måndag 9 mars 2015

บทความ 'เดอะดิพโพลแมต' เผยไทยล้าหลังอย่างมากเพราะรัฐประหาร

บทความจากเว็บไซต์วิเคราะห์ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกระบุถึงสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่ล้าหลังจนแม้กระทั่งพม่าอาจจะแซงหน้าได้ เนื่องจากกลุ่มชนชั้นนำและฝ่ายอนุรักษ์นิยมทางการเมืองยังห่วงแต่จะเสียอำนาจ...
8 มี.ค. 2558 แซม ไมเคิล นักเขียนอิสระเขียนบทความเรื่องความถดถอยครั้งใหญ่ของประเทศไทยนับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อเดือน พ.ค. 2557 ทำให้ประชาคมโลกต่างพากันตั้งคำถามว่าเหตุใดประเทศที่เป็นผู้นำประชาธิปไตยในภูมิภาคที่ชาติตะวันตกตั้งความหวังไว้ว่าจะทำให้พม่าออกจากการเป็นเผด็จการได้ถึงถดถอยล้าหลังได้ขนาดนี้จนถึงขั้นว่าประเทศพม่าอาจจะแซงหน้าได้ไมเคิล ระบุถึงการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหลังการรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่คุกคาม การเรียก "ปรับทัศนคติ" แม้กระทั่งการจับกุมตัวผู้ที่ต่อต้านอีกทั้งยังมีการควบคุมสื่อมากขึ้นและใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเล่นงานประชาชนมากขึ้น ไมเคิลยังวิจารณ์อีกว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และกระบวนการปฎิรูปแสดงให้เห็นถึงการถอยหลังกลับไปเป็นระบอบอำนาจนิยมที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยและมีการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่พวกชนชั้นนำเก่าแก่ ได้แก่ กองทัพ ข้าราชการระดับอำมาตย์ และสถาบันกษัตริย์
บทความของไมเคิล ยังระบุถึงข้ออ้างของกลุ่มชนชั้นนำเก่าหรือชาวไทยที่ยำเกรงต่อสถาบันนำมาใช้อธิบายถึงความล้าหลังของตัวเอง 3 รูปแบบ คำอธิบายแรกพวกเขาจะอ้างว่าการเลือกตั้งและการชุมนุมของฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยจะ "ทำให้เกิดความโกลาหล" คำอธิบายที่สองคือการอ้างว่าอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และครอบครัวมีการทุจริตสูงมากราวกับว่าเมื่อก่อนนี้การเมืองไทยสะอาดบริสุทธิ์ อีกทั้งยังอ้างข้อหา "ล้มเจ้า" คำอธิบายที่สามคือ "ประเทศไทยมีลักษณะเฉพาะ และระบอบกษัตริย์เท่านั้นที่ดีที่สุดและมีคุณธรรมที่สุด" พวกเขาอ้างว่าต้องการมีประชาธิปไตยในแบบของตนเอง
ไมเคิลระบุว่า คำอธิบายเหล่านี้ถูกปลุกปั่นโดยกลุ่มอำมาตย์ของไทยและกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่มีทั้งกลุ่มคนรวยและคนที่ถูกล้างสมองจากชนชั้นอื่น แต่ก็ไม่มีตัวเลขระบุชัดเจนว่ามีประชาชนไทยที่สนับสนุนระบอบล้าหลังราวยุคกลางแบบนี้อยู่จริงมากน้อยแค่ไหนเพราะชนชั้นนำไม่อนุญาตให้มีการทำประชามติในเรื่องนี้ ทำให้คนไทยไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากถูกปลูกฝังให้เชื่อตั้งแต่เด็กว่าพวกเขามีกลุ่มราชวงศ์ที่ดีที่สุดในโลก มีการกีดกันคนที่ไม่เห็นด้วย ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ต่างพยายามใช้เหตุผลและแนวคิดเสรีทางการเมืองเพื่อถกเถียงกับผู้นำไทยแต่ดูเหมือนจะไม่เป็นผล ผู้นำไทยไม่ยอมละทิ้งแนวคิดที่ล้าหลังและคับแคบในประเด็นที่ว่าระบอบกษัตริย์ควรมีบทบาทอย่างไรในยุคสมัยใหม่ พวกอนุรักษ์หัวเก่าพยายามรักษาแนวทางปฏิบัติเดิมๆ ไว้ พยายามกำจัดกลุ่มของทักษิณและใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือเพื่อกำจัดคนที่เห็นต่างและต้องการให้ประเทศก้าวหน้า
บทความระบุอีกว่า สำหรับผู้ที่มีความรู้สายมนุษย์ศาสตร์และปรัชญาตะวันตก ข้ออ้างของกองทัพและกลุ่มชนชั้นนำเก่าเป็นแค่ข้ออ้างลอยๆ เพื่อยึดกุมอำนาจเบ็ดเสร็จของพวกเขาเอาไว้
ไมเคิลระบุว่าข้ออ้างของกลุ่มชนชั้นนำมีช่องโหว่ดังต่อไปนี้ หนึ่งคือ ข้ออ้างเรื่องความวุ่นวายทางการเมืองตัวผู้ก่อความวุ่นวายเองไม่ได้มีแค่ฝ่ายสนับสนุนทักษิณ แต่เป็นฝ่ายชนชั้นนำเองที่เป็นตัวการสำคัญในการสร้างความวุ่นวายและเป็น "โรคร้าย" ของวัฒนธรรมการเมืองในไทย ชนชั้นนำสร้างความเข้าใจผิดๆ ให้กับพวกที่ชุมนุม "เป่านกหวีด" ที่ส่วนใหญ่เป็นคนในเมืองจนกระทั่งนำมาซึ่งการรัฐประหาร
ช่องโหว่ประการที่สองในข้ออ้างของกลุ่มชั้นนำมาจากกลุ่มกองทัพที่อ้างว่าพวกเขา "คืนความสุข" ให้กับคนไทยก็ฟังดูไม่น่าเชื่อถือ เพราะนิยาม "ความสุข" ของเผด็จการทหารไทยเป็นเรื่องในเชิงอุปถัมภ์ทางเดียว ไม่มีการเปิดทำประชามติเลยว่าประชาชนต้องการอะไรจริงๆ ในขณะที่พวกเขาอ้างเรื่องการกำจัดคอร์รัปชั่นแต่ก็ยังคงเครือข่ายระบบอุปถัมภ์โดยมีลำดับขั้นทางสังคมอยู่ ให้ระบอบกษัตริย์อยู่สูงสุด ซึ่งระบบอุปถัมภ์มักจะขัดต่อกฎหมายและถือเป็นเรื่องเลวร้ายไม่แพ้คอร์รัปชั่น
ช่องโหว่ประการที่สามของคำอธิบายจากฝ่ายสนับสนุนเผด็จการที่อ้างว่าประชาธิปไตยเข้ากันได้กับระบอบการเมืองและวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยจนกระทั่งทักษิณขึ้นมามีอำนาจก็เป็นข้ออ้างที่ไม่มีข้อพิสูจน์ เพราะประชาธิปไตยไทยยังอายุไม่มากและวัฒนธรรมไทยเป็นตัวที่คอยทำให้ประชาธิปไตยไทยอ่อนแอเสมอมา ระบบการเมืองของไทยก่อนหน้านี้ถูกครอบงำโดยอำมาตย์ คนมีสิทธิเลือกตั้งก็ยังมีความรู้ทางการเมืองและความรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพพลเมืองอยู่น้อยทำให้ระบอบประชาธิปไตยถูกฉุดรั้งโดยการเล่นพรรคเล่นพวกและระบอบอุปถัมภ์
ไมเคิลมองว่าปัญหาสำคัญอยู่ตรงที่ชนชั้นนำเก่าไม่ยอมแบ่งอำนาจหรือปรับตัวให้เข้ากับชนชั้นนำใหม่คือกลุ่มของทักษิณ อีกทั้งฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ยังคงยึดติดอยู่กับอำนาจและอภิสิทธิ์ที่ตนเคยมีอยู่ซึ่งอำนาจและอภิสิทธิ์เหล่านี้ค่อยๆ ลดลงหลังจากที่มีคนตื่นรู้เรื่องประชาธิปไตย คิดถึงสิทธิของตัวเองและเรียกร้องความเท่าเทียมกันมากขึ้น
ไมเคิลยังเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบอบกษัตริย์ของไทยซึ่งมีความสัมพันธ์กับกลุ่มชนชั้นนำในไทย ทางฝ่ายประชาชนต้องเปิดให้มีการวิเคราะห์และอภิปรายในเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่น่าเศร้าที่ประชาชนไทยหลายคนยังคงปิดหูปิดตาไม่ยอมรับฟังความเห็นต่าง เรียกร้องให้ประเทศอื่นเข้าใจประเทศตนแต่ไม่เคยคำนึงเลยว่าประเทศอื่นๆ มองประเทศไทยเป็นอย่างไร ทำให้คนไทยหลายคนขังตัวเองอยู่แต่กับความหวาดกลัวและขาดจินตนาการทางการเมือง
ไมเคิลวิเคราะห์ว่าหลังจากมีการเลือกตั้งครั้งหน้าแล้วไทยจะยังคงไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่เป็นประเทศเสรีมากขึ้นแต่อย่างใด เพราะยังคงมีการจ้องถอดถอนและดำเนินคดีกับอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นสัญญาณที่เลวร้ายทำให้ประเทศไม่เกิดการปรองดองเพราะมีกลุ่มที่ได้ผลประโยชน์อยู่ฝ่ายเดียว
ไมเคิลยังได้วิจารณ์ผ่านบทความว่ากลุ่มชนชั้นนำ นักวิชาการกระแสหลัก และกลุ่มชนชั้นกลางยังคงขาดความกล้าหาญทำให้เซนเซอร์ตัวเองและไม่ยอมแสดงความคิดเห็น ทำให้ไมเคิลมองว่าต้องมีการปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเท่านั้นประเทศถึงจะก้าวสู่ความเป็นสมัยใหม่ได้ ไมเคิลเป็นห่วงอีกว่าการพยายามกล่าวหาว่าผู้เรียกร้องประชาธิปไตยเป็นพวกล้มเจ้านั้นทำให้เกิดความเสี่ยงในตัวเองในแง่ที่จะมีการเชื่อมโยงระบอบกษัตริย์กับระบอบเผด็จการอำนาจนิยมเองได้
ผู้เชียนบทความระบุอีกว่าความหวังในอนาคตของประเทศไทยน่าจะขึ้นอยู่กับกลุ่มคนหนุ่มสาวรุ่นต่อไป การที่พวกเขาได้รับการศึกษาเรื่องเสรีภาพและคุณค่าด้านดีของประชาธิปไตยจะเป็นหนทางเดียวที่ช่วยให้ประเทศไทยไม่ล้าหลังจนกลายเป็นประเทศคร่ำครึได้ แม้ว่าบางส่วนจะผูก "ความเป็นไทย" ไว้กับ "ความเป็นสมัยใหม่" และ "การเป็นประชาธิปไตย" ซึ่งฟังดูย้อนแย้งก็ตาม


เรียบเรียงจาก
Thailand’s Big Step Backwards, The Diplomat, 05-03-2015http://thediplomat.com/2015/03/thailands-big-step-backwards/

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar