โดย จาตุรนต์ ฉายแสง
รัฐบาลยังทำอะไรได้อีกบ้าง เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจทรุดตัวเกินไป
สัปดาห์ที่ผ่านมามีการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ คือ การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า กนง. ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2% ลดลงเหลือ 1.75% ต่อปี ด้วยเหตุผลสำคัญคือ เศรษฐกิจยังฟื้นตัวค่อนข้างช้า โดยมีแรงส่งจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนน้อยกว่าคาด ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นของภาคเอกชนลดลง ขณะเดียวกันแนวโน้มการฟื้นตัวในระยะต่อไปก็ยังอ่อนแรง โดยแรงกระตุ้นจากภาคการคลังต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผลชัดเจน การลดดอกเบี้ยจะช่วยเพิ่มแรงสนับสนุนให้เศรษฐกิจ และช่วยพยุงความเชื่อมั่นของภาคเอกชน
ก่อนหน้านี้ ก็มีเสียงเรียกร้องจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะภาคธุรกิจส่งออก ให้มีการลดดอกเบี้ย เพื่อช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงบ้าง เพราะค่าเงินของเราแข็งค่ามากกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ทำให้การส่งออกเราสู้เขาไม่ได้ หลังจาก กนง.ลดดอกเบี้ยก็ช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวเล็กน้อย ทว่าเราจะหวังว่าเมื่อสินค้าส่งออกราคาถูกลงแล้ว จะขายได้เพิ่มมากๆ คงลำบาก เพราะคู่ค้าสำคัญของเรา ทั้งยุโรป ญี่ปุ่น จีน ต่างก็กำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ฉะนั้น เมื่อผู้ซื้อมีกำลังซื้อลดลง แม้สินค้าเราจะมีราคาถูกลงบ้าง ก็คงขายเพิ่มได้ไม่มากนัก นอกจากนี้ค่าเงินของหลายประเทศก็ได้อ่อนตัวลงไปก่อนแล้วในภาวะที่เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวและความเชื่อมั่นของภาคเอกชนต่ำ การลดดอกเบี้ยย่อมไม่อาจมีผลได้มากนัก แต่เมื่อทางฝั่งที่ใช้นโยบายการเงินบอกแล้วว่า ลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเศรษฐกิจและพยุงความเชื่อมั่นของภาคเอกชน เพราะนโยบายการคลังเห็นผลช้า คำถามก็คือรัฐบาลจะทำอะไรได้มากกว่านี้อีกหรือไม่ ก่อนที่เศรษฐกิจไทยจะทรุดลงไปมากกว่านี้
สิ่งที่รัฐบาลอาจทำได้ในภาวะปัจจุบันคือ
1.เร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐทั้งงบประมาณแผ่นดินและรายจ่ายของรัฐวิสาหกิจให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เรื่องนี้รัฐบาลดูจะให้ความสำคัญอยู่พอสมควร แต่ไม่สามารถทำให้เกิดผลได้เลย จำเป็นต้องค้นคว้าหาสาเหตุของความล่าช้าแล้วแก้ให้ถูกจุด
2.เตรียมจัดทำงบประมาณปีหน้าให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ หากจำเป็นต้องขาดดุลเพิ่มขึ้นก็ควรเน้นงบลงทุนที่มีผลให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจได้เร็ว
3.ดำเนินนโยบายการคลังที่ผ่อนคลายหรืออย่างน้อยต้องไม่ซ้ำเติมให้เศรษฐกิจถดถอย ไม่ควรออกมาตรการเพิ่มประเภทหรืออัตราภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ในช่วงนี้
4.ทำให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับโครงการขนาดใหญ่ว่า มีแผนการขั้นตอนอย่างไร จะทำแบบรัฐต่อรัฐหรือร่วมกับเอกชนด้วยเหตุผลอะไร การร่วมมือกับใครจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยอย่างไร การจัดซื้อจัดจ้างควรจะใช้กฎระเบียบที่โปร่งใสและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ มากกว่าการใช้ดุลยพินิจตามใจชอบ
5.ระดมความคิดเพื่อวางแผนพัฒนาขีดความสามารถของประเทศในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการพัฒนากำลังคนและโทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับการแข่งขัน
6.สร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศด้วยการยืนยันว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นตามกำหนดภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยซึ่งจะนำไปสู่การมีรัฐบาลที่เป็นที่ยอมรับ การเมืองที่มีเสถียรภาพและสังคมก้าวพ้นจากวิกฤตความขัดแย้ง และยังจะทำให้ประเทศไทยสามารถเจรจาหาความร่วมมือกับประเทศต่างๆในเวทีโลกได้ดีขึ้นด้วย
เวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำ ตัวเลขอัตราการเติบโตกี่เปอร์เซ็นต์ อาจบอกผู้รู้ให้เข้าใจปัญหาได้ไม่ยาก แต่สำหรับประชาชนทั่วไปแล้ว สิ่งที่ประสบอยู่ทุกวันๆย่อมบอกได้ดีว่า เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำมากๆ ประชาชนต้องลำบากเดือดร้อนกันอย่างไร และดูเหมือนประชาชนทุกหย่อมหญ้าจะรับรู้ได้ทั่วกันแล้ว เพราะฉะนั้นในภาวะเช่นนี้รัฐบาลจำเป็นต้องทุ่มเทความพยายามให้กับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ที่สำคัญต้องรู้ว่ารัฐบาลเองพึงมีบทบาทอย่างไรได้บ้างเสียก่อนที่จะตัดสินใจว่า ตนเองจะทำอะไรหรือไม่และอย่างไร
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar