2020-02-21 11:04
ยิ่งใกล้วันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยยุบไม่ยุบพรรคอนาคตใหม่ จากกรณีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้เงินกู้พรรค 191 ล้านบาท ก็ยิ่งน่าสนใจว่า ถ้าคำวินิจฉัยออกมา “ยุบพรรค” ศาลจะให้เหตุผลทางกฎหมาย อธิบายความผิดของพรรคอนาคตใหม่อย่างไร
ศาลต้องมีเหตุผล ไม่ว่าศาลไหน ต้องอธิบายหลักกฎหมายพร้อมพยานหลักฐาน ไม่ใช่แค่มีคนใส่เสื้อครุยขึ้นมานั่งบัลลังก์ออกคำสั่ง แล้วห้ามวิพากษ์วิจารณ์ จะมีความผิดฐานหมิ่นฐานละเมิดอำนาจศาล โดยเฉพาะคดีการเมือง การยุบพรรคฝ่ายค้านในขณะที่รัฐบาลขาลง กำลังจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในอีก 3 วัน อาจเป็นชนวนแห่งความโกรธอย่างรุนแรง แม้ไม่ปะทุทันทีในวันนั้น
ที่พูดเช่นนี้เพราะดูการแสดงความเห็นของนักกฎหมาย ซึ่งลบความเห็นปิยบุตร แสงกนกกุล ไปก็ได้ เกือบทุกคน “ปิดช่อง” เห็นแย้งคำร้อง กกต. ซึ่งใช้มาตรา 72 พ.ร.บ.พรรคการเมือง
“ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
นี่ไม่ต้องนักกฎหมายก็เข้าใจ มาตรานี้หมายถึงการรับเงินสกปรก ที่ได้จากบ่อนซ่องการพนันทุจริตค้ายาเสพติด ฯลฯ ไม่ใช่แค่มองว่า การกู้เงินเป็นความผิด ไม่สามารถกู้ได้ ก็ขึ้นลิฟต์ไปใช้มาตรา 72
มิพักต้องอ้างอดีต กกต.สมชัย ศรีสุทธิยากร กระทั่งแก้วสรร อติโพธิ อดีต คตส.ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์พรรคอนาคตใหม่และการเข้าชื่อคัดค้านใน Change.org อย่างหนัก ก็เห็นว่ายุบพรรคด้วยมาตรา 72 ไม่ได้ หากตีความในทางร้ายที่สุด คือใช้มาตรา 66 พรรคการเมืองจะรับบริจาคเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทมิได้ คือตีความว่าเงินกู้เป็น “นิติกรรมอำพราง” ที่แท้เป็นเงินบริจาค
แต่ต่อให้ตีความอย่างนั้น มาตรา 66 ก็ใช้ยุบพรรคไม่ได้ กกต.ต้องไปดำเนินคดีอาญา แม้มีโทษหนักคล้ายกัน คือริบเงิน ลงโทษปรับ ลงโทษอาญาและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 5 ปี แต่ก็ไม่ยุบพรรค และไม่อยู่ในอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจศาลยุติธรรม
กรณีนี้นักกฎหมายบางท่าน เช่น รศ.ณรงค์เดช สรุโฆษิต ชี้ว่าหากจะตีความเป็นเงินบริจาค ก็ต้องสู้กันว่า พรรคอนาคตใหม่เสียดอกเบี้ย และมีการใช้เงินคืนไปแล้วบางส่วน
แต่กล่าวโดยสรุป แทบทุกคนเห็นตรงกันว่า กรณีนี้ไม่เข้ามาตรา 72 ถ้าเห็นว่าผิดมาตรา 66 ก็ไม่มีโทษยุบพรรค ไม่อยู่ในอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ แล้วศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร
พูดอย่างนี้ไม่ใช่นักกฎหมายก้าวล่วงศาลรัฐธรรมนูญ ตีความกฎหมายดักหน้าศาล จนจะยุบพรรคไม่ได้ เพราะเหตุผลทางกฎหมาย ทุกคนรู้เท่ากัน แม้แต่ชาวบ้าน ฟังแล้วก็เข้าใจได้
ถ้าศาลจะวินิจฉัยยุบพรรค จึงต้องใช้เหตุผลทางกฎหมายที่เหนือกว่า อธิบายได้ชัดเจน ซึ่งยังมองไม่เห็นเหมือนกันว่า ท่านจะอธิบายอย่างไร
เพียงหวังว่าจะไม่ใช้ “อภินิหารทางกฎหมาย” ตีความไปในทางที่ไม่คาดคิด หรือนอกเหตุผลที่เข้าใจกัน
คดีนี้มีปัญหาตั้งแต่ต้น ที่มีผู้ร้อง กกต.เพราะเป็นที่โต้แย้งกันว่าพรรคการเมืองกู้เงินได้หรือไม่ เข้าข่ายรับเงินบริจาคเกินหรือไม่ แต่ กกต.ไพล่ยื่นยุบพรรคด้วยมติ 5-2 ทั้งที่อนุกรรมการ 2 ชุด ให้ยกคำร้อง
คดียังมีข้อโต้เถียงจำนวนมาก แต่ศาลก็ไม่เปิดไต่สวน นัดวินิจฉัยก่อนซักฟอก 3 วัน ก่อนตุลาการชุดเก่า 5 คนจะครบวาระ
แน่ละ ใครก็หมิ่นศาลไม่ได้ แต่ถ้าจะบอกให้ประชาชน “เคารพกฎหมาย” การใช้กฎหมายก็ต้องมีเหตุผลเช่นกัน ไม่เช่นนั้น สถาบันกฎหมายล้มละลาย
ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/content/342194
ใบตองแห้ง: วิบัติคู่ ศก.การเมือง
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. ประเมินความเสียหายจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า นักท่องเที่ยวจะหายไปประมาณ 5 ล้านคน สูญเสียรายได้ 2.5 แสนล้านบาท เมื่อรวมกับภัยแล้ง และงบประมาณล่าช้า ถ้าสารพัดปัจจัยลบส่งผลรวมกัน จีดีพีอาจเติบโตเพียง 1.3% จากที่คาดไว้ 2.8%
บางคนอาจแย้งว่า ในวิกฤติก็มีโอกาส เช่น ค่าเงินบาทอ่อนลง ธุรกิจส่งออกหรือสินค้าในประเทศที่ต้องแข่งขันกับจีน น่าจะได้อานิสงส์ หรือถ้าประคองจนวิกฤติไวรัสผ่านพ้น เศรษฐกิจครึ่งปีหลังอาจพุ่งพรวด เหมือน IMF คาดว่า เศรษฐกิจโลกจะเป็นรูปตัว V
แต่อย่าลืมว่า เศรษฐกิจวันนี้แย่เต็มที SME คนเล็กคนน้อย เกษตรกร แรงงาน อยู่ในสถานการณ์เหมือนต่อท่อหายใจ ถูกวิกฤติซ้ำเติมอีกครึ่งปี ยังจะรอตัว V ได้?
อีกมุมหนึ่งที่ IMF น่าจะไม่ได้วิเคราะห์ คือวิกฤติการเมืองโลกจะกระทบเศรษฐกิจ ตั้งแต่ระยะใกล้ไปถึงระยะยาว การเมืองโลกในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความขัดแย้งสหรัฐฯ-จีน สหรัฐฯ-อิหร่าน ฯลฯ แต่หมายถึงความปั่นป่วนของระบบการเมือง ที่เกิดขึ้นทั่วไป
การเมืองโลกที่เคยมีประชาธิปไตยทุนนิยมเป็นต้นแบบ ตั้งแต่สิ้นสุดยุคสงครามเย็น ยึดหลักการค้าเสรี เปิดประเทศรับการเคลื่อนย้ายทุน เจอภัยเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ความเหลื่อมล้ำสูงลิบ วิกฤติแบบต้มยำกุ้ง ซับไพรม์ ทำให้คนล้มละลาย จนหันไปนิยมแนวคิดชาตินิยมทางเศรษฐกิจ เกิดพรรคการเมืองฝ่ายขวา กีดกันการค้า ผู้อพยพ บ้างก็อ้างศาสนา ศีลธรรม
ทรัมป์จึงชนะ อังกฤษจึงเกิด Brexit ผู้นำอำนาจนิยมแห่ชนะเลือกตั้ง ไม่นับจีน รัสเซีย ที่เป็นแบบอย่างให้อ้างว่า ระบอบผูกขาดอำนาจการเมืองทำให้เศรษฐกิจดี
แต่ระบอบเหล่านี้ก็สร้างความขัดแย้งรุนแรง และจะแรงขึ้นเรื่อยๆ เช่นทรัมป์คงชนะเลือกตั้งอีกครั้ง แต่คนเกลียดทรัมป์จะยิ่งเกลียด พรรคชาตินิยมฮินดูทำให้เศรษฐกิจโต แต่กีดกันมุสลิม 200 ล้านคน จนเกิดการประท้วงกฎหมายสัญชาติ ใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรง
หรืออย่างฮ่องกง ซึ่งยังไม่จบ ซ้ำวิกฤติไวรัสโควิด-19 ยังกระทบพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่ปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร
ในขณะที่เศรษฐกิจโลกก็เสี่ยง อย่างบางคนมองแง่ร้ายว่า “โลกกำลังคลั่ง ระบบกำลังพัง” เพราะเงินล้นเกินจากดอกเบี้ยต่ำ ระบอบอำนาจนิยมก็ไม่สามารถแก้เหลื่อมล้ำได้จริง และยิ่งสั่งสมความเกลียดชัง มีโอกาสสูงมากที่จะเกิดการต่อต้านแบบไร้ทิศทางในหลายๆ ประเทศ
มองโลกแล้วกลับมามองไทย จะเห็นว่าเรานั่งเก้าอี้แถวหน้าด้วยซ้ำ หลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจย่ำแย่ทั้งที่ประเทศอื่นในภูมิภาคเติบโต วิกฤติโควิด-19 ไทย-ฮ่องกง ก็เจอผลกระทบหนักกว่าชาวโลก ขณะที่ทางการเมือง รัฐประหาร 5 ปี รัฐบาลสืบทอดอำนาจครึ่งปี สร้างความขัดแย้งไปจนเกลียดชังอย่างรุนแรง จนเจอ # ประณามเย้ยหยันซ้ำๆ
แต่รัฐบาลที่คนจำนวนมากไม่พอใจผลงาน ต่อต้าน ไปจนกระทั่งเกลียดชัง ก็สามารถอยู่ยงคงกระพัน ด้วยการเขียนกติกาเอื้อตัวเองไว้ตอนรัฐประหาร ซ้ำยังอาจก้าวเข้าสู่ “การเมืองเฟสใหม่” คือครองความเหนือกว่าโดยสัมบูรณ์ หากมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ ก่อนอภิปรายไม่ไว้วางใจ 3 วัน
การเมืองเฟสนี้ จะเกิดความโกรธแค้นเกลียดชัง ต่อตัวระบอบ ต่อรัฐบาล อย่างรุนแรง แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ ถูกบังคับขืนใจภายใต้อำนาจปืน อำนาจกฎหมาย จะไม่มี 14 ตุลา พฤษภา 35 เพราะอำนาจเป็นปึกแผ่นเหนียวแน่น แต่ขณะเดียวกันเศรษฐกิจก็ยิ่งย่ำแย่ สังคมก็อยู่ในช่วง disrupt
อนาคตเป็นอย่างไร ตอบไม่ได้ เพราะเป็นอะไรที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อน เป็นวิกฤติที่อยู่เหนือการคาดการณ์ และไม่สามารถมองแง่ดีว่าจะมีทางคลี่คลาย
ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/content/341715
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar