torsdag 18 september 2014

สังคมเปลี่ยน ชาวนาเปลี่ยน : พลิกจากบทบาทเกษตรพอกิน เป็นเกษตรเชิงพาณิชย์ในลักษณะที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ... อาชีพชาวนาปัจจุบันกับ ปัญหาจ้างแรงงานทำนา ปัญหาหนี้สินรายจ่ายมากกว่ารายได้ ปัญหาต้องซื้ออาหารทั้งหมดจากภายนอก ........



สังคมเปลี่ยน ชาวนาเปลี่ยน

 
นับย้อนไป 50 ปีให้หลัง น่าจะกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า เป็นช่วงที่เป็นจุดเริ่มของความเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเกษตรกรไทยเลยก็ว่าได้ เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็หนักหน่วง ความเปลี่ยนแปลงที่ว่าคือการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกบทบาท  พลิกจากบทบาทเกษตรพอกิน เป็นเกษตรเชิงพาณิชย์ในลักษณะที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ประเด็นนี้เป็นที่รับรู้กันอย่างยาวนาน อีกทั้งเราน่าจะสามารถไล่เรียงเรื่องราวมาเล่าต่อกันได้อย่างไม่มีวันจบ เหตุผลก็คือ การเปลี่ยนแปลงในคราวนั้น มันมีผลพวงหลากหลายอย่างฉายภาพให้เห็นเป็นฉากๆ ตามกันมาจนถึงวันนี้แบบที่นับไม่ถ้วนเลยทีเดียว อีกทั้งยังมีรายละเอียดในแต่ละส่วนของประวัติศาสตร์ค่อนข้างมากจนทำให้เราไม่อาจเล่าจนจบแบบเบ็ดเสร็จได้ แต่ ณ ที่นี้จะไม่ขอฉายภาพในมุมที่สวยงามนัก เพราะภาพที่สวยงามนั้นถูกถ่ายทอด ถูกฉายให้เห็นไว้แล้วอย่างมากมาย แต่ขอพูดถึงภาพในบางมุมหรือยกตัวอย่างเพียงบางภาพในอีกด้าน กล่าวคือ จะขอยกกรณีศึกษาตัวอย่างชาวนา อ.หันคา จ.ชัยนาท ขึ้นมานำเสนอให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ผลพวงจากความเปลี่ยนแปลงที่พบจากครอบครัวชาวนา อ.หันคา จ.ชัยนาท นั้น ประเด็นแรกที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ พบว่าครอบครัวชาวนาได้เปลี่ยนไปจากที่มีแรงงานในแปลงนาแบบเครือญาติหรือแบบครอบครัวขยายเมื่อครั้งอดีตครอบครัวละเป็น 10 คน/ไม่นับรวมการเอาแรง (แบบไม่ต้องใช้เงินจ้าง) มาถึงยุคปัจจุบันครอบครัวชาวนามีแรงงานเฉลี่ยเพียงครอบครัวละ 1-2 คนเท่านั้น  คำถามที่อยากจะให้ช่วยกันคิดต่อก็คือ สมาชิกครอบครัวหายไปไหน ?

ประเด็นที่สองคือ จากครอบครัวชาวนาที่สามารถถึงพา(ไม่ต้องซื้อกิน)ตัวเองในด้านอาหารได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบัน อาหารที่สำคัญสำหรับการดำรงชีวิตจำพวกเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ แม้กระทั่งข้าวที่ชาวนาเป็นผู้ปลูกเอง ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของครอบครัวชาวนาต้องมีการพึ่งพาอาหารทั้ง 4 ประเภทนี้จากภายนอก และร้อยละ 73 ของครอบครัวชาวนายังต้องซื้อข้าวกิน เกิดอะไรขึ้นกับปรากฏการณ์นี้  ?

ความเปลี่ยนแปลงประเด็นที่สามนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญมาก เพราะเชื่อว่าสมัยก่อน แม้จะมีระบบสินเชื่ออยู่บ้างแล้ว และครอบครัวชาวนาคงเป็นหนี้ไม่กี่อัฐ  แต่ปัจจุบันพบว่าชาวนามีรายได้เฉลี่ย 210,140  บาทต่อครอบครัวต่อปี มีรายจ่ายเฉลี่ย 250,323 บาทต่อครอบครัวต่อปี และมีหนี้สินเฉลี่ยครอบครัวละ 3 แสนกว่าบาท  ณ ตอนนี้คำถามยังอยู่ที่เดิมคือ เกิดอะไรขึ้นกับปรากฏการณ์นี้ ?

ความเปลี่ยนแปลงที่สี่ซึ่งเป็นตัวอย่างของความเปลี่ยนแปลงตัวสุดท้ายที่จะหยิบยกขึ้นมา ซึ่งหากจะบอกว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลพวงจากความเปลี่ยนแปลงที่สามก็ว่าได้ คือ ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้จากการเปรียบเทียบด้านอาชีพหลักของกลุ่มคนสมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่กับกลุ่มคนรุ่นปัจจุบัน เมื่อเราเหมารวมเอาว่า อาชีพทำนา ทำสวน ทำไร่ ทุกอย่างเป็นอาชีพเกษตรกรรม เราจะพบว่าครอบครัวที่พ่อแม่เคยประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก(ร้อยละ 84) เมื่อมาถึงรุ่นลูก ความเปลี่ยนแปลงนี้ก็ยังคงไม่เปลี่ยนไปมากนัก คือ เหลือครอบครัวที่ทำเกษตรเป็นอาชีพหลักอยู่ร้อยละ 80 อย่างไรก็ตาม เจาะลึกลงไปอีกจะพบว่า คนที่ทำนาเป็นอาชีพหลักได้เปลี่ยนแล้ว กล่าวคือ สมัยก่อนครอบครัวที่ทำนาเป็นอาชีพหลักร้อยละ 70 มาถึงยุคปัจจุบัน แม้การทำนาจะสะดวกสบายขึ้นกว่าเดิมมาก ด้วยความที่ว่า ทุกกระบวนการทำนาใช้วิธีการจ้างทั้งหมด พบว่าเหลือชาวนาอยู่เพียงร้อยละ 50  ของครอบครัวผู้ที่มีการประกอบอาชีพทั้งหมดเท่านั้น

มาถึงตรงนี้ จากตัวเลขที่เกิดขึ้น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ยึดอาชีพเกษตร(รวมเกษตรทุกประเภท)เป็นอาชีพหลัก ลดลงจากร้อยละ 84 เหลือร้อยละ 80  กับส่วนที่ยึดอาชีพทำนาเป็นอาชีพหลัก ลดลงจากร้อยละ 70 เหลือร้อยละ 50 ถ้าหากเราจะคิดตามตัวเลข เราคิดว่าตัวเลขดังกล่าวนี้บอกนัยอะไร ....

ในความเห็นของผู้เขียนคิดว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น บอกเป็นนัยๆ ว่า การทำนาเพียงอย่างเดียวคงไม่ใช่คำตอบของครอบครัวชาวนาในยุคปัจจุบันที่รายจ่ายของครอบครัวมีความหลากหลายและเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะครอบครัวที่มีบุตรอยู่ในช่วงของการเข้ารับการศึกษา จะมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มเข้ามา แต่สิ่งที่เกือบจะทุกครอบครัวเป็นไปในลักษณะเดียวกันก็คือ มีค่าใช้จ่ายเฉพาะที่เป็นค่าอาหารสูงเป็นลำดับที่หนึ่ง(ร้อยละ 42.24) เมื่อเทียบสัดส่วนกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ภายในครอบครัว

ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ค่าอาหาร ค่าเล่าเรียนบุตร ค่าน้ำ-ค่าไฟ ค่ารักษาพยาบาล ค่าภาษีสังคม ค่าเครื่องอุปโภค รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทำให้รายได้ที่เคยเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในช่วงก่อนหน้านี้ ปัจจุบันไม่มีความสมดุลกันแล้ว (รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย) ทำให้ชาวนาต้องปรับตัวตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หรือพูดกันให้ตรงๆ เลยก็คือ “ทำนาอย่างเดียวไม่พอกิน” ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในยุคปัจจุบันชาวนาผู้ที่จะอยู่รอดได้ (แบบไม่ลำบากมาก) ส่วนใหญ่ มักเป็นชาวนาผู้ที่ดำรงชีพด้วยการทำนาเป็นอาชีพหลัก และหารายได้จากการประกอบอาชีพเสริม ไม่เช่นนั้นอาจจะอยู่รอดได้ยาก

อาชีพเสริมที่ว่ามีทั้งอาชีพเสริมที่เป็นอาชีพรอง(ทำนาเป็นอาชีพหลัก ทำไร่หรือทำสวนเป็นอาชีพรอง)  และอาชีพรับจ้างทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นการรับจ้างในแปลงเกษตร เช่น คนทำนาเป็นอาชีพหลัก หลังจากทำนาตัวเองเสร็จก็จะไปรับจ้างในแปลงนาของชาวนารายอื่น หรือไปรับจ้างปลูกอ้อย รับจ้างปลูกมันสำปะหลัง รับจ้างตัดข้าวดีด ฯ

ทั้งหมดคือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชาวนาในยุคปัจจุบันซึ่งดำรงชีวิตในลักษณะของการพยุงตัว หรือเอาตัวรอดให้ได้นานที่สุดเท่านั้น  ความคิดสุดท้ายที่พอจะคิดออก ณ ขณะนี้มีเพียงว่า ลำพังจะเอาตัวเองและครอบครัวให้รอดยังยากอยู่ นับประสาอะไรกับการความคิดที่ว่า จะปลดเปลื้องหนี้สินที่มีอยู่เฉลี่ยครอบครัวละ 323,649.51 บาท (ยังไม่รวมดอกเบี้ยที่มีเฉลี่ยครอบครัวละ 233,209.36 บาท) จะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างไรจึงจะสัมฤทธิ์ผลเล่า

 
 
ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่: www.landactionthai.org

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar