ฉันทามติ-อำนาจนำ-เอกลักษณ์ร่วม-ความเป็นชาติ/ชาตินิยม
หรือไม่มีกษัตริย์ภูมิพลแล้ว จะมีใครหรืออะไร แทนที่
Consensus-Consent-Hegemony-Collective Identity-Nation/Nationalism
...................
กระทู้นี้ต่อเนื่องจากกระทู้ก่อน แต่กระทู้นี้ ผมเขียนในลักษณะที่เรียกว่า "วิชาการ" หน่อย พูดถึงปัญหาในลักษณะเป็นทฤษฎีปรัชญาการเมืองสังคม ขออภัยล่วงหน้าสำหรับท่านที่ไม่เคยชินหรือไม่ชอบโหมดการเขียนแบบนี้
อันที่จริง เมื่อผมเสนอไอเดียเรื่อง "ฉันทามติ" ผมมีไอเดียเกี่ยวกับทฤษฎีหรือปรัชญาสังคมการเมืองที่ใหญ่และกว้างกว่านั้นเป็นแบ๊คกราวน์ของการเสนออยู่ แต่ที่เสนอออกมาเป็นรูปธรรมคำว่า "ฉันทามติ" เพราะเพื่อจะทำให้มันเข้าใจได้ง่ายและกว้างขวางหน่อย
ในที่นี้ ผมจะพูดถึงแบ๊กกราวน์ที่ว่า
...................
สิ่งที่เป็น "ฐานเริ่มต้น" หรือ premise ของข้อเสนอเรื่อง "ฉันทามติ" คือ
การเมืองประชาธิปไตย หรือเอาเข้าจริง สังคมสมัยใหม่ จะ "ฟังชั่น" หรือดำเนินไปปกติได้ ไม่ว่าจะมีความเห็นที่แตกต่างกันอย่างมาก (นึกถึงสามกรณีของฝรั่งที่ยกตัวอย่างในกระทู้ก่อน ที่ความเห็นต่อการเลือกตั้งหรืออียูเกือบจะแตกต่างแบบ "ผ่ากลาง" เลย)
ต้องมีอะไรบางอย่างที่ "ใหญ่" ขึ้นไปที่ร่วมกัน
เราอาจจะเรียกสิ่งนั้นว่า "ฉันทามติ"
หรือถ้าจะใช้คำในทฤษฎีหน่อย (ตาม อันโตนิโอ กรัมชี่ นักคิดที่มีชื่อเสียงที่สุดของอิตาลีในปัจจุบัน - ถ้าอาศัยจำนวนการอ้างอิง มีชื่อเสียงมากกว่า มาเคียเวลลี่เสียอีกตอนนี้ - ไว้ผมจะหาโอกาสพูดถึงกรัมชี่ละเอียดกว่านี้)
ต้องมี "อำนาจนำ" (Hegemony) ทางวัฒนธรรม หรือมี ระบบทางวัฒนธรรมที่ได้รับการยอมรับร่วมกัน กำกับสังคมอยู่
ผมมองว่า ไอเดียทำนอง ต้องมี "ฉันทามติ" หรือต้องมี "อำนาจนำ" คือเรื่องเดียวกับการที่สังคมหนึ่ง ต้องมี "เอกลักษณ์รวมหมู่" "เอกลักษณ์ร่วม" หรือ Collective Identity บางอย่างอยู่
หรือ ต้องมี "ความเป็น(ชุมชนแบบ)ชาติ" หรือ "ชาตินิยม" บางอย่างอยู่ ("เป็นคนไทย" หรือ "เป็นไทย" จะนิยามร่วมกันอย่างไร เป็นต้น ผมตระหนักดีว่า พอพูดเรื่อง "ชาติ" ในเชิง positive หรือในแง่ว่าเป็น "ความจำเป็น" แบบนี้ เสี่ยงต่อการจะถูกมองจากฝ่ายซ้าย ว่า เป็นเรื่องผิด แต่เรื่องนี้มีความซับซ้อน ที่ไม่สามารถอภิปรายในที่นี้ได้)
ที่ผ่านมา อย่างน้อยในช่วงประมาณ 20 ปีก่อนการเริ่มของวิกฤติ
สังคม-การเมืองไทยก็มีสิ่งที่ว่านี้อยู่ (ไม่ว่าจะเรียกว่าเป็น ฉันทามติ, อำนาจนำทางวัฒนธรรม, ความเป็นชาติ, ชาตินิยม) :
ในหลวงภูมิพล
...................
วิกฤติสิบกว่าปีที่ผ่านมา ถ้าจะพูดแบบรวบยอดเป็นรูปธรรม อาจจะพูดได้ว่า
คือวิกฤติการ breakdown หรือการ "แตกสลาย" ของ อำนาจนำของในหลวงภูมิพล
การ breakdown หรือการแตกสลายของการยอมรับ ในระดับรัฐบาล, ศาล ตำรวจ กระบวนการยุติธรรม กฎหมาย (แม้แต่ในระดับลงไปถึงเรื่องทางศีลธรรม ศาสนา) ไม่ว่ามองจากฝั่งไหน ล้วนมี "ราก" ใหญ่หรือศูนย์กลางมาจากการ breakdown เรื่องอำนาจนำของในหลวงภูมิพลนี้
คำถามที่ผมถามไว้ในกระทู้ที่แล้วว่า จะสร้าง "ฉันทามติ" ขึ้นจากภาวะ "ทะเลาะกันทุกเรื่อง" เป็นสองขั้วในหมู่ประชาชนได้อย่างไร
ถึงที่สุดแล้ว อาจจะพูดอีกอย่างว่า จะเอาอะไรมาแทนที่อำนาจนำของในหลวงภูมิพล
จะ "นิยาม" เอกลักษณ์รวมหมู่ (collective identity) หรือ ความเป็นชุมชนแบบชาติ ความเป็นคนไทย อย่างไร ที่ไม่มีในหลวงภูมิพลแล้ว
...............
"อำนาจนำ" หรือ "เอกลักษณ์รวมหมู่" ไม่จำเป็น หรืออันที่จริง ไม่ควร เป็นตัวบุคคล (เพราะในระยะยาว จะไม่เวิร์ค) แต่ในภาวะวิกฤติ ในภาวะพยายาม "เปลี่ยนผ่าน" ในหลายกรณี มันกลายเป็นอะไรที่เกิดขึ้นเองว่า มันออกมาในรูปตัวบุคคล ที่เป็นตัวแทนรวมศูนย์ของฉันทามติ ที่นำไปสู่การ "เปลี่ยนผ่าน" ออกจากวิกฤติของสังคมร่วมกัน
ตอนผมมาถึงฝรั่งเศสใหม่ๆ มีการจัดสัมมนาเล็กๆเรื่องวิกฤติการเมืองไทย ผมพูดแบบเป็นรูปธรรมทำนองนี้ว่า
"เมืองไทยไม่มี แมนเดลา หรือ ซูจี และผมไม่คิดว่าทักษิณจะเป็นได้"
(กรณี "จัสติน" นี่ ก็ไม่ต้องถาม มองไม่ออกว่าจะมีวันเป็นได้เหมือนกัน )
Somsak Jeamteerasakul
จะสร้างและรักษาระบอบการเมืองประชาธิปไตยได้ ต้องมี "ฉันทามติ"
ปัญหาใจกลางในปัจจุบันคือ จะสร้าง "ฉันทามติ" ขึ้นจากภาวะ "ทะเลาะกันทุกเรื่อง" เป็นสองขั้วในหมู่ประชาชนได้อย่างไร?
.................
ปีกลาย ผมกับอ.ป๊อกทำคลิปหนึ่งเสนอไอเดียว่า ถ้าจะสร้างประชาธิปไตยขึ้นได้ ต้องมี "ฉันทามติ" หรือการเห็นร่วมกัน ในการสัมมนา 19 กันยาที่ปารีส อ.ใจ วิจารณ์ว่า ไม่จริง แล้วยกตัวอย่างอังกฤษที่เพิ่งลง Brexit ไปว่า คะแนนแตกกันแทบจะเป็นครึ่งๆ สองขั้ว ไม่มี "ฉันทามติ" อะไรเลย
อันที่จริง อ.ใจยกตัวอย่าง Brexit เท่ากับเป็นการสนับสนุนสิ่งที่ผมเสนอโดยไม่รู้ตัว คือไม่ว่าจะ Brexit หรือการเลือกตั้งสหรัฐและอังกฤษ ที่มีขึ้นในรอบปีที่ผานมา มันยืนยันว่า ในประเทศพวกนั้น มันมี "ฉันทามติ" คือ ไม่ว่าจะมีความแตกต่างจนถึงระดับเรียกได้ว่า "แตกเป็นสองขั้ว ครึ่ง-ครึ่ง" อย่างไร ทั้งหมด มี "ฉันทามติ" ในเรื่องกรอบใหญ่ คือยอมรับในระบบที่เป็นอยู่ (ไม่เพียงผลเลือกตั้ง รวมไปถึง ระบบเรื่องศาล กฎหมาย ฯลฯ)
ผมเอาตัวเลข Brexit เลือกตั้งสหรัฐ และเลือกตั้งอังกฤษในรอบปีที่ผ่านมา มาให้ดูอีกที
Brexit :
ออก 51.9%
อยู่ 48.1% คือห่างกันเพียง 3.8%
เลือกตั้งสหรัฐ :
คลินตัน 48.2%
ทรัมพ์ 46.1% คือห่างกันเพียง 2.1%
(และอย่างที่รู้ มิหนำซ้ำ ฝ่ายแพ้เสียงข้างมาก ได้ชนะเป็นประธานาธิบดีเสียอีก)
เลือกตั้งอังกฤษ :
คอนเซอเวทีฟ 42.4%
เลเบอร์ 40.0% คือห่างกันเพียง 2.4%
.................
อันที่จริง ถ้าเอาเฉพาะตัวเลขจากการเลือกตั้ง ของไทย "ระดับการแตกสองขั้ว" อยู่ในระดับที่น้อยกว่าตัวอย่างฝรั่งทั้ง 3 กรณีเสียอีก แต่จริงๆแล้ว ภาวะการแตกสองขั้ว มันไม่ใช่ดูเฉพาะตัวเลขเพียวๆ
เลือกตั้ง 2554 :
เพื่อไทย 44.3% (เขต) 48.4% (บัญชี)
ปชป. 32.3% (เขต) 35.1% (บัญชี)
ห่างกัน 12% หรือ 13.3% แล้วแต่จะนับ และแน่นอน อันนี้ไม่นับพรรคอื่นๆ ที่ผู้สนับสนุนอาจจะไม่สนับสนุนเพื่อไทย และสนับสนุน ปชป
..................
ทุกวันนี้ อย่างที่เห็นกัน เรา "ทะเลาะกันทุกเรื่อง" จากเรื่องการใช้ชีวิตประจำวันในสังคมอย่าง ภาพถ่ายคนยืนกอดกันบนรถไฟฟ้า หรือ ลำไย ไหทองคำ ถึงเรื่องอย่าง จับคนระเบิด รพ.พระมงกุฏ (ฝ่ายหนึ่งยืนยันทันทีที่ข่าวออกมาวันแรกว่า จับแพะ อีกฝ่ายบอกว่าตัวจริง - เผื่อใครสนใจนะ ผมคิดว่าเป็นไปได้สูงตั้งแต่มีข่าววันแรก ว่าอาจจะเป็นตัวจริง แต่ไม่ขออธิบายในที่นี้) เรื่องรถไฟ ฯลฯ ฯลฯ
อย่างที่รู้กัน ยกมาได้แทบทุกเรื่องที่เป็นข่าว จะเห็นว่ามีลักษณะทะเลาะกันเป็นสองขั้วแทบทุกเรื่อง
ขอย้ำว่า ในที่นี้ ผมไม่ได้ต้องการอภิปรายประเด็นว่า ใครผิด-ใครถูก ในการ "ทะเลาะกันทุกเรื่อง" นี้ (โดยส่วนตัว ผมไม่เคยคิดว่า ฝ่ายหนึ่งถูกทุกเรื่อง ฝ่ายหนึ่งผิดทุกเรื่อง)
ผมเพียงแต่ตั้งเป็นคำถามให้คิดกันว่า
ถ้าเห็นด้วยกับที่ผมเสนอไปว่า
- จะสร้างและรักษาระบอบการเมืองประชาธิปไตยได้ ต้องมี "ฉันทามติ"
คำถามคือ
- ถ้าเช่นนั้น ในปัจจุบัน จะสร้าง "ฉันทามติ" ขึ้นจากภาวะ "ทะเลาะกันทุกเรื่อง" เป็นสองขั้วในหมู่ประชาชนได้อย่างไร?
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar