การเมือง : สุรชาติ บำรุงสุขการเมืองไทยปี63กับ4ทางเลือก
สุรชาติ บำรุงสุขการเมืองไทยปี63กับ4ทางเลือก : สถานการณ์การเมืองที่ร้อนแรงจากปีที่แล้วคุกรุ่น
ข้ามศักราชมาถึงปี 2563
บ้านเมืองจะตกอยู่ในสภาพไหน สุรชาติ บำรุงสุข
อาจารย์ประจำ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
นักวิชาการด้านความมั่นคงและยุทธศาสตร์ทางการทหาร เอกซเรย์ให้เห็นภาพ
ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ การต่างประเทศ สภาพสังคม รวมถึงบทบาท ของทหาร
ทิศทางการเมืองไทยปี 2563 เราเห็นสัญญาณมาตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 สภาวะ “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ” ในปี 2562 คิดว่าในปี 2563 น่าจะยังอยู่ แม้ผู้นำรัฐบาลเชื่อว่ามีวิธีการต่างๆ แก้เสียงปริ่มน้ำ แต่โดยภาพรวมอาการเสียงปริ่มน้ำจะไม่ไปไหน
ถ้าใครเชื่อว่าอาการเสียงปริ่มน้ำจะแก้ไขได้ด้วยฟาร์มงูเห่า
หรือสถานเสาวภา อาจต้องคิดให้ดี เพราะหากคิด
จะตั้งสถานเสาวภาเพื่อแก้ปัญหาเสียงปริ่มน้ำ
คำถามคือผู้นำรัฐบาลทหารจะทนกับสภาวะแบบนี้ได้อีกนานเท่าไร
เพราะเราเห็นประสบการณ์ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยุคจอมพลถนอม กิตติขจร มาถึงยุคพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกฯ ซึ่งวิธีแก้ปัญหาแตกต่างกัน ในยุคจอมพลสฤษดิ์ มีอำนาจหลังปี 2500 ปัญหาความผันผวนในสภาสุดท้ายจบด้วยการรัฐประหารในปี 2501
ส่วน จอมพลถนอม การเมืองผันผวนหลังการเลือกตั้งปี 2512 จบด้วยการรัฐประหาร 2514 ในยุคพล.อ.เปรม ก็เกิดปัญหา แต่สามารถประคับประคองสภาได้นาน แต่สุดท้ายก็จบด้วยเงื่อนไขใหญ่ คือนายกฯ ประกาศวางมือ
ดังนั้น
สิ่งที่เห็นอย่างหนึ่งคืออาการเสียงปริ่มน้ำแล้วต้องแก้ปัญหาไม่ใช่เรื่องง่ายของผู้นำทหาร
ผู้นำทหารไทย คุ้นเคยกับรัฐสภาที่มาจากรัฐประหาร
คุ้นกับการมีรัฐสภาแบบตรายาง อยากได้อะไรบอกไปก็ได้
อยากให้ทำอะไรก็ทำตามที่ผู้นำทหารต้องการ
แต่พอมาเป็นสภาเลือกตั้งคำตอบที่ชัดคือผู้นำทหารจากประวัติศาสตร์ไทย
ไม่เคยคุมสภาที่มาจากการเลือกตั้งได้เลย และเวลาจบก็มักจะจบไม่สวย
ดังนั้น ในสภาวะอาการเสียงปริ่มน้ำของปี 2563 คงไม่หายไปไหน ในอีกมุมหนึ่งยังบ่งบอกว่าเสถียรภาพของรัฐบาลในปี 2563 ก็จะมีสภาวะที่ง่อนแง่น ถ้าเสถียรภาพของรัฐบาลปี 2563 อยู่ในภาวะง่อนแง่น
ตอบได้อย่างเดียวว่าการเมืองไทยปี 2563 โดยไม่จำเป็นต้องดูดาว
จะเป็นการเมืองของความผันผวน
เพียงแต่จะจบลงอย่างไรนั้นในทางวิชาการตอบไม่ได้โดยตรง
บนเงื่อนไขของการเมืองแบบนี้ เราเห็นจากประสบการณ์ คือการตัดสินใจยึดใหม่
แต่ยึดใหม่คำตอบคือไม่ง่าย แต่ถ้าไม่ยึดแล้วตัดสินใจยุบก็มีปัญหาเหมือนกัน พล.อ.เปรม
เคยยุบสภา หลักประกันยุคนั้นอาจแตกต่างออกไป อาจเห็นรัฐบาลกลับมาได้
แต่ทำนองเดียวกันการยุบสภาอาจเป็นการปิดประตูการกลับมาของรัฐบาลชุดเก่า
หากตัดสินใจยุติบทบาท
ก็เป็นอีกจุดที่ไม่รู้ว่าผู้นำทหารปัจจุบันพร้อมหรือไม่ที่จะลงจากหลังเสือจริงๆ
หรือยังมีความเชื่ออย่างเดียวว่าลงไม่ได้ หรือกลัวเสือกัดแล้วก็ไม่ลง
หรือการไม่ลงเป็นเพียงข้อแก้ตัวที่จะอยู่ต่อ
และจุดใหญ่ที่สุดภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองที่เสียงความไม่พอใจมากขึ้น
สุดท้ายนำไปสู่การล้มของรัฐบาล และเป็นการล้มที่ไม่ใช่ในภาวะปกติ
แต่เป็นการล้มที่เกิดจากเสียงของประชาชน
ไม่ได้บอกว่าจะเกิด 14 ตุลาในปี 2563 แต่เชื่อว่าปี 2563 จะเห็นเสียงเรียกร้องของประชาชนมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นจากพรรคอนาคตใหม่ ที่เริ่มเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา
แต่เชื่อว่าวันที่ 12 ม.ค.2563 จะเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ
เพราะอย่างน้อยหากวัดจากเสียงตอบรับในโลก โซเชี่ยล
เราเห็นเสียงตอบรับที่ดังมากขึ้น
ถ้าเป็นแบบนี้เชื่อว่าเสียงของประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐบาลน่าจะดังมากขึ้น
หากเป็นเช่นนั้นโอกาสที่รัฐบาลอาจจะพลั้งพลาดในสภาวะที่เกิดจากการเรียกร้องของประชาชนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถตัดทิ้งไปได้
หมายความว่าอนาคตทางการเมืองไทยปี 2563 คือ 1.ยึด 2.ยุบ 3.ตัดสินใจลาออก เปลี่ยนรัฐบาล และ4.เปลี่ยนรัฐบาลจากการเรียกร้องของประชาชน 4 ทางเลือกในภาพใหญ่ เป็นตัวอย่างที่เราอาจต้องนั่งดูกับสถานการณ์จริง
ส่วนปัจจัยทางเศรษฐกิจ ถ้าบอกว่ารัฐบาลอยู่ในสภาวะปริ่มน้ำ ก็คิดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 อยู่ในสภาวะจมน้ำ เพราะเศรษฐกิจจากปี 2561 ต่อเข้าปี 2562 ใครที่เคยบ่นว่าปี 2561 แย่ ส่วนตัวคิดว่าปี 2562 แย่กว่า
ยิ่งช่วงปลายปี 2562 สัญญาณหลายอย่างไม่เป็นบวก
การส่งออกที่เป็นหัวรถจักรใหญ่ของประเทศ
วันนี้ดูเหมือนจะเป็นหัวรถจักรที่ไม่มีแรงลากเศรษฐกิจไทย
รวมถึงการเพิ่มขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือน
แปลว่าเศรษฐกิจในระดับมหภาคและจุลภาคของไทยวันนี้ประสบปัญหาใหญ่
จึงคิดว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจปี 2563 จึงเป็นปัจจัยที่น่ากังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือผลกระทบจากเศรษฐกิจในเวทีโลก เมื่อมองจากสภาวะเศรษฐกิจก็เชื่อว่าเงื่อนไขทางเศรษฐกิจปี 2563 จะเป็นแรงที่ผลักให้ประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐบาล หรือประชาชนที่ครั้งหนึ่งเคยสนับสนุนรัฐบาล ในปี 2563 จะเป็นเสียงที่ต่อต้านรัฐบาลมากขึ้น
ถ้
ามองโยงทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจและปัจจัยทางการเมือง หมายความว่าปี 2563 เศรษฐกิจจะเป็นปัญหาลบ ที่มีผล กระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล และกระทบต่อเสียงสนับสนุนที่มีต่อรัฐบาล
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเศรษฐกิจในชนบทที่มีอาการถดถอยมากขึ้น โครงการประชานิยมที่รัฐบาลทำอาจไม่ตอบสนองสร้างเสียงให้พรรครัฐบาล
ส่วนปัจจัยเรื่องบทบาทกองทัพ
คิดว่ากองทัพเป็นปัญหาใหญ่อีกแบบหนึ่ง
บทบาทของทหารในเวทีการเมืองไทยมีมาต่อเนื่อง คิดว่าปัจจัยทหารกับการเมือง
เป็นสิ่งที่เรายังจะเห็นต่อไปในปี 2563
แต่ขณะเดียวกันจากปี 2562 เริ่มได้ยินเสียงที่ออกมาพูดเรื่องกองทัพด้วยข้อมูลที่หลายฝ่ายไม่เคยเห็น ในปี 2563 มีโจทย์อย่างเดียวของกองทัพ ทำอย่างไรจะประคองตัวไม่ให้สำลักน้ำ
สิ่งที่น่าสนใจคือเสียงวิพากษ์วิจารณ์
เชื่อว่าช่วงที่เป็นรัฐบาลทหารที่มาจากการยึดอำนาจเสียงวิพากษ์วิจารณ์อาจถูกกดไว้
แต่เมื่อการเมืองมีลักษณะเปิดมากขึ้น เชื่อว่าเสียงต่างๆ น่าจะมีมากขึ้น
หมายความว่าปี 2563 จะเป็นปีที่มีความละเอียดอ่อนสำหรับผู้นำกองทัพ
ปีนี้กองทัพจะเผชิญต่อเสียงวิจารณ์หนักขึ้น ทั้งนี้
ยังไม่เห็นแนวโน้มที่กองทัพจะถอยออกจากการเมือง
ตรงกันข้ามจากช่วงหลังเลือกตั้งจนถึงปัจจุบันกลับเห็นท่าทีผู้นำทหารอย่างต่อเนื่อง
สำหรับปัญหาด้านต่างประเทศ ในปี 2562 เราพยายามสร้างภาพว่าเป็นประธานอาเซียน แต่เอาเข้าจริงกว่าจะรับตำแหน่งก็ล่าช้ากว่าครึ่งปี และวันที่ 31 ธ.ค.นี้ก็จะหมดวาระ
ครึ่งปีที่ไทยเป็นประธานอาเซียนไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เราเห็นเป็นความสำเร็จในเวทีต่างประเทศมากน้อยเพียงใด
หรือไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คาดหวัง
การเมืองไทยไม่เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้รัฐบาลมีบทบาทได้มาก หรือเป็นที่ยอมรับของประชาคมระหว่างประเทศ ปี 2563 ที่เราหมดจากวาระเป็นประธานอาเซียน แต่โจทย์ที่รัฐบาลไทยยังต้องเผชิญคือการแข่งขันระหว่างอเมริกาและจีน คำถามคือปี 2563 ไทยจะดำเนินนโยบายอย่างไรที่เราจะไม่แสดงตัวเป็นผู้เลือกข้าง หรือลอยตามน้ำ
อีกหนึ่งปัจจัยคือมิติทางสังคม สิ่งที่จะเห็นในปี 2563 คืออาการหมดน้ำ
มีอยู่สองนัยยะ ถ้ามองจากมิติของสังคมความน่ากลัวของคำว่าหมดน้ำ
คือหมดน้ำอดน้ำทน ภาวะต่างๆ
ที่เกิดขึ้นอาจทำให้คนไทยหมดความอดทนแล้วกลายเป็นปัญหาทางการเมือง
ไม่ได้บอกว่าเราจะเป็นฮ่องกงที่สอง
แต่สิ่งที่ต้องคิดคือปัญหาที่บีบคั้นชีวิตคนด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ
และเงื่อนไขของการเมืองหลายอย่างจะทำให้ปัญหาสังคม
และการเมืองมีลักษณะของการถูกกดทับ
ขอเปิดโจทย์ใน 5 มิติ สิ่งที่เห็น
คือ การเมืองปริ่มน้ำ เศรษฐกิจจมน้ำ กองทัพสำลักน้ำ การต่างประเทศลอยตามน้ำ
และสังคมหมดน้ำ เป็นภาพเชิงเปรียบเทียบ นี่คืออนาคตของปี 2563 ไม่ได้บอกว่าปี 2563 ต้องมองด้วยสายตาที่เห็นภาพในเชิงลบ แต่อย่างน้อยสิ่งที่ต้องตระหนักคือปี 2563 อาจไม่สวยหรูอย่างที่คาดหวังไว้
การยึดใหม่จะเป็นแนวทางที่เกิดขึ้นในปี 2563 ตามที่หลายฝ่ายกังวลหรือไม่นั้น
คิดว่าหากมีการรัฐประหารครั้งใหม่โจทย์รอบนี้ไม่ง่าย
เพราะจะทำลายสถานะของประเทศไทยครั้งใหญ่
แล้วถ้าหวังว่าการเมืองจะเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นเศรษฐกิจไทย
ถ้าการเมืองไทยหวนกลับไปด้วยการทำรัฐประหาร
จะเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมืองครั้งใหญ่
ถามว่าการยุบพรรคอนาคตใหม่จะเป็นชนวนวุ่นวาย รุนแรงหรือไม่
การยุบพรรคอนาคตใหม่สะท้อนมิติปีกอนุรักษนิยมที่อาจทนไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลง
แล้วใช้วิธีทางการเมืองด้วยการผลักพรรคฝ่ายค้านออกไป
เราเห็นประวัติศาสตร์ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย วิธีการง่ายๆ
คือยุบพรรคฝ่ายค้านที่เป็นพรรคหลัก ซึ่งเท่ากับสร้างแรงกดดันทางการเมือง
แทนที่จะอยู่ในสภากลับไหลไปอยู่นอกสภา
เชื่อว่าดีที่สุดคือให้ความขัดแย้งอยู่ในสภา
แก้ปัญหาในสภาด้วยกระบวนการทางการเมืองนั่นคือหนทางที่ปลอดภัยที่สุด
แต่ถ้ากลุ่มผู้มีอำนาจในรัฐบาลเชื่อว่าวิธีง่ายกว่าคือการทำลายพรรคตรงข้าม
ถามว่ายุบพรรคแล้วพรรคตายหรือไม่
บทเรียนจากพรรคไทยรักไทยตอบชัดว่าพรรคการเมืองไม่ตาย
เมื่อเป็นเช่นนี้แน่นอนว่าจะทำให้การเมืองตึงขึ้น
แต่จะไปถึงจุดที่หลายฝ่ายกังวลว่ายุบพรรคแล้วจะนองเลือดหรือไม่ ต้องตามดู
เป็นโจทย์ในมุมคู่ขนานกับเหตุการณ์ที่ฮ่องกงว่ายุบพรรคแล้วประเทศไทยจะเป็นฮ่องกงหรือไม่
ซึ่งยังตอบไม่ได้ แต่นำมาสู่ความตึงเครียดทางการเมือง
ซึ่งปีหน้าจะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อใหญ่ และในปี 2563 กระแสคนรุ่นใหม่จะยังเป็นกระแสที่สำคัญ
สิ่งที่รัฐบาลที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์
จันทร์โอชา ควรต้องทำ
ถ้าพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเชื่อในระบบรัฐสภา
มีทางเดียวคือต้องใจแข็งที่จะหวังว่ารัฐสภาจะเป็นกลไกแก้ปัญหาความขัดแย้ง
ขณะเดียวกันเห็นได้ชัดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบเพื่อให้รัฐบาลทหารเดิมมีอำนาจมากขึ้นหลังเลือกตั้ง
เมื่อรัฐธรรมนูญไม่เปิดโอกาสให้พรรคฝ่ายค้านทำอะไรได้เลย
สุดท้ายการเมืองก็ยังมีโอกาสไหลลงบนถนน
ปัญหาทั้งหมดกลับไปต้นทาง
คือรัฐบาลทหารออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดปัญหา
ถ้าพูดแง่ร้ายก็เหมือนมองโลกร้ายมาก
คือรัฐธรรมนูญนี้ถูกออกแบบเพื่อให้เกิดรัฐประหารครั้งใหม่
แต่จะพูดถึงปัญหาที่เกิดจากรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียวไม่ได้
อาจต้องยอมรับว่าปีหน้า
สิ่งที่องค์กรอิสระสร้างปัญหาทิ้งไว้จะเป็นโจทย์อีกชุดหนึ่งที่ต้องมองคู่ขนานกัน
องค์กรอิสระต้องตระหนักว่า
วันนี้หลายอย่างที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงจากการตัดสินใจขององค์กรอิสระ
ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้
ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นจะเห็นว่าแค่ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังมีปัญหา
เท่ากับตอบเราว่าโอกาสแก้รัฐธรรมนูญนั้นน้อยลง
สัญญาณที่เราเห็นเป็นคำตอบว่าใช้กลไกรัฐสภา หรือกลไกกมธ.แก้ได้หรือไม่ ความหวังรางเลือนอยู่พอสมควร
แต่ถ้ารัฐธรรมนูญยังใช้แบบเดิม ใช้กติกาแบบเดิม รวมถึงอำนาจขององค์กรอิสระแบบเดิม ตอบได้อย่างเดียวว่าปี 2563 อย่างไรก็ตึง เมื่อเป็นเช่นนี้ในปี 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จะยังอยู่ได้หรือไม่นั้น
หากปี 2563 เป็นเวทีมวยแล้วเชื่อว่ารัฐบาลจะชกได้ครบ 12 ยก คือ 12 เดือน สงสัยว่าจะไม่ครบ 12 ยก คำถามวันนี้ที่ล้อกันเล่นคือจะชกครบ 6 ยกหรือไม่
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar