fredag 18 december 2020

"เราเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการตั้งข้อหาอาญาร้ายแรงเช่นนั้นต่อบุคคลที่ใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีและการชุมนุมอย่างสงบ ประชาชนควรสามารถใช้สิทธิของพวกเขาได้โดยปราศจากความกลัวว่าจะถูกปฏิบัติการตอบโต้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติพบว่า การควบคุมตัวบุคคลเพียงเพราะใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีหรือสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ เป็นการควบคุมหรือจับกุมตัวตามอำเภอใจ" แถลงการณ์ระบุ

มาตรา 112 : สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้ไทยแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศ

สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Human Rights) เรียกร้องรัฐบาลไทยยุติการใช้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และข้อกล่าวหาอาญาร้ายแรงอื่น ๆ ต่อผู้ประท้วงอย่างสันติ และเรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 112 ให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศด้วย

น.ส. ราวินา ชัมดาซานิ โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์ในวันนี้ (18 ธ.ค.) หลังตำรวจตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแก่เยาวชนวัย 16 ปีที่เข้าร่วมการประท้วงในประเทศไทยและนำตัวส่งศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเมื่อวานนี้ ก่อนที่จะได้รับการประกันตัว

"เรารู้สึกเป็นกังวลอย่างยิ่งจากการที่ทางการไทยตั้งข้อหาผู้ประท้วงอย่างน้อย 35 คน รวมถึงผู้ประท้วงที่เป็นนักเรียนวัย 16 ปี ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประมวลกฎหมายอาญาของไทย" น.ส. ชัมดาซานิ ระบุในแถลงการณ์

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุด้วยว่า "การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสมาชิกราชวงศ์ มีโทษจำคุกระหว่าง 3-15 ปี เราตกใจเป็นอย่างยิ่งเมื่อตำรวจนำตัวผู้ประท้วงวัย 16 ปี ส่งศาลเยาวชน และร้องขอให้ศาลมีคำสั่งควบคุมตัว ศาลปฏิเสธคำสั่งควบคุมตัวและให้มีการประกันตัวอย่างมีเงื่อนไข"

โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุเพิ่มเติมว่า หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติหลายแห่ง รวมถึง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) ซึ่งตรวจสอบการบังคับใช้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights--ICCPR) ได้เรียกร้องหลายครั้งให้ไทยบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้ให้สอดคล้องกับข้อผูกพันระหว่างประเทศที่ไทยให้คำมั่นไว้ น่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่งที่หลังจากไม่มีคดีนี้เกิดขึ้นนาน 2 ปี แต่กลับเห็นคดีนี้เกิดขึ้นหลายคดีในเวลาอันรวดเร็ว และน่าตกใจมาก ที่ปัจจุบันมีการตั้งข้อหากับผู้เยาว์ด้วย

ราวินา ชัมดาซานิ
คำบรรยายภาพ,

ราวินา ชัมดาซานิ โฆษกข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

นอกจากนี้ ยังได้แสดงความกังวลว่า กำลังจะมีการตั้งข้อหาอาญาร้ายแรงอื่น ๆ ต่อผู้ประท้วงที่เข้าร่วมการประท้วงอย่างสันติในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา รวมถึงข้อหายุยงปลุกปั่นและข้อหาภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ด้วย

"เราเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการตั้งข้อหาอาญาร้ายแรงเช่นนั้นต่อบุคคลที่ใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีและการชุมนุมอย่างสงบ ประชาชนควรสามารถใช้สิทธิของพวกเขาได้โดยปราศจากความกลัวว่าจะถูกปฏิบัติการตอบโต้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติพบว่า การควบคุมตัวบุคคลเพียงเพราะใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีหรือสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ เป็นการควบคุมหรือจับกุมตัวตามอำเภอใจ" แถลงการณ์ระบุ

ช่วงท้ายของแถลงการณ์ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้สอดคล้องกับมาตรา (ข้อ) 19 ของ ICCPR ว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วย

ผู้ปกครองให้กำลังใจบุตรชายวัย 16 ปี ก่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหที่ สน.ยานนาวา
คำบรรยายภาพ,

ผู้ปกครองให้กำลังใจบุตรชายวัย 16 ปี ก่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหที่ สน.ยานนาวา

มาตรา (ข้อ) 19 ICCPR บัญญัติว่า...

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights--ICCPR) มีทั้งหมด 53 มาตรา หรือ ข้อ ในข้อที่ 19 ระบุว่า

1. บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง

2. บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก

3. การใช้สิทธิตามที่บัญญัติในวรรค 2 ของข้อนี้ ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบพิเศษควบคู่ไปด้วย การใช้สิทธิดังกล่าวอาจมีข้อจำกัดในบางเรื่อง แต่ทั้งนี้ข้อจำกัดนั้นต้องบัญญัติไว้ในกฎหมายและจำเป็นต่อ

(ก) การเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น

(ข) การรักษาความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อย หรือการสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน

ผู้ประท้วงใช้เทปปิดปากเขียนคำว่า 112
คำบรรยายภาพ,

การประท้วงบริเวณหน้าสำนักงานสหประชาชาติในประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ที่ผ่านมา

ผู้ต้องหาคดี 112 ที่อายุน้อยที่สุด

เยาวชนชายวัย 16 ปีคนดังกล่าว เป็นผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทฯ ตามมาตรา 112 โดยเขาถูกออกหมายเรียกพร้อมกับ น.ส.จตุพร แซ่อึง วัย 23 ปี สมาชิกกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "บุรีรัมย์ปลดแอก" ซึ่งสวมชุดไทยเข้าร่วมงานเดินแฟชั่นในงาน "ศิลปะราษฎร" ที่ ถ.สีลม เมื่อวันที่ 29 ต.ค.

พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ยานนาวา ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ให้ควบคุมเขา แต่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวเมื่อวานนี้ (17 ธ.ค.)

เยาวชนอายุ 16 กล่าวหลังได้รับประกันตัวจากศาลว่า การใช้กฎหมายข้อนี้กับคนจำนวนมากหรือกับเด็กทำให้กฎหมายนี้ศักดิ์สิทธิ์น้อยลง และเห็นว่า เป็นเครื่องมือที่ใช้โจมตีคนที่เห็นต่าง

เขาบอกว่า "ไม่รู้สึกกลัว" แต่โกรธและมีคำถามว่า ทำไมการแสดงออกจึงตามมาด้วยการถูกคุกคามและถูกดำเนินคดี 112 ก่อนเล่าถึงบรรยากาศในห้องที่ ตร. แจ้งข้อกล่าวหาว่า มีการเค้นเอาคำตอบจากเจ้าหน้าที่ในเหตุการณ์วันที่ 29 ต.ค. ทำให้มีความกดดัน แต่เขายังรับมือได้

นอกจากเยาวชนรายนี้แล้ว ยังมีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี อีก 5 คน ถูกดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุมทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา

หัวอกพ่อ

ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ ผู้ปกครองของเยาวชนชายวัย 16 ปี และนักวิชาการด้านนิเทศศาตร์ชื่อดัง โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก เมื่อ 18 ธ.ค. ในหัวข้อ "ความในใจของพ่อเด็ก 16 ผู้เจอคดี ม.112" โดยเขาระบุว่าเขียน "ในฐานะพ่อคนหนึ่ง ไม่ใช่ในสถานะนักวิชาการ หรือสถานะบทบาททางสังคมหรือองค์กรที่สังกัด"

เขาระบุว่าเขาอาจไม่เห็นด้วยกับบางสิ่งบางอย่างที่ลูกคิด ลูกทำ แต่เคารพการตัดสินใจของลูก

"ผมไม่รู้ว่าผิดหรือถูกนะครับ แต่ผมสอนลูกให้มีอิสระทางความคิด ให้เขารู้จักการตั้งคำถาม และแสวงหาคำตอบด้วยตนเอง พร้อมกับสอนให้เขารับผิดชอบกับผลของการกระทำนั้น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะบวกหรือลบ

"เรื่องคดีความคงต้องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ผิดถูกอย่างไรค่อยว่ากันอีกที แต่ถ้าถามถึงความรู้สึกส่วนตัวของผมเมื่อเห็นลูกวัยแค่นี้ถูกคดีการเมืองรุนแรง แน่นอนครับ ผมคงเหมือนพ่อแม่ทุกคนที่เจ็บปวดไปกับลูก ทั้งรักและห่วงกังวล

"ในฐานะของคนเป็นพ่อแม่ สิ่งที่กระทำได้ดีที่สุดในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ คือการจูงมือลูกให้แน่น พร้อมเดินฝ่าความโหดร้ายและอุปสรรคนานับประการไปด้วยกัน

"เรา…ผู้เป็นพ่อแม่เมื่อเห็นลูกสะดุดล้มเช่นนี้ คงทำได้เพียงแค่เป็นเบาะรองรับตัว ให้เจ็บน้อยที่สุด แม้ว่าจะแลกด้วยความเจ็บปวดของตัวเองก็ตาม นั่นคงเป็นวิถีของพ่อแม่ทุกคนมิใช่หรือ…

"ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เหตุการณ์อันแสนปวดร้าวเช่นนี้จะหยุดอยู่แค่ครอบครัวของผม ขอมันอย่าได้เกิดขึ้นกับครอบครัวคนอื่น ๆ อีกเลย"

MANA TREELAYAPEWAT
คำบรรยายภาพ,

ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์

ประณามรัฐบาล

เครือข่ายคนไทยในต่างแดนที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มเสรีประชาธิปไตย นักเรียนไทยในยุโรป" และเครือข่าย ออกแถลงการณ์ทางเพจเฟซบุ๊ก ประณามพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กลับมาบังคับใช้ ม. 112 อีกครั้ง และเรียกร้องให้ยกเลิกหมายเรียกและยุติการดำเนินคดีตามมาตรา 112 ทุกกรณี รวมทั้ง ยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 และแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องตามหลักสากลต่อไป

รายชื่อผู้ร่วมลงนาม ประกอบด้วย กลุ่มเสรีประชาธิปไตย นักเรียนไทยในยุโรป, กลุ่มเสรีประชาธิปไตยในออสเตรีย, กังหันไทย ไล่เผด็จการ, คณะราษฎรฝรั่งเศส, คณะราษฎรเบลเยียม, คณะราษฎรสก็อตแลนด์, คณะราษฎรฮังการี, คน "ไท" ในฟินแลนด์, สหภาพประชาธิปไตยไทยในโปแลนด์, ภาคีนักเรียนไทยในอังกฤษเพื่อประชาธิปไตย, เสรีไทยในโคโซโว, เสรีไทยในอิตาลี, เสรีไทยในนอร์เวย์, เสรีไทยในเดนมาร์ก, เสรีไทยในสวีเดน, เยอรมนีขยี้เผด็จการ, พันธมิตรไต้หวันเพื่อประชาธิปไตยไทย, Thai Democratic Movement in Canada, Thai Activists for Democracy in Korea, The Australian Alliance for Thai Democracy, Parti Sosialis Malaysia (PSM), Socialist Alliance, Australia, สมาคมเพื่อประชาธิปไตยไทย, สหรัฐอเมริกา, พรรคกรีน ไต้หวัน, Malaysian Support Group for Democracy in Thailand, Association for Thai Democracy, USA, Student Alliance of New Zealand for Democracy in Thailand

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar