måndag 22 april 2019

รัฐต้องชดใช้ บริษัทบริวาร (?)"คดีดอนเมืองโทลล์เวย์" - "คดี”โฮปเวลล์”

คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?
เรื่อง บริษัทบริวาร
โดย กาหลิบ

เมืองไทยขณะนี้คงกำลังเข้าสู่ห้วงเวลาชดใช้กรรม เหตุการณ์อย่างน้อยสองเรื่องที่ร้อนแรงอยู่ในนาทีนี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นแล้วก็เคยขายผ้าเอาหน้ารอดไปได้ตามวิสัยกะล่อนของชนชั้นนำไทย แต่งานนี้กลับกลายเป็นวัวพันหลัก เสมือนคนที่พลาดติดกับตัวเองจนพูดไม่ออกบอกไม่ได้ ถูกมัดไว้กลางเมืองให้สาธารณชนค่อยๆ คิดตามและเข้าใจลึกซึ้งขึ้นทุกวันในความฉ้อฉล
    
เหตุการณ์ทั้งสองได้แก่กรณีอื้อฉาวเรื่องเครื่องบินพระที่นั่งในเยอรมนีและนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น ๓๐๐ บาทต่อวันของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเชื่อกันว่ากำลังจะผงาดขึ้นเป็นรัฐบาลใหม่ 

คนละเรื่อง แต่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างไม่น่าเชื่อ และความสัมพันธ์นั้นเองได้ฉายภาพแท้จริงของเมืองไทยอย่างแจ่มแจ้งราวกับดูภาพยนตร์ 
   
คงจะไม่พูดในที่นี้ว่า ความเป็นเครื่องบินพระที่นั่ง ความเป็นเครื่องบินที่หลวง (กองทัพอากาศ) จัดถวายเป็นพระราชพาหนะ หรือสถานะความเป็นเครื่องบินส่วนพระองค์นั้น อธิบายความทั้งหมดนี้ อย่างไร เพราะไม่ใช่ประเด็นที่จะพูดให้ใครเดือดร้อนเล่นและสาธุชนท่านก็มองเห็นเองได้ แต่ประเด็นร้อนของวันนี้คือ ความอัปยศครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรและโดยใคร
   
เรารู้แล้วว่า คำสั่งศาลเยอรมนีที่ให้ยึดทรัพย์ใดๆ ของรัฐบาลไทยได้ สืบเนื่องมาจากความเสียหายของ บริษัท วอลเตอร์ บาว จำกัดในกรณีโครงการก่อสร้างและเก็บเกี่ยวประโยชน์จากดอนเมืองโทลล์เวย์ แต่คำอธิบายที่ละเอียดกว่านั้นรู้สึกจะยังกระมิดกระเมี้ยนกันอยู่
   
ก็เล่าตรงนี้เสียเลยก็แล้วกัน
    
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้องมากที่สุดในการอนุมัติโครงการนี้ คือนายมนตรี พงษ์พานิช ผู้เสียชีวิตไปนานแล้วจากโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเอดส์ ก่อนตายก็เที่ยวฝากเงินทีละมากๆ ไว้กับคนนั้นคนนี้รวมทั้ง พลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง (ยศในปัจจุบัน) ผู้เป็นนายตำรวจติดตามรัฐมนตรีฯ ในขณะนั้น โครงการดอนเมืองโทลล์เวย์ทำในรูปสัญญา ในสัญญานั้นก็มีเงื่อนไขบังคับไว้ว่า ในห้วงเวลาที่ต่างฝ่ายต่างถือสัญญาอยู่ รัฐบาลไทย ไม่ว่าจะชุดใดคณะใด จะอนุมัติการก่อสร้างโครงการคมนาคมอื่นใดอันมีลักษณะทับเส้นทางหรือแย่งลูกค้าจากดอนเมืองโทลล์เวย์มิได้ หากขืนทำก็จะต้องถูกปรับจากคู่สัญญาตามความเสียหายที่เกิดขึ้นพร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาส
    
เวลาผ่านไปจนกระทั่ง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ดอนเมืองโทลล์เวย์เปิดใช้มาแล้วก่อนหน้านั้นหลายปี และยังอยู่ในสัญญานั้น
    
ปัญหามาเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลชวนฯ อนุมัติให้มีการก่อสร้าง ขยายเส้นทาง และเชื่อมต่อเส้นทางถนนรอบในที่คู่ขนานมากับถนนวิภาวดีรังสิตจนกลายเป็น ถนนใน หรือ local  road ขึ้นมาจนกระทั่งปัจจุบัน ถนนใหม่รองรับผู้คนแถวนั้นมากมายและนับว่ามีประโยชน์ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการละเมิดสัญญาที่ทำไว้กับบริษัทเยอรมนีผู้ร่วมก่อสร้างดอนเมืองโทลล์เวย์อย่างฉกรรจ์
    
เมื่อละเมิดเขา เขาก็ฟ้อง และผลสุดท้ายก็กลายมาเป็นความน่าอับอายทั่วถึงกันตั้งแต่บนสุดของห่วงโซ่อาหารเมืองไทยจนถึงชั้นล่าง
    
เหตุการณ์ชี้ให้เราเห็นทีเดียวว่า พรรคการเมือง นักการเมือง และบริษัทบริวารของชนชั้นนำไทย ผู้อ้างตนเองว่ารักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ยิ่งกว่าใครๆ ในแผ่นดินนี้ เขานำอำนาจที่ได้จากการอ้างอย่างนั้นไปใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง ความเห็นแก่ตัวอย่างโลภโมโทสันครั้งนี้น่าจะฉีกหน้ากากให้คนทั้งหลายได้เห็นว่า ชนชั้นนำเมืองไทยเขาร่วมกัน รู้กัน และเป็นทีมเดียวกันในการทำมาหากินแบบพวกปล้นปวงชนกันอย่างไร
    
เมื่อกรรมตามทันในวันนี้ จึงปิดก้นตัวเองไม่มิด มองเห็นทะลุทะลวงไปถึงไหนๆ ให้ขายหน้าเขา
    
กรณีค่าแรงขั้นต่ำเป็นอีกเรื่องที่กำลังสนุก 
    
เพราะการถกเถียงกำลังลุกลามจากประเด็นทางวิชาการและนโยบายไปสู่ความเห็นแก่ตัวล้วนๆ และชี้ให้เราเห็นทีเดียวว่าภาคธุรกิจของไทยที่ว่าแน่ว่าเก่งกันนักนั้น สุดท้ายอยู่ในระบบอุปถัมภ์ของผู้ใด อาศัยอำนาจและอิทธิพลของใครในการทำมาหากินกันเป็นโคตรตระกูล เพราะขาดทั้งความรู้และความสามารถที่จะสร้างอะไรได้ด้วยตนเอง 
   
ถ้าไม่มีอำนาจและอิทธิพลคุ้มหัวที่เจ้าตัวต้องคอยจ่ายค่าคุ้มครองอยู่ตลอดมา เจ้าสัวไทยหลายคนคงจะถือกะลาขอทานเขากินไปนานแล้ว 
    
ความขัดแย้งเรื่องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ ๓๐๐ บาทกำลังกลายเป็นการแบ่งข้างระหว่างพรรคเพื่อไทยที่ประกาศยืนกับผู้ที่เป็นคนจนกับภาคเอกชนที่ถือตัวเองว่าเป็นอยู่ในระบบอุปถัมภ์ของเจ้าของประเทศไทยและเป็นเด็กเส้น     
    
ศึกครั้งนี้จึงมากกว่าค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ แต่เป็นการแบ่งข้างว่าใครเป็นพวกใคร และสำคัญกว่านั้นจะเป็นการแสดงว่าใครเป็นพวกเดียวกับประชาชน
    
พรรคเพื่อไทยเองก็อย่าทะนงตน หากทำไม่สำเร็จก็สูญเสียสถานะเช่นนั้นเอาง่ายๆ ได้เหมือนกัน 
    
นิทานเรื่องนี้สอนว่าระบอบการเมืองใดๆ อยู่ได้ด้วยการค้ำจุนของบริษัทบริวาร การรักษาอำนาจของชนชั้นนำย่อมต้องอาศัยผู้คนเหล่านี้เป็นมือเป็นไม้ 
    
ประเด็นคือเมื่อคนเหล่านี้แสดงธาตุแท้ของความเป็นคนชั่วขึ้นมา มันสะท้อนอะไรกลับไปถึงผู้อุปถัมภ์บ้างเล่า.

(หมายเหตุ-"คดี"ยืดเยื้อเกี่ยวพันกันมานานผ่านหลายรัฐบาลจากอดีตจนถึงปัจจุบัน)

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar