lördag 12 maj 2018

เหลียวหลังแลหน้า “อภิวัฒน์สยาม”.

                                                                                  I
                คำศัพท์ว่า อภิวัฒน์ นั้นอาจารย์ปรีดี พนมยงค์บัญญัติขึ้นจากคำว่า revolution เพื่อใช้แทนคำว่า ปฏิวัติซึ่งเป็นศัพท์บัญญติของกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ แห่งราชบัณฑิตยสถาน ยิ่งเมื่อส.ธนรัชต์ เอาคำว่า ปฏิวัติ ไปใช้แทนที่ รัฐประหาร ด้วยแล้ว คำนี้ก็มัวหมองเรื่อยมา
                คำว่า revolution หมายถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ผิดกับ evolution ซึ่งค่อยเป็นค่อยไป พระปกเกล้าฯ อธิบายคำๆ นี้ ว่าเป็นการ “ผลิกแผ่นดิน” ซึ่งเริ่มขึ้นในรัชกาลที่ ๕ดังที่ในหลวงพระองค์นั้นทรงอธิบายไว้ในเรื่อง การเปลี่ยนแปลงแก้ไขการปกครองแผ่นดินโดยมาได้ตีพิมพ์ขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ ดังในหลวงรัชกาลที่ ๗ทรงพระราชนิพนธ์คำนำไว้ด้วยว่า
                การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากแบบเดิมเป็นตั้งกระทรวง ๑๒ กระทรวงนี้ ต้องนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงซึ่งเรียกได้อย่างพูดกันตามธรรมดาว่า พลิกแผ่นดินถ้าจะใช้คำอังกฤษก็ต้องว่า Revolution ไม่ใช่Evolution การเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงดังนี้มีน้อยประเทศนักที่จะสำเร็จไปได้โดยราบคาบปราศจากการจราจลหรือจะว่าไม่มีเลยก็เกือบจะว่าได้ประเทศญี่ปุ่นได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่าง พลิกแผ่นดิน เหมือนประเทศสยามแต่หาได้ดำเนินไปโดยสงบราบคาบเหมือนประเทศสยามไม่ ยังต้องมีการจราจลในบ้านเมืองเช่นมีขบถสัตสุมาเป็นต้น
                การที่ประเทศสยามได้เปลี่ยนแปลงวิธีการปกครองอย่าง Revolution ได้ โดยไม่ต้องมีใครต้องเสียเลือดเนื้อแม้แต่หยดเดียวดังนี้ ต้องนับว่าเป็นมหัศจรรย์เป็นโชคดีของประเทศสยามเป็นอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ย่อมขัดกับประโยชน์ของคนบางจำพวก จึงยากนักที่จะสำเร็จไปได้โดยสงบราบคาบ
                ที่การเปลี่ยนแปลงนี้สำเร็จไปได้ในประเทศสยามอย่างราบคาบเพราะ Revolution ของเรานั้นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ทรงริเริ่ม ประกอบทั้งสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นทรงพระปรีชาสามารถยิ่งกว่าผู้ใดหมดในเวลานั้น ทั้งทรงมีพระราชอัธยาศัยละมุนละม่อม ทรงสามารถปลูกความจงรักภักดีในชนทุกชั้นที่ได้เข้าเฝ้าใกล้ชิดพระองค์แม้แต่ครั้งเดียว
                พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเล็งเห็นการภายหน้าอย่างชัดเจน และทราบการที่ล่วงไปแล้วเป็นอย่างดีได้ทรงพระราชดำริตริตรองโดยรอบคอบได้ทรงเลือกประเพณีปกครองทั้งของไทยเราและต่างประเทศประกอบกันด้วยพระปรีชาญาณอันยวดยิ่ง ได้ทรงจัดการเปลี่ยนแปลงวิธีการปกครองเป็นลำดับมาล้วนเหมาะกับเหตุการณ์และเหมาะกับเวลา ไม่ช้าเกินไป ไม่เร็วเกินไป
                พวกเราผู้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ผู้มีความจงรักภักดี และรู้สึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง อยู่ทุกขณะจิต ควรตั้งใจดำเนินตามรอยพระยุคลบาทตามแต่จะทำได้ ควรพยายามแลดูการล่วงหน้า แต่ก็ควรเหลียวหลัง ดูประเพณีและหลักการที่ล่วงไปแล้วด้วยเหมือนกันใน ๒ อย่างนี้ก็พอจะทำได้ มียากอยู่เพียงจะเลือกเวลาให้เหมาะ อย่าให้ช้าเกินไปอย่าให้เร็วเกินไป ข้อนี้แหละยากยิ่งนัก นอกจากมีสติปัญญาแล้วยังต้องมีโชคดีประกอบด้วย แต่ถ้าเราทำการใดๆ ไปโดยมีความสุจริตในใจ และโดยเต็มความสามารถแล้วก็ต้องนับว่าได้พยายามทำการงานตามหน้าที่จนสุดกำลังแล้ว
                จากพระราชนิพนธ์ ที่อัญเชิญมาอ่านให้ฟังนี้มีข้อปรารภ ๒ ประการ คือ (๑) ที่มีพระราชปรารภว่า ควรพยายามแลดูการล่วงหน้าแต่ก็ควรเหลียวหลัง ดูประเพณีและหลักการที่ล่วงไปแล้วด้วยเหมือนกัน ใน ๒ อย่างนี้ก็พอจะทำได้มียากอยู่เพียงจะเลือกเวลาให้เหมาะ อย่าให้ช้าเกินไป อย่าให้เร็วเกินไปข้อนี้แหละยากยิ่งนัก นอกจากมีสติปัญญาแล้ว ยังต้องมีโชคดีประกอบด้วย
                บทสรุปจากข้อความข้างต้นนั้นคือไม่ทรงสามารถเลือกเวลาให้เหมาะได้ หรือจะใช้ถ้อยคำของพระองค์ก็คือโชคไม่เข้าข้างพระองค์ท่านภายในเวลา ๕ ปี หลังจากที่โปรดให้ตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ก็เกิดการพลิกแผ่นดินโดยคณะราษฎร อย่างที่ไม่ทรงรู้พระองค์เอาเลย
                (๒) พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕เรื่อง การเปลี่ยนแปลงแก้ไขการปกครองแผ่นดิน ฉบับนี้ แท้ที่จริงคือการตอบคำถามที่เจ้านายและข้าราชการในอังกฤษ กราบบังคมทูลในปี ร.ศ. ๑๐๓ ให้ทรงมีธรรมนูญการปกครองอย่างมีหลักการสูงสุดเหนือองค์พระราชาแม้นั่นจะไม่ใช่แนวทางอย่างประชาธิปไตยของอังกฤษก็เป็นดังธรรมนูญของญี่ปุ่นในสมัยเมจิ หากองค์พระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิเสธข้อเสนอนั้นๆเกือบจะโดยสิ้นเชิง มิไยต้องเอ่ยถึงการเรียกร้องให้มีปาเลียเมนต์และคอนสติติวชั่นของคนธรรมดาสามัญอย่างเทียนวรรณ เพื่อให้เจ้ากับไพร่ปกครองร่วมกัน โดยผู้เสนอข้อคิดดังกล่าวต้องถูกจองจำถึง ๑๔ ปี ในข้อหาว่าดูหมิ่นตราพระราชสีห์โดยที่เวลานั้นยังไม่มีกฎหมายในเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
                ถ้าเหลียวหลังไปดูการเปลี่ยนแปลงแก้ไขการปกครองแผ่นดินในรัชกาลที่๕ อย่างเข้าหาสาระที่แท้ นั่นก็คือ การรักษาสถานะเดิมของขัตติยาธิปไตยให้อยู่เหนืออำมาตยาธิปไตยซึ่งเป็นมาแต่ปลายรัชกาลที่ ๓ จนกลางรัชกาลที่ ๕ นั้นแลชนชั้นล่างควรได้รับความสุขเท่าที่ชนชั้นบนจะอำนวยให้และชนชั้นบนสุดคือองค์พระราชาธิบดีซึ่งมีความเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยิ่งๆ ขึ้นทุกทีแต่กลางรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา
การที่ชนชั้นบนแลเห็นว่าชนชั้นล่างโง่เขลาเบาปัญญาย่อมยากที่ชนชั้นบนจะเห็นคุณค่าของประชาธิปไตยด้วยประการใดๆสิ้น และแล้วการเรียกร้องต้องการประชาธิปไตยที่เริ่มจากคำพูดและข้อเขียนในรัชกาลที่๕ ก็กลายมาเป็นการกระทำในต้นรัชกาลที่ ๖ หากคณะอภิวัฒน์รุ่นแรกถูกจับได้เสียแต่ในร.ศ. ๑๓๐ นั้นแล้ว คือการอภิวัฒน์ที่ได้รับความล้มเหลวครั้งแรกมีอายุครบศตวรรษพอดีในปีนี้ โดยที่การอภิวัฒน์เมื่อ ร.ศ. ๑๕๐ หรือ พ.ศ. ๒๔๗๕นั้นเล่า แปดสิบปีเข้านี่แล้ว ก็ยังหาได้บรรลุความสำเร็จไม่

                                                                    II
                ดังได้กล่าวไว้แต่แรกแล้ว ว่า อภิวัฒน์เป็นศัพท์ที่อาจารย์ปรีดี คิดขึ้นใช้ เมื่อภายหลัง โดยที่ท่านเห็นว่า ปฏิวัติซึ่งเป็นคำของในกรมนราฯ มุ่งทางพยัญชนะมากเกินไป ในขณะที่คำของท่านมุ่งไปในทางอรรถะซึ่งต้องการให้อะไรๆ ดีขึ้น ไม่ใช่พุ่งกลับมาที่เดิมดังตามพยัญชนะของคำว่า ปฏิวัติหมายความเช่นนั้น
                ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ใช้คำว่า เปลี่ยนแปลงการปกครองซึ่งตรงกับคำที่ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ทรงใช้มาก่อน แต่นั่นเป็นการ ‘พลิกแผ่นดิน’ ตรงตามความหมายที่ในหลวงรัชกาลที่ ๗ ทรงใช้จริงๆ ดังธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามที่ตราขึ้นเมื่อวันที่๒๗ มิถุนายนศกนั้น ใช้คำว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”  กล่าวคืออำนาจสูงสุดไม่ได้อยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงเป็นเจ้าชีวิตและเจ้าแผ่นดิน ที่อยู่เหนือกฎหมายอีกต่อไป หากในหลวงรัชกาลที่๗ ทรงลงพระปรามาภิไทย โปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธรรมนูญการปกครองฉบับ “พลิกแผ่นดิน” นี้ได้เพราะทรงปราศจากพระราชอำนาจเสียแล้ว แต่ก็ทรงเพิ่มคำว่า “ฉบับชั่วคราว” เข้าไปด้วย อย่างเป็นการต่อรองแบบไทยๆ แล้วก็ตกลงให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรขึ้นประกาศใช้ ณ วันที่ ๑๐ ธันวาคม โดยมีพระราชพิธีอย่างโอฬาริกดังประหนึ่งว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวเกิดขึ้นได้เพราะบุญญาบารมีของพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็น myth หรือเป็นอลังการให้มีความศักดิ์สิทธิมหัศจรรย์แต่แล้ว myth หรือมายากลดังกล่าว กลับกลายเป็นเรื่องจริงไปดังปรากฏพระบรมราชานุสาวรีย์ของรัชกาลที่ ๗ อยู่ที่หน้ารัฐสภาในขณะที่คนซึ่งก่อให้เกิดรัฐธรรมนูญ และรัฐสภา ตลอดจนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ได้รับการเนรคุณในทุกๆทาง ตอนท่านผู้นั้นถึงแก่กรรม ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๒๖ รัฐสภาไทยไม่ได้ยืนไว้อาลัยแม้เพียงหนึ่งนาทีนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ซึ่งก็คือประธานองคมนตรีในเวลานี้ออกปากมาคำเดียวว่าเสียใจ โดยไม่มีรัฐพิธีใดๆ เพื่อเชิดชูคุณงามความดีของท่าน
หากท่านได้นำขบวนการแก้ไขกฎหมายต่างๆจนนานาชาติเลิกระบอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตจากสยามจนเราได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒และเมื่อรัฐบาลเผด็จการทหารยอมให้ญี่ปุ่นกรีฑาทัพมายึดครองสยามประเทศโดยรัฐบาลประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรอังกฤษ แล้วท่านผู้นั้นก็นำขบวนการเสรีไทยจนไทยดำรงอิสระอธิปไตยไว้ได้ตลอดมา โดยประเทศที่เป็นคู่สงครามกับมหาอำนาจทั้งหมดนั้นต้องถูกปรับให้เป็นฝ่ายปราชัยไปตามๆ กัน ในขณะที่เรามีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไว้ก่อนการแพ้สงครามและถ้าไม่มีขบวนการเสรีไทย นั่นก็ย่อมจะเป็นอนุสาวรีย์ปราชัยสมรภูมิ และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็คืออนุสรณ์สถานถึงประชาธิปไตยที่ปลาสนาการไปกับการรัฐประหารตั้งแต่ในปีพ.ศ. ๒๔๙๐ แล้ว โดยที่เนื้อหาสาระของประชาธิปไตย ยังไม่ได้หวนคืนกลับมาสู่สยามอีกเลยแม้จะมีความพยายามอยู่บ้างกับเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ก็ตามที

                                                                      III
                ก็อาจารย์ปรีดีพนมยงค์นั้น มีคุณูปการกับบ้านเมืองและราษฎรชาวสยามซึ่งรวมถึงคนที่ไม่มีเชื้อชาติไทยด้วย ทั้งท่านยังมีอุปการคุณกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นเอนกประการแล้วเหตุไฉนท่านจึงได้รับการเนรคุณจากชนชั้นปกครอง ตั้งแต่เริ่มรัชกาลปัจจุบันเอาเลยก็ว่าได้แม้รัฐบาลจะยกย่องท่าน จนเสนอชื่อท่านให้ UNESCOประกาศว่าท่านเป็นปูชนียบุคคลของโลก ในโอกาสชาต กาลครบศตวรรษของท่าน แต่รัฐบาลก็จัดงานให้ท่านเพราะแรงผลักดันของหน่วยงานเอกชนนอกกระแสหลักนั้นแลเป็นประการสำคัญ
                ถ้าจะถามว่าทำไมคนไทยถึงกลายเป็นคนอกตัญญูไปได้ถึงเพียงนี้คำตอบอย่างสั้นๆ ก็คือเรากำลังเห็นกงจักรเป็นดอกบัว และถ้าหากจะสาวให้ลึกไปกว่านั้นก็คือขบวนการในแนวทางของการอภิวัฒน์นั้นถูกมองข้าม และถูกโจมตี โดยใช้การศึกษากระแสหลักรวมถึงสื่อสารมวลชน และพงศาวดารกระซิบต่างๆ อย่างได้ผล ให้ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เห็นคุณค่าของตัวเองหากให้แลเห็นความวิเศษมหัศจรรย์ของชนชั้นบน ซึ่งขัดหลักคำสอนขั้นพื้นฐานของพุทธศาสนาโดยที่สถาบันพุทธในเมืองไทย ผนวกไปกับไสยเวทวิทยาและขัตติยาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบยิ่งๆ ขึ้นทุกที ทั้งยังสมาทานลัทธิทุนนิยม บริโภคนิยมอย่างเต็มที่พร้อมกันไปกับการนับถือวิทยาศาสตร์กระแสหลักและเทคโนโลยีอย่างขาดความแนบเนียนโดยไม่มีสติวิจารณญานเอาเลย
                คึกฤทธิ์ปราโมชและวิจิตรวาทการ เป็นสดมภ์หลักในการมองเมาราษฎร คนแรกเสนอให้ผู้คนเห็นว่าคณะราษฎรเลวร้าย เจ้าเท่านั้นที่นำสยามรัฐนาวาได้คนหลังเสนอว่าเผด็จการคือคำตอบของบ้านเมืองไม่ใช่ประชาธิปไตย
                การมอมเมาต่างๆจึงเป็นไปได้ไม่ยาก ดังจะเห็นได้ว่าวีรบุรุษและวีรสตรีเกิดขึ้นอย่างมากมาย ในอดีตจนปัจจุบันอนุสาวรีย์ตามจังหวัดต่างๆ นั้นมีใครบ้าง ที่ยืนหยัดอยู่ข้างสัจจะและ อหิงสธรรมหรือความยุติธรรมทางสังคม โดยที่คนพวกนี้มีใครบ้างที่อยู่เคียงข้างราษฎรตาดำๆ หรือเข้าใจถึงธรรมชาติที่แวดล้อมเขาและคำนึงถึงอนาคตของคนรุ่นต่อๆ ไปอย่างจริงจัง
พระบรมรูปพระปกเกล้าฯ ที่หน้ารัฐสภานั้นปิดบังพฤติกรรมของพระองค์ท่านในการขัดขวางประชาธิปไตยอย่างน้อยก็ในการอุดหนุนการขบถของพระองค์เจ้าบวรเดช  กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ที่ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของกฎหมายไทยนั้น มีความเป็นเผด็จการอย่างไรมีข้อบกพร่องที่ฉกรรจ์เพียงใด โดยที่พระราชบิดาของพระองค์ท่านก็ทรงชี้แจงให้เห็นความผิดปกติของพระองค์ท่านอย่างเปิดเผยก็ไม่นำพาที่จะศึกษาหาความรู้กัน ยิ่งกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมที่มีอนุสาวรีย์อยู่ที่กลางจังหวัดอุดรธานีด้วยแล้ว เป็นที่จงเกลียดจงชังทั้งจากรัชกาลที่๕ และที่ ๖ ผู้คนก็ไม่นำพา ทั้งๆ ที่อ้างว่าเคารพนับถือในหลวงอย่างสุดๆ  หากยังกราบไหว้บูชาสักการะรูปเคารพเหล่านี้อย่างปราศจากความละอายยิ่งๆขึ้น จนรูปนั้นๆ กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ไปแล้ว รวมถึงพระบรมรูปเสด็จพ่อร.๕ ด้วย ทั้งที่พระองค์ทรงทำคุณอย่างอนันต์และทำโทษอย่างมหันต์กับราษฎรสยาม จึงไม่แปลกประหลาดที่บางวัดมีรูปพระคเนศใหญ่ยิ่งกว่าพระพุทธรูป แม้จนมีการบูชาชูชกกันแล้ว มิไยต้องเอ่ยถึงพิธีพุทธาภิเษกต่างๆซึ่งเป็นพุทธพาณิชย์ล้วนๆ เอาเลยก็ว่าได้[*]
ลัทธิเผด็จการ หรือเสนาอำมาตยาธิปไตย มอมเมาให้เคารพรูปศักดิ์ต่างๆในขณะที่ลัทธิทุนนิยม บริโภคนิยม มอมเมา โดยล้างสมองกันไม่ให้ผู้คนเข้าถึงความเป็นเลิศ ไม่ว่าจะในทางความงาม ความดีหรือความจริง
ก็อาจารย์ปรีดี  พนมยงค์นั้น ท่านทำทุกๆ อย่างเพื่อความงามความดี และความจริง ไม่แต่งานการเมือง หากทางการศึกษากับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นต้นทั้งท่านยังคิดค้นหาสาระจากประชาธิปไตยที่ไปพ้นรูปแบบของตะวันตก เพื่อแสวงหาแนวทางของธัมมิกสังคมนิยมอีกด้วยดังที่ท่านได้สนทนาวิสาสะอย่างลึกซึ้งกับพุทธทาสภิกขุในสมัยเมื่อท่านเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่๘  และคนที่สืบทอดคุณสมบัติของอาจารย์ปรีดีพนมยงค์ ที่เห็นได้อย่างเด่นชัดก็คือ คุณป๋วย อึ๊งภากรณ์ แห่งแนวทางสันติประชาธรรม

                                                                IV
                ถ้าจะกล่าวว่า ป๋วยเป็นอภิชาติศิษย์ของปรีดี ก็อาจจะเกินไป ความข้อนี้ป๋วยคงไม่ยอมรับ แต่ปรีดีคงยินดี รับไว้และพูดกันตามความเป็นจริงโดยเหลียวหลังไปแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมาใครเล่าที่สืบทอดเจตนารมณ์ของปรีดีในทางอภิวัฒน์ได้ยิ่งกว่าป๋วย
                นายสงวน ตุลารักษ์ และนายซิมวีระไวทยะ ที่ถูกพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ยกให้ว่าเป็นโมคคัลลาน์สารีบุตรของหลวงประดิษฐ์มนูญธรรมก็ไม่ได้มีบทบาทอะไรมากนัก นอกจากการเป็นองค์รักษ์  นายทวี บุณยเกตุกับ นายดิเรก ชัยนามเป็นแขนซ้ายแขนขวาในการรับใช้อาจารย์ปรีดี ทางด้านการเมืองอย่างเป็นที่ไว้วางใจยิ่งนักแต่ทั้งสองนี้ก็ไม่ได้มีบทบาทอะไรนอกไปจากแวดวงของกระแสหลัก ในขณะที่นายป๋วยเป็นศิษย์ชั้นหลัง ที่งอกงามในทางราชการอย่างถึงที่สุด ด้วยความสามารถเป็นพิเศษผนวกไปกับความซื่อสัตย์สุจริต และความกล้าหาญทางจริยธรรม อย่างปรับตัวได้ภายใต้รัฐบาลเผด็จการอย่างชาญฉลาดโดยไม่ได้สยบยมกับอธรรมเอาเลยด้วยก็ว่าได้
                แม้นายป๋วยจะล้มเหลวกับการสืบทอดเจตนารมณ์ของอาจารย์ปรีดีที่มหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ ซึ่งก็ยังไม่ฟื้นคืนชีพแต่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙มาจนบัดนี้  หากนายป๋วยเป็นตัวนำในการสร้างขบวนการองค์การพัฒนาเอกชนยิ่งกว่าใครๆและขบวนการดังกล่าวแพร่หลายไปแทบทั่วประเทศ แม้ขบวนการนั้นๆ จะมีจุดยืนที่ต่างกันทุกหน่วยงานอาจะไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเสียเลยทีเดียว แต่อาจกล่าวได้ว่าขบวนการพัฒนาเอกชนในเมืองไทยเข้มแข็งยิ่งนักในเอเซียอาคเนย์และบางหน่วยงานกล้าท้าทายกระแสหลัก โดยหันเข้าหาผู้ยากไร้ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศและถ้ารับสันติประชาธรรมเป็นแนวทาง นั่นจะถือได้ว่าเป็นการอภิวัฒน์ ซึ่งจะนำเข้าสู่สาระของประชาธิปไตยโดยแท้
                จักรวรรดิ์อเมริกันและสงครามเวียดนามได้เข้ามาปู้ยี่ปู้ยำบ้านนี้เมืองนี้จนคนหมดสภาพของความเป็นมนุษย์ แทบทั่วไป โดยขยายออกไปจากพัฒน์พงษ์จนถึงพัทยาภูเก็ต สมุย ฯลฯ และบ้านเมืองเรายังต้องกลายเป็นสังคมอุตสาหกรรม ซึ่งทำลายพุทธศาสนาและวัฒนธรรมอย่างเลวร้ายแต่นี่เป็นความทุกข์จากภายนอก ซึ่งได้ทำลายรัฐไทยและนายทุนก็อุดหนุนให้รัฐไทยอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ กิจการงานด้านพัฒนาสังคมอย่างนอกกระแสหลักของป๋วยนั้นเริ่มแต่มูลนิธิบูรณะชนบท ไปจนบัณทิตอาสาพัฒนา และล่าสุดคือป๋วยเป็นผู้นำในการฟื้นฟูลุ่มน้ำแม่กลองถ้างานพวกนี้สำเร็จ ก็จะเป็นธงชัย ซึ่งนำไปสู่การอภิวัฒน์อย่างไม่พึงต้องสงสัย แม้จะถูกเบียดเบียนบีฑาด้วยประการใดๆป๋วยก็ต่อสู้ด้วยสันติประชาธรรมอย่างน่าสังเกต ยิ่งมีคนในแวดวงของขบวนการพัฒนาเอกชนไปร่วมมือกับชาวบ้านเรียนรู้และรับใช้พวกเขา นั่นคือสัญลักษณ์ที่สำคัญของประชาธิปไตย
ที่สำคัญยิ่งกว่านี้ก็การที่ราษฎรตาดำๆตามท้องถิ่นต่างๆ ที่เคยได้รับการดูถูกดูแคลนว่าโง่เง่าเบาปัญญาได้ตื่นตัวขึ้นมาอย่างน่าทึ่ง จะหาเหตุผลก็คงต้องอธิบายกันให้มากความออกไปแต่อาจกล่าวได้ว่าชาวบ้านตามหมู่บ้านต่างๆ นั้น ยังผูกแน่นอยู่กับวัฒนธรรมดั้งเดิมแม้การนับถือผีก็เป็นเรื่องที่เป็นไปในทางเคารพนบนอบและอ่อนน้อมถ่อมตนต่อธรรมชาติที่แวดล้อมตัวเขาไม่ว่าจะเป็นแม่พระคงคา แม่พระธรณี แม่โพสพ ฯลฯเมื่อมนุษย์มีความอ่อนน้อมถ่อมตนกับธรรมชาติที่รอบตัวเขา ย่อมช่วยให้เขามีศักดิ์ศรีเป็นพิเศษแม้เจ้านายและนายทุนจะเอาเปรียบเขา  ถึงเขาจะไม่ต่อกรด้วย  เขาก็รู้ว่านั่นเป็นผีปลอม ซึ่งไม่ศักดิ์สิทธิ์เท่าผีจริงอันได้แก่อารักษเทวดา ซึ่งปกปักรักษาป่าไม้ ต้นน้ำ ฯลฯ
ใช่แต่เท่านั้นพุทธศาสนายังสอนให้เขาเข้าใจในเรื่องทาน ในเรื่องศีล และในเรื่องภาวนาจนเขาเหล่านี้ มีความเอื้ออารีเป็นพื้นฐาน มีอหิงสธรรม ในการดำเนินชีวิตและมีสัจจะเป็นบันทัดฐานนอกเหนือไปจากภูมิปัญญาชาวบ้านแล้ว กิจกรรมของพวกเขาล้วนเป็นไปในทางพึ่งตนเองทั้งทางการกสิกรรมการประมง หรือทางอายุรเวท ตลอดจนโหราศาสตร์ ยิ่งพวกที่ห่างจากแวดวงของรัฐบาลมากเท่าไรเขายิ่งมีความเป็นไทมากเท่านั้น และที่ไหน โทรทัศน์ไปไม่ถึง ไฟฟ้าไปไม่ถึงถนนไปไม่ถึง เขาย่อมถูกมอมเมาโดยทุนนิยม บริโภคนิยมน้อยเท่านั้น
เขาย่อมเข้าใจว่าสิ่งที่รัฐมอบให้ เช่นเขื่อนใหญ่ๆ นั้นคือการพัฒนาอย่างจอมปลอม ที่ทำลายวิถีชีวิตของเขาไม่ว่าจะท่อแก๊สที่เมืองกาญจน์ เหมืองแร่โปตาสที่อุดร โรงถลุงเหล็กที่ประจวบนิคมอุตสาหกรรมที่มาบตะพุด  วิธีต่อต้านการพัฒนาอย่างผิดๆอันเลวร้ายเหล่านี้กลายเป็นขบวนการซึ่งเติบโตขึ้นในทางสันติประชาธรรมอย่างน่าสังเกตคนอย่าง วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์กับสมัชชาคนจน คนอย่างภินันท์ โชติรสเศรณีและบุญส่ง จันทร์ส่องรัศมี ที่เมืองกาญจน์ คนอย่าง กรอุมา พงษ์น้อย (วัดอักษร) และจินตนา แก้วขาว ที่ประจวบคีรีขันธ์ ฯลฯ ล้วนเป็นบุคคลในขบวนการสันติประชาธรรมด้วยกันทั้งสิ้นคนเหล่านี้ได้รับการเนรคุณจากชนชั้นปกครอง ทั้งๆ ที่เขายืนหยัดและต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ
ทั้งนี้เราต้องไม่ลืมบรรพชิตอย่าง พระประจักษ์คุตตจิตโต กับป่าดงใหญ่ หรือหลวงพ่อนาน สุทธสีโล กับธนาคารข้าวธนาคารควายที่สุรินทร์  พระครูสุภาจารวัฒน์ กับการฟื้นฟูอายุรเวทที่ยโสธรและพระอาจารย์สมนึก นาโถ กับการปลูกป่าสมุนไพรภายในวัด ที่นครปฐม ฯลฯ อีกด้วย
แม้สถาบันหลักทางการศึกษา จะเข้าหาสาระแห่งความเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ดังพรรคการเมืองและรัฐสภา ตลอดจนระบบต่างๆ ในกระแสหลัก  แต่ก็มีคนในวงการนั้นๆที่แสวงหาทางออกจากระบบอันฉ้อฉลนี้ยิ่งๆ ขึ้นทุกทีแล้ว แม้จะยังมีจำนวนน้อยที่ต้องการสันติประชาธรรมเพื่อนำไปสู่การอภิวัฒน์ของสยาม ที่เนื้อหาสาระของประชาธิปไตย แต่นั่นก็เป็นดังวลีที่ชูมากเกอร์ กล่าวว่า smallis beautiful.

                                                                               V

ดังได้กล่าวมาแต่ต้นแล้ว ว่า อภิวัฒน์คำนี้ มาจาก Revolution ในภาษาอังกฤษ ซึ่งพระปกเกล้าฯ ก็ทรงใช้ หากไม่ทรงเอ่ยถึง FrenchRevolution อันเป็นที่เกลียดชังและกลัวเกรงของคนในระบอบราชาธิปไตยยิ่งนักดังแถลงการณ์ฉบับที่ ๑ ของคณะราษฎร ที่ออกประกาศเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ก็มีความตอนหนึ่งว่า คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้นจึงได้อัญเชิญให้กษัตรย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไปแต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรคณะราษฎรได้แจ้งความประสงค์นี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในเวลากำหนด โดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมา ก็จะได้ชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างประชาธิปไตยกล่าวคือประมุขของประเทศต้องเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรเลือกตั้งขึ้นอยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลาตามวิธีนี้ราษฎรพึงหวังเถิดว่า ราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด ทุกๆ คนจะมีงานทำเพราะประเทศเราเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์อยู่แล้วตามสภาพเมื่อเราได้ยึดเงินที่พวกเจ้ารวบรวมไว้จากการทำนาบนหลังคนตั้งหลายร้อยล้านมาบำรุงประเทศขึ้นแล้วประเทศจะต้องเฟื่องฟูขึ้นเป็นแม่นมั่น การปกครองซึ่งคณะราษฎรจะพึงกระทำก็คือจะต้องจัดวางโครงการอาศัยหลักวิชา ไม่ทำไปเหมือนคนตาบอดเช่นรัฐบาบที่มีกษัตริย์เหนือกฎหมายทำมาแล้ว
ประชาธิปไตยที่เอ่ยถึงในแถลงการณ์ของคณะราษฎรนั้น ถ้าใช้ศัพท์สมัยนี้ก็ต้องว่าเป็นการปกครองในระบอบสาธารณรัฐหรือมหาชนรัฐ คือ Republic และในการปฏิวัติใหญ่ของฝรั่งเศสนั้น ประกาศอุดมการณ์ชัดเจนไว้สามประการคือ๑) เสมอภาค ๒) ภารดรภาพ ๓) เสรีภาพ
นายแอมเบดก้าผู้ร่างรัฐธรรมนูญให้อินเดียตอนได้เอกราช โดยเขาเป็นคนจัณฑาลที่หันมาสมาทานพุทธศาสนาประกาศว่าอุดมการณ์นี่พระพุทธเจ้าทรงนำมาใช้ก่อนการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศสกว่าสองพันปีคือการจัดตั้งคณะสงฆ์ แอมเบดก้ายืนยันว่าคณะสงฆ์คือประชาธิปไตยทางเลือกที่ออกจากกระแสหลักของสังคมอินเดียเวลานั้นคือคนที่เข้ามาสู่คณะสงฆ์ ไม่ว่าจะพระภิกษุสงฆ์หรือภิกษุณีสงฆ์ย่อมมีความเสมอภาคเป็นพื้นฐาน และมีภารดรภาพเป็นปัจจัยหลักที่เอื้ออาทรให้คณะสงฆ์ได้ดำรงชีพไว้เพื่อให้ได้เข้าถึงเสรีภาพจากความโลภ โกธร หลง
เมื่ออาจารย์ปรีดีพนมยงค์สนทนาธรรมกับท่านอาจารย์พุทธทาส อินทปัญโญ ที่ทำเนียบท่าช้างในรัชกาลที่ ๘ถึงเนื้อหาสาระของประชาธิปไตยตามแนวทางของพุทธศาสนานั้นจะได้พูดคุยกันถึงเรื่องนี้หรือไม่ เราไม่อาจทราบได้ แต่การที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำไม่ให้สาวกเชื่อตามคำสอนของพระองค์หากทรงเสนอให้สาวกรู้จักถกเถียงอภิปรายกันแล้วนำมาประพฤติปฎิบัติเพื่อมีวิถีชีวิตที่ดีงาม ด้วยการไม่เอาเปรียบตนเอง และผู้อื่น (ศีล) โดยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กันและกันอย่างมีจิตใจอันผ่องใสเพื่อรู้เท่าทันตัวเองและสังคม จะได้ช่วยกันเกื้อกูล ให้สังคมดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมอย่างเหมาะสมกับธรรมชาติที่แวดล้อมนี่คือเนื้อหาสาระของประชาธิปไตย
มักเข้าใจผิดกันว่าประชาธิปไตยคือ
(๑)     การออกเสียงลงคะแนน
(๒) ให้มีผู้แทนราษฎร แล้ว
(๓)      คนหรือพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากย่อมได้รับสิทธิในการปกครอง
นี่เป็นเพียงรูปแบบที่นำมาใช้อย่างแพร่หลายในประเทศที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตย ตั้งแต่อังกฤษ สหรัฐไปจนสิงคโปร์ รวมถึงประเทศไทย ในบัดนี้ ซึ่งให้ทั้งคุณและโทษ มิใช่น้อยเลย
ว่าโดยอุดมคติแล้วไซร้ ประชาธิปไตยคือระบอบการปกครองที่รัฐบาลเป็นของประชาชนและบริหารกิจการบ้านเมืองเพื่อประชาชนโดยรัฐต้องให้คำมั่นสัญญาว่าราษฎรย่อมต้องมีสิทธิในการใช้เสรีภาพได้อย่างเต็มภาคภูมิโดยรัฐบาลต้องปกป้องให้มนุษย์ปลอดพ้นไปจากแนวทางที่เลวร้ายต่างๆที่สำคัญคือการใช้อำนาจนั้นต้องมีการตรวจสอบ ไม่ให้ใครใช้อภิสิทธิ์ได้อย่างผิดๆหรือหลงระเริงไปกับความยิ่งใหญ่ใดๆ ได้
แท้ที่จริง อภิวัฒน์ ก็คือเนื้อหาสาระของประชาธิปไตยนั่นเองโดยที่ประเทศซึ่งตั้งตัวเป็นประชาธิปไตยส่วนใหญ่ เข้าถึงสาระไม่ได้แทบทั้งนั้นยิ่งภารดรภาพด้วยแล้ว แทบไม่มีระบอบประชาธิปไตยที่ไหนหรือมีใครคำนึงถึงเอาเลย ยิ่งความเสมอภาคด้วยแล้วใคร่ขอยืมคำของ ยอร์ช ออร์แวลมาใช้ว่า Economic inequality makes democracyimpossible และเสรีภาพไม่ได้หมายความว่าผู้คนมีสิทธิที่จะเลือกโคล่าหรือเปปซี่เนสกาแฟหรือสตาร์บัค ช่อง ๓ หรือ ช่อง ๗ พรรคประชาธิปปัตย์หรือพรรคไทยรักไทยนี่คือการมอมเมาทั้งนั้น
การอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ ล้มเหลวก็เพราะรัฐบาลไม่ยอมรับเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูญธรรม ซึ่งจะนำไปสู่ economic equality ตามคำปรารภของ ยอร์ช ออร์แวล นั้นเอง  ขอนำคำของยอร์ช ออร์แวล มาอ่านให้ฟังดังนี้คือ
ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจย่อมไม่ช่วยให้ประชาธิปไตย ทำงานได้ ไม่มีประโยชน์เท่าไรนักที่จะพูดถึงวิธีการที่ช่วยให้รัฐสภามีผู้แทนที่ดีขึ้น หรือให้พลเมืองทั่วๆ ไป มีจิตใจไปในทางการเมืองยิ่งๆขึ้น หรือเพื่อให้กฎหมายยุติธรรมยิ่งขึ้นหรือเสรีภาพได้รับการประกันให้มั่นคงยิ่งขึ้น เว้นเสียแต่ว่า เราต้องเริ่มถามว่าอำนาจที่แท้จริงอยู่ที่ไหนถ้าโครงสร้างทางเศรษฐกิจของสังคมอยุติธรรม กฎหมายและระบบการเมืองก็จะธำรงความอยุติธรรมอันชั่วร้าย

                                                             VI
ขอกล่าวโดยสรุปว่าการแลไปข้างหน้าเพื่อแสวงหาการอภิวัฒน์ของสยามให้เป็นไปได้ นั้นต้องตีไปที่ประเด็นของประชาธิปไตยที่สาระ ซึ่งควรประกอบไปด้วยองค์คุณดังต่อไปนี้คือ
๑)                        เสรีภาพจากทรราชย์ ซึ่งไม่จำต้องเป็นเผด็จการทหารหรือลัทธิเทวราช อันมีอภิสิทธิ์ต่างๆ อย่างไม่โปร่งใสเท่านั้นแม้การมอมเมาทางสื่อสารมวลชนด้วยละครน้ำเน่าต่างๆเพื่อล้างสมองคนให้นิยมชมชอบทุนนิยม บริโภคนิยม และหลงไหลได้ปลื้มกับวิทยาศาสตร์กระแสหลักรวมทั้งเทคโนโลยีต่างๆ อย่างไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางและเปิดเผย ย่อมเป็นตัวขัดขวางสาระแห่งประชาธิปไตย
๒)                       คนในสังคมมีวิถีชีวิตร่วมกันอย่างบรรสานสอดคล้องกันแม้จะต่างชนชั้น ต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา จะว่านี่คือภารดรภาพก็ได้สังคมไทยในอดีตเป็นเช่นนี้มานมนาน หากเราถูกโลกาภิวัฒน์และการพัฒนาในระบบอุตสาหกรรมทำลายวิถีชีวิตดังกล่าวไปมากแล้วหากยังไม่สายเกินไป ที่จะฟื้นฟูคุณธรรมข้อนี้ขึ้นมาใหม่ให้สมสมัย
๓)                       กฎหมายต้องเป็นใหญ่เหนือทุกๆ คน ขบวนการยุติธรรมต้องโปร่งใสตรวจสอบได้
สามข้อนี้เป็นปัจจัยหลักของระบอบการปกครองที่ดีงามแม้จะไม่ใช่ประชาธิปไตยก็ได้ โดยที่เนื้อหาสาระของประชาธิปไตยต้องประกอบไปด้วย
๔)                       เสมอภาพตามธรรมชาติ อาจไม่เท่าเทียมกันแท้ทีเดียวทางเศรษฐกิจแต่ในทางสังคม ต้องปราศจากการกดขี่ ดูถูกดูแคลน โดยเฉพาะคนที่อ่อนแอกว่า ไม่ว่าจะในทางเพศหรือในทางที่เป็นคนกลุ่มน้อย ผู้ที่มีเงินมากกว่า ต้องเสียภาษีมากกว่าและต้องรับผิดชอบทางสังคมมากว่าคนจน และคนด้อยโอกาสซึ่งควรได้รับโอกาสให้เคลื่อนย้ายสถานะทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองอย่างไม่ลืมกำพืดเดิมของคนโดยเน้นที่ศักดิ์ศรีของบรรพชน ซึ่งแม้จะเป็นคนเล็กคนน้อย คนปลายอ้อปลายแขมก็ตาม
๕)                       ปรัชญาชาวบ้าน หรือภูมิปัญญาชาวบ้านนั้นสำคัญยิ่งกว่าวิทยาการอันทันสมัย อย่านึกว่าอะไรๆ ก็สุดแท้แต่ผู้เชี่ยวชาญซึ่งให้โทษมากกว่าให้คุณ ดังการใช้ภาษีอากรให้หมดไปกับการสะสมอาวุธยุทธภัณฑ์นั้นเป็นตัวอย่างที่เลวซึ่งแลเห็นได้ง่าย
๖)                        ที่สำคัญยิ่งกว่านี้ ก็ตรงที่ประชาธิปไตยนั้นควรอุดหนุนให้ใช้เหตุใช้ผล โดยคนนั้นๆ ไม่จำต้องมีความรู้ที่วิเศษพิสดารใดๆคนที่มีความรู้ก็ควรเคารพนับถือชาวบ้าน อย่างปราศจากความยโสโอหังประชาธิปไตยจึงจะเป็นไปได้ด้วยดี
๗)                       ที่สำคัญเหนืออื่นใดคือการศึกษาซึ่งไม่เน้นให้คนสยบยอมกับระบบ ไม่สอนให้คนคิดอย่างเห็นแก่ตัวสอนให้นิยมชมชอบวีรบุรุษปลอมต่างๆไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน แต่ให้รู้จักคิดอย่างเป็นองค์รวมให้รู้จักโยงใยหัวใจมาประสานกับหัวคิด ให้แหวกไปจากประชาธิปไตยกระแสหลักในประเทศต่างๆ

                                                                   VII
                ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คงมีประโยชน์บ้าง สำหรับการเข้าใจในทางเนื้อหาสาระของประชาธิปไตยซึ่งเป็นหัวใจของการอภิวัฒน์ โดยเฉพาะเวลานี้ในเมืองไทยเต็มไปด้วยความสับสนไหนจะจากขัตติยาศักดินาธิปไตยในอดีต ซึ่งยังทรงอิทธิพลอยู่ในปัจจุบันทั้งยังมองไม่เห็นอนาคตอย่างสดใส โดยเฉพาะก็ตอนเปลี่ยนรัชกาล ดูประหนึ่งว่าประชาชาติถูกแช่เข็งไว้ในกาลเวลาอันหลายต่อหลายคนในหมู่ชนชั้นนำไม่ยอมรับความจริงโดยมีความรุนแรงแ�

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar