fredag 21 februari 2020

เปิดข้อกฎหมายคดียุบพรรคอนาคตใหม่: เงินกู้ไม่ใช่รายได้และกฎหมายไม่ได้ห้าม (?)

เปิดข้อกฎหมายคดียุบพรรคอนาคตใหม่: เงินกู้ไม่ใช่รายได้และกฎหมายไม่ได้ห้าม

AddThis Sharing Buttons
 
21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีนัดอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคอนาคตใหม่ หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องจากกรณีพรรคอนาคตใหม่กระทำการฝ่าฝืน มาตรา 72 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบ จากการกู้เงิน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค เป็นเงินจำนวน 191,200,000 บาท
 
คดีดังกล่าวนับเป็นคดีที่สองที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยข้อร้องเรียนให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัย 'ยกฟ้อง' พรรคอนาคตใหม่ในข้อหาล้มล้างระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาแล้ว ส่วนในคดีนี้ปมปัญหาที่สำคัญ คือ พรรคการเมืองสามารถกู้เงินได้หรือไม่ หรือเป็นนิติกรรมอำพรางเพื่อรับเงินบริจาค 
 
ทั้งนี้ จากงานวิชาการและมุมมองของนักกฎหมายมีส่วนที่เห็นตรงกันว่า พรรคการเมืองไม่ได้มีสถานะเป็นองค์กรของรัฐ จึงต้องใช้หลักกฎหมายเอกชนกับพรรคการเมือง ซึ่งหมายความว่า ต้องใช้หลักการ "ทำได้ทุกอย่าง ที่ไม่มีกฎหมายห้าม" ในเมื่อไม่มีกฎหมายสั่งห้ามพรรคการเมืองกู้เงิน การกู้เงินก็ต้องสามารถกระทำได้ อีกทั้งในทางการเงินการบัญชี เงินกู้ไม่นับเป็นรายได้หรือเงินบริจาค แต่เป็นหนี้สินที่ต้องชำระคืน
 
 
กกต. ชี้ การกู้เงิน เท่ากับ มีรายได้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
คดียุบพรรคอนาคตใหม่ในคดีที่สอง สืบเนื่องมาจาก กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก กกต. เห็นว่า พรรคอนาคตใหม่ฝ่าฝืน มาตรา 72 พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  
 
โดย กกต. ตีความว่า การที่พรรคอนาคตใหม่กู้เงิน 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' หัวหน้าพรรค เป็นเงินจำนวน 191,200,000 บาท เป็นการทำ "นิติกรรมอำพราง" หมายความว่า การทำหนังสือกู้ยืมนั้นเป็นเพียงในแง่เอกสารแต่ไม่ได้มีเจตนาจะกู้ยืมจริง กกต. เห็นว่า เจตนาที่แท้จริงของเงินจำนวนนี้ คือ ธนาธรจะบริจาคเงินให้พรรค
 
ในหลักกฎหมายนิติกรรมสัญญา หากมีการทำนิติกรรมอำพราง คือ เจตนาที่แท้จริงเป็นอย่างหนึ่งแต่เขียนในเอกสารเป็นอย่างหนึ่ง กฎหมายให้บังคับใช้กันตามเจตนาที่แท้จริง   
 
เนื่องจาก พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 62 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับที่มารายได้ของพรรคการเมืองนั้นระบุว่า รายได้ของพรรคการเมือง มีเจ็ดประเภทประกอบด้วย 1) เงินทุนประเดิม 2) เงินค่าธรรมเนียม 3) เงินจากการจำหน่ายสินค้า 4) เงินจากกิจกรรมระดมทุน 5) เงินจากการบริจาค 6) เงินจากกองทุน 7) ดอกผลของทรัพย์สิน
 
มาตรา 62 ไม่ได้ระบุให้ เงินกู้เป็นรายได้ที่พรรคการเมืองพึงจะได้รับ และไม่มีบทบัญญัติใดใน พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ที่ให้พรรคการเมืองกู้เงินได้ กกต.จึงตีความว่า เงินกู้ของพรรคอนาคตใหม่เป็นการรับบริจาคทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ "ไม่ชอบด้วยกฎหมาย" เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้กระทำได้
 
อย่างไรก็ดี ในการรับเงินบริจาคของพรรคการเมือง ตามพ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 66 ระบุว่า บุคคลใดจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองมีมูลค่าเกินสิบล้านบาทต่อพรรคการเมืองต่อปีมิได้ และในกรณีที่บุคคลนั้นเป็นนิติบุคคล การบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคเดียวหรือหลายพรรคเกินปีละห้าล้านบาท ต้องแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมใหญ่คราวต่อไปหลังจากบริจาคแล้ว และพรรคการเมืองจะรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกินสิบล้านบาทต่อปีไม่ได้
 
สำหรับผู้ที่บริจาคเกินที่กฎหมายกำหนด พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 124 กำหนดให้  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี และในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคล ซึ่งสั่งการหรือรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นด้วย
 
ส่วนพรรคการเมืองที่รับเงินบริจาคเกินที่กฎหมายกำหนด พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 125 กำหนดให้ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีกำหนดห้าปี และให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ส่วนที่เกินมูลค่าที่กำหนดไว้ให้ตกเป็นของกองทุนสนับสนุนพรรคการเมือง
 
 
 
 
"เงินกู้เป็นหนี้สิน" ไม่ใช่รายได้ เงินบริจาค หรือผลประโยชน์อื่นใด
 
ในคดียุบพรรคอนาคตใหม่มีปมปัญหาแรกที่ต้องทำความเข้าใจก่อนคือ สถานะของเงินกู้ว่า ถือเป็นรายได้ ทรัพย์สิน เงินบริจาค หรือผลประโยชน์อื่นใด หรือไม่ เพราะหากไม่นับเป็นรายได้ก็ไม่ต้องนำมาตรา 62 มาพิจารณาตั้งแต่แรก
 
ในประเด็นนี้ ดร.พีรภัทร ฝอยทอง หรือ ดร.พีท นักวางแผนการเงินส่วนบุคคล เคยให้ความเห็นว่า การกู้ยืมเป็นการก่อหนี้สินที่ต้องใช้คืน ถ้าจะเป็นรายรับหรือรายได้หมายความว่ามันต้องโอนมาแล้วมาเป็นของผู้ได้รับหรือมีความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ด้าน สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านการเงินและธุรกิจที่ยั่งยืน ก็มองว่า เงินกู้ไม่ใช่รายได้หากเป็น ‘หนี้สิน’ ที่ต้องใช้คืน ดังนั้น สถานะเงินกู้ของพรรคอนาคตใหม่จึงไม่เข้าข่ายเป็นรายได้เพราะพรรคอนาคตใหม่มีภาระที่ต้องชดใช้คืน และได้มีการดำเนินการชดใช้คืนไปบางส่วนแล้ว
 
อีกทั้ง ในความเห็นของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนของ กกต. ก็มีมติเอกฉันท์ว่า การที่พรรคอนาคตใหม่ทำสัญญากู้ยืมไม่ใช่รายได้ แต่เป็นหนี้สิน และพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ จึงสามารถกู้เงินเพื่อใช้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้
 
นอกจากนี้ ใน พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ไม่ได้ระบุว่า "เงินกู้" มีสถานะเป็นเงินบริจาคหรือผลประโยชน์อื่นใด และพรรคการเมืองจะได้รับผลประโยชน์อื่นใดจากเงินกู้ได้ ก็ต่อเมื่อผู้ให้กู้ยืมเงินได้ลดหนี้หรือระงับหนี้ให้พรรคการเมือง แต่ถ้าหากยังมีสถานะเป็นลูกหนี้เงินกู้แและมีการลงบัญชีว่าเป็นหนี้สิน เงินดังกล่าวจะต้องไม่ถือว่าเป็นรายได้ เงินบริจาค หรือผลประโยชน์อื่นใดได้
 
 
พรรคการเมืองไม่ใช่องค์กรของรัฐ กู้ได้เพราะกฎหมายไม่ได้ห้าม
 
ปมปัญหาข้อที่สองของคดียุบพรรคอนาคตใหม่ คือ เมื่อไม่มีบทบัญญัติให้พรรคการเมืองกู้เงินได้ พรรคการเมืองสามารถกู้เงินได้หรือไม่ 
 
สำหรับประเด็นนี้ จำเป็นจะต้องพิจารณาจากสถานะทางกฎหมายของพรรคการเมืองเสียก่อน โดย เจษฎ์ โทณวณิก อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เคยกล่าวว่า ต้องวางหลักการให้ชัดก่อนว่า พรรคการเมืองไทยมีสถานะเป็นองค์กรเอกชนหรือองค์กรมหาชน ถ้าพรรคการเมืองมีสถานะเป็นองค์กรมหาชน การจะทำอะไรในสิ่งที่แม้กฎหมายไม่ได้ห้าม ก็ทำไม่ได้ คือจะทำได้เฉพาะสิ่งที่กฎหมายอนุญาตเท่านั้น
 
เมื่อพิจารณาตามบทความ "สถานะทางกฎหมายของพรรคการเมืองในการปกครองระบอบประชาธิปไตยทางผู้แทน: ศึกษาเชิงประวัติศาสตร์และเชิงกฎหมายเปรียบเทียบ" ของ วันรัฐ งามนิยม ซึ่งเผยแพร่ในวารสารบัณฑิตศึกษานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะพบว่า พรรคการเมืองมีสถานะทางกฎหมายเป็นองค์การเอกชน และมีสภาพบุคคลเป็นนิติบุคคล เพราะองค์ประกอบที่เป็นรากฐานสำคัญของพรรคการเมือง คือ "การรวมกลุ่มของบุคคล" ด้วยลักษณะสำคัญนี้ทำให้พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลเอกชน ในหลักการเดียวกับ ห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือมูลนิธิ
 
หมายความว่า พรรคการเมืองสามารถกู้เงินได้ เพราะไม่มีบทบัญญัติใดห้าม สอดคล้องกับความเห็นของ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมองว่า พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคล เป็นการรวมตัวกันของพลเมือง ตามหลักกฎหมายแพ่งการไม่ห้ามแปลว่าทำได้
 
นอกจากนี้ยัง รัฐธรรรมนูญ 2560 มาตรา 25 บัญญัติไว้ว่า "สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจํากัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทําการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ..."
 
 
ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าผิด พรรคถูกยุบ-กรรมการบริหารถูกตัดสิทธิ
 
ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีนัดอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยแล้ว มีคำตัดสินว่า “ผิด” จะส่งผลตามมาก็คือ พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ กรรมการบริหารพรรค 15 คน จะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 และกรรมการบริหารพรรคที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขาดคุณสมบัติ 
 
ส่วน ส.ส. ที่เหลือของพรรคการเมืองอนาคตใหม่ ยังไม่สิ้นสภาพ ส.ส. และต้องเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นภายใน 60 วัน มิเช่นนั้นสมาชิกภาพของส.ส. สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (10)
 
อีกทั้ง พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 94 ยังกำหนดให้ กรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบไม่สามารถมีส่วนร่วมในการจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ไม่สามารถเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองได้ เป็นเวลา 10 ปี ถ้าฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
 
แต่ผลกระทบสำคัญ คือ จำนวนที่นั่ง ส.ส. ในสภา เพราะอาจจะทำให้เสียงของผู้แทนในสภาหายไปอย่างถาวร ขึ้นอยู่กับการตีความของ กกต. ว่า บัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่จะสามารถใช้ได้อยู่หรือไม่ เนื่องจาก รัฐธรรมนูญ มาตรา 105 (2) ระบุว่า ในกรณีที่ไม่มีรายชื่อเหลืออยู่ในบัญชีที่จะเลื่อนขึ้นมาแทนตําแหน่งที่ว่าง ให้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่ ดังนั้น ถ้าสามารถเลื่อนลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อในลำดับถัดไปมาแทน ส.ส.ที่เป็นกรรมการบริหารพรรค เสียงของผู้แทนก็จะยังอยู่
 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar