onsdag 12 november 2014

ข่าว ผู้นำไทยร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน - อินเดีย ครั้งที่12 ...ที่ประเทศพม่า...

วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 เวลา 19:06 น.
 ข่าวสดออนไลน์


นายกฯประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดียครั้งที่12


 

 

เมื่อเวลา 13.45 น.วันที่ 12 พ.ย. ตามเวลาท้องถิ่น ที่ห้อง Sapphire Hall ศูนย์การประชุมนานาชาติเมียนมาร์ (MICC 1) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 12 ซึ่งเป็นการประชุมระดับผู้นำประจำปี ที่จัดขึ้นในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนในช่วงปลายปี มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความคืบหน้าของความร่วมมือ กำหนดทิศทางในอนาคต และสนับสนุนบทบาทของอินเดียในภูมิภาค โดยในครั้งนี้ นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐอินเดีย ได้เข้าร่วมประชุมเป็นครั้งแรก ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งใหม่ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯได้กล่าวต้อนรับในโอกาสนี้ด้วย

 นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดียที่ยืนหยัดมาเป็นเวลานานกว่า 2 ทศวรรษ และได้พัฒนาเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ และยินดีที่อินเดียคงความสำคัญต่อนโยบายมุ่งตะวันออกที่ช่วยเกื้อหนุนพัฒนาการนี้

 โดยนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงประเด็นความร่วมมือที่เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ว่าประการแรก คือการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจ การที่อาเซียนและอินเดียลงนามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย ด้านการค้าบริการและการลงทุน เมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ทั้งสองฝ่ายมีโอกาสที่จะเพิ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน โดยขอให้ทั้งสองฝ่ายใช้ประโยชน์จากความตกลงนี้อย่างเต็มที่เพื่อให้ร่วมกันบรรลุเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็น 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2558


 นอกจากนี้ ความตกลงนี้เป็นพื้นฐานสำคัญของการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP การประชุมครั้งต่อไปที่อินเดียจะเป็นเจ้าภาพ เรามีความคาดหวังว่า อินเดียจะมีบทบาทนำในการเจรจาหาข้อยุติในประเด็นที่ค้างคาอยู่ และผลักดันการเจรจาให้มีความคืบหน้า เพื่อให้เราเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 ประการที่สอง นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ควรขยายความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนกับอินเดียในทุกมิติ เนื่องจากอินเดียใกล้ชิดอาเซียนทางทั้งทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ความเชื่อมโยงจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการรองรับตลาดที่ใหญ่ขึ้นทั้งจากการก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การจัดทำเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย และ RCEP เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองฝ่าย แนวทางสำคัญหนึ่งคือการเสริมสร้างเครือข่ายคมนาคมที่มีประสิทธิภาพระหว่างกันอย่างรอบด้าน ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ รวมทั้งการพัฒนากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ และประชาชน

 ไทยสนับสนุนการเร่งรัดการสร้างถนนสามฝ่าย ไทย-เมียนมาร์-อินเดีย ให้แล้วเสร็จ ซึ่งอาจจะขยายเส้นทางคมนาคมนี้ไปสู่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ในขณะเดียวกัน ควรพัฒนากฏระเบียบเกี่ยวกับการขนส่งและการอำนวยความสะดวกตามชายแดนควบคู่กันไป เพื่อให้อาเซียนและอินเดียสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางนี้โดยเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากนี้ อาเซียนและอินเดียควรสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การจัดทำเขตเศรษฐกิจร่วมกัน หรือสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นเครือข่ายระหว่างกัน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของพื้นที่ห่างไกล รวมทั้งต้องส่งเสริมโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างประชาชนทั้งสอง

 นายกรัฐมนตรี เห็นว่า อินเดียสามารถมีบทบาทที่สร้างสรรรค์ต่อการพัฒนาเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจด้านตะวันออกสู่ตะวันตก เพื่อให้มีความเชื่อมโยงจากเวียดนามถึงอินเดีย โดยพัฒนาเส้นทางสำคัญทางยุทธศาสตร์ อาทิ ระเบียงเศรษฐกิจดานัง สะหวันนะเขต มุกดาหาร เมาะลำไย กับระเบียงอุตสาหกรรมเดลี มุมไบและเศรษฐกิจเจนไน ยังกาลอร์ของอินเดีย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างอาเซียนและอินเดีย รวมทั้งการเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคในอนาคต

 ประการที่สาม การจัดการกับประเด็นความท้าทายข้ามแดน ไทยเห็นว่า การบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากความเชื่อมโยงเป็นประเด็นที่อาเซียนและอินเดียจะต้องเร่งหารือกัน เพื่อรักษาพลวัตของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการรักษาความมั่นคงควบคู่กันไป ตัวอย่างของภัยคุกคามที่ทั้งสองฝ่าย ต้องเฝ้าระวังร่วมกัน คือ การก่อการร้าย อาเซียนและอินเดียต้องขยายความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้าย รวมทั้งปัญหาอาชญกรรมข้ามชาติ เพื่อรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค และเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจให้รุ่งเรืองต่อไป

 ประการสุดท้าย การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และนวัตกรรม ต้องเร่งผลักดันให้อาเซียนและอินเดียสามารถใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของทั้งสองฝ่าย ผ่านโครงการความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัย และการถ่ายโอนเทคโนโลยีในสาขาต่างๆ อาทิ การแพทย์ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีสารสนเทศ การเสริมสร้างความร่วมมือดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการเพิ่มมูลค่าต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชน

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar