söndag 26 mars 2023

ใบตองแห้ง: เลือกเชิงยุทธศาสตร์ / ใบตองแห้ง: ก้าวไกลเหมือน ปชป.?

2023-03-25 13:10

พรรคเพื่อไทยเปิดตัว 400 ผู้สมัคร ส.ส. อย่างยิ่งใหญ่ ประกาศ “แลนด์สไลด์” 310 เสียง พร้อมนโยบาย “เติมเงิน” รายได้ขั้นต่ำครอบครัวละ 20,000 บาท “ฟาด” ยิ่งกว่าพรรคไหน

ทำไมประกาศ 310 เสียง ก็เพื่อสยบเสียงวิเคราะห์คาดการณ์ ว่าจะร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ อาศัย “ป้อม เกาะโต๊ะ” ก้าวข้าม 250 ส.ว. ซึ่งทำให้มวลชนหวั่นไหวไม่วางใจ

ปรากฏว่าได้ผล หลังประกาศไม่กี่วัน ป้อมเปิดบ้านป่ารอยต่อ กินข้าวกับอนุทิน ศักดิ์สยาม แม้ปากบอกไม่มีอะไร แต่ก็น่าประหวั่นใจ ป้อมมีคอนเน็กชั่นอำนาจ ขณะที่พรรคบุรีรัมย์ถนัดวิชาใต้ดินใต้น้ำ ถ้าสองพรรครวมกันได้ +250 ส.ว. การเมืองไทยก็จะเข้าสู่วงจรที่ดูไม่จืด

เพื่อไทยแลนด์สไลด์ 310 ส.ส. 17.5 ล้านเสียง ยังทำให้เพื่อไทยกลับมาเป็นเป้าเกลียดกลัว ของฝ่ายอนุรักษนิยม ซึ่งยังคลั่งไม่หาย ทั้งที่ไม่ได้บริหารประเทศมา 9 ปี “เกลียดนักการเมืองเลว” แต่ยอมรับพรรคการเมืองอื่นได้ ทั้งที่มองจากดาวอังคารก็รู้ว่าทุจริตฉ้อฉลเต็มไปหมด

ในขณะเดียวกัน การเรียกร้องให้เลือกอย่างมียุทธศาสตร์ “เลือกเพื่อไทยพรรคเดียว กาเพื่อไทยทั้งสองใบ” ก็กระทบพรรคฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล และ “ติ่งส้ม”

เพราะต้องยอมรับว่า สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว 4 ปีหลังกำเนิดพรรคอนาคตใหม่ เราไม่ได้อยู่ในยุค “ประชาธิปไตยพรรคเดียว” อีกแล้ว ก้าวไกลกลายเป็นพรรคของคนชั้นกลางในเมืองรุ่นใหม่ ฝ่ายเสรีประชาธิปไตย

ซึ่งใน 4 ปีที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลและคนรุ่นใหม่ เป็นกองหน้าชู 3 นิ้วท้ารบอำนาจอนุรักษนิยม ขณะที่พรรคเพื่อไทยเป็นเพียงกองหนุนเท่านั้น

แม้แน่ละเป็นธรรมดา พรรคการเมืองแม้ฝ่ายเดียวกันลงสนามเลือกตั้ง ไม่มีใครหรอกบอกว่า เว้นที่ให้เพื่อนบ้าง ก้าวไกลก็ประกาศ “แลนด์สไลด์” ใน กทม. ไม่ไว้เพื่อไทยเหมือนกัน ตั้งเป้าสู้ให้ถึงฎีกาทั้ง 400 เขต ไม่สนว่าจะ “ตัดคะแนน” เพื่อไทยทำให้แพ้พรรคอื่นทั้งคู่

ในทางยุทธศาสตร์ อันที่จริง “ฝ่ายประชาธิปไตย” ควรชั่งน้ำหนัก เลือก ส.ส.ที่มีโอกาสมากกว่าในเขตเลือกตั้งนั้น แล้วบัตรใบที่สองค่อยเลือกพรรคที่ตัวเองรัก แต่เอาเข้าจริงก็ไม่มีใครยอมรับหรอกว่าอีกพรรคมีโอกาสมากกว่า คนที่ใจกว้างจะเลือกทางยุทธศาสตร์ก็ต้องชั่งน้ำหนักเอง

ประเด็นสำคัญคือแม้ต้องแข่งกันเอง แต่ก็ควรจะประกาศ “แนวร่วมประชาธิปไตย” ว่าถ้าแลนด์สไลด์หรือรวมได้เกินครึ่งจะเจรจาตั้งรัฐบาลด้วยกันก่อน (ไม่จำเป็นต้องผูกมัด เพราะเจรจาแล้วอาจไม่ลงตัวก็ได้ แต่เลือกคุยฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันก่อน)

ซึ่งไม่ยักมี ทั้งที่การเลือกตั้งครั้งนี้ควรจะเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับรัฐประหารสืบทอดอำนาจและพรรคที่สนับสนุน

ซึ่งพอไม่มี มันจึงเกิดกระแสวิเคราะห์วิแคะ แบบจะเกี้ยเซี้ยจับมือป้อมยืม 250 ส.ว. ฯลฯ สื่อบางเจ้าเพ้อกระทั่งว่าเพื่อไทยจะให้ป้อมเป็นนายกฯ

ในขณะเดียวกัน ความต้องการแลนด์สไลด์ ชนะให้ขาด ก็ทำให้เพื่อไทย “ดูดกลับ” ส.ส.บ้านใหญ่ อย่างชลบุรี โคราช สุริยะ สมศักดิ์ “รัฐธรรมนูญนี้ร่างมาเพื่อพวกเรา”

อันที่จริงมันเป็นวิถีประชาธิปไตย ใครก็อยากอยู่พรรคอันดับหนึ่ง พรรครัฐบาลเสื่อม “บ้านใหญ่” วัดคะแนนนิยมแล้วอยู่พรรคเดิมหืดขึ้นคอ ย้ายมาเพื่อไทยดีกว่า มีฐานเสื้อแดงฐานมวลชนประชาธิปไตยทุกเขต

แต่มันก็ฉุดความชอบธรรมทางอุดมการณ์ลงไป โดยเฉพาะบางเขตเอาอดีต กปปส. ไทยภักดี มาให้คนเสื้อแดงเลือก

ปัญหาลึกลงไปของพรรคเพื่อไทยคือ คนในฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันเอง ไม่วางใจว่า เมื่อพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งแล้วจะไปทำ “ดีล” เจรจาต่อรองกับเครือข่ายอำนาจอนุรักษนิยมอย่างไร

เข้าใจตรงกันก่อน “ดีล” ไม่ใช่สิ่งผิด “ดีล” มีความจำเป็น ชนะเลือกตั้งแต่ไม่มีปืนไม่มีกฎหมาย ต่อให้พรรคก้าวไกลแลนด์สไลด์ ก็ต้องทำ “ดีล” กับผู้มีอำนาจ

สำคัญว่าดีลอย่างไร แลกอะไร ตรงไหนจะหยวนยอม ตรงไหนจะยืนหยัดในหลักการ และแข็งแกร่งพอไหมที่จะยืนหยัด เช่นแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ (แก้ 112 อึกอักมาตั้งนานเพิ่งพูดชัดขึ้น)

ซึ่งสิ่งที่คนไม่วางใจ ก็อย่างป้ายพาเหรดนิสิตเกษตร “ตั้งเป้าแลนด์สไลด์เพื่อคนแดนไกลได้กลับบ้าน?” หรืออีกด้าน นักการเมืองในพรรค ทั้งบ้านใหญ่เก่าบ้านใหญ่ใหม่ สนใจหลักการประชาธิปไตยแค่ไหนหรือขอแค่ได้เป็นรัฐมนตรี

ส่วนตัวเชื่อว่าถ้าเพื่อไทยเป็นรัฐบาล จะต้องหาทางนิรโทษกรรมม็อบคนรุ่นใหม่ แต่ก็จะถูกตั้งแง่นิรโทษทักษิณด้วยไหม ฯลฯ ขณะที่คนฝ่ายเดียวกันก็จะจับจ้องว่า เพื่อไทยกล้ารื้อล้างโครงสร้างอำนาจอนุรักษ์แค่ไหน

ต้องเข้าใจว่าเพื่อไทยนั้นเป็นพรรคประชาธิปไตยกินได้ จึงชนะทุกครั้ง แต่เพราะเหตุนั้นเพื่อไทยจึงเป็นพรรค Mass ไม่สามารถแหลมคมทางการเมือง ต่างจากก้าวไกลที่เป็นกองหน้าทะลุทะลวง แต่ก็เป็นองค์ประกอบที่ต้องไปด้วยกันอย่างขาดไม่ได้

ชนะเลือกตั้งต้องเพื่อไทย ยกระดับเป้าหมายคือก้าวไกล เพื่อไทยต้องได้เกินครึ่งเพื่อเป็นรัฐบาล ก้าวไกลต้องได้ 50 บวกลบ เพื่อเป็นพลังรุกกดดัน นั่นคือยุทธศาสตร์ประชาธิปไตย

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_7565099

.....................................................................

ใบตองแห้ง

“วันนี้ผมงงมาก ธนาธรออกมาโจมตีเพื่อไทย ที่คนบอกว่าก้าวไกลเหมือนประชาธิปัตย์ ผมว่าก็ชักเหมือนขึ้นทุกวัน”

คำพูดของโทนี่ วู้ดซัม ใน Care Talk ตอกย้ำความร้าวฉานระหว่าง 2 พรรค “ฝ่ายประชาธิปไตย” โทนี่ไม่ใช่คนแรกที่ตั้ง “ข้อหาร้ายแรง” นี้ แต่เป็นครั้งแรกที่ยกขึ้นมาพูดเป็นทางการ

ขออภัยพรรคประชาธิปัตย์ การตั้งข้อกังขาว่า ก้าวไกลเหมือนประชาธิปัตย์ขึ้นทุกวัน เป็นข้อหาร้ายแรงขยะแขยงยอมรับไม่ได้

ขนาดอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พูดเปรียบเปรยในทางชื่นชม (เพราะไอติมก็อยู่ก้าวไกล) วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ยังสะดุ้งโหยง เหมือนโดนแมลงสาบเกาะไหล่

ก้าวไกลไม่ใช่ประชาธิปัตย์ ไม่เคยบอยคอตเลือกตั้ง ไม่เคยหนุนรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ มีแต่ต่อต้านสืบทอดอำนาจสุดจิตสุดใจ ไม่ใช่พรรคอนุรักษนิยมตั้งแต่ก่อตั้ง คลอดออกมาก็ “ตะโกนในโรงหนัง ตรงกันข้ามชูอุดมการณ์ Liberal จนถูกหาว่าเป็นหัวโจกชังชาติ ยุบพรรคอนาคตใหม่ก็เกิดม็อบสามนิ้วทะลุเพดาน เลือกตั้งครั้งนี้ก็ชูปฏิรูปโครงสร้าง

งั้นทำไมก้าวไกลโดนตั้งข้อหาร้ายแรง “เหมือนประชาธิปัตย์ขึ้นทุกวัน” ถ้ามองจากฝั่งแบกเพื่อไทยคือไม่พอใจ “เอาดีใส่ตัว” ยกตนข่ม ก้าวหน้ากว่า กล้าหาญกว่า ทะลุทะลวงกว่า กล้าเสนอแก้ 112 ขณะเดียวกันก็หาเสียงแบบ “คนดี” ไม่ใช้เงินเยอะ ขอบริจาค ไม่พึ่งหัวคะแนน ไม่ดูดบ้านใหญ่

ก็อย่างที่ธนาธรวิพากษ์พรรคต่างๆ ดูดบ้านใหญ่ ซึ่งอันที่จริงพูดในหลักการ ไม่เฉพาะเพื่อไทย แต่ก็โดนเต็มๆ ในวันที่สมศักดิ์ สุริยะ “กลับบ้าน” ทั้งที่สี่ปีก่อน “รัฐธรรมนูญนี้ออกแบบมาเพื่อเรา” วันนี้ “ฟ้าเปิดแล้ว”

พูดในภาพรวม ทำใจเถอะ ทั้งสองพรรคแตกต่างตั้งแต่ต้น ยิ่งเข้าสู่เลือกตั้ง ยิ่งต้องช่วงชิงฐานเสียงกัน จะละเว้นได้อย่างไร เพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคใหญ่ได้เปรียบในระบบเลือกตั้งบัตรสองใบหารร้อย เปิดปฏิบัติการจิตวิทยา “แลนด์สไลด์“ เรียกร้องให้เลือกเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อไทยพรรคเดียวเท่านั้น “ไม่เลือกเพื่อไทยทั้งสองใบได้ประยุทธ์กลับมา”

ในแง่ปฏิบัติการจิตวิทยา มันคือ “ล้อมปราบ” พรรคฝ่ายค้านด้วยกัน ซึ่งในสมรภูมิเลือกตั้งไม่ผิดหรอก แต่อีกฝ่ายก็ต้องตีโต้ฝ่าวงล้อม เมื่อเพื่อไทยมีจุดแข็งเรื่องปากท้อง ก้าวไกลก็ตีจุดอ่อนคือความไม่วางใจว่าเมื่อได้อำนาจไปจากประชาชนแล้ว จะใช้อำนาจนั้นเจรจาต่อรอง “ทำดีล” กับอำนาจอนุรักษ์ และจัดสรรแบ่งปันในกลุ่มนักการเมือง อย่างไร

ซึ่งอันที่จริง ยุทธศาสตร์ประชาธิปไตยต้องการให้เพื่อไทยชนะเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล แล้วหวังให้ก้าวไกลได้ ส.ส.อย่างน้อยใกล้เคียงเดิม เพื่อกดดันอำนาจอนุรักษ์และ “จี้ตูด” เพื่อไทย

แต่การเลือกตั้งไม่มีใครกำหนดเจตจำนงประชาชนให้ออกมาตามคาดได้ เหมือนพรรคลุงตกปลาในบ่อจืด อาจมีปลาตายลอยทะเลภาคใต้เป็นเบือ ไม่ว่าฝั่งไหน

อย่างไรก็ตาม แม้ไม่อยู่ในช่วงเลือกตั้ง เพื่อไทยก้าวไกลก็อยู่บนวิถีต่างกันชัดเจน พูดง่ายๆ สั้นๆ เพื่อไทยเป็นพรรค “ประชาธิปไตยกินได้” ของคนชนบทคนเหนือคนอีสาน ก้าวไกลเป็นพรรคของคนชั้นกลางในเมืองฝั่งเสรีประชาธิปไตย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เติบโตในโลกออนไลน์

พูดอีกอย่างเป็น “สองนครา” ในฝ่ายประชาธิปไตย ทำให้ “ฝั่งแบกเพื่อไทย” มองอย่างไม่วางใจว่าก้าวไกล “ติ่งส้ม” จะกลายเป็น “สลิ่มเฟสสอง”

มองอย่างไม่ไว้ใจคนชั้นกลางในเมืองเกินไปไหม?

ธรรมชาติของคนชั้นกลางในเมือง หรือจะเรียกว่าจริต ไม่ใช่สิ่งผิดที่จะรังเกียจการซื้อเสียง หรือการเมืองบ้านใหญ่ ระบบอุปถัมภ์ ทุนท้องถิ่น อยากเห็น ส.ส. เป็นคนชั้นกลางระดับเดียวกัน คนมีการศึกษา เข้าไปทำงานในสภาแบบประชาธิปไตยตะวันตก มากกว่าอาเสี่ยอาเฮียผู้รับเหมาเดินงานบวชงานศพ

ผิดไหม ถ้าอยากเห็นอย่างนี้ ถามจริง ผิดด้วยเหรอะ ที่เราอยากเห็นคนธรรมดาชนะเลือกตั้ง กระทั่งระดมทุนบริจาคหวังเอาชนะ “บ้านใหญ่”

“ประชาธิปไตยสุจริต” บางพรรคอาจขี้หก แต่มันก็ควรจะเป็นอุดมคติ แม้ต้องใช้เวลา

ประเด็นสำคัญคือคนชั้นกลางในเมืองต้องเลิกเชื่อรัฐประหาร เลิกเชื่อรัฐราชการองค์กรศักด์สิทธิ์ “คนดีย์” ปราบนักการเมือง ซึ่งคนรุ่นใหม่พ้นหล่มความคิดอนุรักษ์เหล่านี้ไปแล้ว เหลือแค่ต้องทำความเข้าใจ ต้องอดทนและให้เวลา เรียนรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงต้องเอาชนะทีละขั้น

พูดกันตรงๆ ถ้าเปรียบเทียบวิถีเพื่อไทย คือเอาชนะด้วย “ประชาธิปไตยกินได้” ขายความเชื่อมั่นว่าเพื่อไทยเป็นรัฐบาลปากท้องดีขึ้น แต่เพื่อเอาชนะ เพื่อไทยก็ยอมรับว่า “ปัญหาประชาธิปไตยเราไม่ได้ทิ้ง แต่ให้น้ำหนักต่างกัน”

เพื่อไทยจึงใช้ทั้งนโยบายดึงคนวงกว้าง ใช้ฐานเสื้อแดงที่มีอุดมการณ์ ใช้นักการเมืองที่กล้าต่อสู้ ผสมกับนักการเมืองบ้านใหญ่ หรือพวกที่กวาดดูดมา เพื่อเอาชนะ ซึ่งถ้าชนะเป็นรัฐบาล อย่างน้อยก็จะมีหลักประกันสิทธิเสรีภาพมากขึ้น มีโอกาสแก้รัฐธรรมนูญ

ไม่ทำแบบเพื่อไทยก็ไม่ชนะ เพียงแต่ชนะแล้วก็ทำอะไรไม่ได้มาก ข้อจำกัดของเพื่อไทยทั้งชนักปักโทนี่ทั้งคุณภาพนักการเมือง ก็เป็นที่วิตกว่าจะบั่นทอนอำนาจต่อรอง การมีสองพรรค หรือ 3-4 พรรคในฝ่ายประชาธิปไตย แม้แข่งกันเองก็แยกพลังกดดันอำนาจ

แบบพลังก้อนใหญ่อยู่ที่เพื่อไทย พลังแหลมคมอยู่ที่ก้าวไกล พลังดับเครื่องชนอยู่ที่เสรีรวมไทย

ในขณะเดียวกันก็แยกกัน “หาตลาด” เพราะแม้ก้าวไกลแย่งฐานมวลชนเพื่อไทยบางส่วน แต่ก็แย่งคนชั้นกลางในเมืองมาจากประชาธิปัตย์

ไม่แน่นะ คนกลุ่มหลังอาจมากกว่าด้วยซ้ำ

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_7577674

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar