söndag 11 augusti 2013

...ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า...12 สิงหาฯ มาน้อมรำลึกถึงบุญคุณบรรพชนปฏิวัติ นายพันเอกพระยาทรงสุรเดช. .บรรพชนปฏิวัติไทย .....

By   ThaiE - News

ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า 12สิงหาฯมาน้อมรำลึกถึงบุญคุณบรรพชนปฏิวัติ นายพันเอกพระยาทรงสุรเดช


พระยาทรงฯเกิดเมื่อ 12 สิงหาคม 2435 หรือเมื่อ 121 ปีที่แล้ว 

ขณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ท่านอายุย่าง 40 ปี และได้ชื่อว่าเป็นมันสมองในการทำปฏิวัติ 2475 และมีกำลังในการปฏิวัติจริงๆ โดยอาศัยยุทธวิธีลวงทหารมายึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง

คนไทยค่อนประเทศอาจจะลืมพระยาทรงฯไปแล้ว แต่วันที่12สิงหาคมนั้นได้ชื่อว่าเป็นวันที่คนไทยต้องรำลึกถึงพระยาทรงฯ บรรพชนปฏิวัติไทย 

นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน)[12 สิงหาคม พ.ศ. 2435 - 1 มิถุนายน พ.ศ. 2487]
















ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า-นายทหารอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่1เมื่อรุ่งเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยมีนายพันเอกพระยาทรงสุรเดช(ซ้ายสุดภาพล่าง)เป็นนักยุทธวิธีคนสำคัญในการวางแผนยึดอำนาจโดยปราศจากการสูญเสียเลือดเนื้อ


เมื่อวันที่12 สิงหาคมของทุกปีเวียนมาถึง ก็ย่อมจะทำให้ประชาชนไทย ผู้รักชาติรักประชาธิปไตยทั้งมวล อดหวนรำลึกนึกถึงพระคุณบรรพชนนักปฏิวัติผู้นำสยามประเทศก้าวสู่ระบอบประชาธิปไตยไม่ได้

4ทหารเสือคณะราษฎร์-(จากซ้าย) นายพันเอกพระยาทรงสุรเดช,นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา,นายพันเอกพระยาฤทธิอาคเนย์ และนายพันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ์
นอกจากคุณูปการต่อบ้านเมืองแล้ว ยังนับเป็นบุคคลที่นักการทหาร นักการเมืองเอาเป็นเยี่ยงอย่างในการใช้ชีวิตด้วย เพราะท่านได้ชื่อว่าทำการเพื่อชาติ ไม่เบียดบังชาติและราษฎรแม้แต่น้อย

นายพันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นผู้นำสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ.2475 โดยหากขาดท่านผู้นี้ ก็ต้องฟันธงได้เลยว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จะไม่มีวันสำเร็จได้เลยในวันนั้น เนื่องจากเป็นผู้วางแผนบัญชาการปฏิวัติ

หลังการปฏิวัติสำเร็จลง พระยาทรงฯไม่ขอรับตำแหน่งใดในรัฐบาล ไม่ขอเพิ่มยศเป็นนายพล ไม่ขอคุมกำลังทางทหาร แต่ท่านถูกขอให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงจำต้องรับเป็น เพราะแสดงถึงความศรัทธาต่อระบอบการปกครองใหม่

แต่ในภายหลังสถานการณ์พลิกผันทำให้ชะตากรรมของพระยาทรงฯต้องถูกเนรเทศไปอยู่ในอินโดจีนของฝรั่งเศส คือเวียดนาม และสุดท้ายที่เขมร อย่างอนาถา ส่วนลูกน้องถูกประหารชีวิตไป 18 ศพ ( อ่านรายละเอียดกรณีนี้ คลิ้กที่นี่ )

แม้กระทั่งยามยากช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่2ขณะพำนักลี้ภัยในญวนและเขมร ต้องอยู่บ้านเช่าโกโรโกโส ปั่นจักรยานถีบ และทำขนมไทยขายเลี้ยงประทังชีวิต แต่เมื่อไทยตกอยู่ใต้การยึดครองของญี่ปุ่น ก็พยายามอย่างโดดเดี่ยวที่จะขับไล่ญี่ปุ่นอย่างมืดมนลำพัง

แม้ว่าต้องตกระกำลำบากในเขมรขนาดนั้น และเป็นเวลาที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองทั่วเอเชีย รวมทั้งเขมรและไทยด้วยนั้น ญี่ปุ่นได้ติดต่อลับๆจะให้นายพันเอกพระยาทรงสุรเดชกลับไปมีอำนาจโค่นล้มปฏิปักษ์ทางการเมืองของท่าน คือจอมพลป.พิบูลสงคราม ซึ่งญี่ปุ่นชักไม่ไว้ใจ แต่พระยาทรงฯปฏิเสธ เพราะเห็นเป็นการทรยศบ้านเมือง ยอมระกำลำบากดีกว่า อันนี้นับเป็นจิตใจที่น่าเชิดชูยิ่ง

สุดท้ายเมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้มีอำนาจขณะนั้นส่งนายทหารคนหนึ่งไปลอบวางยาพิษพระยาทรงฯถึงแก่ความตายในเขมร ทั้งที่มีหวังกำลังจะได้กลับจากการลี้ภัย สุดท้ายคุณหญิงของท่านและทหารคนสนิทต้องทำพิธีศพอย่างอนาถา ไร้กองเกียรติยศใดๆในต่างแดน

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar