เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร (แดน 1)
33 ถนนงามวงศ์วาน ลาดยาว
จตุจักร กรุงเทพฯ 10900
วันที่ 27 สิงหาคม 2556
เรียน ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ตามที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำเนินการสร้างการปรองดอง ให้เกิดความสงบสันติสุข เพื่อประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้ ด้วยการเชิญทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม ทุกสี ทุกขั้วความขัดแย้งมาพูดคุยกันในสภาปฏิรูปการเมือง กระผมเป็นผู้ถูกกระทำ เป็นเหยื่อจากความขัดแย้งทางการเมือง ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพจากกระบวนการยุติธรรม จึงขอเสนอบุคคลที่เป็นแบบอย่าง และประสบผลสำเร็จในการปฏิรูปการเมือง โดยขอให้รัฐบาลเชิญบุคคลต่อไปนี้มาร่วมนำเสนอความคิดเห็นแลกเปลี่ยน ประสบการณ์ดังรายชื่อต่อไปนี้
1. ประธานาธิบดี เต็ง เส่ง (Thein Sein) ซึ่งมีบทบาทโดดเด่นต่อการปฏิรูปการเมืองในพม่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการทหารที่เคยแช่แข็งประเทศพม่ามายาวนานกว่า 50 ปี ให้มาเป็นประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แม้ว่าอิทธิพลทหาร และจารีตนิยมฝังรากลึกในพม่า แต่ประธานาธิบดีเต็งเส่งได้ทำการปลดปล่อยนักโทษการเมือง แม้จำนวนมากจับอาวุธสู้กับรัฐบาลยังปล่อยตัวให้ออกมามีส่วนร่วมในการพัฒนา ประเทศ อีกทั้งเจรจายุติการสู้รบกับกองกำลังติดอาวุธบริเวณชายแดนไทย – พม่า ยอมรับให้อองซาน ซูจี มีเสรีภาพทางการเมือง จึงเหมาะสมที่รัฐบาลไทยจะได้เรียนรู้จากพม่า
2. นางอองซาน ซูจี (Aung San Suu Kyi) ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้านในพม่า แม้ถูกคุมขังยาวนาน เมื่อได้รับอิสรภาพเป็นผู้นำฝ่ายค้านที่สร้างสรรค์ มุ่งมั่นประชาธิปไตย และต่อสู้อย่างสันติวิธี ไม่ได้เป็นนักการเมืองที่ค้านหัวชนฝา ตีหัวหมา ด่าแม่เจ๊ก แบบของไทย จึงสมควรนำมาถ่ายทอดประสบการณ์ เป็นแบบอย่างฝ่ายค้าน และการต่อสู้สันติวิธี
3. นายกรัฐมนตรีฮุนเซน (Hun Sen) จากประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นผู้เสนอให้มีการพระราชทานอภัยโทษให้นายสม รังสี (Sam Painsy) ผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งลี้ภัยอยู่ต่างประเทศได้กลับประเทศ มารณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ทำให้ฝ่ายค้านได้ที่นั่งในสภาเพิ่มขึ้น 55 ที่นั่ง จากทั้งหมด 123 ที่นั่ง ทำให้ฝ่ายพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ฝ่ายรัฐบาลที่เคยได้เสียงข้างมากเด็ดขาด 90 ที่นั่งเหลือเพียง 68 ที่นั่ง นับเป็นนายกรัฐมนตรีที่ใจกว้าง เป็นผู้สร้างสันติภาพ ยุติสงครามในกัมพูชา
4. บาทหลวง เดสมอนด์ ตูตู (Desmond Tutu) จากแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการค้นหาความจริง และการปรองดองในปี 1994 หลังจากแอฟริกาใต้ยกเลิกระบบการเหยียดสีผิว (Apartheid) ทำให้นายเนลสัน มันเดลา คนผิวดำได้เป็นประธานาธิบดี เป็นแบบอย่างการแก้ไข ไม่แก้แค้น ด้วยการนิรโทษกรรมปลดปล่อยนักโทษการเมืองที่เคยต่อต้านการเหยียดสีผิวหมดทุก คน นำมาสู่การปรองดองระหว่างคนผิวดำกับคนผิวขาว
5. สำหรับประเทศไทย เนื่องจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทำลายนิติธรรม และประชาธิปไตย และยังวางกลไกแทรกแซงการเมือง บ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพประชาชน จนถึงทุกวันนี้
ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลเชิญคณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คือ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์, นายปิยบุตร แสงกนกกุล, นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, นางสาวสุดา รังกุพันธ์, นายวัฒน์ วรรลยางกูร, นางสาวพวงทอง ภวัครพันธุ์ เข้าร่วมสภาการปฏิรูปการเมืองในครั้งนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปการเมืองจะเกิดขึ้นได้จะต้องปลดปล่อยนักโทษการเมืองที่เกิดจากการ ชุมนุม และความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา โดยไม่มีการแบ่งแยก กีดกันใด ๆ ทั้งสิ้น
ข้าพเจ้าฯ และรายนามต่อท้าย จึงเรียนนำเสนอมาเพื่อการปฏิรูปการเมืองได้เดินหน้าเพื่อสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ประชาธิปไตย และความปรองดองสันติสุขต่อไป
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
นช.สมยศ พฤกษาเกษมสุข
ผู้ต้องหาในคดี มาตรา 112
นายทรงชัย วิมลภัตรานนท์ นายพรส เฉลิมแสน
รักษาการกลุ่ม24มิถุนาประชาธิปไตย คณะราษฎร 2555
นางสาวเยาวภา ดอนเส นายทรงรัก นิตยาชิด
ตัวแทนองค์การแรงงานเพื่อประชาธิปไตย แดง กทม. 50 เขต
ในจดหมายเนื้อหาให้นายกรัฐมนตรี นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เชิญผู้นำประเทศที่ประสบความสำเร็จในการนำพาประเทศเข้าสู่ครรลองประชาธิปไตย เคารพในสิทธิ์เสรีภาพของประชาชนได้แก่ ประธานาธิบดี เต็ง เส่ง (Thein Sein)และนางอองซาน ซูจี (Aung San Suu Kyi) จากประเทศพม่า นายฮุนเซน (Hun Sen) นายกรัฐมนตรีจากประเทศกัมพูชา และบาทหลวง เดสมอนด์ ตูตู (Desmond Tutu) ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการค้นหาความจริง และการปรองดองในปี 1994 จากแอฟริกาใต้ มาบรรยายถ่ายทอดประสบการณ์ให้คณะกรรมการปฏิรูปฯ
ใน จม. ยังได้เสนอให้ แต่งตั้ง อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล จากคณะนิติราษฎร์ , อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์,อ.สุดา รังกุพันธ์ จากกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล และอาจารย์จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ,นายวัฒน์ วรรลยางกูร ศิลปินอาวุโส และนักเขียน , อ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬา เข้าร่วมในสภาการปฏิรูปการเมือง และได้ทิ้งท้ายโดยเรียกร้องให้มีการปลด ปล่อยนักโทษการเมืองที่เกิดจากการชุมนุม และความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar