สิงคโปร์ประหารชีวิตแขวนคอนักโทษ ลักลอบขนกัญชา 1 กก. เข้าประเทศ
.
สิงคโปร์ ตัดสินลงโทษประหารชีวิตด้วยการแขวนคอนักโทษ ข้อหาร่วมกันสมคบคิดนำเข้ากัญชา 1 กิโลกรัม จากมาเลเซียเข้ามายังสิงคโปร์ เมื่อปี 2556 แม้ว่าจะมีการยื่นอุทธรณ์จากญาติ นักเคลื่อนไหว และสหประชาชาติ
.
ครอบครัวของนายทังการาจู ซุปเปียห์ วัย 46 ปี เปิดเผยว่า นายทังการาจูถูกแขวนคอในช่วงเช้าตรู่วันนี้ (26 เม.ย.) ที่เรือนจำชางงี ด้านนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน ระบุว่า คดีนี้หลักฐานอ่อนมาก และผู้ต้องหาเข้าไม่ถึงสิทธิทางกฎหมายระหว่างการพิจารณาคดี ไม่ว่าจะเป็นสิทธิการเข้าถึงล่ามแปลภาษาทมิฬที่เพียงพอ และการต้องโต้แย้งอุทธรณ์ครั้งสุดท้ายด้วยตัวเอง เนื่องจากครอบครัวหาทนายความไม่ได้
.
สิงคโปร์ เป็นประเทศที่มีกฎหมายต่อต้านยาเสพติดที่เข้มงวดที่สุดในโลก ซึ่งรัฐบาลอ้างว่ากฎหมายที่เข้มงวดจำเป็นสำหรับการป้องกันอาชญากรรมยาเสพติด เมื่อปีที่แล้ว สิงคโปร์ประหารชีวิตนักโทษข้อหายาเสพติดไป 11 ราย รวมทั้งชายผู้บกพร่องทางสติปัญญาที่ตกเป็นผู้ต้องหาครอบครองเฮโรอีนปริมาณ 3 ช้อนโต๊ะ
.
นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนระบุว่า กฎหมายยาเสพติดของสิงคโปร์มีความเข้มงวดและมีการใช้โทษประหารชีวิตเพิ่มขึ้นสวนทางกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค โดยมาเลเซียเป็นประเทศล่าสุดที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตเมื่อต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา
.
รายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตในปี 2564 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล พบว่า มีข้อมูลการประหารชีวิตอย่างน้อย 579 ครั้งใน 18 ประเทศ ซึ่งเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับจำนวนที่บันทึกได้ในปี 2563 อิหร่านยังคงเป็นประเทศที่มีการประหารชีวิตเพิ่มขึ้นสูงสุด โดยมีการประหารชีวิตบุคคลอย่างน้อย 314 คน (เพิ่มจากอย่างน้อย 246 คนในปี 2563)
.
ในประชาคมอาเซียน 10 ประเทศ มาเลเซียเป็นประเทศล่าสุดที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตภาคบังคับเมื่อต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ส่วนเมียนมา เริ่มกลับมาลงโทษประหารชีวิตอีกครั้งในรอบ 10 ปี เมื่อกลางปี 2565
.
ในรายงานของแอมเนสตี้ปี 2564 ระบุว่า กัมพูชาและฟิลิปปินส์ ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท ส่วนลาว และบรูไน ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ คือยังคงโทษประหารชีวิตอยู่ตามกฎหมายสำหรับอาชญากรรมทั่วไป แต่ได้มีการระงับการประหารชีวิตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาหรือมากกว่านั้น ส่วนประเทศไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่
.
ย้อนอ่าน เรื่องโทษประหารยังมีความจำเป็นในไทยหรือไม่ https://bbc.in/3Lasgwj
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar