คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?
เร่ือง เลือกตั้ง ๓ ก.ค. ในฐานะเส้นแบ่ง
โดย กาหลิบ
แม้ในหมู่คนที่ไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔ จะทำให้เราเป็นประชาธิปไตยสูงขึ้น ก็ยังมีแลเห็นความสำคัญของกิจกรรมการเมืองในครั้งนี้อยู่มาก ซึ่งอาจต่างทัศนะกับคนที่เชื่อมั่นศรัทธาใน “การปรองดอง” และ “การคืนอำนาจให้กับประชาชน”
ในขณะที่ผู้เชื่อมั่นศรัทธาอาจคิดว่า โครงสร้างทางการเมืองไทยและระบบโบราณของไทยมิได้เลวร้ายขนาดที่เราเชื่อ แต่เป็นตัวบุคคลที่ยังมีความดีงามในใจพอที่จะยอมรับการรอมชอมแบบไทย และสุดท้ายคงจะจบลงอย่างชื่นมื่นเหมือนหนังไทยยุคเก่า คนที่มองสังคมไทยอย่างวิเคราะห์มานานและเลือกเส้นทางปฏิวัติกลับฉวยเอาการเลือกตั้งครั้งนี้มาเป็นเครื่องมือสื่อสารทางสังคมในแนวทางของตน เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้จะช่วยบอกอะไรมากกว่าใครจะได้เป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
การเลือกตั้งครั้งนี้บอกอะไรเราได้บ้้าง?
ประการแรก การเลือกตั้งครั้งนี้จะบอกเราว่าระบอบโบราณของไทยยังขับเคลื่อนเครือข่ายของเขาเพื่อต่อต้านระบอบประชาชนอยู่แค่ไหน เราไม่ได้มองเฉพาะหน่วยงานเล็กๆ อย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เป็นอิสระจากประชาชนแต่ไม่เป็นอิสระจากมือที่มองไม่เห็น แต่เราพูดถึงเครือข่ายที่มีกลไกครอบงำในระดับชาติและแม้กระทั่งข้ามชาติ ได้แก่ กองทัพแห่งชาติ (เน้นที่กองทัพบก) สถาบันตุลาการ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ ทุกๆ หน่วยรวมกระทั่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย องค์กรสื่อสารมวลชนภาครัฐ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น
เรารู้ดีว่าหน่วยงานเหล่านี้มีภารกิจหลัก ๒ ประการ คือเสริมสร้างอำนาจ และช่วยรักษาอำนาจเหนือรัฐของระบอบดั้งเดิมที่อยู่ตรงข้ามกับระบอบประชาธิปไตย ที่มาของหน่วยงานและตัวบุคคลก็ชี้ชัดว่ามิได้ยึดโยงกับประชาชนโดยตรงเลย เมื่อประชาชนลุกขึ้นสู้ให้ได้มาซึ่งสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค จึงไม่อาจพึ่งหวังหน่วยงานและตัวบุคคลเหล่านี้ได้ กองทัพจึงสาดกระสุนใส่ประชาชน ศาลจึงส่งคนเข้าคุก องค์กรอิสระจึงดีดดิ้นอธิบายความที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายตรงข้ามกับประชาชน ฯลฯ
การเลือกตั้ง ๓ ก.ค. ๒๕๕๔ จะบอกถึงวงจรอุบาทว์อย่างนี้หรือจะเริ่มแสดงความยอมรับในสิทธิตามธรรมชาติของประชาชน นี่คือสิ่งที่เราต้องจับตาและเรียนรู้
ประการที่สอง เราใช้การเลือกตั้งครั้งนี้แบ่งผู้คนในขบวนประชาธิปไตยออกได้อย่างชัดเจน แนวการแบ่งคร่าวๆ ก็คือระดับความเป็นประชาธิปไตยและยุทธวิธีที่ใช้ในการบรรลุถึงเป้าหมายนั้น
ได้เคยวิเคราะห์ไว้แล้วว่า ขบวนประชาธิปไตยเสื้อแดงปัจจุบัน แบ่งออกได้เป็น ๓ ส่วนคือ
๑. แดงเลือกตั้ง
๒. แดงยุติธรรม
๓. แดงปฏิวิติ
แดงเลือกตั้งนั้นหวังไว้สูงว่า การเลือกตั้งจะแก้ไขปัญหาทางตันทางการเมืองได้ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด ผู้สนับสนุนแนวทางนี้เชื่อว่าความฉ้อฉลในระดับระบอบไม่มีจริง มีแต่คนชั่วไม่กี่คนที่แฝงตัวอยู่ ประชาชนเอาชนะได้ด้วยการแสดงพลังผ่านกระบวนการเลือกตั้ง
แดงกลุ่มนี้ไม่อยากตอบคำถามหรือไม่อยากคิดถึงบทเรียนเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๐ ที่เราได้อำนาจกลับคืนมาด้วยการเลือกตั้งเช่นเดียวกัน จนได้รัฐบาลสมัครและรัฐบาลสมชาย แต่ก็ถูกโค่นล้มทำลายอย่างสิ้นเชิงด้วยกลไกพันธมิตรฯ องค์กรอิสระ และศาล เพราะเอาเข้าจริงแล้วก็ตอบลำบากว่าทำไมเลือกตั้งเที่ยวนี้จึงจะต่างจากปีนั้น ฝ่ายประชาชนไม่ได้มีอำนาจต่อรองใดๆ มากขึ้นระหว่างปี พ.ศ.๒๕๕๐-๒๕๕๔ แถมเรายังถูกฆ่าตายและถูกทำลายขบวนการอย่างโจ่งแจ้งขึ้น ถึงจำนวนประชาชนเสื้อแดงจะล้นหลามอย่างน่าประทับใจไม่เสื่อมคลาย แต่เขาก็ฆ่าเราทั้งๆ ที่มีมวลชนอันมหาศาลเช่นนั้นมาแล้วมิใช่หรือ?
หากการเลือกตั้งล้มเหลวลง แดงกลุ่มนี้จะแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรกจะกลายเป็นแดงอนุรักษ์นิยม ยอมรับสิ่งที่เป็นอยู่และถอดใจไม่อยากต่อสู้ยกระดับอีก แต่ส่วนที่สองจะฮึดสู้ และกลับมายอมรับว่าเราต้องวางยุทธศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนที่สูงกว่าแค่ร่วมเลือกตั้งในระบอบของเขา
แดงยุติธรรมคือแดงที่ใฝ่หาความยุติธรรมและความเป็นธรรม เชื่อว่าเมืองไทยมีปัญหาในระดับระบอบและโครงสร้าง แต่อาจยังไม่พร้อมต่อการต่อสู้ในแนวปฏิวัติ
แดงปฏิวัติคงไม่ต้องอธิบายความให้มาก กลุ่มนี้เชื่อมั่นว่า เมืองไทยถึงคราวเปลี่ยนแปลงในขั้นพื้นฐานแล้ว มิฉะนั้นจะแก้ไขปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริงไม่ได้ นโยบายระดับเครื่องสำอางที่โปะลงไปบนหน้าตาของสังคมแทนที่จะทำศัลยกรรมเปลี่ยนรูปโฉม จะไม่ได้ผลอย่างยั่งยืน และประชาชนแท้จริงก็จะเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ในระยะกลางและระยะยาว
การเลือกตั้งครั้งนี้จะบอกเราได้ว่า แดงไหนคือใครและมีแนวโน้มจะปรับเปลี่ยนไปในทิศทางใดบ้าง บางทีการศึกษาที่เจาะลึกเข้าไปในสมองได้ ก็คือความผิดพลาดอันใหญ่หลวงที่ต้องสั่งสอนกันไปชั่วลูกชั่วหลานก็มี
วันอาทิตย์ที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ที่จะนำมาซึ่งเหตุการณ์ปลีกย่อยอีกมากมายหลายอย่าง จึงเป็นเส้นแบ่งของสังคมไทยโดยแท้.
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar