บีบีซีไทยชวนย้อนดูข่าวคราวเกี่ยวกับสมาชิกราชวงศ์ทั่วโลกในปีนี้
ทั้งเรื่องที่น่ายินดี ไปจนถึงเรื่องอื้อฉาว
และเรื่องน่าตกตะลึงที่จะถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์
สถาบันกษัตริย์: ข่าวเด่นราชวงศ์โลกปี 2020
2020
เป็นปีที่มีข่าวคราวเกี่ยวกับสมาชิกราชวงศ์ทั่วโลกเกิดขึ้นมากมาย
ทั้งเรื่องที่น่ายินดี ไปจนถึงเรื่องอื้อฉาวที่สั่นคลอนชื่อเสียงของราชวงศ์
และเรื่องที่สร้างความตกตะลึงให้แก่ผู้ติดตามข่าวในราชสำนัก
บีบีซีไทยได้ประมวลข่าวน่าสนใจของราชวงศ์โลกในรอบปีนี้มาให้อ่านกัน
สหราชอาณาจักร
2020
เป็นปีที่เกิดเรื่องราวขึ้นมากมายในราชวงศ์วินด์เซอร์ของอังกฤษ
ซึ่งเปิดศักราชใหม่ด้วยข่าวที่สร้างความตกตะลึงให้แก่ผู้ติดตามข่าวราชสำนักทั่วโลก
โดยเมื่อวันที่ 8 ม.ค. เจ้าชายแฮร์รี ดยุคแห่งซัสเซกซ์ และเมแกน
ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ พระชายา ประกาศลดบทบาทในฐานะพระราชวงศ์ชั้นสูง
และมีพระประสงค์จะทำงานเลี้ยงชีพเยี่ยงสามัญชนทั่วไปเพื่อให้มีอิสระทางการเงิน
เรื่องนี้ได้สร้างความเสียใจและผิดหวังให้สมาชิกราชวงศ์อังกฤษเป็นอย่างมาก
เพราะการประกาศดังกล่าวมีขึ้นโดยไม่มีการหารือเรื่องนี้กับพระบรมวงศ์พระองค์ใดมาก่อน
โดยหลังจากการประชุมของพระบรมวงศ์แห่งราชวงศ์อังกฤษก็ได้ข้อตกลงว่า
ดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ จะไม่ทรงดำรงพระยศ HRH (His/Her Royal
Highness) ที่แสดงถึงความเป็นพระราชวงศ์ชั้นสูง
และจะไม่เป็นผู้แทนพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง
ออกปฏิบัติพระกรณียกิจที่เป็นทางการอีกต่อไป
เพื่อที่จะได้ไม่ต้องใช้เงินภาษีของประชาชนในการดังกล่าว
ทั้งสองพระองค์ยังแสดงความประสงค์จะจ่ายคืนเงินจำนวน
2.4 ล้านปอนด์ ซึ่งเป็นค่าซ่อมแซมพระตำหนักฟร็อกมอร์ คอตเทจ
ที่ประทับในเขตพระราชวังวินด์เซอร์
หลังจากที่ทรงใช้งบประมาณของรัฐไปในการปรับปรุงพระตำหนักครั้งใหญ่เมื่อปีที่แล้ว
โดยข้อตกลงเหล่านี้จะมีการทบทวนและหาบทสรุปอย่างเป็นทางการในขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับอนาคตและบทบาทของคู่ขวัญราชวงศ์อังกฤษทั้งสองพระองค์นี้ในเดือน
มี.ค. ปีหน้า
หลังออกจากสหราชอาณาจักร
เจ้าชายแฮร์รี และพระชายาได้ย้ายไปประทับในแคนาดา
ก่อนที่ปัจจุบันจะทรงปักหลักอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย
บ้านเกิดของดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ และเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา
มีข่าวว่าทั้งสองพระองค์ได้บรรลุข้อตกลงผลิตรายการต่าง ๆ ให้แก่เน็ตฟลิกซ์
ซึ่งทั้งคู่อาจจะปรากฏพระองค์ในบางรายการด้วย โดยสัญญานี้กินระยะเวลาหลายปี
ครอบคลุมการผลิตเนื้อหาทั้งภาพยนตร์สารคดี ซีรีส์ และรายการสำหรับเด็ก
ขณะที่เมื่อปลายเดือน
พ.ย. ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์
ทรงเปิดเผยข่าวร้ายเรื่องการแท้งบุตรคนที่สองของพระองค์เมื่อเดือน
ก.ค.ที่ผ่านมาว่าเป็น "ความทุกข์ใจที่ยากจะทานทน"
ท่ามกลางวิกฤตโรคโควิด-19
ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกนั้น เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ก็มีการเปิดเผยว่า
เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารอังกฤษ
ทรงได้รับการตรวจว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
แต่ทรงมีอาการไม่รุนแรง ซึ่งในเวลาต่อมา
พระองค์ได้เปิดเผยว่าทรงโชคดีที่รอดพ้นจากการประชวรรุนแรงมาได้
อย่างไรก็ตามทรงเผยว่า 3 เดือนหลังจากการติดเชื้อ
ประสาทรับกลิ่นของพระองค์ยังไม่สามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ
เมื่อต้นเดือน
พ.ย.มีแหล่งข่าวในราชสำนักเปิดเผยกับบีบีซีว่า เจ้าชายวิลเลียม
ดยุคแห่งเคมบริดจ์ ทรงได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโรคโควิด-19
เมื่อประมาณเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่พระบิดา คือ
เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ทรงติดเชื้อ
เดอะซัน
หนังสือพิมพ์แทบลอยด์ชื่อดังที่เปิดเผยเรื่องนี้เป็นรายแรก ระบุว่า
เจ้าชายวิลเลียมทรงเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับเพราะไม่ต้องการสร้างความตื่นตระหนกให้คนในชาติ
แม้ในรอบปีนี้สมาชิกราชวงศ์วินเซอร์เผชิญกับเรื่องที่หนักหน่วง
ทว่าก็ยังมีข่าวดีของพระธิดาสองพระองค์ในเจ้าชายแอนดรูว์ ดยุคแห่งยอร์ก
พระราชโอรสองค์กลางในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง
นั่นคือเจ้าหญิงเบียทริซ ที่เข้าพิธีเสกสมรสกับนายเอ็ดโด แมเปลลี มอซซี
นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เมื่อกลางเดือน ก.ค.
โดยงานจัดขึ้นเป็นการส่วนพระองค์ที่โบสถ์หลวงในเมืองวินด์เซอร์
ขณะที่เจ้าหญิงยูเชนี พระขนิษฐา ทรงประกาศข่าวการมีทายาทคนแรกกับนายแจ็ก
บรูกส์แบงก์ พระสวามี และคาดว่าจะมีพระประสูติกาลในต้นปีหน้า
สเปน
พระเกียรติภูมิของอดีตกษัตริย์ฮวน
คาร์ลอสแห่งสเปน
ต้องแปดเปื้อนเมื่อเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินอันน่าสงสัย
และบันทึกบทสนทนาของอดีตคู่รักของพระองค์
กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ในประเทศ
และถูกสื่อต่างประเทศนำไปรายงานเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา
กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากทางการสวิตเซอร์แลนด์และสเปนได้เปิดการสอบสวนข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตและการฟอกเงินของอดีตกษัตริย์ฮวน
คาร์ลอส ในโครงการรถไฟความเร็วสูงในซาอุดีอาระเบีย
ที่กลุ่มบริษัทของสเปนได้รับสัมปทานในการสร้าง
ในเวลาต่อมา
สำนักพระราชวังสเปนได้แถลงว่า อดีตกษัตริย์ฮวน คาร์ลอส
จะทรงย้ายไปพำนักในต่างประเทศ
โดยในพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระราชาธิบดีเฟลีเปที่ 6
กษัตริย์องค์ปัจจุบันของสเปน
ซึ่งเป็นพระราชโอรสที่พระองค์ทรงสละราชสมบัติให้เมื่อ 6 ปีที่แล้ว
อดีตกษัตริย์ฮวน คาร์ลอส ทรงระบุว่าพระองค์ตัดสินพระทัยครั้งนี้จาก
"ปฏิกิริยาจากสังคมอันเกิดจากเหตุการณ์ในอดีตบางอย่างในชีวิตส่วนตัวของข้าพเจ้า"
และด้วยความหวังที่จะทำให้พระราชโอรสของพระองค์สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกษัตริย์ได้
"โดยสงบ"
"ด้วยความเชื่ออย่างแรงกล้าในผลประโยชน์อันดีที่สุดสำหรับประชาชนชาวสเปน,
สถาบันต่าง ๆ ของชาติ, และสำหรับพระองค์ในฐานะกษัตริย์
ข้าพเจ้าขอกราบบังคมทูลเรื่องการตัดสินใจของข้าพเจ้าในการออกไปจากประเทศสเปน"
เมื่อต้นเดือน ส.ค. สื่อสเปนรายงานว่าอดีตกษัตริย์พระชนมายุ 82 พรรษาทรงปรากฏพระองค์อยู่ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
เบลเยียม
เบลเยียมเป็นอีกประเทศที่เผชิญเรื่องราวอื้อฉาวในราชสำนัก
โดยเมื่อเดือน ม.ค. ศาลอุทธรณ์เบลเยียมมีคำตัดสินให้นางเดลฟีน โบเอล
ศิลปิน วัย 52 ปี ชนะคดีที่อ้างว่าสมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 2
อดีตกษัตริย์เบลเยียม เป็นพระบิดาของเธอ หลังต่อสู้คดีในศาลมานานถึง 7 ปี
ผลจากคำพิพากษาดังกล่าว
ทำให้นางโบเอล ซึ่งเกิดจากความสัมพันธ์นอกสมรส
มีสิทธิได้รับฐานันดรศักดิ์เป็น "เจ้าหญิงแห่งเบลเยียม"
เช่นเดียวกับพระโอรสและพระธิดา 3 พระองค์ของอดีตกษัตริย์เบลเยียม
อีกทั้งยังมีสิทธิ์เปลี่ยนไปใช้นามสกุล ซัคเซิน-โคบวร์ก ตามพระบิดา
ส่วนลูกชายและลูกสาวของเธอก็จะได้รับพระยศด้วย
อดีตกษัตริย์อัลแบร์ที่
2 ทรงปฏิเสธเรื่องบุตรนอกสมรสตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
เพื่อหลีกเลี่ยงคำครหาอันอื้อฉาวที่อาจส่งผลกระทบต่อสถาบันกษัตริย์
จนกระทั่งปี 2019
ศาลในกรุงบรัสเซลล์มีคำสั่งให้พระองค์เข้ารับการตรวจดีเอ็นเอ
ศาลได้กำหนดกรอบเวลา
3 เดือนให้ทรงมอบตัวอย่าง พระเขฬะ (น้ำลาย) เพื่อใช้ตรวจดีเอ็นเอ
โดยชี้ว่าหากไม่มีการส่งมอบ
ก็จะสามารถอนุมานได้ว่านางโบเอลเป็นพระธิดาของพระองค์และจะมีสิทธิในการรับมรดก
หลังจากศาลอุทธรณ์เบลเยียมมีคำตัดสินดังกล่าว ก็มีข่าวว่าทั้งคู่ได้พบกันเป็นครั้งแรกในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา
เนเธอร์แลนด์
แม้ที่ผ่านมา
สมาชิกราชวงศ์เนเธอร์แลนด์จะเป็นที่ชื่นชอบในหมู่ชาวดัตช์จำนวนไม่น้อย
แต่เมื่อเร็ว ๆ
นี้ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมถึงกรณีที่สมาชิกราชวงศ์เสด็จประพาสกรีซในห้วงเวลาที่ประชาชนกำลังเผชิญความทุกข์ยากจากการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซานเดอร์
แห่งเนเธอร์แลนด์ และสมเด็จพระราชินีแม็กซิมา เสด็จพระราชดำเนินไปกรีซ
เมื่อวันที่ 16 ต.ค. แต่เปลี่ยนพระทัยเสด็จกลับประเทศในวันถัดมา
หลังเกิดกระแสวิจารณ์เนื่องจากในขณะนั้นรัฐบาลเนเธอร์แลนด์แนะนำให้ประชาชนอยู่กับบ้านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
หลังประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่ในพื้นที่บางส่วนของประเทศ
กรณีดังกล่าวส่งผลให้เมื่อปลายเดือน
ต.ค. ที่ผ่านมา สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซานเดอร์
ทรงแถลงผ่านวิดีโอว่า ทรงเสียพระทัยต่อกรณีที่เกิดขึ้น
ซึ่งแม้ว่าทั้งสองพระองค์ไม่ได้ทรงฝ่าฝืนกฎ
แต่สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ ก็ตรัสว่า
"รู้สึกเจ็บปวดที่ได้ทำลายความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีให้"
"เราหันกลับมาหาพวกท่านด้วยความเศร้าสลดที่เรามีในจิตใจ" สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ตรัสในแถลงการณ์ความยาว 2 นาที
"มันช่างเจ็บปวดมากที่ได้ทำลายความไว้วางใจที่ท่านมีให้เรา"
"แม้ว่าการเดินทางเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องฉลาดเลยที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบจากมาตรการควบคุมต่าง ๆ
ที่มีต่อสังคมเรา"
ขณะที่นายมาร์ก
รัตเต นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ กล่าวยอมรับเมื่อวันที่ 18 ต.ค. ว่า เขา
"ประเมินผิดพลาด" ที่ไม่ไปขัดขวางแผนการเสด็จประพาสของกษัตริย์และพระราชินี
ไทย
ข่าวของพระมหากษัตริย์ไทยได้รับความสนใจอย่างมากจากสื่อมวลชนทั่วโลกในรอบปีนี้
ทั้งเรื่องการประทับในเยอรมนีที่กลายเป็นประเด็นที่สร้างความอึดอัดใจทางการทูตระหว่างไทยกับเยอรมนี
รวมถึงการที่กลุ่มผู้ประท้วงหนุ่มสาวออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องอย่างเปิดเผยให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
ความสนใจของสื่อทั่วโลกต่อประเทศไทยและสถาบันกษัตริย์ไทยครั้งใหม่
เริ่มขึ้นหลังจาก น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ตัวแทน
แนวร่วมธรรมศาสตร์การชุมนุมอ่านข้อเรียกร้อง 10
ข้อว่าด้วยการแก้ปัญหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เมื่อ 10 ส.ค.
และตามมาด้วยพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่
29 ส.ค. แล้วเผยแพร่ทางเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 2 ก.ย.
ประกาศนี้มีความว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
คืนฐานันดรศักดิ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกชั้นตราแก่เจ้าคุณพระสินีนาฏ
พิลาสกัลยาณี โดยให้ถือว่า
ไม่เคยถูกถอดถอนฐานันดรศักดิ์กับตำแหน่งข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหารและยศทหารและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกชั้นตรามาก่อน
ไม่ถึง
1 ปีก่อนหน้านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2562 ให้ เจ้าคุณพระสินีนาฏฯ พ้นจากตำแหน่ง
ถอดฐานันดรศักดิ์ และยศทหาร ตลอดจนเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกชั้นตรา
เนื่องจากกระทำความผิดราชสวัสดิ์ และไม่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์
ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ประท้วงที่เรียกตัวเองว่า
"คณะราษฎร 2563" ได้เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในปีนี้
โดยนอกจากจะเรียกร้องให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก
แก้ไขรัฐธรรมนูญ และจัดการเลือกตั้งใหม่
ยังได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
ด้วยข้อกล่าวหาว่าทรงรวบเอาพระราชอำนาจและพระราชทรัพย์ไว้ที่พระองค์แต่เพียงผู้เดียว
รวมทั้งเรื่องที่ไม่ประทับอยู่ในประเทศ
และค่าใช้จ่ายที่ทรงใช้ในระหว่างที่ประทับอยู่ต่างแดน
ความไม่ชัดเจนกรณีการประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในประเทศเยอรมนี
ได้กลายเป็นประเด็นที่สร้างความอึดอัดใจทางการทูตระหว่าง 2 ประเทศ
เมื่อวันที่
7 ต.ค. เรื่องนี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นหารือในรัฐสภาเยอรมนี ซึ่งนายฟริตยอฟ
ชมิดต์ ส.ส.พรรคกรีนส์ ได้ตั้งกระทู้ถาม นายไฮโก มาส
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศถึงกรณีที่กษัตริย์ไทยทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ในการประทับอยู่ในรัฐบาวาเรีย
นายมาส
ชี้แจงต่อคำถามนี้ว่า
"เราอธิบายไว้ชัดเจนว่าการดำเนินการทางการเมืองที่เกี่ยวกับประเทศไทยไม่ควรมาจากดินแดนของเยอรมนี...หากมีแขกของประเทศเราเข้ามาดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับประเทศของพวกเขา
เราจะดำเนินการคัดค้านอย่างแน่นอน"
ในวันที่
9 ต.ค. หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ (FT) อ้างถ้อยแถลงของ น.ส.มาเรีย
อเดบาห์ร โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ที่ระบุว่า
รัฐบาลเยอรมนีได้เน้นย้ำหลายครั้งกับสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงเบอร์ลินว่า
"การบริหารราชการแผ่นดินของชาติอื่นไม่ควรเกิดขึ้นบนแผ่นดินเยอรมนี" และ
"เราได้แสดงจุดยืนเรื่องนี้ชัดเจนมาก"
26
ต.ค.
วันที่ผู้ชุมนุมในไทยเดินขบวนไปยื่นจดหมายที่สถานทูตเยอรมนีในกรุงเทพฯ
นายไฮโก มาส แถลงต่อผู้สื่อข่าวว่า
"รัฐบาลเยอรมนีกำลังเฝ้าดูพระจริยาวัตรของกษัตริย์ไทยในรัฐบาวาเรีย
อย่างต่อเนื่อง และ "จะเกิดผลสืบเนื่องทันที
หากเราประเมินแล้วว่ามีการกระทำใด ๆ ที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย"
เมื่อวันที่
29 ต.ค.
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจากสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนีว่า
ผู้แทนรัฐบาลเยอรมนีได้กล่าวบรรยายสรุปในประเด็นที่เกี่ยวกับกษัตริย์ไทยให้ที่ประชุมคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรฟังว่า
รัฐบาลเชื่อว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้รับอนุญาตให้ตัดสินพระทัยเป็นครั้งคราว
ตราบใดที่พระองค์ไม่ได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจอย่างต่อเนื่องในแผ่นดินเยอรมนี
ต่อมา
สำนักข่าวดีพีเอของเยอรมนี รายงานเมื่อวันที่ 11 พ.ย. ว่า
รัฐบาลเยอรมนีเผยว่าไม่พบหลักฐานว่า ในหลวง ร.10
ทรงกระทำการใดที่ผิดกฎหมายในเยอรมนี
นายมิเกล
แบร์เกอร์ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศตอบกระทู้ของ ส.ส.
พรรคกรีนส์เป็นลายลักษณ์อักษรว่า "จากข้อมูลที่ได้มาจากรัฐบาลไทย
การประทับของพระมหากษัตริย์ไทยในเยอรมนีเป็นเรื่องส่วนพระองค์"
ทางกระทรวงคาดว่า พระมหากษัตริย์ของไทยไม่ได้ทรงตัดสินพระราชหฤทัยที่
"เป็นการแทรกแซงระบบกฎหมายของเยอรมนี กฎหมายระหว่างประเทศ หรือ
หลักสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองระหว่างประเทศ"
ขณะทรงประทับอยู่บนแผ่นดินเยอรมนี
ล่าสุด
เมื่อ 18 พ.ย. สำนักบริการวิชาการ (WD) ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนฯ
ได้นำเสนอรายงานสาธารณะ 15 หน้า ในหัวข้อ
"ความเคลื่อนไหวของประมุขต่างชาติบนดินแดนเยอรมนี"
ระบุว่ากษัตริย์ไทยได้รับเอกสิทธิ์ทางการทูตตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
รัฐบาลไม่มีสิทธิ์สอดแนมขณะประทับในประเทศ
แต่มีสิทธิ์เชิญออกนอกประเทศหากพบหลักฐานทำผิดกฎหมายเยอรมนี
น.ส.
เซวีม ดาเดเลน ส.ส. จาก พรรคฝ่ายซ้าย (DIE LINKE)
และสมาชิกกรรมาธิการการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎร ของเยอรมนี
เปิดเผยกับบีบีซีไทยเมื่อปลายเดือน พ.ย.
ว่าเธอตัดสินใจร้องต่อสำนักบริการวิชาการ ให้จัดทำรายงานฉบับดังกล่าวออกมา
เพราะสงสัยในข้อกฎหมาย
ว่าประมุขต่างแดนสามารถบริหารราชการแผ่นดินขณะพำนักในเยอรมนีเป็นเวลานานได้หรือไม่
"กษัตริย์วชิราลงกรณ์ของไทยประทับอยู่ที่โรงแรมหรูในรัฐบาวาเรียเป็นเวลาหลายเดือน
คงเป็นเรื่องไร้เดียงสาที่จะเชื่อว่ากษัตริย์ของไทยไม่ทรงงานขณะพำนักอยู่ที่นี่
ทั้งที่มีข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่าพระองค์ไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้แทนพระองค์ให้ปฏิบัติงานแทนขณะไม่ได้พำนักในประเทศไทย
แม้แต่รัฐบาลเยอรมนีก็มองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา"
น.ส.ดาเดเลน
ระบุว่าจะผลักดันร่วมกับพรรคการเมืองอื่น ๆ ในสภาผู้แทนฯ
เพื่อกดดันรัฐบาลเยอรมนีไม่ให้การต้อนรับกษัตริย์ไทยอีกต่อไป
และต้องผลักดันให้พักการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป
และประเทศไทย
"ขณะนี้
ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ากษัตริย์วชิราลงกรณ์จะเสด็จฯ กลับเยอรมนีเมื่อไร
ถ้ามีหมายกำหนดการเสด็จฯ จริง
พรรคฝ่ายซ้ายของเราจะเคลื่อนไหวกดดันไปที่รัฐบาลเยอรมนีเพื่อสกัดกั้นไม่ให้ประมุขของไทยได้รับความยินยอมให้ประทับในสำนักงานสาขาที่หรูหราของพระองค์ในเยอรมนี
ในที่สุดแล้ว...พระองค์ไม่ใช่บุคคลธรรมดา
แน่นอนว่าเราจะทำงานร่วมกับพรรคกรีนส์และพรรคประชาธิปไตยอื่น ๆ
ในการสร้างสัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตยร่วมกัน"
ที่ผ่านมา
กระทรวงการต่างประเทศไทยเคยชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้น
โดยเว็บไซต์วอลสตรีตเจอร์นัล รายงานคำชี้แจงเมื่อปลายเดือน ต.ค. ว่า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระประมุขของประเทศ
"ทรงปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง" และทรงประกอบพระราชกรณียกิจในพิธีต่าง ๆ
ของพระองค์ หากแต่ "ทรงไม่ยุ่งเกี่ยวในการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน
ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ไม่เคยออกมาชี้แจงเรื่องการประทับในเยอรมนีของในหลวง ร.10 ต่อประชาชนเลย
ส่วนอีกเรื่องที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนต่างประเทศ
ก็คือการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตอบคำถามสื่อต่างชาติเป็นครั้งแรกนับแต่เสด็จขึ้นครองราชย์
ซึ่งนายโจนาธาน มิลเลอร์ ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 ของอังกฤษ
และสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นของสหรัฐฯ
ได้เดินทางไปรายงานข่าวบริเวณหน้าพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 1 พ.ย.
และทำการสัมภาษณ์ในลักษณะที่ไม่เคยมีนักข่าวคนไหนเคยทำมาก่อนด้วยการ
"ยื่นไมค์" ทูลถามระหว่างที่พระองค์ทรงพระดำเนินทักทายพสกนิกร
ทวิตเตอร์ของ
Channel4
เผยแพร่คลิปขณะนายมิลเลอร์ทูลถามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่าคนเหล่านี้จงรักภักดีต่อพระองค์
ทว่าพระองค์จะมีพระราชดำรัสอย่างไรต่อผู้ชุมนุมที่ออกมาบนท้องถนนเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันฯ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสกลับว่า
ข้าพเจ้าไม่มีความคิดเห็น เรารักพวกเขาเฉกเช่นเดียวกัน
โดยตรัสคำดังกล่าวซ้ำ 3 ครั้ง
จากนั้นผู้สื่อข่าวทูลถามต่อว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการประนีประนอมกันเกิดขึ้น
ซึ่งในหลวงได้ตรัสว่าประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งการประนีประนอม
จากนั้นจึงทรงพระดำเนินต่อไป
ในคลิปรายงานข่าวฉบับเต็มที่เผยแพร่ทางยูทิวบ์ของ
Channel 4 ในเวลาต่อมา
ปรากฏภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสอะไรบางอย่างกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ก่อนที่เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ
จะทรงพระดำเนินกลับมาที่นายมิลเลอร์อีกครั้งและตรัสกับเขาว่า
"เรารักประชาชนชาวไทย ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม และประเทศนี้มีความสงบสุข" และ
"นี่เป็นความรักที่แท้จริง อย่างที่คุณเห็น"
หลายฝ่ายมองว่าบทสัมภาษณ์ครั้งนี้เป็นสัญญาณอันดีต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทย
ทว่าในเวลาต่อมารัฐบาลได้ประกาศ "ใช้กฎหมายทุกมาตรา" กับผู้ชุมนุม
ทำให้แกนนำของกลุ่ม "ราษฎร 2563"
หลายคนถูกดำเนินคดีในข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 112
ญี่ปุ่น
ราชวงศ์ญี่ปุ่นมีข่าวดีอย่างต่อเนื่องหลังจากสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ
เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิญี่ปุ่นพระองค์ที่ 126 เมื่อปีที่แล้ว
โดยเมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา เจ้าชายฟุมิฮิโตะ
พระอนุชาในสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ
ทรงได้รับการประกาศให้เป็นองค์รัชทายาทสืบทอดราชบัลลังก์อย่างเป็นทางการ
สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะทรงไม่มีพระราชโอรส
ขณะที่พระราชธิดาของพระองค์ทรงไม่มีสิทธิ์สืบทอดราชบัลลังก์
แม้ว่ามีเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปก็ตาม
กฎมณเฑียรบาลของญี่ปุ่นปี
1947 กำหนดให้ผู้ชายเท่านั้นที่สามารถขึ้นครองราชย์ได้ ต่อมา ในปี 2004
รัฐบาลญี่ปุ่นได้เริ่มดำเนินการเพื่อแก้ไขกฎหมายนี้เพื่อเปิดโอกาสให้มีสมเด็จพระจักรพรรดินี
แต่ได้ระงับแผนการไป หลังจากพระชายาของเจ้าชายฟุมิฮิโตะ ประสูติพระโอรสคือ
เจ้าชายฮิซาฮิโตะ
หากเจ้าชายฮิซาฮิโตะ
ทรงเจริญพระชันษาและไม่มีพระโอรส
ก็อาจจะทำให้เกิดวิกฤตการสืบทอดราชสมบัติขึ้นอีกครั้ง
และอาจจะทำให้รัฐบาลต้องกลับมาสานต่อแผนในปี 2004 และแก้ไขกฎหมายดังกล่าว
ในปลายเดือนเดียวกัน
เจ้าชายฟุมิฮิโตะ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น
ได้พระราชทานพระอนุญาตให้เจ้าหญิงมาโกะ พระธิดาองค์โตเสกสมรสกับ นายเค
โคะมุโระ พระคู่หมั้นซึ่งเป็นพระสหายสมัยทรงศึกษาในมหาวิทยาลัยแล้ว
หลังจากได้เลื่อนการจัดพิธีเสกสมรสมาแล้วถึง 2 ปี จากกำหนดเดิมในปี 2018
อย่างไรก็ตาม
ยังไม่แน่ชัดว่าพิธีเสกสมรสของเจ้าหญิงมาโกะ และนายโคมุโระ ซึ่งมีอายุ 29
ปีเท่ากันจะมีขึ้นเมื่อใด
ซึ่งเจ้าหญิงมาโกะจะต้องสละฐานันดรศักดิ์หลังจากเสกสมรสกับชายหนุ่มสามัญชนผู้นี้
ที่ผ่านมา
สำนักพระราชวังญี่ปุ่นได้ปฏิเสธว่า
การเลื่อนพิธีเสกสมรสเกี่ยวข้องกับข่าวลือเรื่องปัญหาทางการเงินของมารดานายโคมุโระ
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า เจ้าชายฟุมิฮิโตะ
เคยตรัสย้ำหลายครั้งว่าจะต้องจัดการประเด็นด้านการเงินก่อนเป็นอันดับแรกจึงจะจัดพิธีเสกสมรสได้
นี่คือเรื่องราวข่าวเด่นของราชวงศ์ทั่วโลกที่เกิดขึ้นในรอบปี
2020 ซึ่งบีบีซีไทยคัดสรรมาให้อ่านกัน
ติดตามข่าวสารและสาระน่ารู้ที่เป็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศได้ทางเว็บไซต์ และ เฟซบุ๊ก ของบีบีซีไทย