ" กันมากขึ้น
กรณีพิธีถวายบังคมฯจุฬา คนที่ไม่เห็นด้วยกับพิธี อย่างเนติวิทย์และเพื่อน อาจจะพออ้างเรื่อง "คำสั่ง ร.๕" ขึ้นมาได้ระดับหนึ่ง แต่ตราบใดที่การปฏิบัติแบบพุทธที่ถือเอาการกราบพระและกราบพุทธรูป (และกราบพ่อแม่) ยังเป็นวิถีชีวิตที่ทุกคนยอมรับและปฏิบัติกันแพร่หลายปกติในชีวิตประจำวันอื่นๆ
เราจะเสนอหรือทำให้คนพร้อมใจกันมาเลิก "พิธี" ในลักษณะที่ว่าได้หรือไม่ อย่างไร?
อย่าลืมว่า สังคมตะวันตกทิ้งศาสนา (หรือมีลักษณะที่เรียกว่า secular) อย่างเต็มที่มานานเป็นร้อยปีแล้ว การหมอบกราบ ไม่ใช่วิถีชีวิตปกติที่ได้รับการยอมรับหรือปฏิบัติแล้วโดยสิ้นเชิง (ซึ่งตรงข้ามกับของไทยที่เพิ่งกล่าว)
และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น - และนี่คือประเด็นสำคัญที่ผมพูดถึงข้างบน - ในทางประวัติศาสตร์ ทิศทางการพัฒนาความคิดแบบคริสเตียน นำไปสู่ (generate) ไอเดียสมัยใหม่เรื่อง individualism และ liberalism ที่เป็นฐานของการเมืองประชาธิปไตยแบบตะวันตก แต่ศาสนาพุทธ ไม่เคย หรือไม่มีวี่แววจะนำไปสู่ทิศทางดังกล่าว (นี่เป็นปัญหาใหญ่ทางปรัชญา เท่าที่ผมพอรู้ทั้งคริสต์และพุทธ ผมสงสัยว่า "โครงสร้าง" หรือหลักสำคัญของคำสอนพุทธ ไม่เอื้อที่จะไปสู่ไอเดียในลักษณะเดียวกันได้)
ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ถ้าโยงกับการเมืองปัจจุบันโดยตรง คือ แม้แต่ฝ่ายที่เรียกว่า "ฝ่ายประชาธิปไตย" ประเด็นเรื่องบทบาทของพุทธศาสนา ทั้งในแง่คำสอนและในแง่การปฏิบัติ (เช่นการกราบพระที่ทุกคนยอมรับและปฏิบัติ) เป็นปัญหาอย่างไรบ้างต่ออนาคตของการสร้างการเมืองประชาธิปไตยแบบตะวันตก ที่ "ฝ่ายประชาธิปไตย" เรียกร้องเอง เป็นเรื่องที่ไม่เคยมีการอภิปรายกันเต็มที่ (ยิ่งกว่านั้น ฝ่ายเสื้อแดง ที่กล่าวกันว่า เป็น "ฝ่ายประชาธิปไตย" ยังเป็นขบวนการเมืองอันเดียวในประวัติศาสตร์ที่เสนออย่างเป็นทางการให้ระบุ "ศาสนาประจำชาติ" ใน รธน. ด้วย) แม้แต่นักวิชาการรุ่นใหม่ ที่เสนอเรื่อง "แยกศาสนาออกมาจากรัฐ" เช่นช่วงที่มีกรณีธรรมกาย ผมก็เคยแย้งว่า ที่เสนอๆกัน (เช่น คุณวิจักษ์) ก็จำกัดเพียงแค่ในเชิง "การบริหาร" องค์กร (แยกการบริหารองค์กรสงฆ์ออกจากรัฐ รัฐ "อย่าไปยุ่งเกี่ยว") ความจริง ผมคิดว่า ปัญหามันมากกว่านั้น คือเรื่องการ secularize (หรือทำให้เป็น "โลกิยะ") สังคมทั้งสังคมอย่างชนิดเต็มที่ ว่าทำได้หรือไม่ อย่างไร - เราจะสมควรหรือจะทำได้หรือไม่ ที่จะ "ยกเลิก" ศาสนา(พุทธ)โดยพื้นฐาน ถ้าต้องการให้มีประชาธิปไตยแบบตะวันตก? และถ้าทำไม่ได้หรือไม่ควร จะสร้างประชาธิปไตยแบบตะวันตกได้หรือไม่อย่างไร?
.................
ขอหมายเหตุ ในเรื่องเดียวกันนี้ แต่ขยายออกไปนิด ใครที่อ่านที่คุณ "แอนดรู" เขียนประจำ คงเห็นว่า เขาด่าเรื่องการหมอบคลานนี้หนักมากๆ ในแง่หนึ่ง ผมก็เข้าใจและเห็นใจเขาอยู่ คือถ้าไม่มีการหมอบคลานเลย ผมจะดีใจมาก - ปัญหาคือ ผมคิดว่า เขาไม่เก็ตถึงประเด็นที่มันกว้างกว่านั้น ในแง่ของฐานทางศาสนา-วัฒนธรรมที่ยังเข้มข้นในสังคมไทย .. เอาเข้าจริง แม้แต่เรื่อง "ความจงรักภักดี" ต่อเจ้า ด้วยความที่เขามาจากสังคมที่ไม่เพียง secular เต็มที่ และเจ้าไม่มีสถานะเชิงที่โยงกับเรื่องทางวัฒนธรรมแบบนี้เป็นร้อยๆปีแล้ว เขาจึงไม่เก็ตเรื่อง "ความจงรักภักดี" และถึงกับเขียนฟันธงในหนังสือของเขาว่า ที่ชนชั้นกลาง "แสดงความจงรักภักดี" ต่อในหลวงภูมิพล ไม่ใช่จงรักภักดีจริงๆหรอก เพียงแต่ "ใช้ในหลวงภูมิพลเป็นเครื่องมือ" - เป็น "หุ่นเชิด" ในคำของใจ อึ๊งภากรณ์ ซึ่งแอนดรูเห็นด้วย - คือเขาไม่เก็ตว่า ระบบคิดแบบนี้ วัฒนธรรมแบบนี้ ในสังคมแบบนี้ เป็นอะไรที่ REAL ขนาดไหน (เขาจึงคาดการณ์แบบผิดว่า จะเกิด ศึกชิงบัลลังก์ อะไรด้วย คือไม่เข้าใจว่าที่ในหลวงภูมิพล "จัดการไว้แล้ว" ว่าจะให้ลูกชายครองราชย์ต่อ เป็นอะไรที่ไม่มีใครกล้าเปลี่ยน จริงๆ แม้แต่จะคิด ยังไม่กล้าคิด) โดยแบ๊คกราวน์ของเขา เขาคิดเป็นแต่ในเชิงที่ผมเรียกว่าแบบ instrumental reason คือ การทำอะไรด้วยเหตุผลในเชิง "เพื่อการใช้สอย" "เพื่อการเป็นเครื่องมือ" ในความหมายแคบๆเท่านั้น ไอเดียประมาณ "จงรักภักดี" ในทางวัฒนธรรม-ศาสนาที่เราเห็นในไทย เป็นไอเดียที่ไม่มีอยู่เป็นศตวรรษๆแล้วในสังคมตะวันตก
การที่เราไม่เห็นด้วยกับอะไรอย่างมากๆ - และแน่นอน ผมไม่เห็นด้วยกับวัฒนธรรมเจ้าที่พูดมาทั้งหมดอย่างมาก - ไม่ได้แปลว่า เราไม่ควรต้องพยายามทำความเข้าใจ และคิดในปัญหาที่ยาก (ยากกว่าการเอาแต่ด่าๆๆ ยิ่งหยาบยิ่งดี อย่างที่พวกใต้ดินยังทำทุกวันนี้) ว่า เราจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร