måndag 27 april 2020

ใบตองแห้ง: หมอให้เปิดใครอยากปิด

2020-04-27 23:39

เสาร์อาทิตย์เบื่ออยู่บ้านมาก อยากชวนครอบครัวขับรถเที่ยว ถนนก็โล่ง น้ำมันก็ถูก อยากไปใกล้ ๆ อยุธยา สระบุรี นครนายก เสียอย่างเดียว ไม่รู้จะไปหาข้าวกินที่ไหน คงต้องซื้อมากินในรถ

สุดท้ายไม่ได้ไป ติดภาระหลายอย่าง แต่เชื่อเถอะคนชั้นกลางพอมีกินคิดอย่างนี้ไม่น้อย สังเกตว่ารถเริ่มติด คนออกจากบ้านมากขึ้น เพราะเห็นว่าสถานการณ์น่าจะผ่อนคลายได้แล้ว

ส่วนคนหาเช้ากินค่ำไม่ต้องพูดถึง อยากให้ปลดล็อกจะแย่อยู่แล้ว ให้เปิดค้าขายได้บ้าง ให้เลิกเคอร์ฟิว จะได้พอมีเวลาเดินทาง คนขายของช่วงค่ำมีเวลาหากินมากขึ้น

มิตรสหายในเฟซ โพสต์ภาพโชว์ว่า อำเภอเขาให้เปิดร้านหมูกระทะแล้ว อ้าว จะเป็นไรไป ก็ร้านในชนบท ไม่ติดแอร์ มีพื้นที่โล่งกว้าง ให้นั่งห่าง ๆ กัน

แต่อยากแวะไปบ้างก็ไม่ได้ เพราะข้ามจังหวัดต้องกักตัว 14 วัน นครรัฐบุรีรัมย์เปิดร้านค้าร้านอาหาร 1 พ.ค.นี้ แต่ต้องติดสติกเกอร์แสดงความเป็นพลเมืองบุรีรัมย์บนบัตรประชาชนไทย คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า ไม่งั้นกักตัว 14 วัน

นี่เป็นมาตรการประหลาด โคราชไม่พบผู้ติดเชื้อมาเกิน 14 วัน สุรินทร์ ศรีสะเกษ ขอนแก่น ก็ไม่ได้เสี่ยงกว่ากัน ทำไมจังหวัดต่าง ๆ ยังห้ามคนเดินทาง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการทำมาหากิน เออ ถ้ามาจากภูเก็ต ยะลา ก็ว่าไปอย่าง เพราะแถบนั้นยังเสี่ยงสูง

สถานการณ์โควิดในประเทศไทยเริ่มควบคุมได้ ทำไมรัฐบาล ศบค. มหาดไทย ผู้ว่าฯ ยังต้องคงมาตรการบังคับเข้มข้น ส่งผลกระทบเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ และละเมิดสิทธิประชาชนเกินกว่าเหตุ จนคนฆ่าตัวตายจะมากกว่าตายเพราะโควิด คนถูกจับมากกว่าคนติดเชื้อสิบเท่า

นี่ไม่ใช่ประชาชนทึกทักเอาเอง ว่าผ่อนคลายได้ แต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและระบาดวิทยา 14 คน ประชุมกันทำข้อเสนอถึงรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. ให้เริ่ม “ปลดล็อก” กลับเข้าสู่วิถีชีวิตปกติแบบ New Normal โดยเริ่มทดลองบางจังหวัดตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค.

ข้อเสนอของแพทย์ 14 ท่านชัดเจนว่าถ้ายังใช้มาตรการนี้ต่อไป ก็มีต้นทุนสูงทั้งทางเศรษฐกิจสังคม ถ้านานไปโดยไม่จำเป็น “จะกระทบรุนแรงต่อประชากรที่มีรายได้น้อย มีหนี้สินครัวเรือนสูง ทำให้เกิดการตกงาน 5-7 ล้านคน”
New Normal ก็คือกลับสู่ชีวิตปกติแต่ต้องระมัดระวัง ใส่หน้ากาก ล้างมืออยู่เสมอ รักษาระยะห่าง ให้ธุรกิจเดินหน้าได้ แต่ปรับตัวให้มีความเสี่ยงต่ำ ลดจำนวน จำกัดเวลาใช้สถานที่ ยังไม่ให้เปิดผับบาร์คาราโอเกะที่ความเสี่ยงสูง
ข้อเสนอนี้ กระทรวงสาธารณสุขยื่นให้รัฐบาลไปแล้ว ไม่ทราบทำไมยังเงียบอยู่ ว่ากันว่า ศบค.ยังรอความเห็นจาก “ฝ่ายความมั่นคง” ที่รวบรวมโดย สมช.

เราทำสงครามกับไวรัสนะ ต้องฟังคำแนะนำของหมอ ไม่ใช่ทำสงครามคอมมิวนิสต์หรือรบกับเสื้อแดงติ่งส้ม จึงต้องรอฟัง สมช. ทหาร ตำรวจ ว่าเคอร์ฟิวจับไวรัสได้กี่ตัว

ไม่รู้ทำไม รัฐบาล ศบค. ยังไม่ตัดสินใจ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ก็มีแนวโน้มว่าจะยังไม่เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะต่ออายุไปอีก 1 เดือน ยังไม่เลิกเคอร์ฟิวง่าย ๆ กว่าจะยอมให้ผ่อนคลายก็อาจเป็นกลางเดือน
เพราะการผ่อนคลายยอมให้เปิดห้างร้านไม่ใช่ทำได้ปุบปับ ต้องบอกให้ภาคธุรกิจเตรียมตัว ต้องประกาศล่วงหน้า 5-7 วัน
อย่าลืมว่าที่ประชาชนยอมฟังคำสั่งรัฐบาล เพราะเชื่อว่าเป็นคำสั่งแพทย์ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เคอร์ฟิว ไม่มีความหมายถ้าไม่อ้างใบรับรองแพทย์

เมื่อแพทย์แนะนำให้ปลดล็อก รัฐบาลไม่ยอมปลด ประชาชนอยากปลด ความขัดแย้งระหว่างรัฐฉุกเฉินกับประชาชนก็จะรุนแรงขึ้น 
ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ https://www.kaohoon.com/content/357914 

ใบตองแห้ง: ประเทศไทยชนะ?

2020-04-26 12:46
เมืองไทยเมืองพุทธ มีคนใจบุญมากมาย ไม่เฉพาะมหาเศรษฐีที่นายกฯ เขียนจดหมาย ขอให้ทำโครงการช่วยประชาชน คนตัวเล็กตัวน้อย ไม่ต้องรวยก็ช่วยกันได้ หอบข้าวกล่องหอบโจ๊กถุง จะไปให้คนยากจนคนตกงาน

แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ความใจบุญเช่นนั้น “ผิดกฎหมาย” เจ้าหน้าที่ไม่ให้ทำ ยึดอาหารไปทั้งหมด ไม่ให้คนตาดำ ๆ ที่เข้าคิวรอ เพราะจะผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามมั่วสุมแออัด มีความผิดเท่ากับก่อม็อบ ใครจัด “ม็อบแจกอาหาร” จะต้องขออนุญาตก่อน โดยมีการดำเนินคดีไปแล้ว 2 ราย ที่หัวลำโพงและภูเก็ต
นี่คือการตีความกฎหมาย? เกิดประโยชน์อะไรต่อส่วนรวมบ้าง มีแต่ขัดขวางให้คนอยากบริจาคท้อใจ
ใช่ละ คนไปมุงกันแน่นเสี่ยงติดเชื้อ แต่ท่าทีของรัฐแทนที่จะส่งเสริมช่วยเหลือ กลับเอากฎหมายนำหน้า โฆษก ศบค.ปรามว่าจะมีความผิด ให้มาแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อน พอข้างบนปรามอย่างนั้น ฝ่ายปฏิบัติข้างล่าง ทั้งตำรวจทั้งจังหวัด เห็นคนมาแจกของ ก็ยึดก็ห้าม หรือดำเนินคดี แม้บอกคำนึงถึงเจตนาดี คงไม่ติดคุกหรอก แต่ต่อจากนี้ใครจะอยากแจก

นี่คือการใช้กฎหมายแบบรัฐไทย รัฐราชการเจ้าขุนมูลนาย ซึ่งไม่ได้เอาเจตนารมณ์นำหน้า ใช้กฎหมายแบบกลไก ใช้ดุลพินิจแบบสุดโต่ง เห็นอะไรผิดไปหมด เข้มงวดบังคับทุกกระเบียดนิ้ว
ยิ่งมาผสมความกลัวยุคโควิด ซึ่งด้านหนึ่งก็มาจากดราม่าในสังคม เช่นการเผยแพร่ภาพ คลิป คนเบียดกันรับของแจก แล้วผู้ชมทางบ้านก็หวาดผวา เรียกร้องให้รัฐเข้ามาจัดการ รัฐก็ใช้อำนาจตัดปัญหา แต่พอพลิกมาอีกด้าน เถนตรงกระทั่งยึดโจ๊กนครปฐม ชาวบ้านก็ด่าขรม
แต่อย่ามาโทษสังคมดราม่า ในเมื่อรัฐไม่มีหลัก ไม่รู้จักใช้กฎหมายให้เหมาะสม เพราะถ้าดูกรณีที่คนเข้าคิวรับแจกอาหาร ก็ไม่ได้แออัดกว่าตอนแย่งกันเข้าห้างซื้อของกักตุน
การตีความกฎหมายโดยจี้แค่บางจุด จึงกลายเป็นว่า คนแออัดในห้างไม่ผิด แต่ถ้าแออัดเพื่อรับบริจาคผิด เหมือนคนนั่งล้อมวงกินข้าว 5-6 คนในห้องแคบ ๆ ไม่ผิด แต่ถ้ามีเหล้าเบียร์ ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินทันใด
ไม่ต้องแปลกใจ ประเทศไทยน่าจะติดอันดับหนึ่งของโลก เมื่อเทียบจำนวนผู้ติดเชื้อกับผู้ถูกจับกุม ติดเชื้อไม่ถึง 3 พัน แต่คนถูกจับฝ่าเคอร์ฟิวน่าจะเกินสามหมื่น

แล้วรัฐบาลก็เอาไปอ้างว่า นี่ไง คนฝ่าฝืนเคอร์ฟิวยังเยอะ ยังเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้ ทั้งที่ไม่สัมพันธ์กับตัวเลขผู้ติดเชื้อซึ่งลดลง
การบังคับใช้กฎหมายยังเกิดเรื่องเศร้า เช่น จ่าทหารถูกสั่งขัง 45 วันเพราะกระแสสังคมมองว่า “กร่าง” โต้เถียงผู้ว่าฯ ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามเข้าจังหวัด ก่อนความปรากฏภายหลังว่า เขาจะพาแม่ป่วยติดเตียงไปหาหมอ ยิ่งกว่านั้นเมื่อดูคลิปฉบับเต็ม ยังเห็นว่าเขาเพียงขอคำชี้แจง แล้วก็ยอมแต่โดยดี จนกระทั่งคนในทีมผู้ว่าฯ พูดจาไล่หลัง จึงเกิดวิวาทะ
ที่ระนอง แรงงาน 6 คนก็จะถูกดำเนินคดี ฐานหลบหนีเข้าจังหวัด เพราะคำสั่งผู้ว่าฯ กำหนดให้ใช้ใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าไม่ติดโควิด อุตส่าห์ไปขอใบรับรองแพทย์ว่าไม่มีไข้ พร้อมจะให้กักตัว 14 วันก็ไม่ได้ พอแอบกลับเข้าไปก็มีความผิด
ไม่มีใครตั้งคำถามว่าคำสั่งผู้ว่าฯ จังหวัดต่าง ๆ ที่ปิดเส้นทาง คนในห้ามออกคนนอกห้ามเข้า ทำให้คนเดือดร้อนมากเพียงไร มีแต่บอกว่าเมื่อเป็นคำสั่งเป็นกฎหมายก็ต้องยอมรับ เช่นเดียวกับคำสั่งเคอร์ฟิว มีประโยชน์ต่อการควบคุมโรค หรือทำให้คนเดือดร้อน อันไหนมากกว่ากัน

ถ้ารวบรวมตัวเลข คนทุกข์ยากเดือดร้อนประสบชะตากรรมเพราะกฎหมายบังคับ อาจแซงหน้าคนป่วยไปแล้วไกลลิบ
ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/content/356812

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar