torsdag 23 april 2020

ใบตองแห้ง: เชิญเจ้าสัว=ไร้หัวคิด ..

พลันที่ประยุทธ์ประกาศขอความช่วยเหลือ 20 เจ้าสัว มาช่วยเยียวยาเศรษฐกิจ โลกออนไลน์ก็ผุด #รัฐบาลขอทาน ขึ้นอันดับหนึ่งเหยียบล้าน แม้วิษณุ เครืองาม แก้ต่างว่าเชิญมาขอคำปรึกษา ไม่ได้เชิญมาขอบริจาค
ขณะเดียวกันก็กลายเป็นข่าวฮาโคตร เมื่อพบว่าทักษิณอยู่อันดับ 16 ของเจ้าสัวไทย จนชาวบ้านแซวว่าไม่ต้องเชิญคนอื่นหรอก ปรึกษาทักษิณคนเดียวก็แก้ได้หมด
ครั้นตัดทักษิณออกไป ก็มีชื่อแม่ธนาธร ยังมีหน้าเชิญเขามา? ทั้งที่ระบอบอำนาจนี้ทำกับลูกเขาถึงเพียงนั้น
แค่มูลนิธิไปแจกเงินแจกของชาวบ้าน ก็ยังมีคนของรัฐบาลแกว่งปาก หาว่าหวังผลทางการเมืองในช่วงวิกฤติ วิกฤติจากใคร รัฐเยียวยาไม่ทั่วถึง ไปเที่ยวตำหนิคนแจกของ

เห็นคนแออัดดอนเมือง ก็เตือนได้ว่าให้จัดระยะห่าง แต่ไม่ใช่คาบกฎหมายไปขู่ว่าอาจผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เท่ากับรัฐช่วยประชาชนไม่ได้แล้วไปกีดกันคนอื่น

รัฐบาลจะเชิญ 20 เจ้าสัว ไม่รู้คิดได้ไง ไม่รู้เอาอวัยวะส่วนไหนคิด ไม่รู้หรือว่าจะโดนประชาชนด่า เพราะที่ผ่านมาก็น่าจะรู้ตัวอยู่ว่าโดนครหา “อุ้มคนรวย”
ถ้าอยากขอความเห็น ทำไมต้องฟังเฉพาะอภิมหาเศรษฐี แถมยกให้เป็น “ผู้อาวุโสของสังคม” (เอาราษฎรอาวุโสไปไว้ไหน ทำไมไม่เชิญหมอประเวศบ้าง) ทำไมไม่ฟังทุกฝ่าย เชิญนักเศรษฐศาสตร์ทุกมหาวิทยาลัย TDRI เชิญ SME ภาคประชาสังคม มาสะท้อนปัญหาให้คำแนะนำแต่ละด้าน หรือเชิญพรรคฝ่ายค้าน มาหารือเพื่อร่วมมือกันผ่าน พ.ร.ก.กู้เงิน
ทำไมเชิญเฉพาะอภิมหาเศรษฐี ซึ่งเป็นผู้ได้เปรียบในสังคม หลายคนมีสัญญาสัมปทานกับรัฐ มีส่วนได้ส่วนเสียจากนโยบายรัฐบาล
สมมตินะ สมมติใช้แนวทาง “ทุนประชารัฐ” ให้กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่มาออกความเห็น มาเสนอนโยบายในภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ แล้วร่วมคิดร่วมทำกับรัฐบาล เช่น เจ้าสัวเกษตรร่วมกำหนดนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร ทำงานกับกระทรวงเกษตร กระทรวงพาณิชย์ กลุ่มทุนพลังงานร่วมมือกับสนธิรัตน์ ฯลฯ

ฟังดูสวยหรู แต่คิดหรือว่าสังคมจะยอมรับ กลับจะถูกต่อต้านไปใหญ่

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร นักเศรษฐศาสตร์การเมือง มหาวิทยาลัย GRIPS ประเทศญี่ปุ่น เตือนไว้ว่า อย่าให้บาซูก้าเศรษฐกิจกลายพันธุ์ ให้รัฐราชการเอาเงินกู้มหาศาลมาตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หรือกลายเป็น “บาซูก้าประชารัฐ” ฝากความหวังไว้กับกลุ่มทุนใหญ่ ให้เข้ามาช่วยประชาชนและกิจการขนาดเล็ก ซึ่งจะมีปัญหาความโปร่งใส ซ้ำในระยะต่อไป วิบัติโควิดจะนำไปสู่ปลาใหญ่ไล่กินปลาเล็ก บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีทุนหนากว่า จะเข้าซื้อกิจการคู่แข่ง
พูดอย่างนี้ไม่ใช่มองเจ้าสัวในแง่เลวร้ายเสียหมด แต่ในเชิงระบบ รัฐบาลไม่ควรจิ้มเลือกคนรวย 20-30 คนไปพบ ในเมื่อองค์กรธุรกิจ หอการค้า สภาอุตสาหกรรม กกร. ก็มีอยู่แล้ว การเลือกเฉพาะบุคคลมีผลสองด้าน คืออาจกลายเป็นเอื้อประโยชน์เฉพาะราย หรือเป็นอย่างที่โลกออนไลน์เข้าใจ #รัฐบาลขอทาน จะให้เขาช่วยรับภาระ

เพราะนายกฯ ใช้ถ้อยคำคาดคั้น “ท่านจะร่วมมือกันกับเราอย่างไร และท่านจะลงมือช่วยเหลือประเทศไทยของเราให้มากขึ้น ได้อย่างไรบ้าง”

มองในด้านเจ้าสัว ทุกคนได้รับผลกระทบ บางรายยิ่งหนัก โดนสั่งปิดห้าง โดนห้ามขายเหล้าเบียร์ ขณะที่ต้องดูแลพนักงาน แล้วก็ทำ CSR บริจาคกันเองอยู่แล้ว
การถูกเรียกมาร่วมมือกับรัฐบาล บางรายก็กระดี๊กระด๊า อวยกันมาตลอดอยู่แล้ว บางรายก็ลำบากใจ ไม่เต็มใจ แต่จะถูกครหาทั้งขึ้นทั้งล่อง ไม่มาก็หาว่าไม่เห็นแก่ประเทศ มาก็จะถูกมองว่ามีผลประโยชน์ตอบแทน
ทำอะไรไม่มีหัวคิด คิดว่าไอเดียเจ๋ง แต่โดนด่าหนักเข้าไปอีก
ที่มา: ช่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/content/356154
2020-04-23 23:14
เมืองไทยเมืองพุทธ มีคนใจบุญมากมาย ไม่เฉพาะมหาเศรษฐีที่นายกฯ เขียนจดหมาย ขอให้ทำโครงการช่วยประชาชน คนตัวเล็กตัวน้อย ไม่ต้องรวยก็ช่วยกันได้ หอบข้าวกล่องหอบโจ๊กถุง จะไปให้คนยากจนคนตกงาน
แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ความใจบุญเช่นนั้น “ผิดกฎหมาย” เจ้าหน้าที่ไม่ให้ทำ ยึดอาหารไปทั้งหมด ไม่ให้คนตาดำ ๆ ที่เข้าคิวรอ เพราะจะผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามมั่วสุมแออัด มีความผิดเท่ากับก่อม็อบ ใครจัด “ม็อบแจกอาหาร” จะต้องขออนุญาตก่อน โดยมีการดำเนินคดีไปแล้ว 2 ราย ที่หัวลำโพงและภูเก็ต
นี่คือการตีความกฎหมาย? เกิดประโยชน์อะไรต่อส่วนรวมบ้าง มีแต่ขัดขวางให้คนอยากบริจาคท้อใจ
ใช่ละ คนไปมุงกันแน่นเสี่ยงติดเชื้อ แต่ท่าทีของรัฐแทนที่จะส่งเสริมช่วยเหลือ กลับเอากฎหมายนำหน้า โฆษก ศบค.ปรามว่าจะมีความผิด ให้มาแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อน พอข้างบนปรามอย่างนั้น ฝ่ายปฏิบัติข้างล่าง ทั้งตำรวจทั้งจังหวัด เห็นคนมาแจกของ ก็ยึดก็ห้าม หรือดำเนินคดี แม้บอกคำนึงถึงเจตนาดี คงไม่ติดคุกหรอก แต่ต่อจากนี้ใครจะอยากแจก

นี่คือการใช้กฎหมายแบบรัฐไทย รัฐราชการเจ้าขุนมูลนาย ซึ่งไม่ได้เอาเจตนารมณ์นำหน้า ใช้กฎหมายแบบกลไก ใช้ดุลพินิจแบบสุดโต่ง เห็นอะไรผิดไปหมด เข้มงวดบังคับทุกกระเบียดนิ้ว

ยิ่งมาผสมความกลัวยุคโควิด ซึ่งด้านหนึ่งก็มาจากดราม่าในสังคม เช่นการเผยแพร่ภาพ คลิป คนเบียดกันรับของแจก แล้วผู้ชมทางบ้านก็หวาดผวา เรียกร้องให้รัฐเข้ามาจัดการ รัฐก็ใช้อำนาจตัดปัญหา แต่พอพลิกมาอีกด้าน เถนตรงกระทั่งยึดโจ๊กนครปฐม ชาวบ้านก็ด่าขรม
แต่อย่ามาโทษสังคมดราม่า ในเมื่อรัฐไม่มีหลัก ไม่รู้จักใช้กฎหมายให้เหมาะสม เพราะถ้าดูกรณีที่คนเข้าคิวรับแจกอาหาร ก็ไม่ได้แออัดกว่าตอนแย่งกันเข้าห้างซื้อของกักตุน
การตีความกฎหมายโดยจี้แค่บางจุด จึงกลายเป็นว่า คนแออัดในห้างไม่ผิด แต่ถ้าแออัดเพื่อรับบริจาคผิด เหมือนคนนั่งล้อมวงกินข้าว 5-6 คนในห้องแคบ ๆ ไม่ผิด แต่ถ้ามีเหล้าเบียร์ ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินทันใด
ไม่ต้องแปลกใจ ประเทศไทยน่าจะติดอันดับหนึ่งของโลก เมื่อเทียบจำนวนผู้ติดเชื้อกับผู้ถูกจับกุม ติดเชื้อไม่ถึง 3 พัน แต่คนถูกจับฝ่าเคอร์ฟิวน่าจะเกินสามหมื่น

แล้วรัฐบาลก็เอาไปอ้างว่า นี่ไง คนฝ่าฝืนเคอร์ฟิวยังเยอะ ยังเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้ ทั้งที่ไม่สัมพันธ์กับตัวเลขผู้ติดเชื้อซึ่งลดลง

การบังคับใช้กฎหมายยังเกิดเรื่องเศร้า เช่น จ่าทหารถูกสั่งขัง 45 วันเพราะกระแสสังคมมองว่า “กร่าง” โต้เถียงผู้ว่าฯ ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามเข้าจังหวัด ก่อนความปรากฏภายหลังว่า เขาจะพาแม่ป่วยติดเตียงไปหาหมอ ยิ่งกว่านั้นเมื่อดูคลิปฉบับเต็ม ยังเห็นว่าเขาเพียงขอคำชี้แจง แล้วก็ยอมแต่โดยดี จนกระทั่งคนในทีมผู้ว่าฯ พูดจาไล่หลัง จึงเกิดวิวาทะ
ที่ระนอง แรงงาน 6 คนก็จะถูกดำเนินคดี ฐานหลบหนีเข้าจังหวัด เพราะคำสั่งผู้ว่าฯ กำหนดให้ใช้ใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าไม่ติดโควิด อุตส่าห์ไปขอใบรับรองแพทย์ว่าไม่มีไข้ พร้อมจะให้กักตัว 14 วันก็ไม่ได้ พอแอบกลับเข้าไปก็มีความผิด
ไม่มีใครตั้งคำถามว่าคำสั่งผู้ว่าฯ จังหวัดต่าง ๆ ที่ปิดเส้นทาง คนในห้ามออกคนนอกห้ามเข้า ทำให้คนเดือดร้อนมากเพียงไร มีแต่บอกว่าเมื่อเป็นคำสั่งเป็นกฎหมายก็ต้องยอมรับ เช่นเดียวกับคำสั่งเคอร์ฟิว มีประโยชน์ต่อการควบคุมโรค หรือทำให้คนเดือดร้อน อันไหนมากกว่ากัน

ถ้ารวบรวมตัวเลข คนทุกข์ยากเดือดร้อนประสบชะตากรรมเพราะกฎหมายบังคับ อาจแซงหน้าคนป่วยไปแล้วไกลลิบ
ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/content/356812
 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar