tisdag 28 juli 2020

Update :เลขากษัตริย์คือซุปเปอร์ปลัดกระทรวง

นำเสนอต่อมหาชนโดย จอห์น ลี
ตาสว่างที่4:เลขากษัตริย์คือซุปเปอร์ปลัดกระทรวง
เมื่อกษัตริย์ภูมิพลคุมกองทัพและศาล (ตามที่กล่าวรูปธรรมไว้ในตาสว่างที่ 2,3) อำนาจบริหารรัฐจึงอยู่ในกำมือของกษัตริย์ ด้วยเหตุนี้ รัฐสภาและรัฐบาลที่มาจากประชาชนจึงไม่มีความมั่นคงและโดยพระราชประสงค์ของพระองค์ก็ไม่ชื่นชมต่อระบอบประชาธิปไตย เพียงแต่โลกสมัยใหม่ไม่อาจจะปฏิเสธได้ ดังจะเห็นได้จากตลอดรัชสมัยของพระองค์, พระองค์ก็ไม่เคยแสดงออกใดๆหรือไม่เคยมีพระราชดำรัสใดๆที่ชื่นชมหรือปกป้องระบอบประชาธิปไตยเลย   
แต่ในทางตรงข้ามพระองค์กลับทรงตำหนินักการเมืองและระบอบประชาธิปไตยในที่สาธารณะอยู่เสมอ  รวมตลอดทั้งมีการแสดงออกอย่างโจ่งแจ้งให้ทหารพระราชาทำการยึดอำนาจล้มรัฐบาลประชาธิปไตยอยู่เสมอ เช่นเปิดทางให้ประธานองคมนตรีพลเอกเปรม ตินสูลานนท์  ออกมายุยงให้ทหารทำการรัฐประหาร เช่นคำกล่าวของ พลเอก เปรมที่โด่งดังในช่วงปี 2549   เรื่อง " จ๊อกกี้ไม่ใช่เจ้าของม้าแต่ม้าเป็นของเจ้าของคอกม้า ดังนั้นม้าไม่ต้องฟังจ๊อกกี้" และก็ตามมาด้วยการรัฐประหาร 19 กันยา 2549  
และล่าสุดก็กล่าวต่อหน้าคณะของพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา   หัวหน้าคณะรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557  ในโอกาสเข้าอวยพรปีใหม่เมื่อต้นปี 2558   
ว่า "พลเอกประยุทธ์ทำการรัฐประหารก็เพื่อพระเจ้าอยู่หัว" และหลักฐานที่เป็นประจักษ์พยานเมื่อเกิดการรัฐประหารตามการชี้นำของประธานองคมนตรีแล้ว   
กษัตริย์ภูมิพล ก็เปิดทางให้ประธานองคมนตรีนำคณะผู้ยึดอำนาจเข้าเฝ้าและพระองค์ก็จะลงนามอนุมัติให้โดยไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ และที่สำคัญพระองค์ก็ยังทรงชุบเลี้ยงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารโดยตรงมาตลอดอย่างยาวนานแล้ว   ตั้งแต่นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ในปี 2519 จนถึง พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุขในปี 2549 ในฐานะองคมนตรี
ในการบริหารงานรัฐที่เป็นงานของข้าราชการประจำ  พระองค์ก็ทำหน้าที่เหมือนนายกรัฐมนตรี, มีคณะองคมนตรีทำหน้าที่เหมือนคณะรัฐมนตรี และมีราชเลขาธิการคือท่านแก้วขวัญ วัชชโรทัย  ทำหน้าที่เหมือนเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 
โดยนำนโยบายจากวังทั้งหมดรวมถึงโครงการพระราชดำริผลักเข้าไปในทุกกระทรวง 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงเกษตร, กระทรวงการต่างประเทศ จะมีสายตรงจากสำนักพระราชวังไปเป็นปลัดกระทรวง, อธิบดี, เอกอัครราชฑูต (ในประเทศที่สำคัญที่มีผลประโยชน์ของราชสำนักลงทุนหรือมีพระราชวังที่เชื้อพระวงศ์จะเสด็จไปพักตากอากาศเช่นสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ,เยอรมัน เป็นต้น และฑูตในประเทศเหล่านี้จะเป็นผู้ใกล้ชิดและทุกครั้งที่มีการยึดอำนาจฑูตเหล่านี้จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเช่นนายอานัน ปันยารชุณเป็นต้น)  
รวมถึงการออกแบบโครงสร้างให้คนของวังเข้าไปนั่งเป็นกรรมการคุมนโยบายและใช้งบประมาณของกระทรวงโดยตรง เช่นนายพารณ อิสระเสณา และนายแพทย์เกษม วัฒนชัย (องคมนตรี) นั่งเป็นกรรมการนโยบายทางการศึกษาในกระทรวงศึกษาที่มีฐานะสูงกว่ารัฐมนตรีและไม่ต้องออกตามวาระและทั้งหมดนี้อยู่นอกการควบคุมจากรัฐสภา
เพื่อให้เห็นชัดเจนดังตัวอย่างหนึ่งในหลายร้อยตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่ต้องพูดถึงคือการประชุมคณะปลัดกระทรวงประจำเดือนซึ่งเป็นการประสานงานในฐานะผู้ปฏิบัติงานระดับสูงที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการประชุมคณะรัฐมนตรีปรากฎว่านายแก้วขวัญ วัชชโรทัย ราชเลขาธิการก็เข้าร่วมประชุมด้วยซึ่งแน่นอนที่สุดก็จะได้รับความเกรงใจจากที่ประชุมจนเป็นที่มาของคำว่า "ซุปเปอร์ปลัดกระทรวง"
เมื่อความจริงปรากฎเช่นนี้การปกครองของไทยจึงเป็น "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช" สมบูรณ์แบบ   เพียงแต่อยู่ในโลกยุคใหม่กษัตริย์จึงจำเป็นต้องคุมอำนาจอธิปไตยแฝงอยู่ในระบอบรัฐสภา 

ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีจึงเกิดการรัฐประหารล้มระบอบการปกครองที่มาจากประชาชนอยู่เสมอและก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมพระองค์จึงเป็นกษัตริย์ที่รวยที่สุดในโลกแต่ประชาชนยากจน?

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar