torsdag 23 april 2020

ใบตองแห้ง: ฝ่าวิกฤติมัวใจมด ..


ประชาชนนับร้อย ฮือบุกกระทรวงการคลัง อย่างไม่กลัวโควิด ไม่เกรง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยความไม่พอใจที่ไม่ได้รับเงินห้าพัน AI (หรือระบบราชการก็ไม่ทราบ) แจ้งกลับมาว่าเป็นเกษตรกร ทั้งที่เป็นช่างตัดผม บางคนเป็นไกด์ อยากก้าวหน้าไปเรียนเพิ่ม ก็กลายเป็นนักศึกษา บางคนเป็นแม่ค้าข้างถนน บอกว่าเป็นผู้ประกอบการ
อ่านข่าววงนอกก็เป็นตลกร้าย แต่ไม่ตลกสำหรับคนเดือดร้อน แม้พอเข้าใจคำชี้แจงว่า ถ้าหัวหน้าครอบครัวลงทะเบียนเกษตรกร แล้วมีสมาชิกช่วยงาน ก็นับเป็นเกษตรกรไปด้วย แต่นั่นคือราชการแข็งทื่อ ไม่เข้าใจความซับซ้อน คนรายได้น้อยไม่ได้ทำอาชีพเดียว ส่วนที่เห็นใครลงทะเบียนเรียน=นักศึกษา ก็ไม่น่าใช่ AI เป็นเครื่องจักรงี่เง่าเสียมากกว่า

ในภาพรวม เข้าใจได้นะ มันจะเกิด Error แต่ไม่น่าเกิดขนาดนี้ กระนั้น ประเด็นสำคัญอยู่ที่วิธีคิดในการบริหาร คือทำไมต้องให้คนลงทะเบียน “เราไม่ทิ้งกัน” ในเมื่อเห็นอยู่ว่า ประชาชน 65 ล้านคน เดือดร้อนทั้งนั้น ทำไมไม่ให้ความช่วยเหลือตามกลุ่มไปเลย

ลวรณ แสงสนิท ผอ.สศค.แยกแยะว่า ผู้สมควรได้เงินห้าพันมีไม่เกิน 8 ล้านราย คือกลุ่มอาชีพอิสระ รับจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว กิจการส่วนตัว ค้าขาย 3 ล้านราย ผู้ประกันตนมาตรา 39-40 อีก 5 ล้านราย ที่เหลือเป็นข้าราชการรัฐวิสาหกิจ 2 ล้านราย อายุต่ำกว่า 15 ปี 11 ล้านราย อายุ 60 ปี 11 ล้านราย เกษตรกร 17 ล้านราย แรงงานในระบบประกันสังคม 11 ล้านราย คนว่างงาน เรียนหนังสือ 6 ล้านราย
แต่คนอายุเกิน 60 ยังทำงานก็มีเยอะ คนว่างงานก็ใช่ว่าไม่ได้รับผลกระทบ อย่างน้อยหางานยากขึ้น นักศึกษาก็มีที่ทำงานพาร์ตไทม์ตามห้างร้าน ฯลฯ
จะเห็นว่าประเทศไทยแยกแยะแรงงานนอกระบบได้ยากมาก เมื่อใช้วิธีนี้ ยังไงก็มีคนตกหล่น ถ้ารัฐบาลไม่คิดเล็ก วิธีที่ดีที่สุดคือ “จัดเต็ม” เหมือนหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ อายุเกิน 21 ได้หมด อเมริกา รายได้ต่ำกว่า 75,000 ดอลลาร์รับไปเลย 1,200 ดอลลาร์ แจกลูกหัวละ 500
แน่ละ เราอาจจัดเต็มอย่างเขาไม่ไหว แต่ที่รัฐบาลจะให้ ก็เกือบเต็มอยู่แล้ว เพราะบอกว่าจะช่วยเกษตรกรต่างหาก 17 ล้านคน (แต่ยังคิดไม่ทัน ยังไม่เข้า ครม. ออกมาตรการทีละขยักให้โดนด่าตามเคย) งั้นทำไมไม่ช่วยคนว่างงาน และกลุ่มที่เหลือบ้าง
พูดอีกอย่าง ตัดข้าราชการ แรงงานในระบบ ที่เหลือดูรายได้จากฐานภาษี แล้วจ่ายหมด รวมคนตกงานตกหล่น เด็กอายุต่ำกว่า 15 ช่วยค่าเลี้ยงดูชั่วคราว เพิ่มเบี้ยสูงอายุชั่วคราว มันคงเพิ่มงบจากที่จะจ่าย 8+17 ล้านคนไปไม่เท่าไหร่

คิดจะทำการตลาด “เราไม่ทิ้งกัน” ต้องใจกล้าๆ หน่อย ไม่ใช่ตั้งแต่เริ่มก็ขู่เอาผิดฐานกรอกข้อมูลเท็จ ถัดมา ก็ขู่เอาผิดฐานด่ารัฐบาล แทนที่จะได้บุญคุณกลับขาดทุนยับ

นี่ยังไม่พูดถึงว่า รัฐบาลควรจะใจกล้าๆ อีกหลายเรื่อง เช่นพักหนี้ ก็พักให้จริง ไม่ใช่พักแล้วดอกเบี้ยวิ่ง ไม่มีความหมายอะไร เหมือนลดค่าไฟให้ 3%
ประกันสังคม คนก็โวย ตกงานมาตั้งนานยังไม่จ่าย คนลงทะเบียนห้าพันกลับได้ก่อน ภาคธุรกิจก็เรียกร้อง ให้รัฐออกคำสั่งปิดโรงแรม เพราะไม่งั้น ประกันสังคมไม่ช่วย ต้องเลิกจ้างสถานเดียว
ภาคธุรกิจยังเสนอ “สิงคโปร์โมเดล” ให้รัฐช่วยจ่ายค่าแรง 50% ซึ่งคงเป็นไปได้ยาก แม้ควรช่วยธุรกิจที่กระทบหนัก เช่นท่องเที่ยวโรงแรมที่กว่าจะฟื้นก็อีกยาวมาก

สำคัญคือต้องวัดใจว่ารัฐบาลจะกล้าๆ “ปลดล็อก” หรือเปล่า เพราะไม่ต้องรอ 30 เม.ย.ก็น่าจะเปิดการเดินทางบางระดับ เปิดธุรกิจบางอย่างได้แล้ว 
ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/content/355083
2020-04-23 07:58
จังหวัดต่าง ๆ ออกมาตรการเข้มงวดรับสงกรานต์ ทั้งห้ามขายเหล้าเบียร์ บังคับใส่หน้ากาก ปิดเมือง ห้ามเข้า เอาแท่งคอนกรีตมากั้นถนน ราวกับนครรัฐโบราณยุค “ห่าลง”
ทั้งที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง เหลือสองหลัก มีแนวโน้มต่ำห้าสิบ จนบางคนคำนวณว่าถ้าลดด้วยเปอร์เซ็นต์ขนาดนี้จะเป็นศูนย์ในเดือนมิถุนา

คณิตศาสตร์อีกละ ครั้งก่อนก็กราฟ 33% สามแสนห้า เอา % คิดไม่ได้หรอก ต้องมองด้วยวิทยาศาสตร์การแพทย์ เข้าใจมาตรการควบคุมโรค เผลอ ๆ จะหมดเร็วกว่า
ถ้าดูตัวเลข ศบค.แถลงรายวัน ผู้ติดเชื้อมี 3 กลุ่มใหญ่กลุ่มแรก ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยเดิม กลุ่มสอง คนเดินทางจากต่างประเทศ บุคลากรทางการแพทย์ อาชีพเสี่ยง ไปสถานที่ชุมชน กลุ่มสาม คนกลับจากต่างประเทศที่อยู่ในสถานที่กักตัวของรัฐ

แทบทุกกลุ่มอยู่ในการควบคุม คนกลับจากต่างประเทศก็โดนกักหมดใครติดเชื้อก็ติดตามกักญาติ ที่โผล่มาเองมีแค่ “อาชีพเสี่ยง” ทำงานผับ สถานบริการ และผู้ไปสถานที่ชุมชน ห้าง ตลาดนัด ที่ท่องเที่ยว แต่หลังปิดสถานที่เสี่ยงมา 3 สัปดาห์ ตัวเลขก็เหลือวันละ 2-3 คน
แล้วหากแยกพื้นที่ จะเห็นว่าพื้นที่เสี่ยงยังไว้ใจไม่ได้ คือพื้นที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ภูเก็ต พัทยา กับ 4 จังหวัดชายแดนใต้ที่คนกลับจากพิธีศาสนา (จังหวัดเหล่านี้สาธารณสุขกำลังตรวจเชื้อเชิงรุก) ส่วนกลุ่มสนามมวย ผับทองหล่อ ก็เหลือแต่ผู้ใกล้ชิดที่ติดเชื้อต่อมา และใกล้จะหมดรอบแล้ว

พูดอีกอย่างว่า ณ วันนี้ โอกาสที่คนทั่วไปจะติดเชื้อจากการไปเดินตลาด ซูเปอร์ ร้านสะดวกซื้อ เหลือน้อยมาก น้อยนิด แล้วทุกคนก็ใส่หน้ากากป้องกัน
เช่นเดียวกับคนเดินทางข้ามจังหวัด ถ้าไม่ได้มาจากพื้นที่เสี่ยง คนจังหวัดอื่นที่เหลือ ก็เสี่ยงน้อยมากเท่า ๆ กัน คนมาทำงานกรุงเทพฯ กลับหมู่บ้านบุรีรัมย์ ก็มีโอกาสแพร่เชื้อน้อยมาก เท่า ๆ กับคนไปซื้อของในเมืองกลับเข้าหมู่บ้าน
มันไม่เหมือนตอนคนแห่กลับวันที่ 21 มี.ค. ตอนนั้นยังปะปนด้วยคนทำงานผับ สถานบริการ สถานที่แออัด คนใกล้ชิดผู้ติดเชื้อกลุ่มต่าง ๆ แต่ตอนนี้คนถูกกักตัว 14 วันซึ่งน่าจะเกินล้าน พ้นระยะแสดงอาการไปแล้ว
พูดอย่างนี้ไม่ใช่ชวนให้ประมาท เพราะมาตรการรักษาระยะห่าง อยู่บ้าน ใส่หน้ากาก ยังต้องทำกันต่อไป การเปิดห้างเต็มรูปแบบ โรงหนัง คอนเสิร์ต สนามมวย ผับบาร์ นวด ฯลฯ ต่อให้ตัวเลขเป็นศูนย์ก็ยังไว้ใจไม่ได้ ต้องมีมาตรการกำกับจนกว่าจะพบวัคซีน

แต่จำเป็นไหมที่ต้องห้ามขายสินค้า จำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ มือถือ ซ่อมบ้าน ฯลฯ ซึ่งไม่ได้เพิ่มความแออัดนัก และปิดมาเป็นเดือน ผู้บริโภคก็ต้องการ
การเดินทางข้ามจังหวัด คนโคราชจะไปขอนแก่น คนเชียงรายจะไปลำปาง หรือคนกรุงเทพฯ จะไปลพบุรี ถ้าไม่มีประวัติเกี่ยวข้องผู้ติดเชื้อ ก็ไม่ใช่ “ผีห่า” หรอก คนมีภาระจำเป็น ติดต่อค้าขาย ทำธุระหรือคนทำงานกลับบ้านต่างจังหวัด มีเป็นจำนวนมากที่กำลังเดือดร้อน
ไม่ต้องพูดถึงเคอร์ฟิวสี่ทุ่มตีสี่ ซึ่งเปล่าประโยชน์ แต่ประยุทธ์ก็ยังยกคนฝ่าฝืนมาอ้าง ว่าสร้างผลกระทบให้คนหาเช้ากินค่ำ รัฐบาลก็รู้ว่ากระทบคนจำเป็นต้องเดินทาง กระทบไปถึงโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภค ต้องหยุดหมด

แต่ยังไปอ้างเด็กแว้น คนเมา ปาร์ตี้เสพยา หรือบ่อนพนัน มาเป็นเหตุเคอร์ฟิว ทั้งที่กฎหมายก็มีให้จับ ไม่จำเป็นต้องตั้งด่านจับคนทั่วไป
หลังวันที่ 15 พ้นสงกรานต์ที่รัฐบาลอ้างว่ากลัวคนกลับบ้าน กลัวคนเมาสังสรรค์ มาตรการต่าง ๆ ที่ล้นเกิน เมื่อเทียบกับคนติดเชื้อลดลง จะทำให้ประชาชนยิ่งอึดอัด เสียงเรียกร้องให้ผ่อนคลาย เพื่อให้พอกลับมาใช้ชีวิตได้ พอทำมาหากินได้ ก่อนจะตายกันหมด จะเริ่มประดัง

แต่รัฐบาลคงไม่ยอม คงลากยาวถึงสิ้นเดือนกลัวถูกมองว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินเสียของ
ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ https://www.kaohoon.com/content/354399

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar