วันนี้ ผมได้รับอีเมล์จากเฟซบุ๊ค ดังมีข้อความ ในคำแปลภาษาไทย ดังนี้
(ภาพประกอบคือต้นฉบับภาษาอังกฤษ - อนึ่งผมขออภัยล่วงหน้า หากสะกดชื่อ-นามสกุลภาษาไทยของผู้พิพากษาทั้งสองท่านคลาดเคลื่อน ผมเสิร์ชจากอินเตอร์เน็ต ไม่พบชื่อ-นามสกุลในภาษาไทยของผู้พิพากษา Tassanee Leelaporn)
...............
เฟซบุ๊ค
เราติดต่อคุณมานี้ เพราะว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ส่งหมายศาลซึ่งออกโดยผู้พิพากษาทัศนีย์ ลีลาพร และผู้พิพากษาสมยศ กอไพศาล ศาลอาญาแห่งประเทศไทย ระบุว่าโพสต์บนเฟซบุ๊คต่อไปนี้ของคุณ ละเมิดมาตรา 14(3) แห่งพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (2007)
https://www.facebook.com/somsakjeam/videos/1283095981743678/
เมื่อบรรดารัฐบาลเชื่อว่า บางอย่างบนอินเตอร์เน็ตละเมิดกฎหมายของประเทศของเขา พวกเขาอาจจะติดต่อกับบริษัทเช่นเฟซบุ๊ค และขอให้เราจำกัดการเข้าถึงเนื้อหานั้น. เราได้พิจารณาทบทวนคำขอของรัฐบาลเหล่านั้น ตามระเบียบของเราและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง. ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่นี่
https://www.facebook.com/help/1601435423440616
ถ้าคุณมีปัญหาอะไรก็ตามเกี่ยวกับคำขอนี้ กรุณาติดต่อกระทรวงดิจิทัล หรือผู้พิพากษาทัศนีย์ ลีลาพร และผู้พิพากษาสมยศ กอไพศาล ศาลอาญาแห่งประเทศไทย โดยตรง.
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
120 หมู่ 3, ชั้น 6-9 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ,
ทุ่งสองห้อง, เขตหลักสี่ กรุงเทพ 10210
ศาลอาญาแห่งประเทศไทย
ถนนรัชดาภิเษก, แขวงจอมพล,
เขตจตุจักร, กรุงเทพ 10900
ขอบคุณ
ทิม
เฟซบุ๊ค
........................
ตามที่ผมเข้าใจ (แม้ในจดหมายถึงผมไม่ได้ระบุไว้) เฟซบุ๊คคงจะทำการ "บล็อก" กระทู้ดังกล่าวเฉพาะสำหรับคนในเมืองไทย (เรียกว่าเป็นการบล็อกเฉพาะบางภูมิประเทศ หรือ geoblock) เพราะรัฐบาลไทยได้มีหมายศาลมาอ้างว่า กระทู้นั้นผิดกฎหมาย (มาตรา 14(3) ใน พรบ.คอมพิวเตอร์ คือ "นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา") บริษัทเฟซบุ๊คมีสำนักงานในประเทศไทย จึงจำเป็นต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย เรื่องนี้ผมเข้าใจและไม่มีปัญหาอะไรเป็นพิเศษ ผมมั่นใจว่า ถ้าคนในเมืองไทยต้องการจะดูกระทู้ดังกล่าว ก็มีวิธีทำได้ไม่ยาก
กระทู้ดังกล่าว คือกระทู้ คลิปวิดีโอ "เดินกินไอติมกับคุณก้อย" ซึ่งขณะที่เขียนนี้ มียอดวิวประมาณ 455,000 (สี่แสนห้าหมื่นห้าพัน)
....................
ประเด็นที่ผมเห็นว่าน่าสนใจเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้จากจดหมายจากเฟซบุ๊คนี้คือ
เท่ากับยืนยันโดยปริยายว่า ก่อนหน้านี้ ที่มีประกาศของกระทรวงดิจิทัลฯ "แบน" ผม, อ.ปวิน Pavin Chachavalpongpun และคุณแอนดรู Andrew MacGregor Marshall โดยตอนต้นของประกาศ ได้อ้างอย่างลอยๆและอย่างครอบจักรวาลว่า "ตามที่ศาลอาญา ได้มีคำสั่งให้ระงับการเผยแพร่ข้อมูล..." (ดูกระทู้ดังกล่าวของผมที่นี่ https://goo.gl/eqDZvl )
ทั้งผมและนักกฎหมายหลายคนได้ยืนยันว่า การอ้าง "ศาลอาญา ได้มีคำสั่ง" แบบลอยๆในลักษณะนี้ เป็นการอ้างที่ไม่ชอบมาพากล (พูดแบบภาษาบ้านๆคือ "มั่วนิ่ม" อ้างมา) เพราะหากมีคำสั่งศาลในลักษณะแบนเนื้อหาทางเฟซบุ๊ค จะต้องทำเป็นกรณีๆไป ไม่สามารถมีคำสั่งศาลในลักษณะครอบคลุมทั้งหมดแบบนั้นได้ (คือในลักษณะจะแบนทุกอย่างที่ผม แอนดรู หรือ อ.ปวิน เขียนทางเฟซบุ๊ค)
การที่รัฐบาลไทย มีหมายศาล ไปแจ้งยังเฟซบุ๊คอย่างเจาะจงเฉพาะกระทู้หนึ่งที่ผมโพสต์ เป็นการยืนยันว่า ถ้าจะมีหมายศาล จะต้องมีเป็นกรณีๆ
ยิ่งกว่านั้น ถ้าดูรายละเอียดของกรณีที่รัฐบาลไทยไปขอหมายศาลมาส่งให้เฟซบุ๊ค ยิ่งยืนยันว่า ตอนที่กระทรวงดิจิทัลฯมี "ประะกาศ" แบนผม, อ.ปวิน, คุณแอนดรู เป็นการ "มั่วนิ่ม" อ้าง "ศาลอาญา"
- "ประกาศ" กระทรวงดิจิทัล ได้รับการเผยแพร่ในช่วงกลางวัน วันที่ 12 เมษายน
ถ้าดูกระทู้ที่ผมโพสต์เรื่อง "ประกาศ" นั้น ผมโพสต์เมื่อวันนั้น เวลา 14:55 น.ของยุโรป หรือ 19:55 น. เวลาไทย (คือราวสองทุ่มไทย)
- ในขณะที่กระทู้คลิป "กินไอติม" ผมโพสต์วันที่ 12 เมษายน เวลา 19:13 น.ของยุโรป หรือเลยเที่ยงคืนเวลาไทยไปแล้ว คือเป็นเวลา 00:13 น. ของวันที่ 13 เมษายน เวลาไทยแล้ว
- "หมายศาล" ที่กระทรวงดิจิทัลฯ ไปขอผู้พิพากษามา มีขึ้นอย่างเร็วก็วันที่ 13 เมษายน (อาจจะหลังด้วยซ้ำ เพราะเป็นสงกรานต์) คือไม่ว่าอย่างไร แสดงว่า ตอนที่มี "ประกาศ" ของกระทรวงดิจิทัลฯ ลงวันที่ 12 เมษายน ที่อ้าง "ศาลอาญา" นั้น นอกจากว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะมีคำสั่งศาลในลักษณะแบนแบบครอบคลุมหมดอย่างที่ประกาศพยายามหลอกให้ประชาชนเข้าใจ แม้แต่กระทู้เฉพาะที่มีคำสั่งศาลที่ส่งไปยังเฟซบุ๊คนี้ (คลิป "กินไอติม") ก็ทำหลังจากมีประกาศกระทรวงแล้ว ค่อยไปขอคำสั่งศาล มา "แบน" เฉพาะกรณี
..............
ความจริง มีบางคนเสนอผมว่า ถ้าผมอยากจะแกล้งให้รัฐบาลไทย และกระทรวงดิจิทัลฯ ยุ่งยาก ผมก็เพียงโพสต์คลิปนั้นใหม่อีกในวันนี้ ซึ่งถ้ากระทรวงดิจิทัลฯ ยังอยากจะให้เฟซบุ๊คบล็อก ก็ต้องไปขอหมายศาลมาเป็นการเฉพาะสำหรับกระทู้ที่โพสต์ใหม่
แต่ผมนึกๆแล้ว ไม่ทำดีกว่า เพราะคิดว่า ไม่น่าจะไปทำให้เจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งศาล ต้องเสียเวลาเสียเงินภาษีราษฎร ในการดำเนินเรื่องไร้สาระแบบนี้อีก อย่างที่เขียนข้างต้น ผมคิดว่า ถ้าป่านนี้ ใครในเมืองไทยยังไม่เคยดูคลิปและกระทู้นั้น แล้วอยากดู ก็ทำได้ไม่ยาก
.................
ส่วนประเด็นว่า ทำไม คสช. จึงคิดว่า กระทู้คลิป "กินไอติมกับคุณก้อย" เป็นภัย "ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร" ผมว่าผู้อ่านคงตอบกันเองได้ไม่ยาก
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar