söndag 23 april 2023

ใบตองแห้ง: กระแสก้าวไกล / สูตร ปชต.ใน 300+

2023-04-22 00:26

โพลพิธา ก้าวไกล ครองอันดับสองเหนียวแน่น ไต่เกิน 20% หลายสำนัก ยิ่งดูผลดีเบตช่องต่างๆ ทั้งช่องหลักช่องออนไลน์ ทั้งส่วนกลางส่วนภูมิภาค ก้าวไกลยิ่งนำโด่ง

แน่ละ โพล ดีเบต เป็นแค่กระแส วัดผลจริงไม่ได้ คนดูดีเบตส่วนใหญ่เป็นคอการเมือง ตามกดไลก์ทุกช่องทาง

กระนั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าก้าวไกลกระแสขึ้นจริง เปิดเจอวิเคราะห์ข่าวทางวิทยุยังพูดถึงแบบไม่คาดคิด

พรรคก้าวไกล ไอ้พวก Extreme เสนอแก้ 112 อภิปรายตั๋วช้าง อภิปรายงบสถาบัน เอาตำแหน่ง ส.ส.ประกันม็อบสามกีบ เนี่ยนะ จะได้คะแนนนิยมในสังคมไทย ที่เคยได้ 6.3 ล้านเสียงปี 62 ครึ่งหนึ่งน่าจะเพราะไทยรักษาชาติถูกยุบ และตอนนั้นก็ยังไม่ชน 112

แต่ติ๊กข้อสังเกตไว้ รังสิมันต์ โรม กลายเป็นขวัญใจต้านโกง จากการอภิปรายในสภา ไปโรงพักไหน ตำรวจขอถ่ายเซลฟี่ กระทั่งข้าราชการหัวโบราณ เกลียดก้าวไกล ยังแอบชอบโรม เพราะมองว่าต้านโกงต้องหัวแข็งแบบนี้

สี่ปีที่ผ่านมา อนาคตใหม่-ก้าวไกล ทำงานสภาอย่างโดดเด่น ทั้งตรวจสอบ เสนอกฎหมาย เสนอประเด็น ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ปฏิรูปกองทัพ สุราก้าวหน้า สมรสเท่าเทียม ฯลฯ เป็นตัวแทนความคิดใหม่ทางการเมืองวัฒนธรรม

ตอนเริ่มปี่กลองเลือกตั้ง ก้าวไกลเหมือนถูกมองข้าม แต่กระแสเริ่มขึ้นตั้งแต่เปิดตัวผู้สมัคร โดยเฉพาะ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งดูเด่นกว่าทุกพรรค ตามด้วยเปิดรับบริจาค สร้างวัฒนธรรมใหม่ทางการเมือง ขึ้นเวทีปราศรัยยังไม่เท่าไหร่ แต่ขึ้นเวทีดีเบตประชันกับพรรคอื่นทีไร ก้าวไกลกินขาด เว้นแต่เจอตัวเด่นๆ ของพรรคเพื่อไทยแบบหมอมิ้ง ซึ่งก็มีไม่กี่คน

“เวทีดีเบตสมัยนี้ ไม่ใช่พูดจาฉะฉานอย่างเดียวแล้วชนะใจคนฟัง องค์ความรู้ ฐานข้อมูล วิชาการ หลักการ ต้องแน่นด้วย ก้าวไกลยกระดับเวทีดีเบตไปแล้ว” Quote จากมิตรส้มท่านหนึ่ง

บางคนยังให้ข้อสังเกตว่า ก้าวไกลมีทั้งของร้อน แบบธนาธร ปิยบุตร วิโรจน์ โรม หรือมาดนิ่ม ไม่กร้าว แต่หนักแน่นชัดเจนในหลักการ แบบพิธา ศิริกัญญา ซึ่งบุคลิกแบบหลังสังคมไทยรับได้ง่ายกว่า

ก้าวไกลจึงให้ภาพทั้งสองด้าน ยืนหยัดหลักการแบบคนรุ่นใหม่ เจรจาประนีประนอมได้ แต่ไม่ถอยเรื่องหลักการ ไม่ใช่มีมิติเดียวอย่างที่คิดกัน

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมองตัวผู้สมัครก้าวไกล ทั้งปาร์ตี้ลิสต์ ส.ส.เขต ล้วนเป็นคนหนุ่มสาว “คนธรรมดา” คนชั้นกลาง มีความรู้ความสามารถ มีความกล้า มีความมุ่งมั่น บากบั่นที่จะหาเสียงแบบใหม่ แบบถือโทรโข่งไปยืนตามสี่แยก

ลองขับรถไปตามถนน ทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑล สังเกตป้าย ส.ส.ก้าวไกล (มีน้อยหน่อย) คุณจะเห็นภาพคนหน้าใหม่ สดใส มีพลัง ยิ่งห่างกรุงออกไป ยิ่งเห็นภาพประชัน อดีตนักการเมืองท้องถิ่น อบจ. อบต. เทศบาล เจ้าที่เจ้าทาง

ไม่ได้ bully การเมืองท้องถิ่น แต่ถ้าลบภาพการเมืองแบ่งฝ่ายไปชั่วขณะ ถ้าคุณไม่ได้อยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์จำเป็นต้องพึ่งพิงนักการเมืองแบบเดิม คุณจะเลือกใคร

นี่แหละคือ “การเมืองใหม่” ที่คนไทยเคยอยากได้ พันธมิตรยึดสนามบินก็เคยอยากได้ แต่ตั้งพรรคแล้วล้มเหลว การเมืองใสสะอาด การเมืองที่ไม่ใช้เงินหว่าน นักการเมืองที่มีคุณภาพ ที่คุณอยากได้ มันกลับมาผุดในพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ในอุดมการณ์ลิเบอรัล

อดีตพันธมิตรจึงมีไม่น้อยที่จะเลือกก้าวไกล คนรู้จักที่เคยเลือกประชาธิปัตย์ (แต่เข็ดแล้ว) กุมขมับ “พรรคก้าวไกลมันจะโยนเรื่องแก้ 112 ทิ้งไปไม่ได้เหรอ ผู้สมัครดีๆ น่าเลือกทั้งนั้น” (ไม่ได้ครับ เขามาเป็น Package)

นี่คือพลังของก้าวไกลที่ยิ่งหาเสียงยิ่งขึ้น ยิ่งประชันยิ่งเห็น ลองจิ้มผู้สมัครก้าวไกล ใครก็ได้ ใน 400 เขต ปาร์ตี้ลิสต์ 94 คน ขึ้นเวทีดีเบตได้เกินครึ่ง ขึ้นเวทีปราศรัยได้เกือบทุกคน

“การเมืองดี” “การเมืองใสสะอาด” เป็นสิ่งที่เราทุกคนอยากได้โดยธรรมชาติ ไม่ว่าอยู่อุดมการณ์ฟากไหน แม้รู้ว่าเป็นไปได้ยากในสภาพการเมืองไทยปัจจุบัน ก็อยากเอาใจช่วย

พูดเรื่องการเมืองดี การเมืองใสสะอาด เท่ากับด้อยค่าเพื่อไทยไหม ต้องเข้าใจความเป็นจริง พรรคไทยรักไทยก่อตั้งขึ้นในการเมืองกลางเก่ากลางใหม่ มีความคิดก้าวหน้าทันสมัย เอาชนะด้วยนโยบายที่ให้ประโยชน์ประชาชน กองทุนหมู่บ้าน 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งมีคุณูปการจนถึงวันนี้ (รักษามะเร็งฟรีตั้งแต่ปี 45)

บนข้อจำกัดของสังคมการเมืองไทย พรรคเพื่อไทยตระหนักดีว่าจะเอาชนะเลือกตั้งเป็นรัฐบาล ต้องอาศัยนักการเมืองกลางเก่ากลางใหม่ ในขณะเดียวกันก็ต้องเจรจาต่อรองอำนาจอนุรักษ์ ต้องยอมรับข้อจำกัดหลายด้าน เพื่อจะเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยแบบไม่เต็มใบ แต่ยังดีกว่ารัฐบาลสืบทอดอำนาจ

เพื่อไทยจำเป็นต้องเดินไปในวิถีนั้น อนาคตใหม่ก้าวไกลเกิดในจังหวะที่สังคมเริ่มเปลี่ยนแปลง จึงสามารถสลัดพันธนาการสร้างการเมืองใหม่ แต่เพิ่งเริ่มเปลี่ยน ก้าวไกลจึงยังไม่สามารถชนะเลือกตั้งเป็นแกนนำรัฐบาล

กระแสก้าวไกลเป็นที่ตอบรับ จึงเป็นนิมิตหมายอันดี เป็นความหวังแห่งอนาคตที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ แม้ต้องยอมรับว่า เพื่อไทยก้าวไกลกลายเป็นคู่แข่งในขั้วเดียวกัน และเกิดความกังวลว่าจะตัดคะแนนกันเองจนแพ้ “ตาอยู่”

ถ้าเข้าใจความแตกต่าง ควรเข้าใจว่าแม้ยังมีฐานเสียงซ้อนกันอยู่ “รักพี่เสียดายน้อง” ระหว่างสองพรรค แต่ฐานเสียงก้อนใหญ่ไม่สามารถบังคับกะเกณฑ์ว่า “เพื่อเห็นแก่ประชาธิปไตย” โปรดเลือกเชิงยุทธศาสตร์ เลือกพรรคหรือเขตที่มีโอกาสชนะเพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.

ความแตกต่างนี้ต้องยอมรับ ถ้าตัดคะแนนจนแพ้ก็ต้องมองให้เห็นอนาคต เหมือนการเกิดอนาคตใหม่ทำให้การเมืองเปลี่ยนจนมีวันนี้ ไม่ใช่เอาความแตกต่างนี้มาปลุกความเกลียดชัง

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_7624278

2023-04-22 00:17

คำนวณจากโพล คำนวณวงนอกวงใน หลายวงเชื่อว่า “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” มีโอกาสได้ ส.ส.รวมกันเกินครึ่ง อาจจะถึง 300 เสียง หรือมากกว่า

ที่มองเช่นนั้นเพราะโพลส่วนใหญ่ (ที่ไม่ซูเปอร์) เพื่อไทย+ก้าวไกล+เสรีรวมไทย+ประชาชาติ+ไทยสร้างไทย ได้เกิน 60% ไม่ว่าคะแนนพรรคหรือนายกฯ

บางคนอาจแย้ง โพลกระแสไม่สู้กระสุน ถึงเวลาหย่อนบัตร คนจำนวนมากที่ไม่อยู่ในโพล เลือก “บ้านใหญ่” ระบบอุปถัมภ์

อนุทินจึงหัวเราะก๊าก หากภูมิใจไทยได้ ส.ส. 3% ตามโพล จะเลิกเล่นการเมือง

ใช่ครับ ส.ส.ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ ไม่ต่ำเตี้ยตามโพลหรอก แต่หากเจาะรายภาค ดูทั้งกระแสพรรคและผู้สมัคร ก็เห็นชัดว่าเพื่อไทยครองตัวเก็งในภาคเหนือภาคอีสาน ผู้ท้าชิงส่วนใหญ่เป็นภูมิใจไทย มีพลังประชารัฐเป็นหย่อมๆ โดยทั้งสองพรรคนำแน่แค่บางจังหวัด เช่น บุรีรัมย์ อุทัยธานี เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร พะเยา ที่เหลือลุ้นหนัก ขณะที่ประชาธิปัตย์ รวมไทยสร้างชาติ มีผู้ท้าชิงน้อยมาก

ภาคกลางชุลมุน ประเมินหยาบๆ กระจายทุกพรรค ภาคตะวันออก ลูกกำนันเป๊าะย้ายกลับเพื่อไทย ชน “เสี่ยเฮ้ง” หลบไปปาร์ตี้ลิสต์

กรุงเทพฯ 1.3 ล้านเสียงเลือกชัชชาติ ไม่เลือกเพื่อไทยก็ก้าวไกล ถ้าพรรครัฐบาลจะมีโอกาสคือ 2 พรรคตัดคะแนนกัน

รวมไทยสร้างชาติ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ไปตกคลักอยู่ภาคใต้ ตกปลาในบ่อที่มี ส.ส.แค่ 60 คน หรือเอาเข้าจริง 50 กว่าคน เพราะสามจังหวัดชายแดน พรรคประชาชาติเป็นเจ้าถิ่น

ดูภาพรวมทั้งประเทศจึงคำนวณได้ง่ายๆ ถ้าฝ่ายค้านจะแพ้ คือภูมิใจไทยชนะถล่มทลาย ได้ 100 ส.ส.ขึ้นไป หรือประยุทธ์กลายเป็นเทพเจ้า พลังเงียบเทคะแนนให้รวมไทยฯ

เพื่อไทย+ก้าวไกล+ประชาชาติ+เสรีรวมไทย+ไทยสร้างไทย = 300+ จึงเป็นไปได้สูง แม้ตัวเลขไม่นิ่ง ก็จะช่วงชิงในฝ่ายเดียวกันมากกว่า

อย่างที่โพลสื่อสำนักหนึ่งระบุ คนยังไม่ตัดสินใจ 1 ใน 3 “ฝั่งเสรีนิยม” ลังเลระหว่างเพื่อไทยก้าวไกล “ฝั่งอนุรักษนิยม” ลังเลระหว่างประชาธิปัตย์กับรวมไทยสร้างชาติ แต่ไม่ข้ามฟากเด็ดขาด

ยกตัวอย่าง ถ้าตู่กระแสตก คะแนนอนุรักษ์ก็จะหวนกลับประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะภาคใต้ แม้โพลประยุทธ์นำจุรินทร์โด่ง แต่ในแง่ตัวบุคคล ผู้สมัคร ปชป.ล้วน “บ้านใหญ่”

คนอีกฝ่ายจึงแซวขำๆ ถ้าหวังไม่ให้รวมไทยสร้างชาติได้ถึง 25 เสียง ต้องฝากความหวังไว้กับคนใต้ ให้กลับไปเลือกพรรคสะตอ

ใน “ฝั่งเสรีนิยม” ก็เช่นกัน ที่ช่วงชิงโค้งสุดท้ายคือ เพื่อไทย Vs ก้าวไกล ต่างรณรงค์ให้เลือกพรรคตัวเองทั้งสองใบ คะแนนที่ไหลไปมา จะชี้ว่าเพื่อไทยได้ 230-240-250-260 แล้วก้าวไกลได้ 30-40 หรือ 50 หรือ 60 โดยเหลือให้พรรคอื่น 10+

พูดเช่นนี้ไม่ใช่ไม่มี “คนตรงกลางๆ” แต่เพราะความเบื่อรัฐบาล 4 ปี 9 ปี คนตรงกลางๆ เลือกแล้วว่าจะเลือกฝ่ายค้าน เพียงลังเลว่าพรรคไหน

กระแสก้าวไกลพุ่งขึ้น จากการดีเบต จากภาพลักษณ์ผู้สมัคร คนหนุ่มสาว คนธรรมดา ที่กล้าทำการเมืองใหม่ ไม่ใช่การเมืองแบบเดิมๆ ระบบอุปถัมภ์ แต่เพื่อไทยก็ช่วงชิง จากความเชื่อมั่นฝีมือบริหารเศรษฐกิจ แจกเงินหมื่นดิจิทัล และความเป็นพรรคใหญ่ที่ยังไงๆ ก็จะเป็นแกนนำรัฐบาล

ทั้งสองพรรคทั้งช่วงชิงมวลชนประชาธิปไตยและคนตรงกลางๆ ที่เบื่อรัฐบาล

คำถามสำคัญคือ หลังเลือกตั้ง ทั้งสองพรรคจะร่วมรัฐบาลกันได้ไหม โดยเฉพาะเพื่อไทยที่ถูกสื่อและนักวิเคราะห์คาดเก็งว่า อาจจะจับมือกับพลังประชารัฐ เพื่ออาศัย 250 ส.ว.เครือข่ายประวิตร แม้เพื่อไทยปฏิเสธ ก็ถูกกดดันให้ตอบซ้ำแล้วซ้ำอีก ล่าสุด อุ๊งอิ๊งประกาศ “ดูหน้าไว้นะคะ” ไม่อยากจับมือกับคนทำรัฐประหาร

กระนั้น ประวิตรยืนยันไม่ได้ร่วมทำรัฐประหาร คนจำนวนหนึ่งก็ยังไม่เชื่อว่า เพื่อไทยจะไม่จับมือพลังประชารัฐ (ซึ่งนอกจากป้อม, ไพบูลย์, ชัยวุฒิ, นิพิฏฐ์ ที่เหลือล้วนอดีตเพื่อไทย)

ความไม่มั่นใจนี้มีผลต่อคะแนนเพื่อไทย เพราะ FC ทั้งสองพรรคมีไม่น้อยที่อยากให้เพื่อไทยประกาศว่า จะจับมือตั้งรัฐบาลกับพรรคฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันก่อน (แล้วถ้าเจรจากันไม่ได้หรือไม่สำเร็จค่อยไปเจรจาพรรคอื่น ฯลฯ)

แต่ท่าทีเพื่อไทยไม่คิดเช่นนั้น เพื่อไทยหวังปลุกกระแสให้คนฝั่งเสรีนิยมเลือกตัวเองให้มากที่สุด ให้ได้ ส.ส.เกินครึ่ง 250-260 เพื่อกุมอำนาจตัดสินใจ “ประชาธิปไตยพรรคเดียว” แบบอดีต หลังจากนั้นค่อยว่ากันว่าร่วมรัฐบาลกับใคร

นี่เป็นประเด็น Dilemma เพื่อไทยอาจคิดว่าต้องเป็นรัฐบาลไว้ก่อน เพื่อแก้ปากท้อง เพื่อแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อยับยั้งอำนาจ ฯลฯ ฉะนั้นหากจำเป็นก็ต้องยอมต่อรองแลกเปลี่ยน

แต่การประกาศ “สัญญาประชาคม” ร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปไตยก่อน เป็น “ความชอบธรรมทางประชาธิปไตย” ที่สำคัญยิ่ง แม้ดูนามธรรม

อย่าเพิ่งกลัวว่า 250 ส.ว.ขัดขวาง ถ้าตั้งรัฐบาลไม่ได้ พลังเลือกตั้งจะลุกฮือ ภาคธุรกิจการลงทุนจะประณาม หลังจากนั้นหากต้องประนีประนอมค่อยว่ากัน

พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยควรตระหนักว่า ไม่ว่าจะเจรจาต่อรองหยวนยอมเพียงไร เครือข่ายอำนาจอนุรักษ์ก็จ้องเล่นงานคุณอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเพื่อไทย+ก้าวไกล เรียงหน้าท้าชน หรือรัฐบาลเพื่อไทย+พลังประชารัฐ มุ่งแก้ปากท้อง ไม่เกิน 2 ปีก็โดนจ้องเอาผิดยุบพรรคตัดสิทธิ หรือม็อบไล่เรียกหารถถัง

การเดินบนวิถีประชาธิปไตย ยึดความชอบธรรม ชนะเลือกตั้งแล้วรีบแก้รัฐธรรมนูญ ปฏิรูปกองทัพ จึงสำคัญที่สุด

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_7622502

 

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar