tisdag 6 augusti 2013

แถลงการขององค์การสิทธิมนุษยชน ....ไทยต้องไม่นิรโทษกรรมแก่ผู้ระเมิดสิทธฺิ ...

แถลงการณ์ฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์:ประเทศไทย(ต้อง)ไม่นิรโทษกรรมแก่ผู้ละเมิดสิทธิ



ประเทศไทย : (ต้อง) ไม่นิรโทษกรรมแก่ผู้ละเมิดสิทธิ

ร่างกฏหมายที่เสนอจะสร้างรั้วล้อมปกป้องให้แก่ทางปฏิบัติของการอยู่เหนือความผิด

“ร่างกฏหมายนิรโทษกรรมของพรรครัฐบาลยอมให้ทั้งทหาร และกองกำลังติดอาวุธที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตระหว่างเหตุการณ์รุนแรงปี ๒๕๕๓ หลุดจากบ่วงความผิด ดังนั้นเพื่อที่จะให้เกิดความยุติธรรมต่อผู้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง และเพื่อจะยุติแนวทางปฏิบัติอันยาวนานของไทยที่ยอมให้บางคนอยู่เหนือความผิด ร่างกฏหมายนิรโทษกรรมควรที่จะละเว้นไม่รวมถึงคนที่ลุกล้ำกระทำความผิด ละเมิดกฏหมายทางอาญา และนำคนเหล่านั้นมารับผิดต่ออาชญากรรมของตน”

โดย แบร๊ด แอดัมส์ ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเซีย ฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์

(นิวยอร์ค) –ฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์*แถลงวานนี้ว่า ข้อเสนอกฏหมายนิรโทษกรรมต่อสภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทยควรที่จะละเว้นคนที่สั่งการ หรือปฏิบัติการละเมิดสิทธิมนุษยชน รัฐบาลไทยควรจะแสดงจุดยืนในการที่จะดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนร่วมในการละเมิดสิทธิ โดยไม่คำนึงว่าเขามีตำแหน่ง หรือสังกัดใด นี่เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการสร้างเสริมสิทธิมนุษยชน นิติธรรม และการปรองดองอันยั่งยืน
ในประเทศไทย ในวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๖ รัฐสภาจะทำการพิจารณาเป็นวาระแรกต่อร่างกฏหมายนิรโทษกรรมที่เสนอโดยนายวรชัย เหมะ ส.ส.พรรครัฐบาลเพื่อไทยของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร

“ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรครัฐบาลยอมให้ทั้งทหาร และกองกำลังติดอาวุธที่เป็นผู้กระทำให้เกิดการเสียชีวิตในระหว่างความวุ่นวายปี ๒๕๕๓ หลุดพ้นบ่วงความรับผิดชอบไปได้” นายแบร๊ด แอดัมส์ ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเซียขององค์การฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์กล่าว

“เพื่อให้เกิดความมั่นใจในความยุติธรรมแก่ผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง และเพื่อยุติแนวทางปฏิบัติอันเป็นมาช้านานในการยอมให้มีคนอยู่เหนือความผิด ร่างฯ นิรโทษกรรมควรที่จะไม่รวมถึงคนที่ลุกล้ำกระทำความผิดทางกฏหมายอาญา และนำคนเหล่านั้นมาดำเนินคดีตามความผิดแทน”

ร่างฯ วรชัยเสนอนิรโทษกรรมอย่างกว้างขวางแก่ผู้ร่วมชุมนุมทั้งหมดที่ถูกกล่าวหา ดำเนินคดี และพิจารณาตัดสินการกระทำอันเป็นความผิดต่อรัฐตั้งแต่หลังการรัฐประหารที่โค่นพี่ชาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ จนถึงวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔
การนิรโทษกรรมจะรวมถึงบุคคลที่กระทำการอันก่อความเสียหายแก่ชีวิต ทรัพย์สินของผู้อื่น แต่ไม่รวมถึงแกนนำผู้ชุมนุม 
นายวรชัยบอกกับฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๖ ว่าร่างกฏหมายที่เขาเสนอไม่ได้รวมถึงการนิรโทษกรรมแก่บรรดาทหาร เนื่องจากไม่มีทหารแม้แต่คนเดียวที่โดนกล่าวหา และดำเนินคดีสำหรับความรุนแรงทางการเมืองจากปี ๒๕๔๙ ถึง ๒๕๕๔

ช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ๒๕๕๓ เกิดการเผชิญหน้าทางการเมืองกันอย่างร้ายแรงระหว่างแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางว่า เสื้อแดง กับรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ หลายแห่ง ตามข้อมูลของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีผู้เสียชีวิต ๙๘ คน และบาดเจ็บกว่า ๒ พัน

ข้อเสนอของวรชัยผิดพลาดที่จะเอ่ยถึงความจำเป็นต้องเอาผิดกับเจ้าหน้าที่กองทัพ และเครือข่ายของ นปช. โดยเฉพาะกองกำลัง คนเสื้อดำต่อความรุนแรง และการละเมิดอย่างหนักหน่วงในปี ๒๕๕๓

ในรายงานชิ้นหนึ่งของฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์ชื่อ "เคลื่อนใกล้เข้าสู่ความระส่ำระสาย :การประท้วงของเสื้อแดงในปี ๒๕๕๓ กับการเข้าสลายชุมนุมโดยรัฐบาล" สรุปว่ามีการใช้กำลังอย่างไม่จำเป็นเกินกว่าเหตุโดยกองทัพบก เป็นผลให้คนตาย และบาดเจ็บจำนวนมากระหว่างการปะทะทางการเมืองในปี ๒๕๕๓ กองกำลังรักษาความมั่นคงเป็นฝ่ายมีความผิดในการตาย และบาดเจ็บเหล่านี้เป็นส่วนใหญ่

จำนวนผู้เสียชีวิตมากมาย –รวมถึงผู้เข้าชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ อาสาสมัครทางการแพทย์ และผู้ที่ปฏิบัติตามประกาศช่วงแรกๆ ผู้สื่อข่าว ช่างภาพ และคนที่ไปดูเหตุการณ์อย่างไทยมุง อันเป็นผลทางอ้อมจากปฏิบัติการ ใช้กระสุนจริงในบริเวณที่มีการชุมนุมของ นปช. ทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งกองทัพบกวางกำลังพลยิงเร็ว และสไน้เปอร์เอาไว้ 

กรม สอบสวนคดีพิเศษแถลงในเดือนกันยายน ๒๕๕๕ ว่ากองทัพเป็นฝ่ายทำให้เกิดการเสียชีวิต ๓๖ ราย จนกระทั่งบัดนี้มีเพียง ๙ สำนวนเท่านั้นที่ส่งฟ้องศาล หรือขอให้ทำการพิสูจน์หลักฐาน ผู้เสียหายห้ารายที่เสียชีวิตเกิดจากการยิงให้ถึงตายของทหารที่ได้รับคำสั่ง ฆ่าจากศูนย์อำนวยการรักษาสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)

รัฐบาลชุดต่อมาก็ยังละเลยที่จะเอาผิดกับฝ่ายทหาร โดยที่ไม่มีแม้แต่ทหารคนเดียวที่ได้รับการดำเนินคดีจากการกระทำรุนแรงในปี ๒๕๕๓ หลังจากเข้ารับตำแหน่งเพียงเล็กน้อย นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศต่อสาธารณะว่ารัฐบาลของเธอจะทำการสอบสวน และดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาความมั่นคงที่กระทำการละเมิดเหล่านั้น

แต่ ว่าตั้งแต่นั้นมารัฐบาลของเธอได้ประกาศซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าเจ้าหน้าที่กองทัพจะ ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นระหว่างการส่งกำลังเข้าสลายการ ชุมนุมโดยรัฐบาล แม้ว่าหลักฐานปรากฏชัดเจนล้นหลามว่าทหารยิงประชาชนตายทั้งที่ไม่ได้ปรากฏภัย คุกคามใดเลย

ทั้งๆ ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษพบว่ากองทัพเป็นผู้รู้เห็นกับการเสียชีวิต ๓๖ ราย จากการสืบสวนของหน่วยงานดีเอสไอ กับตำรวจ และผลการสอบสวนแสดงว่าไม่ได้มีความพยายามมากพอที่จะดำเนินการชี้ตัวทหาร และผู้บังคับบัญชาซึ่งรับผิดชอบต่อการยิงประชาชน  เมื่อได้รับผลการสอบสวนแล้วดีเอสไอตัดสินใจดำเนินคดีฐานทำให้มีการเสียชีวิตแต่เฉพาะกับนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น แต่ละคนโดนฟ้องในข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนาเนื่องจากเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ ตามบทบัญญัติที่เปิดช่องให้ดำเนินคดีแก่ผู้บังคับบัญชาในความผิดที่ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำ

ร่างนิรโทษกรรมของนายวรชัยจะอำนวยความคุ้มกันให้ปลอดจากการถูกดำเนินคดีแก่เครือข่ายภายใน นปช. รวมทั้ง กองกำลังเสื้อดำ ที่รับผิดต่อการโจมตีด้วยอาวุธถึงตายต่อทหาร ตำรวจ และพลเรือน กองกำลังเหล่านี้ควรที่จะมีการสอบสวน ชี้ตัว และดำเนินคดีด้วยความเหมาะสม แกนนำ นปช. ที่โหมกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงด้วยคำปราศรัยเร่งเร้ายุยงต่อผู้ชุมนุม กระตุ้นให้พวกเขากระทำการวางเพลิง และปล้นสะดม ก็ควรที่จะต้องถูกเอาผิดด้วย

ฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์บอกว่าสภาวะของการสอบสวนข้อหาทางอาญาของกองกำลังเสื้อดำขณะนี้ยังไม่กระจ่างนัก กรมสอบสวนคดีพิเศษตอนนี้ก็ไม่เอ่ยอีกต่อไปถึงผังรายชื่อซึ่งระบุตัวผู้ต้องหากองกำลังเสื้อดำ และโยงความรับผิดชอบไปสู่เหตุความรุนแรงในปี ๒๕๕๓ ที่เคยแสดงต่อสื่อบ่อยๆ เมื่อนายอภิสิทธิ์ยังอยู่ในอำนาจ ครอบครัวทหารที่เสียชีวิต และบาดเจ็บในการเข้าสลายการชุมนุมอ้างว่าพวกเขาประหวั่นกันว่าผู้ที่ควรต้องรับผิดชอบจะไม่ถูกดำเนินคดีกัน

ตรงข้ามกับภูมิหลังดังกล่าวญาติผู้เสียหายบางรายได้เสนอร่างกฏหมายอีกฉบับที่ระบุไว้ชัดแจ้งว่าการกระทำแบบใดจึงจะได้รับนิรโทษกรรม ในข้อเสนอกฏหมายของญาติผู้สูญเสียจะไม่ครอบคลุมถึงผู้ชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง หรือละเมิดสิทธิ ร่างกฏหมายดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้มีการฟ้องร้องคดีแก่บุคคล หรือกลุ่มซึ่งสังหารประชาชน หรือทำให้ทรัพย์สินส่วนตัวเสียหายด้วย

พรรคเพื่อไทยของนายกรัฐมนตรี และ นปช.ได้ปฏิเสธไม่ต้องการให้การสนับสนุนแก่ร่างกฏหมายของฝ่ายญาติผู้สูญเสีย ถึงขณะนี้กลุ่มญาติผู้สูญเสียยังไม่สามารถหารายชื่อสมาชิกสภาที่มาร่วมลงนามสนับสนุนร่างได้ถึง ๒๐ คนให้พอกับจำนวนที่ต้องการตามระเบียบการยื่นคำร้องอย่างเป็นทางการต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรให้รับพิจารณา

“ร่างนิรโทษกรรมฉบับวรชัยนี้เป็นการหยามหมิ่นต่อผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในปี ๒๕๕๓ และครอบครัวของพวกเขา” นายแอดัมส์กล่าว “มันเป็นเรื่องรับไม่ได้อย่างยิ่งที่ผู้กระทำการละเมิดอย่างร้ายแรง รวมถึงทหารที่เหนี่ยวไกยิง กับผู้บังคับบัญชาที่สั่งยิง จะยังคงไม่ถูกแตะต้องเนื่องจากการนิรโทษกรรม”

*หมายเหตุ ฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์ (Human Rights Watch) คือองค์การยามเฝ้าสิทธิมนุษยชน ซึ่งในที่นี้เขียนทับศัพท์อังกฤษเนื่องจากเป็นที่รู้จักกันดี

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar