måndag 11 juni 2012

ความเป็นมาของวงค์จักรี ตอนที่ ๑


หลังกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงแก่พม่าในปี พ.ศ.๒๓๑๐ พระเจ้าตากสินได้รวบรวมผู้คนและนักรบต่อสู้ขับไล่พม่าอย่างเด็ดเดี่ยวจนกอบกู้บ้านเมืองได้สำเร็จ จากนั้นก็ใช้เวลาอีก ๑๕ ปี กรำศึกสงครามรวบรวมหัวเมืองต่างๆที่กระจัดกระจาย ขณะเดียวก็ต้องทำศึกใหญ่กับพม่าหลายครั้ง จนสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่บ้านเมือง พร้อมกับทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างขนานใหญ่ พระองค์เป็นพุทธบริษัทที่ดี เมื่อว่างเว้นจากราชการแผ่นดิน พระองค์จะไปทรงศีลบำเพ็ญพระกรรมฐานที่วัดบางยี่เรือเป็นนิจ (๑)
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๒๓ ทางเมืองเขมรเกิดกบฏขึ้นโดยการยุยง แทรกแซงของญวนฝ่ายองเชียงสือ เป็นการหากำลังและเสบียงขององเชียงสือ เพื่อทำสงครามแย่งชิงความเป็นใหญ่กับญวนฝ่ายราชวงศ์ไต้เชิง(เล้) ขณะเดียวกันในกรุงธนบุรีเอง องเชียงชุน(พระยาราชาเศรษฐี)ซึ่งเข้ามาสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าตาก ได้ก่อกบฏขึ้นในเดือนอ้าย พ.ศ.๒๓๒๔ หลังจากทำการปราบปรามกบฏสำเร็จในเดือนยี่ พระเจ้าตากได้พิจารณาเหตุการณ์ต่างๆ และทรงตัดสินพระทัยให้กองทัพไทยยกไปตีเมืองเขมรและไปรับมือญวนให้เด็ดขาดลงไป จึงทรงแต่งตั้งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ พระมหาอุปราช องค์รัชทายาทเป็นแม่ทัพใหญ่ (๒) เจ้าพระยาจักรี(ด้วง) (๓) เจ้าพระยานครสวรรค์ เจ้าพระยาสาศรี(บุญมา น้องชายเจ้าพระยาจักรี)เป็นแม่ทัพรองๆลงมา ในครั้งนั้นแม่ทัพใหญ่พยายามรุดหน้าไปตามพระราชโองการ แต่ติดขัดที่แม่ทัพรองบางนายพยายามยับยั้ง เพื่อคอยฟังเหตุการณ์ทางกรุงธนบุรี ส่วนทางญวนซึ่งไม่ต้องการเผชิญศึก ๒ ด้าน ทั้งไทยและญวนราชวงศ์เล้ ได้แต่งทูตมาเจรจาลับกับแม่ทัพรองฝ่ายไทย ทางแม่ทัพรองตกลงจะช่วยเหลือองเชียงสือในอนาคต หากงานที่เตรียมไว้สำเร็จ ทางญวนได้ทำตามสัญญาด้วยการล้อมกองทัพมหาอุปราชองค์รัชทายาทอย่างหนาแน่น เปิดโอกาสให้แม่ทัพรองฝ่ายไทยยกกำลังกลับกรุงธนบุรี (๔)
เหตุการณ์ในกรุงธนบุรี เกิดมีผู้ยุยงชาวกรุงเก่าให้เกิดความเข้าใจผิดในพระเจ้าตากและชักชวนกบฏย่อยๆขึ้น จากนั้นก็ยกพลมาล้อมยิงพระนคร ขณะเดียวกันภายในกรุงธนบุรีเองก็มีคนก่อจลาจลขึ้นรับกับกบฏ พระเจ้าตากทรงบัญชาการรบจนถึงรุ่งเช้า จึงทราบว่าพวกกบฏเป็นคนไทยด้วยกันทั้งสิ้น ก็สลดสังเวชใจ เพราะพระทัยทรงตั้งอยู่ในธรรมปฏิบัติมุ่งโพธิญาณเป็นสำคัญ และทรงเห็นว่าหากการเปลี่ยนแปลงอำนาจนั้นไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ชาวไทย พระองค์จะทรงหลีกทางให้ พวกกบฏจึงทูลให้ออกบวชสะเดาะเคราะห์สัก ๓ เดือนแล้วค่อยกลับสู่ราชบัลลังก์ ขณะนั้นพระยาสรรคบุรี พระยารามัญวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ยังอยู่ในกรุงและมีความภักดีต่อพระเจ้าตาก เห็นเป็นการคับขัน จำต้องผ่อนคลายไปตามสถานการณ์
หลังจากบวชได้ ๑๒ วัน พระยาสุริยอภัยหลานเจ้าพระยาจักรี ยกทัพมาโดยมิได้รับพระบรมราชานุญาต เกิดการรบพุ่งกับกำลังของกรุงธนบุรีและได้รับชัยชนะ จากนั้นอีก ๓ วันคือเข้าวันที่ ๖ เมษายน เจ้าพระยาจักรี(ด้วง)ซึ่งเลี่ยงทัพจากสงครามเขมรมาถึงกรุงธนบุรี ได้มีการสอบถามความเห็นกัน ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ยังจงรักภักดีและเชื่อในปรีชาสามารถของพระเจ้าตาก ต่างยืนยันให้อัญเชิญพระองค์มาครองราชย์ต่อไป แต่ข้าราชการเหล่านี้กลับถูกคุมตัวไปประหารชีวิต เช่น เจ้าพระยานครราชสีมา(บุญคง ต้นตระกูลกาญจนาคม), พระยาสวรรค์ (ต้นตระกูลแพ่งสภา), พระยาพิชัยดาบหัก (ต้นตระกูลพิชัยกุลและวิชัยขัทคะ), พระยารามัญวงศ์ (ต้นตระกูลศรีเพ็ญ) เป็นต้น จำนวนกว่า ๕๐ นาย
พระเจ้าตากก็ถูกปลงพระชนม์ทั้งที่ทรงเพศพระภิกษุในวันนั้นเอง ณ พระวิหารที่ประทับในวัดแจ้งและอัญเชิญพระศพไปฝังที่วัดอินทรารามบางยี่เรือ ใกล้ตลาดพลู คลองบางหลวง ส่วนราชวงศ์ที่เป็นชายและเจริญวัยทั้งหมดถูกจับปลงพระชนม์หมด นอกนั้นให้ถอดพระยศ แม้กระทั่งสมเด็จพระราชินีและสมเด็จพระน้านาง เป็นการถอดอย่างที่ไม่เคยมีมา (๕) เมื่อข่าวนี้ทราบไปถึงเจ้าพระยาอินทวงศา อัครมหาเสนาบดีฝ่ายกลาโหมซึ่งตั้งบัญชาการทัพอยู่ที่ปากพระใกล้เมืองถลาง ก็ได้ฆ่าตัวตายตามเสด็จ เพราะไม่ยอมเป็นข้าคนอื่น
เมื่อข่าวการปลงพระชนม์พระเจ้าตากแพร่ออกไป เมืองตะนาวศรีและเมืองมะริดอันเป็นเมืองสำคัญทางตะวันตก ก็ตกไปเป็นของพม่าในปีนั้นเอง และเนื่องจากพันธะสัญญาที่ทำไว้กับญวนอย่างลับๆ ไทยจึงต้องช่วยญวนฝ่ายองเชียงสือรบกับญวนฝ่ายราชวงศ์เล้ถึง ๒ ครั้ง รวมทั้งการช่วยอาวุธยุทธภัณฑ์อีกนับไม่ถ้วน พอครั้นญวนฝ่ายองเชียงสือมีกำลังกล้าแข็งขึ้น ไทยกลับต้องเสียเมืองพุทไธมาศและผลประโยชน์อีกมากมายแก่ญวนไป (๖)  โอ้อนิจจา .... เรื่องนี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
ด้วยความเหิมเกริมทะยานอยากได้อำนาจสูงสุด เจ้าพระยาจักรีจึงเป็นกบฏ ทรยศต่อพระเจ้าตาก กษัตริย์ผู้กู้ชาติไทย กระทำการเข่นฆ่าล้างโคตรอย่างโหดเหี้ยม อำมหิตที่สุด ซ้ำยังเสริมแต่งใส่ร้ายพระเจ้าตาก ว่าวิปลาสบ้าง (๗) กระทำการมิบังควรแก่สงฆ์บ้าง วิกลจริตในการบริหารราชการบ้าง จากนั้นก็ตั้งตนเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ และเริ่มสร้างพระราชวังใหม่ที่ฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นจุดเริ่มต้นของการสถาปนาราชวงศ์ใหม่ “ราชวงศ์จักรี”
และด้วยความโหดร้ายบนเลือดเนื้อและชีวิตของกษัตริย์ในเพศพระภิกษุ กษัตริย์องค์ต่อๆมาในราชวงศ์จักรีจึงเต็มไปด้วยความบาดหมาง แก่งแย่งชิงราชสมบัติกันทุกรัชกาล ลูกฆ่าพ่อ พี่ฆ่าน้อง น้องฆ่าพี่อย่างไม่ว่างเว้นแม้กระทั่งในรัชกาลองค์ปัจจุบัน
  
๑. กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประชุมพงศาวดารเล่ม ๓ เรื่องไทยรบพม่า
๒. ตามพงศาวดารกล่าวว่า “ให้พระยาจักรีเป็นแม่ทัพใหญ่” (ตามประเพณีสงคราม กษัตริย์จะเป็นจอมทัพและจะแต่งตั้งผู้ที่ไว้วางพระทัยที่สุดเป็นแม่ทัพใหญ่ ซึ่งน่าจะเป็นองค์รัชทายาทมากกว่าพระยาจักรี...ผู้เขียน)
๓. ตามพงศาวดารบางฉบับอ้างว่าได้ยศเป็น “เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก” ชื่อนี้เกิดเป็นปัญหาขัดแย้งกันจนถึงปัจจุบัน
๔. นายตันหยงทหารปืนใหญ่ พงศาวดารญวน เล่ม ๒ หน้า๓๗๘-๓๘๒
๕. กรมศิลปากร หนังสือไทยต้องจำ และลำดับสกุลเก่า ภาค ๔ พิมพ์ครั้งที่ ๒
๖. นายหยงทหารปืนใหญ่ พงศาวดารญวนเล่ม ๒ หน้า ๒๙๔, ๕๑๘ และกรมศิลปากร หนังสือไทยต้องจำ พิมพ์ครั้งที่ ๒ หน้า ๑๑๓
๗. สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๓ เรื่องไทยรบพม่า
๘. ประเด็นวิกลจริต อาจารย์ขจร สุขพานิช ได้เคยสัมภาษณ์ในวิทยาสารปีที่ ๒๒ ฉบับที่ ๓๒,๒๒ สิงหาคม ๒๕๑๔ กล่าวว่า “มีหลักฐานเป็นเอกสารภาษาฝรั่งเศส ซึ่งบาทหลวงในสมัยนั้นเขียนไว้ว่า ท่านเป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้น เช่น เมื่อครั้งหนึ่งรับสั่งให้บาทหลวงเข้าเฝ้า แล้วตรัสว่า “นี่แก ฉันจะเหาะแล้วนะ” บาทหลวงทูลว่า “ไม่เชื่อ” ท่านก็ว่า “ฮื้อ ไอ้นี่ ขัดคอซะเรื่อย”(หัวเราะ) แล้วก็ไล่ออกไปไม่ได้เฆี่ยนตีอะไร คือบ้าทั้ง ๒๔ ชม.นั้นไม่ใช่ แค่เป็นบางครั้ง นี่เป็นข้อเท็จจริง แต่ผมไม่เขียน ถ้าเขียนแล้วเป็นผลร้ายต่ออนาคต ผมไม่เขียน”

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar