lördag 30 juni 2012

ยอมให้มีการปฏิวัติได้ครั้งเดียวคือ 24 มิถุนา 75 พันตรีพุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา จนเพราะคำนึงถึงศักดิ์ศรีพ่อ-แม่ ย้ำคำพ่อสอน“อย่าคิดว่าเป็นลูกใคร แกก็เหมือนคนอื่นเขา” พระยาพหลฯเป็นคนทั้งดุและใจดี แนะเทคนิคสยบรถถัง พร้อมวิเคราะห์เหตุที่วันที่ 24 มิ.ย.ไม่มีการนองเลือด ... พันตรีพุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา คือลูกกตัญญูที่แท้จริงได้ยึดหลักคำสอนของบิดา พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา "หัวหน้าคณะราษฎร ๒๔๗๕ " โดยได้สืบทอดเจตนารมณ์ของบิดามีความทรนงยึดมั่นในศักดิ์ศรี ไม่เห็นแก่ลาภยศเงินทองและไม่ยอมอยู่ใต้เท้าอำนาจศักดินาเผด็จการ สมควรที่นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทั้งหลายควรยึดถือเป็นตัวอย่าง ... ส่วนพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ลูกทรพีอกตัญญูทรยศต่ออุดมการณ์ของพ่อบังเกิดเกล้า สหายคำตันพันโท โพยม จุลานนท์ โดยยอมรับใช้ศัตรูของพ่อ "อำมาตย์เลว" ทำร้ายประชาชนและขัดขวางความเจริญของประเทศชาติเพื่อเงินทองและบรรดาศักดิ์.

ทายาทพระยาพหลฯ เล่าถึงคณะราษฎรในความทรงจำ ทั้งชีวิตยอมปฏิวัติ 24 มิ.ย.ได้ครั้งเดียว



พันตรีพุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา จนเพราะคำนึงถึงศักดิ์ศรีพ่อ-แม่ ย้ำคำพ่อสอน“อย่าคิดว่าเป็นลูกใคร แกก็เหมือนคนอื่นเขา” พระยาพหลฯเป็นคนทั้งดุและใจดี แนะเทคนิคสยบรถถัง พร้อมวิเคราะห์เหต
ที่วันที่ 24 มิ.ย.ไม่มีการนองเลือด
 
พันตรีพุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา
เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.55 ที่ผ่านมา ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ราชดำเนิน พันตรีพุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา วัย 73 ปี บุตรชายคนที่ 4 ในจำนวน 7 คน ของพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร 2475 กับท่านผู้หญิงบุญหลง ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ คณะราษฎรในความทรงจำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรำลึก 80 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครองและมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยในชื่องาน “8 ทศวรรษ ประชาธิปไตย อำนาจสูงสุดยังไม่เป็นของราษฎรทั้งหลาย” ที่จัดโดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)และเครือข่ายองค์กรนักศึกษา
โดยพันตรีพุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา เริ่มต้นด้วยการตั้งข้อสังเกตถึงคำว่า “คณะราษฎร” ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดทั้งที่สะกดแล้วไม่มีการันต์ แต่ได้ยินกับหูมาโดยตลอด ว่าพวกท่านเหล่านั้นเรียกตัวเองว่าคณะราษฎร (คะ-นะ-ราด)
ชีวิตวัยเยาว์ที่วังปารุสกวัน
พันตรีพุทธินาถ เล่าว่าตนเป็นลูกชายคนที่ 4 ในจำนวน 7 คน ของพระยาพหลพลพยุหเสนา กับท่านผู้หญิงบุญหลง เกิดที่วังปารุสกวัน ซึ่งเดิม ร.5 สร้างให้กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ อยู่ เมื่อหลัง 24 มิ.ย.2475 ก็ขอมาเป็นที่ทำการของคณะราษฎร โดยตึกทางด้านถนนศรีอยุธยาเรียกว่าตึกทหาร ชั้นล่างเป็นที่ทำการของคณะราษฎรฝ่ายทหารและเป็นกองบัญชาการทหารบกด้วย เพราะคุณพ่อก็เป็นผู้บัญชาการทหารบก และครอบครัวตนอยู่ชั้นบน ส่วนอีกตึกใกล้กระทรวงศึกษาฯ ก็คือตึกพลเรือน ซึ่งมีท่านปรีดี พนมยงค์เป็นหัวหน้าฝ่ายพลเรือนทำงานอยู่ที่ตึกนั้น
ส่วนพี่สาวคนโตของตนเกิดที่บ้านบางซื่อ ปี พ.ศ. 2474 นอกนั้นอีก 5 คนรวมทั้งตน มาเกิดที่วังปารุสกวันทั้งหมด ส่วนน้องคนสุดท้องเกิดที่มหาชัย (สมุทรสาคร) ตอนช่วงสงครามที่คุณพ่อให้ครอบครัวอพยพที่จวนข้าหลวงใกล้ๆกับศาลหลักเมืองมหาชัยโดยคุณพ่อทำงานอยู่ที่กรุงเทพ วันศุกร์ก็ขึ้นรถไฟที่ปากคลองสานไปมหาชัยแล้ววันอาทิตย์ก็กลับมาเพื่อมาทำงานต่อ
“ปรีดี พนมยงค์ มีส่วนที่พิจารณากับคุณพ่อ (พระยาพหลฯ)ในการเลือกผู้ใดสมควรที่จะเป็นรัชการที่ 8 ต่อจากพระปกเกล้าที่สละราชสมบัติ” พันตรีพุทธินาถ บุตรชายพระยาพหลฯ กล่าว
พันตรีพุทธินาถ เล่าต่อว่า คณะราษฎรไม่ว่าจะทหารหรือพลเรือนไปที่วังปารุสก์ (ปารุสกวัน) บ่อย เช่น คุณอาหลวงอดุลเดชจรัส (บัตร พึ่งพระคุณ) ท่านก็มีบ้านหลังตึกที่คุณพ่อ (พระยาพหลฯ) อยู่ที่นั่น ตนชอบซ่อกแซกตั้งแต่เล็กวันหนึ่งได้เดินเข้าไปในบ้านหลวงอดุลฯ ซึ่งที่รถท่านมีปืนว่างที่พื้น ตนก็ถามนายชาญ คือนายชาญนี้เป็นสิบตำรวจเอกชาญ ก่อนที่จะมาเป็นตำรวจเป็นทหารเสนารักษ์ และตอนหลังคอยอุ้มคอยดูแลคุณพ่อ (พระยาพหลฯ) เพราะตอนหลังเป็นอัมพาตไม่สามารถจะลุกเดินได้ตายไปครึ่งซีก นายชาญพอพลจากทหารก็ไปอยู่กับหลวงอดุลฯ ตนได้ถามนายชาญว่าปืนดังกล่าวเป็นปืนอะไร นายชาญตอบว่าปืนเล็กกล เพราะตอนนั้นหลวงอดุลฯ เป็นรองหัวหน้าเสรีไทย รองจากหลวงประดิษฐ์ฯ (ปรีดี) นามรหัสว่า "รู้ธ" (Ruth) หลวงอดุลฯ มีนามรหัสว่า “พูเลา” เวลาฝ่ายเสรีไทยหรือสัมพันธมิตรมาโดดร่มลงแล้วตำรวจจับ หลวงอดุลฯ จะให้ตำรวจเอาตัวมา ญี่ปุ่นขอตัวก็บอกไม่ได้เพราะพวกนี้ทำผิดกฎหมายไทย เพราะฉะนั้นตำรวจไทยต้องจัดการจับกุมและก็สอบสวน จริงๆ แล้วไปอยู่ที่ตึก ที่ตอนนี้ไม่มีแล้วอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ตึกนี้อยู่ข้างกำแพงที่รถรางผ่าน เนื่องจากญี่ปุ่นระแวงคุณอาหลวงอดุลฯ จึงต้องมีปืน
โดยพันตรีพุทธินาถ ยังได้เล่าถึงตนเองในวัยเด็กว่าเคยนั่งตักอาควง (ควง อภัยวงศ์) ซึ่งใครบอกว่าท่านเป็นพรรคประชาธิปัตย์ที่ว่าไม่ได้ท่า ตนขอเถียงว่าสำหรับคุณอาควง ตนเชื่อว่าท่านได้ท่า และเป็นคณะราษฎรคนหนึ่งที่ได้ท่า เพราะว่าถ้าไม่ได้คนได้ท่า 3-4 ท่านนี้คือ คุณอาหลวงพิบูลสงคราม คุณอาหลวงประดิษฐ์ คุณอาหลวงอดุลฯ และคุณอาควง ประเทศไทยอาจจะไม่เป็นอย่างทุกวันนี้ก็ได้
จนเพราะคำนึงถึงศักดิ์ศรีของคุณพ่อคุณแม่ที่ท่านสร้างสมมา
พันตรีพุทธินาถ กล่าวถึงสภาพครอบครัวเมื่อพระยาพหลฯถึงแก่อสัญกรรมปี 2490 ว่า ตอนนั้นทั้งบ้านมีเงินอยู่ 127 บาท เพราะพระยาพหลฯ ไม่ใช่นักสะสม แต่ก็ไม่ใช่ไม่มีที่ดินเพราะมีที่ที่รังสิต 50 ไร่ และมีบ้านบางซื่อ แต่ในส่วนของตนเองจนเพราะว่ารับราชการทุกอย่างต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีของคุณพ่อคุณแม่ที่ท่านสร้างสมมาเพราะฉะนั้นตนไม่มีสิทธิไปทำลายคุณงามความดีที่ท่านสร้างไว้ เพราะฉะนั้นตนจึงไม่แตะอะไรทั้งนั้น
ยอมให้มีการปฏิวัติได้ครั้งเดียวคือ 24 มิถุนา 75
เมื่อปี พ.ศ. 2529 พันตรีพุทธินาถ เล่าว่าตนถูกกล่าวหาว่าซ่องสุมกำลังเพื่อก่อการปฏิวัติ จึงเป็นเหตุให้ตนมียศเพียงพันตรีเพราะตนลาออกตั้งแต่ตอนนั้น โดยคนที่ย้ายตนเป็นเพื่อนกับพี่ชายตนรุ่นเดียวกับสมัคร สุนทรเวช ซึ่งคนที่ย้ายเชื่อว่าตนจะทำจริงเพราะว่าตนเป็นลูกพระยาพหลฯ และเป็นลูกน้องมนูญ (ปัจจุบันคือ มนูญกฤต รูปขจร) ตนอยู่ ม.พัน 4 กับผู้พันมนูญ พันตรีพุทธินาถกล่าวว่า “แค่ 2 อย่างนี้หรือผมต้องปฏิวัติ พี่ผมจะบอกให้ประเทศไทยปฏิวัติกี่ครั้งผมยอมให้ครั้งเดียว 24 มิถุนา 75 ที่พ่อผมกับคณะราษฎรทำ เพราะครั้งนั้นถ้าเกิดไม่สำเร็จผมก็ไม่ได้เกิดเพราะ 7 ชั่วโคตร แต่ครั้งต่อๆ มาเป็นการเปลี่ยนฝูงเหลือบเพื่อสูบเลือดเนื้อประเทศชาติ”
พันตรีพุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา ยังได้ตั้งข้อสังเกตอีกว่า “พวกที่ทำรัฐประหารจะอ้าง “ประ” 3 ตัวเหมือน นะโม ตัสสะฯ 3 จบ นี่ที่ต้องการปฏิวัติเพราะประเทศชาติมันย่ำแย่ นี่คือประตัวแรก ประตัวที่ 2 คือประชาธิปไตยมันสั่นคลอนมันไม่มั่นคงสักทีเลยต้องปฏิวัติ ไอ้ “ประ” ตัวที่ 3 คือประชาชนเดือดร้อนกันทุกย่อมหญ้าเลยต้องปฏิวัติ แต่ปฏิวัติทีไรไอ้ประ 3 ตัวไม่เคยได้อะไรเลย” นอกจากนี้พันตรีพุทธินาถยังมองอีกว่ากองทัพไทยสมัยนั้นนี่เลิศประเสริฐศรีแต่แต่งตัวเชยผ้าฝ้าย ไม่เหมือนทหารสมัยนี้ที่เหรียญตราพราวไปหมด แต่ไม่รู้ไปรบกันที่ไหนมา
นิสัยส่วนตัวพระยาพหลฯ เป็นคนทั้งดุและใจดี
พันตรีพุทธินาถ ยังได้เล่าถึงอุปนิสัยส่วนตัวของพ่อตัวเองคือ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ว่าเป็นคนทั้งดุและใจดี โดยยกตัวอย่างตัวเองโดนให้อ่าน ก.ไก่ ข.ไข่ พระยาพหลฯได้เขียนทิ้งกระดานดำไว้ให้ในตอนเช้า เย็นกลับมาจากทำงานให้ตนอ่านถ้าอ่านได้ก็จะมีการลูบหัว แต่มีอยู่วันหนึ่งตัวที่ให้ในตอนเช้าอ่านได้ แต่ตัวที่เคยอ่านมาแล้วอ่านไม่ได้ จึงโดนลงโทษโดยพู่ระหงเฆี่ยนที่น่องจนเลือดออก พอเลือดออกก็ถูกบังคับไม่ให้ร้องและเอาทิงเจอร์ลาดแผลและสั่งไม่ให้ร้องอีก ในส่วนที่ใจดีพันตรีพุทธินาถ เล่าติดตลกว่า “ที่วังปารุสก์มีทหารยามที่อยู่หน้าตึกสวมหมวกเหล็กแบบทหารฝรั่งเศส ยืนถือปืนพระราม 6 หลับ คุณพ่อโผล่หน้าต่างชั้นบนเห็น เอาเชื่อผูกตะขอห้อยลงไปเกี่ยวหมวกเหล็กดึงขึ้นมา ทหารตกใจว่า ผีหลอก ผีหลอก คุณพ่อหัวเราะ ฮา ฮา ฮ่า ฮาลั่น เพราะฉะนั้นถึงได้บอกว่ามีทั้งดุทั้งใจดี”
พระยาพหลฯสอน “อย่าคิดว่าเป็นลูกใคร แกก็เหมือนคนอื่นเขา”
ในเรื่องคำสอนของทั้งพระยาพหลฯ และท่านผู้หญิงบุญหลงต่อพันตรีพุทธินาถเองนั้นก็ได้เล่าว่าพระยาพหลฯได้สอนกับตนว่า “แกเป็นคน เหมือนกับคนทุกคน แกไม่ใช่ไพร่ไม่ใช่ผู้ดีอะไรทั้งนั้น และแกอย่าคิดว่าไอ้คำว่าไพร่คือคนจน คำว่าผู้ดีคือคนรวย ไม่ใช่ คนที่มีจิตใจดีมีมารยาท มีศีลธรรม มีความโอบอ้อมอารี มีระเบียบวินัย คนเหล่านั้นคือผู้ดี ไม่ว่าจะเป็นขอทานหรือว่าอะไร แต่คนมีเงินเป็นเศรษฐีมีบ้านอยู่ใหญ่โต แต่มีนิสัยไม่ดีเอาเปรียบคนอื่น อะไรต่างๆ เหล่านี้พวกนี้คือไพร่” ซึ่งพันตรีพุทธินาถยังได้กล่าวอีกว่าพระยาพหลฯ ได้สอนว่า “อย่าคิดว่าเป็นลูกใคร แกก็เหมือนคนอื่นเขา” ดังนั้นตนจึงเข้านักเรียนนายสิบได้เพราะเป็นคนเท่ากับคนอื่นเขา
ตอนเข้าโรงเรียนนายสิบโดยครูก็ได้เรียกตนเองคือพันตรีพุทธินาถไปถามว่าเป็นอะไรกับเจ้าคุณพหลเนื่องจากเห็นนามสกุล ตนเองจึงบอกว่าเป็นลูก ครูคนดังกล่าวเลยถามตนว่าทำไมมาเข้าโรงเรียนนายสิบ ตนจึงตอบกลับไปว่าชอบ แต่ที่เข้าโรงเรียนนายร้อยไม่ได้เพราะสอบไม่ได้ แต่ครูคนดังกล่าวก็จะพยายามช่วยเหลือตนแต่ตนปฏิเสธ
“วันที่ 24 มิ.ย.2475 นั้น พระยาพหลฯ อ่านประกาศตรงที่หมุดคณะราษฎรที่มีอยู่ในปัจจุบัน และในตอนนั้นบริเวณดังกล่าวยังเป็นกรวดอยู่ เป็นที่ฝึกทหารของพระนครซึ่งทหารทั้งพระนครทั้งหมดต้องมาฝึกรวมที่ตรงนั้น จึงนำทหารมารวมได้ในวันที่ 24 มิ.ย.” พันตรีพุทธินาถ ยืนยัน
ชี้แจงประจำตระกูลรูปเสือ 3 ตัวในกงจักร
เกี่ยวตราประจำตระกูลของตนที่เป็นรูปเสือ 3 ตัวในกงจักร แสดงถึงตระกูลทหารเสือ 3 รุ่น ซึ่ง ส.พลายน้อย นักเขียนแนวสารคดีชื่อดังและศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2553 ที่เขียนถึงประวัติส่วนตัวของ พระยาพหลฯ และได้จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน พันตรีพุทธินาถ ได้แย้งข้อมูลดังกล่าวว่า “เสือ 3 ตัวนี่ ตัวแรกคุณปู่ ถูกแล้ว (ตามที่ ส.พลายน้อยเขียน) พระยาพหลฯ กิ่ม เสือตัวที่ 2 ไม่ใช่คุณลุงนพ ไม่ใช่พระยาพหลโยธินรามินทรภักดี แต่เป็นคุณย่า คุณย่าเป็นมอญ ของเรียกว่าคุณปู่ผมมีคุณย่า 10 คน คุณย่าผมคุณย่าจับ (พหลโยธิน) เป็นคนที่ 5 เป็นลูกแม่ทัพมอญเก่า อยู่บางไส้ไก่ ใกล้ๆบางขุนเทียน คลองมอญ ที่สมัยก่อนกษัตริย์ให้พวกมอญมาอยู่ที่นี่เพราะฉะนั้นเป็นเสือตัวกลาง และตัวเล็กนั้นใช้เสือพ่อ เพราะฉะนั้นนี่คือชาติเสือ 3 ท่านนี่คือชาติเสือซึ่งต้องไว้ลาย”
ชวนเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ฯพณฯ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา
ปัจจุบันมีอนุสาวรีย์ พระยาพหลฯ ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ และมีพิพิธภัณฑ์ โดยส่วนของพิพิธภัณฑ์นั้นได้ถูกจัดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2540 รวมถึงพัฒนาตัวอนุสาวรีย์ที่มีอยู่เดิม โดยพลเอกไพบูลย์ กาญจนพิบูลย์ ซึ่ง พันตรีพุทธินาถ เล่าว่า พลเอกไพบูลย์ ได้พยายามรวบรวมของทุกอย่างของพระยาพหลฯ จากตนเพื่อจะตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ ซึ่งตนคิดว่าตนเองไม่มีปัญญารักษาของเหล่านั้นก็เลยมอบให้ไป จึงได้มีการสร้างพิพิธภัณฑ์ ฯพณฯ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งมีอยู่แห่งเดียวที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี
วิเคราะห์เหตุที่วันที่ 24 มิ.ย.2475 ทุกอย่างสงบเงียบไม่มีการนองเลือด
พันตรีพุทธินาถได้วิเคราะห์เหตุที่วันที่ 24 มิ.ย.2475 ทุกอย่างสงบเงียบไม่มีการนองเลือดเพราะว่า ผู้ใหญ่ถูกอัญเชิญไปไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม รวมทั้งกรมพระนครสวรรค์วรพินิตซึ่งมีอำนาจล้นฟ้าขณะนั้น ก็อยู่ในกำมือของคณะราษฎรมีพระองค์ ทั้งๆ ที่ขณะนั้นประตูชนะไม่มีเลย และพระยาพหลฯ เป็นคนเข้าเฝ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ เป็นคนสุดท้าย และโดนกรมพระนครสวรรค์ฯ ต่อว่าว่าอกตัญญูต่อราชวงศ์ทั้งที่พ่อและพี่รวมถึงตัวพระยาพหลฯราชวงศ์เป็นผู้เลี้ยงมา ขณะที่พระยาพหลฯได้กล่าวกลับไปว่า “ข้าราชการ 78 คนถูกไล่ออกเพราะอะไร” เพราะไม่มีเงินเดือนจะจ่ายตอนนั้นรัฐบาลไทยไม่มีเงินเหลือเลยต้องปลด ในขณะที่กรมพระนครสวรรค์ฯ กลับตำหนิพระยาพหลฯ และคณะราษฎรว่าไม่ควรต่อว่าราชวงศ์มากมาย ซึ่งพันตรีพุทธินาถบอกว่าพระยาพหลฯ ตอบกลับไปว่า “ในการรบกันทุกฝ่ายก็หวังเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะฉะนั้นคณะราษฎรก็ต้องทำเช่นเดียวกัน แต่เสร็จเมื่อไหร่ก็จะมีการขอขมา”
โดยพันตรีพุทธินาถยังย้ำว่าฝ่ายคณะราษฎรไม่ได้ของนิรโทษกรรมเพราะเป็นฝ่ายชนะ นำกษัตริย์มาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่เป็นการขอขมาแทน เลยมีการนำคณะไปขอขมา พันตรีพุทธินาถยังเล่าว่ากรมพระนครสวรรค์ฯ ได้ถามพระยาพหลฯ ว่าจะเอาแบบฝรั่งเศสหรือเปล่าซึ่งพระยาพหลฯ ตอบกลับว่า “ไม่มีความคิดเช่นนั้น ต้องการให้ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เพราะว่าถ้าเผื่อพระมหากษัตริย์รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวมันก็มีโอกาสผิดพลาดเยอะแยะอย่างที่ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะทำให้ประเทศชาติเจริญต่อไปได้” โดยพันตรีพุทธินาถยังได้กล่าวอีกว่าพระยาพหลฯ ได้เคยขอร้องกับคณะราษฎรว่าถ้าเอาแบบฝรั่งเศสจะไม่ขอร่วมด้วย
หลังจากนั้นพันตรีพุทธินาถได้เล่าว่าพระยาพหลฯ ได้ชี้แจงกับกรมพระนครสวรรค์ฯ ว่าจะมีหนังสือกราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จกลับมาเป็นประมุขของประเทศชาติภายใต้รัฐธรรมนูญโดยให้กรมพระนครสวรรค์ฯ ลงนามรับรองหนังสือนี้ เพราะพระปกเกล้าอยู่ที่วังไกลกังวลและทราบจากโทรเลขว่ามีการปฏิวัติและเตรียมจะไปปีนัง พอหลังจากกรมพระนครสวรรค์ฯ ลงนามรับรองก็ให้หลวงศุภชลาศัยนำเรือสุโขทัยไปที่วังไกลกังวล ซึ่งหลวงศุภชลาศัยก็ให้เรือจอดห่างจากชายฝังโดยให้ปืนเรือทุกกระบอกพร้อมที่จะระดมยิงวังไกลกังวล แล้วก็มีการสั่งไว้ว่าหากไม่เห็นสัญญาณตามเวลานัดหมายให้ระดมยิงวงไกลกังวลโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของตัวหลวงศุภชลาศัย แล้วจึงถือหนังสือไปกับเรือบดถึงชายฝั่งทหารผู้บัญชาการฝ่ายวังที่อยู่ตรงนั้นให้ทหารจับตัวหลวงศุภชลาศัยโดยหลวงศุภชลาศัยได้ชี้แจงว่ามาในนามทูตฝ่ายคณะราษฎรเพื่อนำหนังสือทูลเกล้าถวาย โดยทหารคนดังกล่าวไม่ยอม หลวงศุภชลาศัยจึงให้ทหารคนดังกล่าวส่องกล้องเพื่อมองที่เรือที่หันปืนใหญ่มาที่วังโดยขู่ด้วยว่าปืนที่วังไม่สามารถยิงถึงเรือในขณะที่ปืนจากเรือสามารถยิงมาถึงที่นี้ได้ จึงยอมให้หลวงศุภชลาศัยเข้าเฝ้า ร.7 และได้เห็นลายมือของกรมพระนครสวรรค์ฯ ที่ได้ลงนามมากับหนังสือดังกล่าว ทำให้ ร.7 ยอมกลับไปกับหลวงศุภชลาศัยโดยทีแรกจะให้เสร็จกลับทางเรือ แต่ ร.7 ไม่ไปเรียกร้องให้ทางคณะราษฎรจัดรถไฟมารับ หลวงศุภชลาศัยจึงโทรเลขกลับมาที่กรุงเทพ พระยาพหลฯ ก็มีหนังสือกลับมาว่าจะส่งรถไฟพระที่นั่งมาที่สถานีหัวหินจึงยอมมา ไม่ได้มาทางเรือ
แนะเทคนิคสยบรถถัง หากมีการรัฐประหาร โดยไม่ทำลายเพราะล้วนมาจากกระเป๋าประชาชน
นอกจากนี้ พันตรีพุทธินาถ ในฐานะผู้เชียวชาญด้านรถถังยังได้แนะนำวิธีในการจัดการกับรถถังหากมีการวิ่งมาในเมืองเพื่อการรัฐประหารว่า “รถถังคือหมาผู้ซื่อสัตย์ของผม เขาคือเพื่อนคู่ชีวิตในสนามรบ เพราะฉะนั้นผมถึงต้อรู้จักเขาเป็นอย่างดี ผมรักเขาเขาจึงรักผม ผมก็เลยได้เลื่อนยศขึ้นมาเพราะเขา จริงๆ แล้วเขาไม่มีวิญญาณ เขาเป็นวัสดุชนิดหนึ่ง แต่เขาเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ถ้าฝ่ายใดไปทำลายเขาวันหนึ่งพอเหตุการณ์สงบทุกคนก็ควักกระเป๋าไปซื้อเขามาใหม่ เพราะฉะนั้นมันมีจุดอ่อนมันไม่ใช่อาวุธที่ใช้ในเมือง และเด็กพวกนั้นขับรถถังออกมาปฏิวัติมันเท่ห์ มีฝ่ายเดียวที่ยึดฝ่ายต่อสู่ไม่มี ผมหวงทรัพย์สมบัติของชาติ และเสียดายชีวิตพวกเด็กที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่กับชีวิตของพวกเราทั้งหมด เพราะฉะนั้นข้างๆ อย่าขึ้นเด็ดขาด ล้อหรือสายพาน หรือที่ชาวบ้านเรียกตีนตะขาบมันจะทับเท้าแหลกเลย ข้างหน้ามันมีปืนและปืนมันหมุนได้รอบตัว พอมันไปอยู่ข้างหน้าก็ขึ้นข้างท้าย สีสเปรย์กระป๋องเดียว ไม่ต้องไปใช้อาวุธอะไรอย่าไปเผาอย่าไปอะไร ฉีดที่เป็นกระจกทั้งหมดนั่นคือตาของคนที่อยู่ในนั้น อะไรเป็นกระจกฉีดให้หมด พอตาบอดมันก็ไปไหนไม่ได้ แล้วเคาะๆๆออกมาๆไอ้หนู นี่พ่อแม่พี่น้องแกทั้งนั้น แกจะฆ่าเขาได้หรอ แล้วก็เขกกะบานสักที เตะตูดสักที ไปกลับบ้าน”

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar