เพจ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โพสต์ “ทำไมต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง” เรียกเสียงหัวร่องอหาย เพราะบางท่อนเหมือนก๊อบมาจากนักวิชาการประชาธิปไตย แต่เอามาตัดแปะยำใหม่จนเลอะเลือน
อีลิทไทยไม่เชื่อมั่นนักการเมือง ข้องใจประชาธิปไตย เห็นดีเห็นงามกับรัฐประหาร แต่เมื่อมีเลือกตั้ง ฝ่ายอำนาจนิยมก็จะพ่ายแพ้ต่อฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยมทุกครั้ง นี่คือต้นตอความขัดแย้งแตกแยก ระหว่าง 2 ฝ่าย ที่หาทางให้ตัวเองชนะเด็ดขาด ทำลายอีกฝ่ายให้สิ้นสูญไป “ป้อม นาฬิกา” ผู้เข้าถึงจิตวิญญาณอนุรักษนิยม แต่เข้าใจประชาธิปไตยเสรีนิยม จึงอาสาพาคนไทยก้าวข้ามความขัดแย้ง ฯลฯ
“ณ วันนี้ ทั้งอนุรักษนิยมและเสรีนิยมคือกับดัก เราต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง”
อันที่จริง คำพูดทำนองนี้มักเป็นที่ต้อนรับในสังคมไทย ซึ่งนิยมลูบหน้าปะจมูก แล้วๆ กันไป แต่ครั้งนี้กลับไม่ค่อยมีคนกดไลก์กดแชร์ มีแต่กดขำ กับคอมเมนต์วิพากษ์วิจารณ์แถมตลกร้าย (เช่น เดินยังไม่ค่อยไหวแล้วจะก้าวข้ามยังไง)
คงเพราะประวิตรไม่สามารถแยกตัวออกจากประยุทธ์ ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบในฐานะ “พี่ใหญ่” ที่ร่วมใช้อำนาจรัฐประหารมา 5 ปี สืบทอดอำนาจอีก 4 ปี แม้เลือกตั้งครั้งนี้จะแยกทางอย่างชัดเจน
จู่ๆ มารีแบรนด์ ฟอกขาวให้ตัวเอง เป็นคนกลางระหว่างรัฐประหารกับประชาธิปไตย ใครจะเชื่อ และจะเป็นไปได้อย่างไร
คนบางส่วนยิ่งเชื่อว่านั่นไง “ป้อม เกาะโต๊ะ” จะจับมือทักษิณ พลังประชารัฐร่วมรัฐบาลเพื่อไทย โดยอาศัยป้อมคอนเน็กชั่น 250 ส.ว.โหวตให้
โดยส่วนตัว เชื่อว่าป้อมวางเป้าหมาย “ก้าวข้าม” จริง แต่นั่นคือเป้าหมายเพื่อรับใช้อำนาจอนุรักษนิยมในอีกแนวทาง
9 ปีรัฐประหาร 6 ปีรัฐธรรมนูญ 2560 ทำประชาธิปไตยถอยหลังไปสู่กึ่งๆ ก่อน 2475 ฝ่ายอนุรักษ์กุมอำนาจเบ็ดเสร็จในกองทัพ รัฐราชการ กระบวนการยุติธรรม องค์กรอิสระ แต่ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง จนกระทั่งเกิดม็อบคนรุ่นใหม่ชูสามนิ้ว
กลไกอำนาจทั้งนอกและในรัฐธรรมนูญ ยังแข็งปั๋ง เข้มข้น อำมหิต แต่อำนาจทางความคิดวัฒนธรรมของฝ่ายอนุรักษ์เสื่อมอย่างหนัก ขณะที่อำนาจทางการเมืองคือรัฐบาลประยุทธ์ ที่อุตส่าห์สร้างกลไกมาพิทักษ์ ก็ล้มเหลวพังราบ ไม่น่าจะกลับมาได้หลังเลือกตั้ง
แนวทาง “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” หรือสลายขั้วอุดมการณ์ จึงโผล่ขึ้นมา เพื่อหาจุดเชื่อมให้เกิดรัฐบาลจากเลือกตั้งที่ยอมประนีประนอมกับโครงสร้างอำนาจอนุรักษนิยม
พูดให้เห็นภาพ คือถ้าพรรคฝ่ายค้าน เพื่อไทย+ก้าวไกล+เสรีรวมไทย+ประชาชาติ แลนด์สไลด์ ตั้งรัฐบาล “ฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยม” แล้วจัดลงประชามติยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ฟื้นประชาธิปไตย ไม่ถึงกับเต็มใบหรอก แค่กลับไปคล้ายรัฐธรรมนูญ 40 ฝ่ายอนุรักษ์ก็จะดิ้นพล่าน เพราะทำรัฐประหารอีกทีไม่ง่าย ทำได้ แต่อยู่ยาก อนาคตอาจหักโค่น
ดังนั้น แนวทางของฝ่ายอนุรักษ์จึงมี 2 อย่าง หนึ่งคือ หวังให้ประยุทธ์ชนะ ตั้งรัฐบาลกับพรรคร่วมเดิม สองคือบีบให้เกิดรัฐบาล “สลายขั้ว” เพื่อรักษาโครงสร้างอำนาจ
ข้อแรกใครก็รู้ว่าเป็นไปได้ยาก เว้นแต่พรรคภูมิใจไทยเอาชนะพรรคเพื่อไทยถล่มทลาย แต่ถ้าอย่างนั้น ก็ต้องให้อนุทินเป็นนายกฯ ซึ่งมีคำถามตัวโตๆ ว่า “จิตวิญญาณอนุรักษนิยม” คนดีย์ทั้งหลายยอมรับ “ประชาธิปไตยบุรีรัมย์โมเดล” หรือ
ถ้าเปรียบเทียบระหว่างประยุทธ์ประวิตรวันนี้คือ ประยุทธ์โยนความล้มเหลวความย่ำแย่ทั้งหลายให้นักการเมือง ให้พรรคพลังประชารัฐที่กวาดต้อน ส.ส.มา ตัวเองไม่เกี่ยว แยกไปตั้งพรรคใหม่กับ กปปส. เป็นคนดีคนซื่อ (แต่พ่วงเสี่ยเฮ้งเสธ.หิเฮียชัชแรมโบ้)
พูดภาษาป้อม นี่คือตัวแทนอนุรักษนิยมสุดโต่ง ขณะที่ป้อมรีแบรนด์ตัวเองไปเป็นคนที่เข้าถึงเข้าใจทั้งสองฝ่าย ร่วมรัฐบาลได้กับทุกพรรค (ยกเว้นก้าวไกล) ผลเลือกตั้งจะเป็นตัวชี้ว่าอำนาจอนุรักษ์เลือกแนวทางไหน
พูดให้ขำๆ ก็คือป้อมพยายามจะเสนอแนวทาง 66/23 แต่ช้าไป 7-8 ปี แถมป้อมไม่ใช่เปรม และอำนาจอนุรักษ์ปัจจุบันก็ไม่สามารถปรับตัวทันเหมือนยุคนั้น
ยุคนั้นหลังล้อมปราบ 6 ตุลา 2519 ผลักนักศึกษาเข้าป่า เพียง 1 ปี เกรียงศักดิ์ก็ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลหอย นิรโทษกรรม ร่างรัฐธรรมนูญ กลับสู่เลือกตั้ง แล้วเปรมขึ้นมาสานต่อ ออก 66/23 ในช่วงพรรคคอมมิวนิสต์เพลี่ยงพล้ำ ประชาธิปไตยก็ไม่เข้มแข็ง สังคมพอใจ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ยังไงก็ดีกว่าเผด็จการ
แต่ยุคนี้รัฐประหารอยู่นานถึง 5 ปี สืบทอดอีก 4 ปี เพิ่งจะมากลับลำตอนเห็นลางพ่ายแพ้ ประชาธิปไตยก็ถอยหลัง ถอยไปยิ่งกว่าปี 49 หรือปี 57 ด้วยซ้ำ ยากจะหาทางประนีประนอมยอมความ หาโครงสร้างระบอบที่ลงตัวกับทุกฝ่าย
ซ้ำร้าย ป้อมไม่ใช่เปรม ป้อมมาตั้งแต่แรก อยู่ในความขัดแย้งตั้งแต่ 49, 53 ยากที่จะกลับลำ
การก้าวข้ามความขัดแย้งเพื่อปกป้องโครงสร้างอำนาจจึงเป็นไปได้ยาก แม้อาจทำได้ชั่วขณะ ก็จะปะทุอยู่ดี เพราะองคาพยพทุกส่วนเสื่อมหมดแล้วในตอนนี้
แต่แน่นอนว่า แรงกดดันของอำนาจเหนือการเมือง มีผลต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ แม้คนไม่เชื่อไม่คล้อยตามป้อม แต่ก็เกิดภาวะที่ “ฝ่ายประชาธิปไตย” เองไม่กล้าแพ็กกัน เพื่อให้เป็นการต่อสู้ระหว่าง “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” Vs “พรรคสืบทอดอำนาจหรือรับใช้เผด็จการ” ยังคงวนอยู่แค่ เอาประยุทธ์ หรือไม่เอาประยุทธ์ ทั้งที่ควรก้าวไปมากกว่านั้น
เราทั้งหลายก็เลยเห็นแต่ป้ายหาเสียงขึ้นค่าแรงให้เงินคนแก่
แต่การต่อสู้ด้วยการเมืองอุดมการณ์ระหว่างเสรีประชาธิปไตย Vs อำนาจอนุรักษ์
ไม่ยักชูเป็นธงนำ
ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_7540062
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar