måndag 27 april 2020

ใบตองแห้ง: ตายเพราะยาแรง.

ใบตองแห้ง: ตายเพราะยาแรง

2020-04-26 12:42
หมอเลี้ยบจี้รัฐบาลเปิดเมืองได้แล้ว ถึงเวลาหยุดใช้ "ยาแรง" ไม่เช่นนั้นจะเกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงกว่าโรค เกิดผลกระทบต่อปากท้องคนจนคนชั้นกลาง จนทำให้ระบบเศรษฐกิจพังหมด
พูดง่ายๆ คือคนจะอดตาย ฆ่าตัวตาย เพราะมาตรการปิดเมือง เพราะเคอร์ฟิว เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินยึดโจ๊ก ห้ามแจกข้าว ฯลฯ มากเสียกว่าคนตายเพราะโควิด

ลำพังตัวเลขคนถูกจับ ก็น่าจะล้ำผู้ติดเชื้อไปสิบเท่า ภายใต้การใช้กฎหมายอย่างสุดโต่ง แต่อ้างว่าปรารถนาดี เพราะไม่อยากให้ติดโควิดนะนี่ กลับบ้านเกินสี่ทุ่มจึงต้องไปนอนในห้องขัง
อย่าใช้ยาแรงเกินกว่าเหตุ เป็นหลักการเดียวกันทั้งทางการแพทย์ ทางสังคม ทางกฎหมาย และระบอบการปกครอง แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเมื่อจำเป็นอย่างยิ่ง และหยุดเมื่อครบโดส แบบเดียวกับให้คีโม บำบัดมะเร็ง แต่ไม่ใช่ทำคนไข้ตายก่อนเพราะคีโม

มาตรการ "กึ่งปิดเมือง" ปิดพื้นที่เสี่ยง ห้าง ผับ สถานบริการ โรงหนัง ร้านอาหาร ฯลฯ มีความจำเป็น หลังรัฐบาลไม่ยอมกักตัวคนเดินทางจากต่างประเทศเสียตั้งแต่ต้น จนเกิด Super Spreader ที่สนามมวย ผับบาร์ ภูเก็ต พัทยา แหล่งท่องเที่ยวต่างชาติ

แต่การใช้มาตรการต่างๆ ก็ต้องตระหนักว่าต้องทำเท่าที่จำเป็นเพื่อการควบคุมโรค ไม่ใช่ออกมาตรการล้นเกิน ใช้อำนาจล้นเกิน จนเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงกว่า
รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยอาศัยความหวาดกลัวของประชาชน ที่เชื่อว่าต้องใช้ยาแรง จึงจะควบคุมโควิดอยู่ ทั้งที่เกินความจำเป็น เพราะมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาล หรือผู้ว่าฯ ออกคำสั่ง ใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อเท่านั้นก็ได้ ยกเว้นภูเก็ตและสามจังหวัดใต้ ที่โควิดระบาดหนัก จำเป็นต้องประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมงในบางพื้นที่
แต่ด้วยความหวาดกลัว อ่านข่าวประเทศนั้นประเทศนี้ ตายเป็นเบือ ประเทศไทยก็มีหมอคณิตศาสตร์ วาดกราฟพุ่ง วันที่ 15 เมษา ติดเชื้อสามแสนห้า ตายเจ็ดพัน ฟังแล้วขนหัวตั้งชัน คนส่วนใหญ่จึงยินยอมให้ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยไม่คัดค้าน
พูดอีกนัยหนึ่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินคือ "รัฐประหารมีใบรับรองแพทย์" ซ้ำยังตั้งจิตแพทย์ โฆษกสาธารณสุข มาเป็น "ไก่อู 2" ทำให้ดูเหมือนว่ามาตรการต่างๆ ของ ศบค. มี "ใบรับรองแพทย์"

ทั้งที่ไม่น่าจะมีแพทย์คนไหนรับรองว่า โควิดชุกชุมในยามวิกาล สี่ทุ่มถึงตีสี่
และอันที่จริง แพทย์ก็ไม่น่าจะรับรองว่า การห้ามขายเหล้าเบียร์ มีนัยสำคัญต่อการควบคุมโควิด เพียงแต่หมอส่วนใหญ่ไม่อยากให้ชาวบ้าน "จน เครียด กินเหล้า" ก็เลยหยวนๆ กันไป
"ยาแรง" ส่งผลกระทบทั้งเศรษฐกิจปากท้อง และสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล "สุขภาพเหนือเสรีภาพ" แม้ยอมรับว่า โรคระบาดทำให้เราต้องจำกัดสิทธิหลายประการ แต่การจำกัดนั้นก็ต้องมีเหตุผลทางการแพทย์ เช่น คนเดินทางจากพื้นที่เสี่ยง ต้องกักตัว 14 วัน เข้าใจได้
แต่คนงานทำโอที ต้องเทปูนจนเลยสี่ทุ่ม ทำให้โควิดระบาดตรงไหน นอกจากอ้างว่า "กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย" ประชาชนต้องเคารพกฎหมาย ทั้งที่ตัวกฎหมายนั้นไร้สารัตถะ ไม่ต่างจาก ม.44 ออกคำสั่งเป็นกฎหมาย
พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ใช้อำนาจล้นเกินใบรับรองแพทย์ จึงเป็นปัญหา ทำให้เกิดภาวะตำรวจทหารเป็นใหญ่ ผู้ว่าฯ เป็นใหญ่ จังหวัดใครจังหวัดมัน ออกคำสั่งป้องกันตัวเอง ปัดภาระ ห้ามเดินทาง ห้ามผ่าน ถ้าจำเป็นให้ผ่านได้แต่ห้ามจอด (ไม่ทราบว่าอนุญาตให้จอดเข้าห้องน้ำได้หรือเปล่า)
ทั้งที่ความจำเป็นมีเพียงว่า ใครจะเข้ามา ให้กักตัว 14 วัน ซึ่งอันที่จริงระยะหลัง แทบทุกจังหวัดก็พ้นความเป็นพื้นที่เสี่ยง แต่ยังกีดกันราวกับคนจังหวัดอื่นเป็น "ผีห่า"
ท้ายที่สุดก็ลามเป็นดราม่า ห้ามคนแจกข้าวแจกของ ยึดโจ๊กไปแจกเอง คนใจบุญถูกดำเนินคดี ปรับ รอลงอาญา ลุมพินี สนามหลวง ห้ามแจก จนคนหิวจะไล่กระทืบเทศกิจ

นี่คือรัฐราชการไทยใช้กฎหมายแบบไม่มีหัวคิด ไม่มีหัวใจ ขณะที่ตัวกฎหมายเองก็ไร้สารัตถะ เพียงแค่รัฐเข้าไปช่วยดูแลเท่านั้นก็จบ แต่กลับใช้อำนาจจับผิดโดยไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์
ผลข้างเคียง "ยาแรง" นอกจากกระทบเศรษฐกิจ การทำมาค้าขาย โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อย เช่นเคอร์ฟิวกระทบคนหาเช้ากินค่ำ แม่ค้ากลางคืนต้องเลิกขายตั้งแต่สามทุ่ม ยังทำให้มีคนถูกดำเนินคดีโดยไม่จำเป็น หรือเกินจำเป็น หลายหมื่นคน
นี่คือยาแรงโดยรัฐอำนาจนิยม แต่ก็ยังมีคนจำนวนหนึ่ง ที่กลั้นลมหายใจได้นานกว่าคนอื่น "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" อย่างมีความสุข หรือไม่เดือดร้อนนัก แล้วก็ยังอยากจะให้ปิดเมืองต่อไปเพื่อตัวเองปลอดภัย 100% เห็นใครทำผิดนิดผิดหน่อยก็ด่ากราด ไม่รับผิดชอบสังคม

ไปๆ มาๆ โควิดก็แบ่งชนชั้น อย่างเลี่ยงไม่พ้น คนชั้นกลางระดับบน ก็ยังหนุนอำนาจนิยมตามเคย
ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/hot-topics/news_4005934 

ใบตองแห้ง: ตายเพราะกฎหมาย 

 

เมืองไทยเมืองพุทธ มีคนใจบุญมากมาย ไม่เฉพาะมหาเศรษฐีที่นายกฯ เขียนจดหมาย ขอให้ทำโครงการช่วยประชาชน คนตัวเล็กตัวน้อย ไม่ต้องรวยก็ช่วยกันได้ หอบข้าวกล่องหอบโจ๊กถุง จะไปให้คนยากจนคนตกงาน
แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ความใจบุญเช่นนั้น “ผิดกฎหมาย” เจ้าหน้าที่ไม่ให้ทำ ยึดอาหารไปทั้งหมด ไม่ให้คนตาดำ ๆ ที่เข้าคิวรอ เพราะจะผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามมั่วสุมแออัด มีความผิดเท่ากับก่อม็อบ ใครจัด “ม็อบแจกอาหาร” จะต้องขออนุญาตก่อน โดยมีการดำเนินคดีไปแล้ว 2 ราย ที่หัวลำโพงและภูเก็ต
นี่คือการตีความกฎหมาย? เกิดประโยชน์อะไรต่อส่วนรวมบ้าง มีแต่ขัดขวางให้คนอยากบริจาคท้อใจ
ใช่ละ คนไปมุงกันแน่นเสี่ยงติดเชื้อ แต่ท่าทีของรัฐแทนที่จะส่งเสริมช่วยเหลือ กลับเอากฎหมายนำหน้า โฆษก ศบค.ปรามว่าจะมีความผิด ให้มาแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อน พอข้างบนปรามอย่างนั้น ฝ่ายปฏิบัติข้างล่าง ทั้งตำรวจทั้งจังหวัด เห็นคนมาแจกของ ก็ยึดก็ห้าม หรือดำเนินคดี แม้บอกคำนึงถึงเจตนาดี คงไม่ติดคุกหรอก แต่ต่อจากนี้ใครจะอยากแจก

นี่คือการใช้กฎหมายแบบรัฐไทย รัฐราชการเจ้าขุนมูลนาย ซึ่งไม่ได้เอาเจตนารมณ์นำหน้า ใช้กฎหมายแบบกลไก ใช้ดุลพินิจแบบสุดโต่ง เห็นอะไรผิดไปหมด เข้มงวดบังคับทุกกระเบียดนิ้ว
ยิ่งมาผสมความกลัวยุคโควิด ซึ่งด้านหนึ่งก็มาจากดราม่าในสังคม เช่นการเผยแพร่ภาพ คลิป คนเบียดกันรับของแจก แล้วผู้ชมทางบ้านก็หวาดผวา เรียกร้องให้รัฐเข้ามาจัดการ รัฐก็ใช้อำนาจตัดปัญหา แต่พอพลิกมาอีกด้าน เถนตรงกระทั่งยึดโจ๊กนครปฐม ชาวบ้านก็ด่าขรม
แต่อย่ามาโทษสังคมดราม่า ในเมื่อรัฐไม่มีหลัก ไม่รู้จักใช้กฎหมายให้เหมาะสม เพราะถ้าดูกรณีที่คนเข้าคิวรับแจกอาหาร ก็ไม่ได้แออัดกว่าตอนแย่งกันเข้าห้างซื้อของกักตุน
การตีความกฎหมายโดยจี้แค่บางจุด จึงกลายเป็นว่า คนแออัดในห้างไม่ผิด แต่ถ้าแออัดเพื่อรับบริจาคผิด เหมือนคนนั่งล้อมวงกินข้าว 5-6 คนในห้องแคบ ๆ ไม่ผิด แต่ถ้ามีเหล้าเบียร์ ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินทันใด
ไม่ต้องแปลกใจ ประเทศไทยน่าจะติดอันดับหนึ่งของโลก เมื่อเทียบจำนวนผู้ติดเชื้อกับผู้ถูกจับกุม ติดเชื้อไม่ถึง 3 พัน แต่คนถูกจับฝ่าเคอร์ฟิวน่าจะเกินสามหมื่น

แล้วรัฐบาลก็เอาไปอ้างว่า นี่ไง คนฝ่าฝืนเคอร์ฟิวยังเยอะ ยังเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้ ทั้งที่ไม่สัมพันธ์กับตัวเลขผู้ติดเชื้อซึ่งลดลง
การบังคับใช้กฎหมายยังเกิดเรื่องเศร้า เช่น จ่าทหารถูกสั่งขัง 45 วันเพราะกระแสสังคมมองว่า “กร่าง” โต้เถียงผู้ว่าฯ ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามเข้าจังหวัด ก่อนความปรากฏภายหลังว่า เขาจะพาแม่ป่วยติดเตียงไปหาหมอ ยิ่งกว่านั้นเมื่อดูคลิปฉบับเต็ม ยังเห็นว่าเขาเพียงขอคำชี้แจง แล้วก็ยอมแต่โดยดี จนกระทั่งคนในทีมผู้ว่าฯ พูดจาไล่หลัง จึงเกิดวิวาทะ
ที่ระนอง แรงงาน 6 คนก็จะถูกดำเนินคดี ฐานหลบหนีเข้าจังหวัด เพราะคำสั่งผู้ว่าฯ กำหนดให้ใช้ใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าไม่ติดโควิด อุตส่าห์ไปขอใบรับรองแพทย์ว่าไม่มีไข้ พร้อมจะให้กักตัว 14 วันก็ไม่ได้ พอแอบกลับเข้าไปก็มีความผิด
ไม่มีใครตั้งคำถามว่าคำสั่งผู้ว่าฯ จังหวัดต่าง ๆ ที่ปิดเส้นทาง คนในห้ามออกคนนอกห้ามเข้า ทำให้คนเดือดร้อนมากเพียงไร มีแต่บอกว่าเมื่อเป็นคำสั่งเป็นกฎหมายก็ต้องยอมรับ เช่นเดียวกับคำสั่งเคอร์ฟิว มีประโยชน์ต่อการควบคุมโรค หรือทำให้คนเดือดร้อน อันไหนมากกว่ากัน

ถ้ารวบรวมตัวเลข คนทุกข์ยากเดือดร้อนประสบชะตากรรมเพราะกฎหมายบังคับ อาจแซงหน้าคนป่วยไปแล้วไกลลิบ
ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/content/356812

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar