måndag 18 juni 2012

ความเป็นมาของวงค์จักรี ตอนที่ ๘

ก่อนหน้ารัชกาลที่ ๗ นั้น รัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ ทรงต่อต้านประชาธิปไตยมาก รัชกาลที่ ๕ หาว่าพวกที่สนับสนุนระบบรัฐสภานั้น “พูดไปโดยรู้ งูๆ ปลาๆ.......” (๑)  เพราะฝันเฟื่องไปว่า ตนเองซึ่งเป็นกษัตริย์ “.....จะทรงประพฤติการณ์อันใด ก็ต้องเป็นไปตามทางที่สมควรและยุติธรรม” (๒) และหลงว่าถึงจะมีสส. คนก็คงเชื่อกษัตริย์มากกว่าสส.(๓) ส่วนรัชกาลที่ ๖ ก็แสดงความเห็นไว้ในหนังสือเรื่อง “ฉวยอำนาจ” ว่าการปกครองแบบเก่าสมบูรณ์ที่สุด เพราะว่า “มีราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น” และพยายามต่อต้านระบบประชาธิปไตยอย่างรุนแรง ประดุจผู้ที่ปิดหูปิดตาตนเอง โดยดึงเอาระบบประชาธิปไตยไปพัวพันกับความจลาจลวุ่นวาย ดังจะเห็นได้จากบทความเรื่อง “ความกระจัดกระจายแห่งเมืองจีน” และ “การจลาจลในรัสเซีย” ซึ่งพระองค์แปลมาจากภาษาอังกฤษ เพื่อปกป้องสถานภาพที่ได้เปรียบของตนไว้
ความคิดที่ล้าหลังของกษัตริย์ทั้งสอง ขัดขวางความก้าวหน้าของประเทศชาติ จึงถูกผู้ที่รักชาติต่อต้านตลอดมาซึ่งจากบันทึกของรัชกาลที่ ๗ ได้ชี้ว่าตั้งแต่ปลายรัชกาลของรัชกาลที่ ๕ แล้ว ที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ในแง่ลบมากขึ้น(๔) บันทึกนั้นมีสาระตรงกับความคิดของเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถที่ว่า “นับแต่ปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเป็นต้นมา ความเชื่อมั่นในพระบรมราโชบาย......ดูเบาบางลง เกิดมีความเห็นว่า ทำอย่างนั้นจะดีกว่า ทำอย่างนี้จะดีกว่า ทำอย่างนั้นเป็นการเดือดร้อนแก่ราษฎร....” (๕)
สำหรับรัชกาลที่ ๗ นั้น มีความทันสมัยกว่าพี่ชายและพ่อ คือเห็นว่า “.....ฐานะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นสิ่งที่ตกอยู่ในสภาวะลำบาก ความเคลื่อนไหวทางความคิดในประเทศ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ระยะเวลาของระบบเอกาธิปไตยเหลือน้อยเต็มที....” (๖)
แต่ถึงพระองค์จะรู้เช่นนี้และมีโอกาสเป็นกษัตริย์อยู่หลายปี ก็มิได้ผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆให้เกิดขึ้นในเวลาอันสมควร จนทำให้สถานการณ์ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองเลวร้ายลงทุกที แม้หนังสือพิมพ์ เช่น นครสาร, บางกอกการเมือง, ปากกาไทย, สยามรีวิว, ศรีกรุง และไทยหนุ่ม จะเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาประชาธิปไตยและเศรษฐกิจ นสพ.ไทยหนุ่ม ฉบับเดือน ก.ค. ๒๔๗๐ ถึงกับเสียดสีพวกศักดินาว่า “....อย่าว่าแต่ราษฎรที่ไม่ได้รับการศึกษา จะเป็นพลเมืองที่ถ่วงความเจริญของประเทศเลย ถึงพระเจ้าแผ่นดินที่มีชีวิตไม่เต็มความ ก็เป็นภัยกับประเทศเหมือนกัน.....”
แต่พวกเจ้า ก็ยังแสดงทีท่าว่าเป็นพระอิฐพระปูน สิ่งนี้ทำให้เกิดกรณีการเปลี่ยนแปลงในปี ๒๔๗๕ อันเป็นฝันร้ายของพวกศักดินา พวกอนุรักษ์นิยมที่จะต้องจดจำไปตลอดชีวิต และก็เพราะเหตุการณ์นี้เองที่ทำให้รัชกาลที่ ๗ ต้องสละราชสมบัติ
         
๑. พระจุลจอมเกล้า “พระบรมราชาธิบายว่าด้วยความสามัคคี” หนังสืออ่านประกอบคำบรรยายวิชาพื้นฐานอารยธรรมไทย (เรื่องเดิม) หน้า ๒๔๐
๒. พระจุลจอมเกล้า “พระราชดำรัสลงในพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครอง” หนังสืออ่านประกอบคำบรรยายฯ ( เรื่องเดิม) หน้า ๒๓๕
๓. เรื่องเดิม หน้า ๒๓๕
๔. กจช. เอกสาร ร.๗ สบ.๒.๔๗/๓๒ เล่ม ๓ บันทึกเรื่องการปกครอง (๒๓ก.ค.-๑ส.ค.๒๔๖๙) พระราชหัตถเลขา ร.๗ ถึง ดร.ฟรานซิส บีแซร์
๕. กจช. เอกสารสมัย ร.๖ หมายเลข ก๑/๒ ลายพระหัตถเลขา เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯ ทูล ร.๖ วันที่ ๒๔๕๔
๖. กจช. เอกสาร ร.๗ สบ.๒.๔๗/๓๒ เล่ม ๓ บันทึกเรื่องการปกครอง (๒๓ก.ค.-๑ส.ค.๒๔๖๙) จดหมาย ร.๗ ถึง ดร.ฟรานซิส บีแซร์
ผู้สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมจากหนังสือเกี่ยวกับประวัติงาน ของเทียนวรรณ กx.ร.กุหลาบ เช่น ฟื้นอดีต ของ แถมสุข นุ่มนนท์


 ความขัดแย้งของพวกศักดินาปัจจุบัน เริ่มขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๗ สละราชสมบัติ เนื่องจากรัชกาลที่ ๗ ไม่มีพระอนุชา ไม่มีพระโอรสและธิดาตามกฎมณเฑียรบาลการสืบราชสันตติวงศ์ จะต้องกระทำโดยการสืบเชื้อพระวงศ์จากวงในสุดออกมา ซึ่งท่านแรกคือ ๑.พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ แต่เนื่องจากท่านมีแม่เป็นชาวรัสเซีย มีพระชายาเป็นชาวอังกฤษ เป็นการผิดกฎมณเฑียรบาล จึงไม่สามารถขึ้นมาเป็นกษัตริย์ได้ องค์ถัดมาคือ ๒.พระองค์เจ้าวรนนท์ธวัส แต่เนื่องจากมีพระชายาเป็นชาวตะวันตก จึงไม่ได้รับเลือกอีกเช่นกัน ตำแหน่งจึงตกมาอยู่กับพระองค์เจ้าอานันทมหิดลในที่สุด
อันที่จริงพระองค์เจ้าอานันทมหิดลและพระองค์เจ้าภูมิพล มีพ่อคือกรมหลวงสงขลานครินทร์กับนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ ซึ่งเป็นหญิงสามัญชน ลูกพ่อค้าจีนขายก๋วยเตี๋ยวอยู่แถวท่าช้าง (ที่เขียนเช่นนี้มิได้มีเจตนาลบหลู่คนจีนหรืออาชีพชาวบ้าน เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่า แท้จริงพวกเขาก็เป็นคนสามัญชนทั่วๆไปอย่างเราท่าน-ผู้เขียน) ลูกที่เกิดมาจึงมีศักดิ์เป็นเพียงหม่อมเจ้าเท่านั้น แต่เนื่องจากกรมหลวงสงขลาฯเป็นบิดาทางการแพทย์ สร้างคุณงามความดีไว้มาก รัชกาลที่ ๗ จึงโปรดเกล้าฯให้ลูกของกรมหลวงสงขลาเลื่อนฐานันดรศักดิ์เป็นพระองค์เจ้า เพื่อตอบแทนที่กรมหลวงสงขลาฯต้องสิ้นพระชนม์ในวัยหนุ่มฉกรรจ์ในการบุกเบิกการแพทย์ไทย
เมื่อครั้งที่พระองค์เจ้าอานันทมหิดลเป็นกษัตริย์ พระองค์มีอายุเพียง ๙ พรรษาเท่านั้นและกำลังศึกษาอยู่ที่สวิสเซอร์แลนด์ รัชกาลที่ ๘ เมื่อทรงพระเจริญวัยขึ้น ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกมามาก โดยเฉพาะความรู้ทางด้านการปกครอง ถึงแม้พระองค์จะได้ชื่อว่ามีเชื้อสายกษัตริย์ แต่ก็มีพระราชประสงค์ให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีการปกครองตนเอง อีกทั้งได้รับอิทธิพลจากการสละราชบัลลังก์ของรัชกาลที่ ๗ จึงมีพระราชดำริที่จะสละราชสมบัติและเลิกล้มระบบกษัตริย์ เพราะเห็นว่ายุคนี้การเป็นกษัตริย์นั้น เป็นการเอาเปรียบประชาชน และผู้ปกครองประเทศควรมาจากการเลือกตั้ง โดยพระองค์จะลงเล่นการเมืองในระบอบประชาธิปไตยด้วยตนเอง เรื่องนี้ทำให้พระชนนีไม่พอพระทัยมาก จึงขัดแย้งกันขึ้น
เหตุการณ์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ รัชกาลที่ ๘ ทรงเห็นด้วยกับความคิดในการปรับปรุงประเทศของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเคยเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อยู่ระยะหนึ่ง โดยเฉพาะเค้าโครงเศรษฐกิจของชาติที่มีเนื้อหาการจัดระบบสหกรณ์ และการปฏิรูปที่ดินอย่างขนานใหญ่ทั่วประเทศ และเรื่องนี้กระทบกระเทือนผลประโยชน์ของพวกศักดินาอย่างรุนแรง เพราะพวกศักดินาเป็นเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่ของประเทศไทย พวกศักดินาจึงใส่ร้ายหาว่า ดร.ปรีดี เป็นคอมมิวนิสต์
เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์หนุ่มที่เลือดรักชาติแรงกล้าและเห็นใจประชาชนเป็นพื้น จึงทรงออกนั่งตุลาการด้วยตนเอง ทั้งยังออกเยี่ยมประชาชนอยู่เนืองๆ เช่น คนจีนที่สำเพ็ง ซึ่งปรากฏว่าชาวจีนถวายความนับถือและจงรักภักดีมาก การออกเยี่ยมตามที่ต่างๆทำให้พระองค์ได้สัมผัสกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างแท้จริง ทำให้ความคิดของพระองค์ยิ่งขัดแย้งกับพวกศักดินามากขึ้นเป็นลำดับ
หม่อมสังวาลย์ อดีตนางพยาบาลที่ปรนนิบัติกรมหลวงสงขลาฯจนได้แต่งงานกัน มีความหลงใหลในเกียรติยศชื่อเสียงของตน นึกไม่ถึงว่าจะได้เป้นพระราชชนนี ซึ่งหมายถึงแม่ของกษัตริย์ ประมุขสูงสุดของประเทศ นางจึงขัดแย้งมากและยอมไม่ได้ที่รัชกาลที่ ๘ จะล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ อันหมายถึงเกียรติยศชื่อเสียงและผลประโยชน์จำนวนมหาศาล ที่จะดลบันดาลความสุขสบายแก่ตนเองและวงศ์ตระกูลไปตลอดชาติต้องอันตรธานในพริบตา นอกจากนี้ยังมีความขัดแย้งอื่นๆระหว่างแม่ลูกคู่นี้อีก กล่าวคือกรมหลวงสงขลาฯได้สิ้นพระชนม์ไปขณะนางสังวาลย์ยังสาวอยู่ นางจึงดำริจะแต่งงานใหม่ แต่ทว่ารัชกาลที่ ๘ ไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตามด้วยความต้องการทางเพศอันเป็นปกติของร่างกายในวัยสาว นางจึงได้มีสัมพันธ์สวาทกับฝรั่งชาติกรีกนายหนึ่งอย่างลึกซึ้ง และเมื่อรัชกาลที่ ๘ ทรงทราบเข้าก็เกิดการถกเถียงอย่างหนักในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นที่รู้กันในหมู่คนไทยที่ใกล้ชิดในเมืองโลซาน เรื่องนี้ทำให้นางสังวาลย์ไม่พอใจมาก
โดยธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อลูกคนใดคนหนึ่งเกิดความขัดแย้งกับพ่อหรือแม่ ก็จะมีลูกอีกคนหนึ่งเกิดความไม่พอใจกับลูกที่ขัดแย้งนี้ นี่ก็เช่นเดียวกัน ภูมิพลได้เข้าข้างแม่และไม่พอใจพี่ชาย หาว่ารัชกาลที่ ๘ เป็นลูกอกตัญญูประกอบกับตนเองมีปมด้อยทางร่างกายและอยู่ในวัยรุ่นด้วย จึงมีความคิดละอารมณ์วู่วาม ขาดความยั้งคิด ต้องการเด่นดังมีหน้ามีตาอย่างพี่ชายของตนบ้าง อีกทั้งได้แรงยุจากแม่ในเรื่องที่ขัดแย้งกับรัชกาลที่ ๘ ภูมิพลซึ่งเดิมเป็นเด็กที่อยู่ในโอวาท ขี้ประจบ หัวอ่อน ก็กลับกลายเป็นผู้ที่มีอารมณ์วู่วาม รุนแรงในบางครั้งกับคนที่ตนไม่พอใจ
โดยปกติวิสัยของรัชกาลที่ ๘ ชอบสะสมปืนมาก และมีปืนของรัชกาลที่ ๘ อยู่กระบอกหนึ่งซึ่งไกปืนอ่อนมาก ขณะเดียวกับภูมิพลชอบเอาปืนของรัชกาลที่ ๘ มาเล่น เช่น ไปจี้คนนั้นคนนี้ บางครั้งเอาปืนมาจ่อรัชกาลที่ ๘ ทำท่ายิงเล่นๆ จนผู้คนในวังเห็นเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว แต่แล้วสิ่งที่ไม่มีใครคาดฝันก็ได้เกิดขึ้น
 
เมื่อเวลา ๘.๓๐ น. ของวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ ........... เสียงปืนดังขึ้น ๑ นัด จากห้องบรรทม ชั้นบนของพระที่นั่งบรมพิมาน ต่อจากนั้นอีกไม่กี่นาที นายชิต ยามมหาดเล็ก วิ่งหน้าตื่นไปทูลพระราชชนนีว่า “ในหลวงทรงยิงพระองค์”การสิ้นพระชนม์ของรัชกาลที่ ๘ นั้น ศาลอาญา, ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา สรุปตรงกันว่า เกิดโดยการลอบปลงพระชนม์ มิใช่การปลงพระชนม์เอง เพราะว่าแผลที่ทำให้พระองค์สวรรคตอยู่ที่หน้าผาก กระสุนทะลุออกทางท้ายทอย ซึ่งแสดงว่าไม่ใช่การฆ่าตัวตาย เพราะผู้ที่อัตตวินิบาตกรรม ส่วนมากจะยิงขมับและหัวใจเท่านั้น นอกจากนี้ นายแพทย์ใช้ ยูนิพันธ์ ยังให้ความเห็นว่า แผลของพระองค์เกิดจากการอัตตวินิบาตกรรมไม่ได้ เพราะวิถีกระสุนเฉียงลง รัชกาลที่ ๘ ผู้ที่ยิงตนเอง ต้องยกด้ามปืน หันปากกระบอกปืนลง เป็นของทำได้ยาก นอกจากนี้แผลยังแสดงว่าอุบัติเหตุที่เกิดโดยรัชกาลที่ ๘ เอง ก็ไม่มีทางเป็นไปได้เช่นกัน เพราะวิถีกระสุนมีลักษณะที่เห็นชัดว่าเกิดจากการตั้งใจทำของผู้ที่ยิง
ก่อนบอกว่าใครฆ่ารัชกาลที่ ๘ ต้องดูข้อมูลต่างๆดังนี้
 
๑. ผู้ที่ฆ่า มิใช่บุคคลอื่นที่อยู่นอกวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระที่นั่งบรมพิมาน เพราะว่าได้มีการจัดทหาร ตำรวจวัง ล้อมรอบพระที่นั่งอย่างเข้มงวด ตั้งแต่ประตูวังถึงองค์พระที่นั่ง คือถ้าเป็นกลางวัน ณ ที่ประตูเหล็กทางเข้าพระที่นั่งจะมีทหารยามรักษาการณ์ ส่วนพระที่นั่งชั้นบนมียามมหาดเล็ก ๓ จุด สำหรับชั้นล่างมียามตำรวจหลวงและยังมีทหารยามเฝ้าอยู่ที่เชิงบันไดส่วนที่จะขึ้นพระที่นั่งอีก(๑) เฉพาะที่บันไดใหญ่ทางขึ้นพระที่นั่งมียามถึง ๔-๕ คน(๒) ส่วนในเวลากลางคืนจะมียามอยู่ที่ชั้นบนตรงตำแหน่งที่สำคัญ ๒ จุดๆละ ๒ คน นอกจากนี้ยังมียามที่ชั้นล่างอีก(๓)
ตัวพระที่นั่งมีทางขึ้นชั้นบนที่ประทับของรัชกาลที่ ๘ อยู่ ๓ บันได ในจำนวนนี้อนุญาตให้คนขึ้น ลงตลอดวันเพียง ๑ บันได ปิดตาย ๑ บันได ส่วนอีก ๑ บันได เปิดเฉพาะเวลากลางวัน สำหรับบันไดที่เปิดตลอดเวลานั้น จะมียามเฝ้าในเวลากลางคืน(๔)  ยามเหล่านี้ล้วนเป็นมหาดเล็กที่คัดเลือกกันมาตามตระกูล ที่เชื่อได้ว่าจงรักภักดี สามารถสละชีพเพื่อกษัตริย์ได้ (ขนาดช่างตัดผมของรัชกาลที่ ๙ ทุกวันนี้ ก็ตัดผมกษัตริย์มาตั้งแต่บรรพบุรุษ) ย่อมไม่มีวันยินยอมปล่อยให้ผู้ร้ายภายนอก หลงหูหลงตาขึ้นไปชั้นบนพระที่นั่งเป็นอันขาด
จะเห็นได้ว่าถ้าไม่ใช่คนในพระที่นั่งบรมพิมานแล้วจะฆ่ารัชกาลที่ ๘ ไม่ได้เลย เพราะนอกจากไม่สามารถเล็ดลอดยามจำนวนมากขึ้นไปบนพระที่นั่ง ยังไม่สามารถหนีไปได้พ้นเมื่อยิงแล้ว เพราะเป็นที่ยอมรับกันว่า รัชกาลที่ ๘ สิ้นพระชนม์ในเวลา ๙ โมงเศษ ซึ่งในเวลานั้นจะมีผู้คนพลุกพล่านบนพระที่นั่งแล้ว เพราะอย่างน้อยที่สุด ชาววังจะทำความสะอาดตั้งแต่ ๖-๘ โมงเช้า(๕) ผู้ร้ายภายนอกจะไม่มีทางวิ่งหนีลงไปจากพระที่นั่งได้ เพราะเมื่อเสียงปืนดังสนั่นขึ้นแล้ว ทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกยามย่อมรู้ว่ามีเหตุร้าย จะคอยสังเกตดูความผิดปกติ แต่ปรากฏว่าพยานทุกคนที่เป็นยามให้การกับศาลว่า ไม่ปรากฏว่าผู้ใดเห็นร่องรอยผู้ร้ายวิ่งลงมาจากพระที่นั่งเลย

นอกจากประเด็นที่กล่าวแล้ว ควรพิจารณาต่อไปอีกว่า ในวันที่ ๘ มิ.ย. ๒๔๙๘ นั้น รัชกาลที่ ๘ เข้านอนเวลา ๓ ทุ่มเศษ และตื่นขึ้นมาในเวลาย่ำรุ่งวันที่ ๙ มิ.ย. ๒๔๙๘ หลังจากนั้นพระชนนีและมหาดเล็ก ๑ คน ได้ถวายน้ำมันละหุ่ง เพราะในวันที่ ๘ มิ.ย. พระองค์ท้องเดิน หลังจากนั้นก็หลับไปจนเวลา ๘ โมงเช้า จึงตื่นขึ้นไปเข้าห้องน้ำ แล้วกลับมานอนอีกราว ๑ ชม. เวลา ๙ โมงเช้าก็ถูกลอบปลงพระชนม์
หลังจากที่ถูกยิงแล้ว คณะแพทย์ส่วนใหญ่ได้ตรวจพระศพ และวินิจฉัยว่าแผลที่เกิดจากการยิงห่างจากหน้าผากไม่เกิน ๕ ซม.(๖) ซึ่งต่อมา นายแพทย์สุด แสงวิเชียร ตรวจสอบบาดแผลเป็นพิเศษพบว่า ที่ตำแหน่งหน้าผากตรงที่ถูกยิงมีรอยกดของกระบอกปืนเป็นวงกลม แสดงว่าผู้ที่ยิงต้องเอาปืนกระชับยิงลงไปที่หน้าผาก
ทั้งนี้เมื่อตรวจมุ้งของรัชกาลที่ ๘ แล้ว ไม่ปรากฏว่ามีรอยทะลุ แสดงว่าผู้ร้ายต้องเลิกมุ้งออก แล้วจึงเอาปืนจ่อยิงในหลวง โดยที่ “ผู้ที่ยิงต้องเป็นคนรูปร่างสูง แขนยาว” จึงจะทำได้สะดวก เพราะจากขอบเตียงถึงบาดแผลมีระยะห่างกันถึง ๖๖ ซม. ถ้ารูปร่างเล็กแขนสั้นจะทำไม่ได้(๗) (ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่าตลก ที่พวกศักดินาพยายามว่าร.ท.สิทธิชัย ชัยสิทธิเวชฆ่ารัชกาลที่ ๘ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะร.ท.สิทธิชัย เป็นคนรูปร่างเล็ก)
จะเห็นว่าถ้าผู้ร้ายเป็นบุคคลอื่น ซึ่งไม่สนิทสนมกับรัชกาลที่ ๘ มากๆแล้ว จะกระทำการดังกล่าวไม่ได้เลย เพราะเป็นการเสี่ยงภัยและไม่มีทางสำเร็จ เพราะพระองค์นอนตั้งแต่เวลา ๓ ทุ่มของวันที่ ๘ มิ.ย. จนตื่นขึ้นมาในเวลาเช้าตรู่ของวันที่ ๙ มิ.ย. และเข้านอนถึง ๒ ระยะย่อมหลับไม่สนิท เพราะปกติในหลวงไม่เคยตื่นสายกว่า ๘.๓๐ น. เลย ดังนั้นถ้ามีคนเลิกมุ้งย่อมมีเสียง เพราะมุ้งมีเหล็กทับอยู่ ทำให้พระองค์รู้ตัวก่อนที่ผู้ร้ายจะทำการได้(๖)
นอกจากนี้ถ้ามีผู้ร้ายภายนอกแอบเข้าไปในห้องบรรทม ก็ต้องเข้าไปในเวลากลางคืนและยิงในเวลานั้นเลย เพราะปลอดคน ทั้งหนีสะดวก มิใช่รอจนเวลาเช้าจึงยิง อันจะทำให้ต้องแอบซ่อนตัวอยู่เป็นเวลานาน ซึ่งเป็นการเสี่ยงภัยมากกว่า และหากมีผู้ร้ายซ่อนตัวอยู่จริง ย่อมไม่อาจรอดสายตาพระชนนี และมหาดเล็กที่เข้าไปถวายน้ำมันละหุ่งให้รัชกาลที่ ๘ ได้
 
๒. ตามธรรมดานั้น ปรากฏในประวัติศาสตร์เสมอมาว่า มีพี่ฆ่าน้อง น้องฆ่าพี่ ลูกฆ่าพ่อ อาฆ่าหลาน หลานฆ่าอา และกระทั่งแม่ฆ่าลูกเพื่อชิงราชสมบัติ อาทิเช่น กรณีแม่เจ้าอยู่หัวศรีสุดาจันทร์ สมัยอยุธยาฆ่าพระแก้วฟ้า บุตรของตนเองเพื่อให้พันบุตรศรีเทพหรือขุนวรวงศาธิราชชู้รัก ได้เป็นกษัตริย์ ในเมื่อผู้ร้ายเป็นบุคคลภายนอกมิได้ ส่วนผู้ที่อยู่ในพระที่นั่งก็ล้วนจงรักภักดีและไม่ได้ประโยชน์จากการตายของรัชกาลที่ ๘ ผู้ที่น่าสงสัยที่สุดก็คือ รัชกาลที่ ๙ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากกรณีสวรรคต ทั้งในด้านลาภยศและทรัพย์ศฤงคาร อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะสรุปว่าเป็นคนลงมือฆ่าหรือไม่ ควรดูคำให้การของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สวรรคต ดังสรุปได้ดังนี้
 
ก. ห้องของรัชกาลที่ ๘ อยู่ทางตะวันออกของพระที่นั่งชั้นบน ส่วนห้องของรัชกาลที่ ๙ อยู่อีกฟากหนึ่งทางทิศตะวันตกมีระเบียงเชื่อมถึงกัน ข้างห้องรัชกาลที่ ๙ เป็นห้องพระชนนีซึ่งมีประตูติดต่อถึงกันได้

ภาพผังพระที่นั่งบรมพิมาน
 

ข. รัชกาลที่ ๙ ให้การว่าในวันนั้น ตนจะเข้าไปหาพี่ชายในเวลาประมาณ ๙ โมงเช้า ก่อนเกิดเสียงปืนไม่นานนัก พบนายชิต สิงหเสนีและนายบุศย์ มหาดเล็ก ซึ่งนั่งอยู่ที่ประตูห้องรัชกาลที่ ๘ เมื่อรู้ว่าพี่ชายยังไม่ตื่นจึงเดินกลับไปที่ห้องของตน เข้าๆ ออกๆ ระหว่างห้องตนกับห้องเล่นเครื่อง (ดูแผนที่) และในเวลาที่มีการยิงปืนนั้น ตนไม่ได้ยินเสียงปืนเลย จนเมื่อรู้เรื่องการยิงรัชกาลที่ ๘ จาก น.ส.จรูญ ตะละภัฏ แล้วจึงวิ่งไปที่ห้องบรรทม ซึ่งก็มีแม่และพระพี่เลี้ยงเนื่องอยู่ในห้องนั้น ก่อนหน้าที่ตนจะวิ่งเข้าไป
คำให้การนี้ ซึ่งก็สอดคล้องกับคำให้การของ น.ส.จรูญ ตะละภัฏ ข้าหลวงพระชนนี (เป็นญาติพระชนนีด้วยเพราะนามสกุลเดียวกัน) ที่อ้างว่า พอตนได้ทราบจากนายสาธิตว่า รัชกาลที่ ๘ ถูกยิงก็วิ่งไปที่ห้องบรรทม พบรัชกาลที่ ๙ อยู่ที่ประตูห้องบันไดเล็ก(ซึ่งมีประตูติดต่อกับห้องเล่นเครื่อง) จึงแจ้งให้รู้ว่าในหลวงสวรรคต แล้วพากันวิ่งไปที่ห้องบรรทมด้วยกัน โดยมีรัชกาลที่ ๙ วิ่งนำหน้าไป
 
ค. คำให้การของรัชกาลที่ ๙ มีพิรุธมากเพราะ
ค.๑ ทุกคนที่อยู่ในพระที่นั่งได้ยินเสียงปืนดังสนั่น ทั้งชั้นล่างและชั้นบน มีแต่รัชกาลที่ ๙ และพระชนนีเท่านั้นที่ไม่ได้ยินเสียงปืน
ค.๒ จากคำให้การของนายฉลาด เทียมงามสัจ ซึ่งยืนอยู่ในบริเวณห้องเสวยพระกระยาหาร อันเป็นจุดที่สามารถและเห็นการเคลื่อนไหวหน้าห้องบรรทมได้หมดนั้น นายฉลาดให้การว่ารัชกาลที่ ๙ วิ่งเข้าไปในห้องบรรทมก่อนพระพี่เลี้ยงเนื่อง จินตะดุลย์ ไม่ตรงกับคำให้การของรัชกาลที่ ๙ ที่ว่าเข้าไปในห้องหลังพระพี่เลี้ยงเนื่อง จินตะดุลย์
ค.๓ พระพี่เลี้ยงเนื่อง จินตะดุลย์ นักเรียนพยาบาลรุ่นเดียวกับพระชนนี ให้การว่า ตนอยู่ในห้องรัชกาลที่ ๙ ๒๐ นาที ก่อนมีเสียงปืน และไม่พบรัชกาลที่ ๙ ในห้องนั้นเลย แสดงว่ารัชกาลที่ ๙ อ้างว่าตนเองเข้าๆ ออกๆ ระหว่างห้องนอนของตนกับห้องเล่นเครื่อง ย่อมเป็นการโกหก นอกจากนี้พระพี่เลี้ยงเนื่องยังให้การต่อไปอีกว่า เมื่อได้ยินเสียงปืนแล้ว ก็รีบวิ่งไปยังห้องบรรทม ผ่านห้องเครื่องเล่นแต่ไม่พบรัชกาลที่ ๙ ในห้องนั้น แสดงว่าข้ออ้างของรัชกาลที่ ๙ ที่ว่าอยู่ในห้องเล่นเครื่องก่อนหน้าเหตุการณ์สวรรคต ก็ไม่เป็นจริง เพราะถ้าเป็นอย่างนี้จริง ขณะที่พี่เลี้ยงเนื่องวิ่งผ่านห้องเล่นเครื่องนั้น จะต้องแลเห็นรัชกาลที่ ๙ เพราะรัชกาลที่ ๙ เองก็ยังอ้างว่า ตนวิ่งไปยังห้องบรรทมหลังพี่เลี้ยงเนื่อง
ค.๔ รัชกาลที่ ๙ และน.ส.จรูญ ตะละภัฏญาติพระชนนี อ้างว่า ตนวิ่งไปที่ห้องบรรทมด้วยกัน แต่นายฉลาด เทียมงามสัจ ซึ่งอยู่นอกห้องบรรทมและเห็นเหตุการณ์ใกล้ชิดให้การว่า ไม่เห็นน.ส.จรูญเข้าไปในห้องบรรทมเลย (น่าสังเกตว่าคำให้การของน.ส.จรูญนี้ เชื่อถือไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะน.ส.จรูญอ้างว่า ตนอยู่ในห้องพระชนนีก่อนเสียงปืนดัง แต่พยานอื่นที่อยู่ในห้องขณะนั้นให้การเป็นอย่างอื่น)
ค.๕ รัชกาลที่ ๙ บอกให้กรมขุนชัยนาทฯ ฟังว่า ขณะที่ผู้ร้ายยิงปืนนั้น ตนเองอยู่ในห้องของตน(๙) ซึ่งเป็นเรื่องเท็จอย่างเห็นได้ชัด เพราะขัดแย้งกับคำให้การของพี่เลี้ยงเนื่อง จินตะดุลย์ ซึ่งอยู่ในห้องของพระองค์ในขณะนั้น
ค.๖ นายเวศน์ สุนทรวัฒน์ มหาดเล็กหน้าห้องรัชกาลที่ ๙ ให้การว่า แม้ห้องนอนของรัชกาลที่ ๙ มีประตูติดกับห้องเครื่องเล่น แต่ประตูนี้ปิดตายตลอดเวลา ถ้ารัชกาลที่ ๙ ต้องการจะเข้าห้องเครื่อง จะต้องเข้าทางประตูด้านหน้าของห้องเครื่อง มิใช่เข้าทางประตูด้านหลังซึ่งติดต่อกับห้องของรัชกาลที่ ๙
 
จึงเห็นได้ว่า ข้ออ้างที่รัชกาลที่ ๙ โกหกว่าตนเข้าๆ ออกๆระหว่างห้องเครื่องกับห้องนอนตนเองนั้นเป็นเท็จ
 
ง. เราสามารถสรุปได้ว่า รัชกาลที่ ๙ ให้การเท็จ พยายามอ้างว่าตนอยู่ไกลสถานที่เกิดเหตุที่สุด และไปถึงห้องบรรทมคนสุดท้าย โดยร่วมมือกับบุคคลอื่น เช่น น.ส.จรูญ ตะละภัฏ เป็นต้น
โดยข้อมูลนี้ เราจะเห็นได้ว่า เมื่อรัชกาลที่ ๙ กินข้าวเช้าอิ่ม ก็ได้เดินไปถึงหน้าห้องบรรทมของรัชกาลที่ ๘ ก่อนเสียงปืนไม่นานนักและเข้าไปในห้องนั้น โดยที่นายชิตและบุศย์มิได้ห้ามปราม เพราะตามคำให้การของพระพี่เลี้ยงเนื่องนั้น ปรากฏว่าพี่น้องคู่นี้นั้น ถ้าผู้ใดตื่นก่อน มักจะเข้าไปยั่วเย้าอีกคนหนึ่งให้ตื่น ฉะนั้นนายชิตและบุศย์ ย่อมไม่สงสัยว่าเหตุใดรัชกาลที่ ๙ จึงเข้าไปในห้องรัชกาลที่ ๘
เมื่อเข้าไปในห้องรัชกาลที่ ๘ แล้วก็เอาปืนของรัชกาลที่ ๘ นั้นเอง ถือเดินไปที่พระแท่น เลิกมุ้งขึ้นแล้ว “บุรุษร่างสูง แขนยาว” ผู้นี้ก็เอาปืนจ่อยิงรัชกาลที่ ๘ ขณะที่รัชกาลที่ ๘ ยังไม่ทันรู้ตัวว่าจะถูกฆ่า
ถ้าจะถามว่ารัชกาลที่ ๘ ไม่รู้ตัวในเวลาที่น้องชายเลิกมุ้งหรือ
ตอบได้ว่า จะรู้หรือไม่ ก็ไม่สำคัญ เพราะพี่ชายย่อมไม่ระแวงน้องชาย นอกจากนี้ ทั้งคู่ก็มักจะใช้ปืนล้อผู้อื่นอยู่แล้ว พระพี่เลี้ยงเนื่องให้การว่า บางครั้งทั้งคู่จะใช้ปืนจี้ล้อพวกฝ่ายใน เช่น ท้าวสัตยา นางสาวจรูญ นางสาวทัศนียาและพระพี่เลี้ยงเนื่อง บางครั้งถึงกับเอาปืนเข้าไปใกล้ๆ ยกขึ้นเล็งไปยังคนเหล่านั้น ฉะนั้นแม้รัชกาลที่ ๘ จะเห็นรัชกาลที่ ๙ ถือปืน ก็ไม่มีวันระแวง
ปัญหาสุดท้ายก็คือ จะเป็นเรื่องอุบัติเหตุได้หรือไม่
ไม่น่าจะเป็นอุบัติเหตุ เพราะถ้ารัชกาลที่ ๙ เอาปืนล้อรัชกาลที่ ๘ แม้จะเล็งปืนเข้าไปใกล้เพียงใด ก็ไม่น่าจะถึงกับเอาปืนจ่อกระชับเข้าไปที่หน้าผากเป็นอันขาด (ตามการตรวจแผลของนายแพทย์สุด แสงวิเชียร) เพราะทรงย่อมรู้เหมือนกับคนอื่นทั่วไปว่า ปืนกระบอกนั้นไกอ่อน ถ้ากระชับปืนเข้าที่หน้าผากขนาดนั้น ย่อมเป็นการเสี่ยงภัยจนเกินไป
สำหรับปัญหาเกี่ยวกับพยานหลายคน เช่น นายชิต นายบุศย์ และนายฉลาด เทียมงามสัจ ที่ให้การตรงกันว่า รัชกาลที่ ๙ ไม่ได้เข้าไปในห้องบรรทม เชื่อไม่ได้เลยหรือ
ตอบได้ว่า เชื่อไม่ได้ คนเหล่านี้ล้วนให้การเท็จ เพราะสำหรับนายฉลาดนั้น เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการโกหกของตนเอง นายฉลาดยอมรับในศาลว่า ตั้งแต่ถูกเรียกตัวไปสอบสวนก็ได้เบี้ยเลี้ยงจากสันติบาลวันละ ๓ บาท นอกจากนี้หลังจากที่ถูกปลดจากสำนักราชวัง ฐานหย่อนความสามารถ เมื่อเดือน ม.ค.๒๔๙๑ ก็ยังได้รับการบรรจุเข้าทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยความสนับสนุนของพนักงานสอบสวน ข้อที่ชี้ชัดได้ว่านายฉลาดโกหกก็คือ การที่นายฉลาด บอกว่าไม่เห็นผู้ร้ายวิ่งออกจากห้องบรรทมเลย นี่เป็นการโกหกชัดๆ เพราะเมื่อมีการปลงพระชนม์เกิดขึ้นแล้ว ผู้ร้ายที่ไหนจะยอมอยู่เป็นเหยื่อในห้องบรรทม จะต้องวิ่งหนีออกจากห้องนั้น
ส่วนนายชิตกับนายบุศย์นั้น ตกอยู่ในฐานะน้ำท่วมปาก พูดมากไม่ได้ เพราะการฟ้องร้องคดีสวรรคตนี้เกิดขึ้นหลังจากที่พวกทหารก่อรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลเลือกตั้ง ผลจากรัฐประหารทำให้พระพินิจชนคดี พวกศักดินาได้เป็นอธิบดีกรมตำรวจ และดำเนินการสอบสวน นายชิตเองถูกฉีดยาให้เคลิบเคลิ้ม ถูกขู่เข็ญสารพัด(๑๐) ทั้งคู่รู้ดีว่า พวกศักดินาและพระพินิจฯ จะต้องเล่นงานพวกนายปรีดี พนมยงค์ให้ได้ โดยใช้กรณีสวรรคตเป็นเครื่องมือ ฉะนั้นถึงตนพูดความจริง ก็ไม่มีประโยชน์ ซ้ำจะเป็นอันตรายถึงครอบครัว เพราะทั้งคู่รู้ดีว่า สมัยนั้นมีการใช้อำนาจเผด็จการรัฐประหารอย่างป่าเถื่อน เช่น ยิงทิ้ง จับกุมคุมขังและทรมานผู้บริสุทธิ์อย่างไรบ้าง จึงยอมสงบปาก หวังที่จะได้รับความเมตตาของศาล และอย่างน้อยที่สุด ทั้งคู่น่าจะได้รับคำรับรองจากศักดินาว่า ถ้าศาลตัดสินประหารชีวิต รัชกาลที่ ๙ จะให้อภัยโทษ ไม่ต้องถูกประหารชีวิตและทางครอบครัวจะได้รับการเลี้ยงดู
เป็นที่น่าเสียใจที่ นายชิตและนายบุศย์ไม่ได้รับความปรานีจากศักดินา หลังจากที่เขาถูกตัดสินประหารชีวิต แม้จะถวายฎีกา แต่รัชกาลที่ ๙ ยกฎีกาเสีย จอมพล ป. เล่าให้ลูกชาย (พล.ต.อนันต์ พิบูลย์สงคราม) ฟังว่าตนเอง “....ได้ขอพระราชทานอภัยโทษขึ้นไปถึง ๓ ครั้ง...” (๑๐) แต่รัชกาลที่ ๙ ไม่ยอมให้ผู้ที่รู้ความลับของตนมีชีวิตต่อไป จึงยกฎีกาเสีย
อย่างไรก็ดี ศักดินาใหญ่ก็ฉลาดพอที่จะส่งเงินอุดหนุนจุนเจือ ครอบครัวผู้ถูกประหารชีวิตเสมอมา เพื่อป้องกันมิให้ครอบครัวผู้สิ้นชีวิตโวยวาย ซึ่งเรื่องนี้ นายปรีดี พนมยงค์ได้เปิดโปงไว้ในคำฟ้องคดีที่นายชาลี เอี่ยมกระสิทธ์ หมิ่นประมาทนายปรีดีว่า ครอบครัวผู้ตายได้รับการช่วยเหลือทางการเงินจากพระราชวงศ์องค์หนึ่ง ซึ่งพวกศักดินาก็ไม่กล้าโต้ตอบแต่อย่างใด
 
จ. ในเมื่อหลักฐานพยานแวดล้อมต่างผูกมัดว่า รัชกาลที่ ๙ ฆ่ารัชกาลที่ ๘ เช่นนี้ทำไมศาลไม่พิพากษาเอาตัวไปลงโทษ
ที่เป็นเช่นนี้ ขณะนั้น อำนาจมืดอันเกิดจากการรัฐประหารด้วยปืนแผ่ซ่านไปทั่ว มีความพยายามที่จะปกป้องรัชกาลที่ ๙ และโยนบาปไปให้พวก ดร.ปรีดี โดยการใช้วิธีการทุกอย่าง เช่น
จ.๑ สร้างพยานเท็จ นอกจากที่กล่าวแล้ว ยังมีการสร้างพยานเท็จว่า ดร.ปรีดีและพวก ปรึกษากันว่าจะฆ่ารัชกาลที่ ๘ ที่บ้านพระยาศรยุทธเสนี โดยมีนายตี๋ ศรีสุวรรณ เป็นผู้ล่วงรู้ความลับนี้ เรื่องโกหกพรรค์นี้ แม้ศาลก็ไม่กล้าเชื่อ ในภายหลัง นายตี๋ ศรีสุวรรณ ยอมรับกับท่านปัญญานันทะ ภิกขุว่าตนให้การเท็จ
นอกจากนี้ยังมีนายวงศ์ เชาวนะกวี ให้การว่าได้ยินนายปรีดีพูดกับตนว่า ต่อไปนี้นายปรีดีจะไม่ป้องกันราชบัลลังก์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าหัวเราะ เพราะนายวงศ์มิใช่ผู้ที่สนิทชิดเชื้อกับนายปรีดี พอที่นายปรีดีจะพูดความลับ อันเป็นความเป็นความตายด้วย
จ.๒ มีการทำลายหลักฐานต่างๆที่จะผูกมัดรัชกาลที่ ๙ ในภายหลัง เช่น พระชนนีสั่งให้พระพี่เลี้ยงเนื่อง ทำความสะอาดพระศพ แล้วยังให้หมอนิตย์ เย็บบาดแผล ทั้งที่พระชนนีเป็นพยาบาลมาก่อน ย่อมรู้ดีว่า ควรจัดการอย่างไรกับศพที่มีเค้าว่าจะถูกฆาตกรรม
นอกจากนี้ยังมีการผลัดเสื้อผ้าพระศพ โดยเฉพาะหมอนนั้นถูกนำไปฝัง หลังรัชกาลที่ ๘ สวรรคตไปแล้ว ๑๐ วัน ซึ่งพระยาชาติเดชอุดม เลขาธิการพระราชวังให้การว่าจะทำเช่นนี้ได้ต้องมี ”ผู้ใหญ่สั่ง” แน่นอนผู้ที่ใหญ่กว่าเลขาธิการพระราชวัง ในวังหลวงนั้นเห็นจะมีแต่พระชนนี หาไม่ก็รัชกาลที่ ๙ เท่านั้น
ที่ร้ายกว่านี้คือ มีการเคลื่อนย้ายพระศพรัชกาลที่ ๘ ออกไปและมีผู้ยกเอาพระศพไปไว้บนเก้าอี้โซฟาแทน(๑๑) การแตะต้องพระบรมศพนั้น มิใช่ว่าจะกระทำได้ง่ายๆ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้านายผู้ใหญ่ก่อนเท่านั้น
จ.๓ เมื่อรัฐบาลพลเรือนชุดก่อนที่จะถูกรัฐประหาร จะชันสูตรพระศพรัชกาลที่ ๘ กลับถูกคัดค้านจากกรมขุนชัยนาทและพระชนนีจนกระทำไม่ได้(๑๒)
จ.๔ แม้แต่ศาลฎีกา ก็พยายามช่วยเหลือรัชกาลที่ ๙ และโยนความผิดให้ผู้อื่น ดังจะเห็นได้ว่า
จ.๔.๑ มีเพียงสองคนเท่านั้นในคดีนี้ ที่ไม่ได้รับการตรวจพิสูจน์เขม่าปืนที่มือ คือพระชนนีกับร.๙ เมื่อปรากฏว่ามีนายตำรวจคนหนึ่งเสนอให้ทำการพิสูจน์ด้วย ผลต่อมาปรากฏว่านายตำรวจผู้นั้นถูกสั่งปลดออกจากราชการ
จ.๔.๒ ศาลหลีกเลี่ยงไม่ยอมปฏิบัติตามมาตรา ๑๗๒ และ ๑๗๒ ทวิ แห่งประมวลวิธีความอาญาซึ่งกำหนดว่า การซักค้านพยาน อันจะเกิดความเสียหายต่อจำเลย ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย ศาลกลับเดินเผชิญสืบพระชนนีและรัชกาลที่ ๙ ที่สวิสเซอร์แลนด์ ในวันที่ ๑๒ และ ๑๕ พ.ศ. ๒๔๙๓ โดยไม่ยอมให้จำเลยและทนายไปซักค้านด้วย แม้พระชนนีและรัชกาลที่ ๙ ให้การสับสน ทนายจำเลยก็ซักค้านไม่ได้
การซักค้านรัชกาลที่ ๙ และพระราชชนนีโดยอัยการ คราวนี้ได้กระทำอย่างขอไปที อย่างน่าเกลียด ทั้งที่รัชกาลที่ ๙ เป็นผู้ที่น่าสงสัยที่สุด ในฐานะที่ได้รับประโยชน์จากการตายของรัชกาลที่ ๘ แต่ผู้เดียว อัยการกลับซักถามรัชกาลที่ ๙ เพียงไม่กี่คำ และเลี่ยงที่จะไต่ถามในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญ นอกจากนี้ศาลฎีกายังหลีกเลี่ยงไม่ยอมปฏิบัติตามมาตรา ๒๐๘ และ ๒๐๘ ทวิ และ ๒๒๕ แห่งประมวลวิธีความอาญา เพราะว่าตามปกตินั้น คดีสำคัญๆจะต้องนำไปให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาวินิจฉัย แต่คดีสวรรคตเป็นคดีที่สำคัญกว่าคดีทั้งปวงในประวัติศาสตร์ ที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกากลับไม่ได้วินิจฉัย มีเพียงผู้พิพากษา ๕ คนเท่านั้น ที่เป็นผู้ตัดสินคดี ที่คณะศาลฎีกาไม่ยอมเอาคดีนำขึ้นสู่ที่ประชุมใหญ่ ก็เพราะไม่อยากให้ผู้ที่จับได้ไล่ทัน คัดค้านนั่นเอง
จ.๔.๓ เพื่อให้ความผิดพ้นจากตัวรัชกาลที่ ๙ ศาลฎีกาถึงกับประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์อย่าง นายเฉลียว ปทุมรส ซึ่งคนผู้นี้ ศาลฎีกาไม่สามารถกล่าวออกมาได้ว่า เกี่ยวข้องกับคดีสวรรคตอย่างไร นอกจากอ้างซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า มีความใกล้ชิดกับนายปรีดี เช่น ยืนตามคำให้การของ “นายรวิ ผลเนืองมา” ว่านายเฉลียว จัดรถพระที่นั่งของรัชกาลที่ ๘ ให้นายปรีดีใช้ ขณะที่รัชกาลที่ ๘ อยู่ที่หัวหิน อันเป็นการแสดงความไม่จงรักภักดี (ซึ่งเป็นคำให้การเท็จเพราะขณะนั้นนายปรีดีก็อยู่ที่หัวหินด้วย) ไม่ว่านายเฉลียวจะใกล้ชิดกับนายปรีดี หรือมีความจงรักภักดีกับรัชกาลที่ ๘ มากน้อยเพียงใด การประหารชีวิตนายเฉลียว ก็เป็นบาปอันมหันต์ของศาลฎีกาชุดนั้น เพราะกระทั่งฆาตกร ศาลก็วินิจฉัยไม่ได้ว่าใครเป็นผู้กระทำ ศาลกลับให้ฆ่านายเฉลียว เพียงเพราะนายเฉลียวใกล้ชิดกับนายปรีดี
เมื่อการสะสางคดีนี้จบลง โดยการมีแพะรับบาป ต้องคำพิพากษาประหารชีวิต ๓ คนคือ นายชิต สิงหเสนี นายบุศย์ ปัทมศริน นายเฉลียว ปทุมรส ส่วนรัชกาลที่ ๙ ก็ได้ทรงหนีไปอยู่ต่างประเทศชั่วคราวระยะหนึ่งจึงเสด็จกลับ เพื่อเป็นการหนีเสียงครหานินทาของประชาชน โดยวางหมากให้แม่เป็นผู้ออกรับแทน
ก่อนที่คนทั้ง ๓ จะถูกประหารชีวิต คนหนึ่งได้ขอพบเผ่า ศรียานนท์เป็นการส่วนตัว และได้พูดคุยกับเผ่าเป็นการลำพังประมาณ ๑๐ นาที เมื่อหนังสือพิมพ์ได้ถามหลังการประหาร ๓ คนนั้นแล้ว ว่าได้คุยเรื่องอะไรกันบ้าง เผ่าไม่ยอมตอบ แน่นอนเผ่าจะต้องรู้ว่า ใครเป็นฆาตกรโหดในกรณีดังกล่าวและไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า เผ่าจะไม่ได้บอกเพื่อนสนิทให้รู้ความลับนี้ ในจำนวนเหล่านั้นมี แปลก สฤษดิ์และประภาสรวมอยู่ด้วย
การกำจัดรัชกาลที่ ๘ นั้น นับว่าเป็นการยิงทีเดียวได้นก ๒ ตัว เพราะนอกจากรัชกาลที่ ๙ จะจัดการกับรัชกาลที่ ๘ ได้แล้ว ยังได้กำจัด ดร.ปรีดี ซึ่งเป็นต้นตอทำลายผลประโยชน์ของพวกกลุ่มศักดินาอีกด้วย อีกทั้ง ดร.ปรีดีจะรู้อะไรมากไปสักหน่อย สมควรที่จะถูกทำลายลงเสียที ฉะนั้นเมื่อสิ้นเสียงปืนไม่นาน ปรีดีต้องลี้ภัยทางการเมืองไป ตั้งแต่ปี ๒๔๙๑ จนถึงปัจจุบัน
ข้อน่าสังเกตประการหนึ่ง ซึ่งเพิ่งถูกค้นพบในระยะหลังๆคือ เมียของ ร.ท.สิทธิชัย ชัยสิทธิเวชผู้ถูกระบุว่าเป็นมือปืน แล้วหนีตาม ดร.ปรีดีไปอยู่เมืองนอก ชื่อชะอุ่ม กลับได้รับตำแหน่งหัวหน้าแม่ครัวในวังสวนจิตรลดาตราบเท่าทุกวันนี้ ลูกทุกคนได้รับการส่งเสียให้เงินทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ และตัว ร.ท.สิทธิชัยเองก็กลับมาอยู่อาศัยที่ลาดพร้าว ซอย ๑๐๑ อย่างสุขสบาย โดยที่เจ้าตัวไม่ต้องทำมาหากินแต่อย่างใด หากเขาเป็นฆาตกรจริง ทำไมรัชกาลที่ ๙ จึงยังทรงไว้วางพระทัยในตัวแม่ครัวปัจจุบัน และเหตุใดจึงไม่ให้มีการลงโทษตามตัวบทกฎหมาย เช่นเดียวกับที่เคยเล่นงานนายชิตและนายบุศย์
หลักฐานจากผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สวรรคตที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ได้ชี้อย่างเด่นชัดว่า ฆาตกรผู้ฆ่ารัชกาลที่ ๘ อย่างเลือดเย็นนั้น จะเป็นผู้อื่นมิได้เลย นอกจากรัชกาลที่ ๙ มหาราชองค์ปัจจุบัน
        
๑. คำให้การพระยาชาติเดชอุดม (พยานโจทก์) คดีสวรรคต
๒. คำให้การของนายเวช สุนทรรัตน์ (มหาดเล็กหน้าวัง)
๓. คำให้การของนายมังกร ภมรบุตร (มหาดเล็กในฐานะพยานโจทก์)
๔. คำให้การของพระพี่เลี้ยงเนื่อง
๕. คำให้การของพระพี่เลี้ยง (พยานโจทก์)
๖. คำวินิจฉัยของศาลกลางเมือง
๗. คำให้การของนายแพทย์นิตย์ เวชวิศิษฐ์ ผู้ตรวจศพ
๘. คำวินิจฉัยของศาลกลางเมือง
๙. คำให้การของกรมขุนชัยนาทฯ
๑๐. พล.ท.อนันต์ พิบูลย์สงคราม จอมพล ป.พิบูลสงคราม เล่ม ๕ หน้า ๖๘๗
๑๑. คำให้การ พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร
๑๒. คำให้การหมอนิตย์และคำให้สัมภาษณ์ของ มจ.สกลวรรณกร วรวรรณ ต่อ นสพ.เสียงไทย วันที่ ๒๘ มิ.ย. ๒๔๘๘

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar