söndag 20 december 2020

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศออกมาตอบโต้ข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติ

 ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador
2h ·

เห็นข่าวท่านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศต่างประเทศออกมาตอบโต้ข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนที่ได้แสดงความกังวลเรื่องการใช้ ม 112 กับผู้ประท้วงรัฐบาลแล้วมีความรู้สึกหลายประการ
-
ก่อนอื่นผมเองมีความลังเลที่จะพูดเพราะไม่อยากไปวิจารณ์ก้าวก่ายการทำงานของสถาบันเดิมของตัวเอง ผมอยู่กระทรวงการต่างประเทศมากว่าสามสิบปี และอยู่ที่กรมสารนิเทศถึงสามรอบ รวมแล้วร่วมสิบปีได้ นานกว่าอีกหลายๆคน
-
แต่หลังจากชั่งใจ ก็ต้องขอบอกว่าเนื่องจากกระทรวงการต่างประเทศคือสถาบันที่ผมรัก ผมจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องพูดถึงกรณีนี้เพื่อช่วยปกป้องสถาบันนี้ตามความเห็นของผม และเพื่อให้สาธารณะชนได้รับข้อมูลอีกด้านเพื่อนำไปพิจารณากันเองตามวิจารณญาณของแต่ละคน
-
ประการแรกที่ออกมาตอบโต้ว่ามาตรา 112 เป็นกฎหมายที่เหมือนๆหรือคล้ายกับกฎหมายของประเทศอื่นๆในโลกนั้น ผมคิดว่าถ้าจะพูดอย่างนี้ มันก็ไม่ต่างอะไรกับถ้าเราจะบอกว่าช้างก็เหมือนกับปลาทอง เพราะมันต่างก็เป็นสัตว์เหมือนกัน หรือเครื่องบินก็ไม่ต่างจากจักรยาน เพียงเพราะเป็นยานพาหนะเหมือนกัน แต่ว่ามันใช่ข้อเท็จจริงหรือ? มันเป็นเสมือนการจงใจไม่พูดถึงความแตกต่างที่โลกเขากังวล หรือเปล่า?
-
ที่เขากังวลเพราะในโลกไม่มีกฎหมายลักษณะนี้ที่ให้ใครก็ได้เป็นผู้แจ้งความ แต่จะต้องเป็นตัวผู้เสียหายเองหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นการเฉพาะเท่านั้น เพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งกัน และที่ไหนๆก็ไม่มีบทลงโทษรุนแรงขนาดนี้ และที่สำคัญไม่มีที่ไหนที่คดีเช่นนี้เป็นการพิจารณาแบบลับ ห้ามใครรู้ ใครเห็น
-
และถ้าหากมาตรา 112 ของเราเหมือนกับกฎหมายแบบนี้ที่อื่นในโลกอย่างที่ว่า ผมคิดว่าท่านโฆษกควรระบุออกมาเลยว่าเหมือนกฎหมายของประเทศใดแน่ แล้วเชิญทูตของประเทศนั้นให้ออกมาช่วยยืนยันด้วย หรือไม่งั้นก็ให้นักข่าวไปถามทูตประเทศนั้นเอง จะได้ความกระจ่างแน่ชัดกันไปเลย ว่าที่พูดมา มันจริงหรือไม่?
-
ทั้งนี้ ที่สหประชาชาติเขาจับตาและเป็นกังวล เพราะในสายตาของเขา ม.112 มันถูกนำมาใช้เพื่อกลั่นแกล้งประชาชน และเข้าข่ายเป็นการปิดกั้นเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างโจ่งแจ้งด้วย
-
ถ้าถามว่าแล้วสหประชาชาติมายุ่ง (หรือเสือก) อะไรกับไทยด้วย ก็ต้องบอกว่าก็เราเองที่ไปขอสมัครเป็นสมาชิกสหประชาชาติ เพราะอยากได้รับการยอมรับจากชาวโลก แล้วเราก็ยังไปลงนามเป็นภาคีที่ให้คำมั่นว่าจะพิทักษ์และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนด้วย
-
แล้วเราได้ทำตามพันธะกรณีที่มันมีผลผูกพันกับเราหรือเปล่า? ถ้าเราทำตามสิ่งที่เราให้คำมั่นไว้ สหประชาชาติเขาจะมาแสดงความกังวลทำไม? และชาวโลกเขาก็อาจมองเราด้วยความกังขาและกังวลว่าคำมั่น คำพูดของประเทศเรามันน่าเชื่อถือไหม มันเป็นสิ่งที่กระทบศักดิ์ศรีและสถานะของประเทศเราในเวทีโลกไหม?
-
ประการสอง ที่บอกว่าการดำเนินการนี้เป็นไปตามกระบวนการกฎหมายอาญา และในที่สุดผู้ต้องหาส่วนมากก็จะได้รับพระราชทานอภัยโทษนี่เป็นคำอธิบายที่ใช้ตรรกะได้แปลกอยู่
-
เพราะสิ่งที่เขากังวลมันคือการที่มีการดำเนินคดีแต่แรก เพราะเขาเห็นว่ามันเป็นการกลั่นแกล้ง การละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษภายหลังหรือไม่นั้น มันเป็นคนละประเด็นกัน ไม่ทราบว่าเข้าใจผิดประเด็นเองหรือจงใจเข้าใจผิดนะครับ
-
ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับกรณีการตั้งข้อหานี้กับผู้ประท้วงวัย 16 ปี และส่งให้ศาลเยาวชนพิจารณา ที่ทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้แสดงความกังวลอย่างมาก เพราะเขาเห็นว่าเป็นสิ่งร้ายแรงยิ่งที่ทำกับเยาวชน ที่แทบไม่มีที่ไหนในโลกเขาทำกัน ซึ่งต่อให้ศาลได้ปฏิเสธคำขอให้มีการคุมขัง พร้อมกับอนุญาตให้ประกันตัวแบบมีเงื่อนไข เด็กคนนั้นก็ยังต้องคดีนี้อยู่ดีนะครับ ซึ่งประเด็นนี้ต่างหากที่เขากังวล
-
แล้วที่ผมอ่านจากในข่าวแล้วรู้สึกงงๆคือข้อสุดท้ายที่บอก ”ขอย้ำอีกครั้งว่าในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ผู้ประท้วงไม่ได้ถูกจับกุมเพียงเพราะใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ แต่ผู้ที่ถูกจับกุมได้ละเมิดกฏหมายอื่นๆ ของไทยซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการปล่อยตัวแล้ว”
เพราะถ้าอ่านตามนี้ ในแง่หนึ่งมันก็อาจแปลได้ว่าผู้ประท้วงส่วนหนึ่งถูกจับเพราะใช้เสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุมอย่างสงบ นะครับ ส่วนการที่บอกว่าถูกจับด้วยข้อหาอื่นๆแต่ได้รับปล่อยตัวแล้วนั้น มันก็ยิ่งสร้างความน่ากังขาว่าแล้วไปจับเขาทำไมแต่แรก ยิ่งเท่ากับยอมรับว่ามันคือการกลั่นแกล้งกันนั่นเอง
-
สิ่งที่ผมอยากบอกคือ หน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศในกรณีนี้ควรจะได้แก่การสรุปรายงานสิ่งที่ข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติแถลง พร้อมทั้งมีข้อเสนออย่างสร้างสรรค์ต่อรัฐบาล ให้หลีกเลี่ยงการดำเนินการต่างๆที่จะทำให้โลกเขาเห็นว่าเรากำลังละเมิดสิทธิมนุษยชน และพันธะกรณีที่เราได้ให้ไว้กับเขา เพื่อให้ไทยมีศักดิ์ศรีในเวทีโลกต่างหาก
-
จริงๆแล้วกระทรวงการต่างประเทศเราไม่ได้มีหน้าที่ต้องไปเที่ยวอธิบายทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นการดำเนินงานของหน่วยงานอื่น หรือการดำเนินการภายในประเทศนะครับ จะ State Department ของอเมริกา หรือ Foreign Office ของอังกฤษ หรือกระทรวงการต่างประเทศของประเทศอื่น เขาก็ไม่ได้ต้องมาพูด อธิบายสิ่งเหล่านี้
-
ของอเมริกา เรื่องการเมืองภายในเขาก็ให้ทางทำเนียบขาวเป็นผู้แถลงเอง ซึ่งที่ถูกต้องเรื่องการเมืองภายในแบบนี้สำนักโฆษกรัฐบาลก็แถลงได้ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง จะศาลหรือตำรวจ ก็แถลงได้ จะอ้างว่าพูดภาษาอังกฤษไม่ได้นี่ก็ตลก ไปจ้างล่ามได้นะครับ หรือให้กระทรวงการต่างประเทศช่วยแปลก็ได้
-
แต่การออกมาตอบโต้เองแบบทั้งข้อเท็จจริงที่ไม่ตรง ที่แทบดูจะเป็นการจงใจให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนแก่สาธารณะชน และด้วยตรรกะที่ฟังดูประหลาดนี่มันไม่ได้ช่วยทำอะไรให้ดีขึ้นมาเลย โดยเฉพาะกับความเป็นสถาบันกระทรวงการต่างประเทศเอง
-
ทูตต่างประเทศ เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ นักข่าวต่างประเทศในไทย เขาจะไม่รู้หรือครับว่าอะไรคืออะไร เขียนคำอธิบายแบบนี้มันเหมือนกับจะเท่ากับว่าไม่ใครก็ใคร ที่เป็นฝ่ายที่ต้องโง่มากถึงไม่รู้
-
แล้วมันก็กระทบกับความน่าเชื่อถือของเราเอง รวมทั้งศักดิ์ศรีของเราด้วย
-
ผมก็คงตอบแทนไม่ได้ว่าที่ออกมาตอบโต้แบบนี้ จะรู้สึกอายกันบ้างไหม
แต่เรียนตามตรงว่าผมอายครับ
และเชื่อว่าข้าราชการกระทรวงนี้จำนวนไม่น้อย ทั้งที่เกษียณแล้วและยังทำงานอยู่ ไม่ว่ารุ่นไหนๆ ก็ต่างอายกันนะครับ


Inga kommentarer:

Skicka en kommentar