lördag 4 januari 2020

ใบตองแห้ง: ตู่ชนะแม้ว?

ใบตองแห้ง: ตู่ชนะแม้ว?

ประยุทธ์ไปเยือนชัยภูมิอย่างยิ่งใหญ่ ส่วนราชการและ ส.ส.พลังประชารัฐ นำประชาชนมาต้อนรับนับหมื่นคน คุยฟุ้งโครงการต่างๆ ที่จะแจกเป็นของขวัญปีใหม่
เห็นภาพแล้วอดเทียบทักษิณไม่ได้ ประยุทธ์กำลังใช้ทั้งประชานิยม และอดีตนักการเมืองไทยรักไทย เพื่อไทย ช่วงชิงคะแนนคนอีสาน และมีแนวโน้มจะทำสำเร็จเสียด้วย หากดูจากการเลือกตั้งซ่อมขอนแก่น

เพื่อไทยแพ้เลือกตั้งซ่อม แม้อาจมีหลายปัจจัย เช่นตัวบุคคล กลไกอำนาจรัฐ ความลำเอียงขององค์กรที่จัดการ ฯลฯ แต่ปัจจัยหลักคือความเป็นพรรคฝ่ายค้าน ที่ไม่สามารถนำงบประมาณลงพื้นที่ ไม่มีอำนาจแก้ปัญหาปากท้องให้ชาวบ้าน ขณะที่เห็นชัดว่ารัฐบาลนี้ยังอยู่อีกนาน
เวทีปราศรัยวันสุดท้ายของพลังประชารัฐ ตามรายงานจาก We Watch ก็เน้นเรื่องนี้ เช่น “พี่น้องจะเลือกคนเข้าไปผลักดันงบประมาณพัฒนาพื้นที่หรือจะเลือกคนเข้าไปด่ากันในสภา” การเลือกสมศักดิ์ คุณเงิน คือการต่ออายุบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมไปถึงการปรากฏตัวของธรรมนัส “เลือกสมศักดิ์ได้ธรรมนัสเอาไหมพี่น้อง”
นี่ต่างจากเลือกตั้งใหญ่ ซึ่งหาเสียงประจันหน้าใครชนะเป็นรัฐบาล กระนั้น เลือกตั้งครั้งหน้า เพื่อไทยก็ยังหนาว เพราะประชาชนรู้หมดแล้วว่า 250 ส.ว.ตู่ตั้ง ยังอยู่โหวตตู่เป็นนายกฯ อีก 5 ปี

เพื่อไทยไม่มีทางชนะ พลังประชารัฐขอแค่ 126 เสียงก็ได้เป็นรัฐบาล เมื่อกติกาเป็นอย่างนี้ ก็สร้างความได้เปรียบมหาศาล

“รัฐธรรมนูญนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ผู้รักประชาธิปไตยฟังแล้วเดือดแค้น แต่สำหรับกลไกการเมืองในชนบท ฟังแล้วมีผลตรงข้าม สังคมชนบทต้องพึ่งพิงระบบอุปถัมภ์ พึ่งอำนาจและงบประมาณรัฐ ฉะนั้น เมื่อมีการเลือกตั้ง ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน ก็ต้องกะเก็งว่าใครจะได้เป็นรัฐบาล หากเลือกผิดข้าง ก็จะลำบากในการของบขอความช่วยเหลือ
เลือกตั้ง 24 มี.ค.62 คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจกติกา ยังคิดว่าเพื่อไทยมีโอกาสชนะ แต่เลือกตั้งซ่อม เลือกตั้งครั้งหน้า คนส่วนใหญ่รู้แล้วว่าพลังประชารัฐเป็นรัฐบาลแหงๆ ฉะนั้น กลไกหัวคะแนนในชนบทจะเทไปข้างไหนก็รู้กัน แม้รู้ชัดๆ ว่ามันไม่แฟร์
การเมืองเป็นเรื่องปากท้องประชาชน เอาชนะกันด้วยนโยบาย ใครทำให้ประชาชนเชื่อว่าเป็นรัฐบาลแล้วอำนวยประโยชน์ได้มากกว่า ก็สมควรชนะ
แต่ไม่ใช่ชนะด้วยการมัดมืออีกฝ่าย ทำอย่างไรก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล ทำให้คนที่จะเลือกท้อใจ คนที่หวังพึ่งรัฐก็หันไปเลือกอีกข้าง เหลือแต่มวลชนที่เด็ดเดี่ยวผูกพันจากการต่อสู้ร่วมกัน 13 ปี

ยิ่งกว่านั้น รัฐธรรมนูญยังมัดมือมัดเท้า พรรคการเมืองเสนอนโยบายประชานิยมไม่ได้ แต่เป็นรัฐบาล คสช.อยู่แล้วแจกได้ไม่อั้น นโยบายที่หาเสียงอย่างค่าแรงขั้นต่ำ 425 ปริญญาตรีเงินเดือน 2 หมื่น ยังไม่ทำก็ได้

การเอาชนะด้วยนโยบาย ที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ 2540 เลือกตั้ง 2544 มีคุณูปการพัฒนาประชาธิปไตย พรรคไทยรักไทยชนะถล่มทลาย 19 ล้านเสียงในปี 2548 จากนโยบายกองทุนหมู่บ้าน 30 บาทรักษาทุกโรค หรือบัตรทองหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่รัฐประหาร 2 ครั้งก็ไม่กล้าทำลาย
นโยบายไทยรักไทยทำให้ประชาชนตระหนักว่า อำนาจเลือกตั้ง อำนาจเลือกรัฐบาล ทำให้ลืมตาอ้าปากได้ จากที่เมื่อก่อนไม่มีความหมาย อย่างมากก็ได้พึ่งพิงตามระบบอุปถัมภ์

เมื่อถูกรัฐประหาร ถูกยุบพรรคไทยรักไทย เลือกพรรคพลังประชาชนเข้ามาใหม่ก็ถูกยุบเปลี่ยนรัฐบาล ประชาชนจึงลุกฮือขึ้นต่อต้าน เพื่อทวงอำนาจเลือกรัฐบาล เมื่อถูกปราบ ก็สั่งสมความคับแค้นจนระเบิดเป็นการเลือกพรรคเพื่อไทยถล่มทลาย

รัฐประหาร 2557 ใช้เวลา 5 ปี ทำลายเครือข่ายที่เข้มแข็งของมวลชนประชาธิปไตยในชนบท สถาปนารัฐราชการเป็นใหญ่ ทำลายการกระจายอำนาจ ริบอำนาจ อปท.กลับสู่ส่วนกลาง ทำให้ประชาชนต้องพึ่งพิงรัฐ มหาดไทย ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กลไก กอ.รมน. “เข้าถึง พัฒนา” ทุกพื้นที่
ประชานิยมของ คสช. ที่สืบทอดมาเป็นประชานิยมพลังประชารัฐ จึงเป็นประชานิยมที่ไม่ทำให้ประชาชนลืมตาอ้าปาก นอกจากต้องพึ่งบัตรคนจนไปเรื่อยๆ การเมืองกลับสู่ระบบอุปถัมภ์ พึ่งนักการเมืองทุนท้องถิ่น ผู้รับเหมา เหมือนครั้งก่อนมีรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ต่างกันที่รัฐราชการเป็นใหญ่ รัฐราชการเป็นตัวกำหนด ว่าจะอุปถัมภ์ใครในการเลือกตั้ง

ไม่ผิดหรอกครับ ประยุทธ์กำลังจะชนะทักษิณ หลังจากรัฐประหาร 2 ครั้งทำลายทักษิณ ไม่สามารถกลับสู่อำนาจจากการเลือกตั้ง คดีความจาก lawfare เต็มหลัง แต่ก็ยังชนะใจประชาชนมา 13 ปี

แต่ชัยชนะของประยุทธ์ อยู่บนการทำลายประชาธิปไตย การที่รัฐอนุรักษนิยมกลับมาเป็นใหญ่ กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ อยู่เหนือประชาชน บังคับให้คนอีสานคนชนบทไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องพึ่งพิง รับการสงเคราะห์ อยู่ใต้อำนาจผู้มีพระคุณ

ช่องโหว่อย่างเดียวที่ระบอบประยุทธ์คิดไม่ถึง คือคนรุ่นใหม่คนชั้นกลางในเมืองแตกแถวไปเลือกพรรคอนาคตใหม่ เป็นปลายหอกแหลมคมจนต้องจ้องยุบอยู่นี่ไง

เผยแพร่ครั้งแรกใน: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/hot-topics/news_3266928

ใบตองแห้ง: เผด็จการถุงก๊อบแก๊บ 

400 โรงงานพลาสติกดิ้นขอรัฐเยียวยา หลัง ครม.มีมติ งดใช้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป จากเดิมที่วางโรดแมปไว้ 1 ม.ค. 2565 ร่นเวลาเร็วขึ้น 2 ปี มีมติล่วงหน้าไม่ถึง 2 เดือน (12 พ.ย. 2562) ออเดอร์หายวับทันที SME ปรับตัวไม่ทัน 50 โรงงานอาจต้องทยอยปิดงานเลิกจ้าง
บางคนอ่านข่าวแล้วโพสต์เฟสว่า สม หากินกับการทำลายสิ่งแวดล้อมมานาน แหม่ คงเป็นโรคชังถุงก๊อบแก๊บขึ้นสมอง ไม่มองว่าตัวเองก็ได้ความสะดวกมาหลายสิบปี การผลิตหรือใช้อะไรสมัยนี้กระทบสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น รถยนต์ น้ำมัน แบตเตอรี่ แอร์ อุปกรณ์มือถือ ก็ล้วนก่อมลภาวะ หมดอายุแล้วเป็นขยะกำจัดยาก เพียงแต่ถุงพลาสติกมันเยอะมากจนต้องรีบลดใช้

แต่ถ้าจะบอกถุงพลาสติกต้องหมดโลก หมดประเทศไทย ก็คงยาก ต้องประกอบกันทั้งลดใช้ คัดแยกขยะ รีไซเคิล
ถุงพลาสติกกำจัดหมดไม่ได้หรอก ดูง่าย ๆ ร้านสะดวกซื้อ “หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา” ลดใช้ถุงก็ยังขายข้าวกล่องไมโครเวฟ ช้อนส้อมใช้แล้วทิ้ง ซึ่งเป็นขยะเสียยิ่งกว่า แต่พอซื้อหมากฝรั่ง “รับถุงไหมคะ” ใครจะเอาวะ ก็กลายเป็นทำความดีกับพี่ตูนไปซะอีก
หลังวันที่ 1 ม.ค. ซื้อเนื้อสัตว์ในห้าง ก็ยังใส่ถุงใส่กล่องพลาสติก เพียงแต่ตอนจ่ายตังค์ไม่แจกถุงก๊อบแก๊บ อยากได้ต้องซื้อเอง หรือต้องพกถุงผ้า ซึ่งคนชั้นกลางบางคนทนรอแทบไม่ไหว พกถุงผ้าไว้เต็มรถ ซื้อแจกกันหลากลายหลายสีสัน ทั้งที่การผลิตถุงผ้าฝ้ายใช้ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมมากกว่าถุงพลาสติกหลายพันเท่า เอาเป็นว่า ถ้าจะใช้ให้คุ้มก็ควรใช้ซ้ำหลายร้อยครั้ง
พูดอย่างนี้ไม่ใช่แอนตี้ตะพึดตะพือ ไม่สงสารปลาพยูนเต่าทะเล แต่ภาพรวมก็คือผู้บริโภครับภาระ ต้องเตรียมถุงผ้า ต้องหาซื้อถุงขยะ จากเมื่อก่อนหิ้วถุงก๊อบแก๊บกลับบ้านแล้วรีไซเคิลเป็นถุงขยะ ขณะที่รัฐบาลได้ผลงาน ห้างร้านได้อวด CSR ลดต้นทุนค่าถุงอีกต่างหาก
แต่ถ้าประชาชนโวยก็เป็นคนผิด ไม่รักษ์โลก ถุงก๊อบแก๊บเป็นผู้ร้าย ทั้งที่ปัญหายังมีอีกมาก ขวดน้ำ หลอด แก้วกาแฟ ข้าวกล่อง ช้อนส้อม ของใช้แล้วทิ้งมีรอบตัว มันยังต้องมีเรื่องคัดแยกขยะ เพื่อรีไซเคิล ซึ่งเมืองไทยแทบจะเป็นศูนย์ ยังไม่เริ่มต้นเลย

พูดอีกอย่างคือ มาตรการเลิกใช้ถุงก๊อบแก๊บ ก็ยังมักง่าย ไม่มีโรดแมปจัดการปัญหาภาพรวมระยะยาว เพียงอาศัยกระแสรักษ์โลก เอาถุงก๊อบแก๊บเป็นผู้ร้ายไว้ก่อน

มีคำถามน่าสนใจว่า ทำไมรัฐบาลเผด็จการ หรือประชาธิปไตยปลอมอำนาจนิยม จึงดูให้ความสำคัญกับปัญหาคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม รักษ์โลกรักษ์ป่า ปลอดสารพิษ แล้วใช้อำนาจเฉียบขาดเอาใจกระแส ซึ่งอยู่บนโลกสวยของคนชั้นกลางในเมือง
หรือมองกลับกัน กระแสรักษ์โลก อินทรีย์ ปลอดสารพิษ ก็มีความเป็นอำนาจนิยมอยู่ในตัว มุ่งผลักดันให้รัฐใช้อำนาจบังคับ โดยไม่สนว่าอำนาจและวิธีการชอบธรรมหรือไม่ เพราะถือว่าเราคือมาร์เวลกอบกู้โลก การปลุกกระแสต่าง ๆ จึงมักโหมข้างเดียว เช่นแบน 3 สารพิษ ดีเท่าไหร่ที่เก้อไป

ไม่ได้บอกว่ากระแสรักษ์โลกไม่ดี แต่ปัญหาคือความเชื่อยาแรง ซึ่งเข้ากันได้กับเผด็จการ แล้วก็มักจะถลำไปสู่การแก้แค่ปรากฏการณ์ เฉพาะหน้า วูบวาบหวือหวา แต่ไปไม่ถึงมาตรการจริงจัง อย่างแยกขยะ หรือไม่ได้ตรวจสอบอะไรจริงจัง อย่างโรงไฟฟ้าขยะ ที่แบ่งเค้กกันปากมัน

เผยแพร่ครั้งแรกใน: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/content/333632

 

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar