torsdag 16 juli 2020

จอมพล ป. • คณะราษฎร • กบฏบวรเดช
ชีวิตและบทบาททางการเมืองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งในสัปดาห์นี้เนื่องในวันครบรอบ 123 ชาตกาลของอดีตนายกรัฐมนตรีหลายสมัยและสมาชิกคณะราษฎรผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา
หนึ่งในภารกิจสำคัญของจอมพล ป. คือการเป็นผู้นำการทหารยกกองทัพไปปราบกบฏที่นำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เมื่อเดือน ต.ค. 2476 ซึ่งนับเป็นการกบฏครั้งแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ...Visa mer
 
 

กบฏบวรเดช : เปิดพระราชหัตถเลขา ร.7 ถึงที่ปรึกษาอังกฤษ ก่อนรัฐประหาร 2476 และ การสละราชสมบัติ

king rama vii
คำบรรยายภาพ, รัชกาลที่ 7 และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ขณะเสด็จเยือนกรุงเบอร์ลิน เยอรมนี

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงที่ปรึกษาชาวอังกฤษ 7 เดือนก่อนทรงสละราชสมบัติ ทรงวิจารณ์คณะราษฎร และผู้เกี่ยวข้องทางการเมืองขณะนั้น
จดหมายความยาว 7 หน้านี้ ทรงเขียนถึง นายเจมส์ แบ็กซ์เตอร์ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอังกฤษ และที่ปรึกษาด้านการเงินของสยาม มีพระราชดำริที่อยากให้ที่ปรึกษาต่างประเทศทั้งคณะขู่ลาออกจากการเป็นที่ปรึกษารัฐบาลภายใต้การนำของคณะราษฎร
"พวกคณะราษฎรคิดว่าชาวต่างชาติเป็นพวกเดียวกับพวกเจ้าและอยากให้สยามมีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อไป พวกเขามักระแวงว่าพวกเจ้าจะเรียกร้องให้อังกฤษหรือฝรั่งเศสช่วยให้กลับมามีอำนาจได้" รัชกาลที่ 7 ทรงระบุไว้ในตอนต้นของพระราชหัตถเลขาถึงนายแบ็กซ์เตอร์
"ศึกหลักในตอนนี้คือการต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ บางทีถ้าคุณและที่ปรึกษาต่างชาติคนอื่น ๆ อาจช่วยได้โดยการขู่ลาออกยกคณะ พวกเขา (คณะราษฎร) กลัวการแทรกแซงจากต่างชาติ...หวังว่าคุณจะทำอะไรบางอย่างเพื่อแกว่งไกวความกลัวนี้ต่อหน้าพวกเขา" ร.7 ทรงดำริไว้ในพระราชหัตถเลขา
king rama vii
คำบรรยายภาพ, รัชกาลที่ 7 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อ พ.ศ. 2468

จาก ปกปิด สู่ เปิดเผย

เผด็จ ขำเลิศสกุล นักวิจัยประวัติศาสตร์ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แห่ง หอจดหมายเหตุแห่งชาติ อังกฤษ ในกรุงลอนดอน บอกบีบีซีไทยว่า นายแบ็กซ์เตอร์ได้ส่งข้อความจากพระราชหัตถเลขานี้มาที่รัฐบาลอังกฤษ และตีตรา "ลับ" แต่ปัจจุบันเอกสารดังกล่าวถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะได้สักระยะหนึ่งแล้ว และเอกสารชุดนี้จัดอยู่ในหมวด Foreign Office หรือ กระทรวงการต่างประเทศ ในรหัส FO 371/17176, Confidential, Summary of letter and note from the king of Siam to Mr. James Baxter, 4 Aug. 1933
พระราชหัตถเลขาฉบับนี้ลงวันที่ 4 ส.ค. 2476 บรรยายถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ทรงปรารภถึงความท้อถอยและหมดหวังต่อการต่อสู้กับคณะราษฎร ซึ่งประกอบด้วยหลายฝักฝ่าย แต่ปีกของนายปรีดี พนมยงค์นั้น เป็นเพียงปีกเดียวที่มีการนำที่ดี และมีนโยบายที่ชัดเจน
king rama vii
คำบรรยายภาพ, รัชกาลที่ 7 หลังสละราชสมบัติและเสด็จไปพำนักยังประเทศอังกฤษ
"กบบวรเดช" 

พระองค์ทรงวิจารณ์ นายปรีดีว่ามีเป้าหมายคือ เปลี่ยนสยามเป็น "สาธารณรัฐสังคมนิยม" และทรงเห็นว่า "เค้าโครงเศรษฐกิจ" ของนายปรีดี ถูกจริตกับบรรดาผู้สนับสนุนเขาที่ล้วนเป็น "ปัญญาชนสยามผู้เกียจคร้าน" ที่ต้องการทลายการผูกขาดทางเศรษฐกิจของพ่อค้าจีนและกิจการค้าของชาวตะวันตก
เพียง 2 เดือนหลังทรงมีพระราชหัตเลขานี้ ก็เกิด "กบฏบวรเดช" ขึ้นเมื่อ 11 ต.ค. สาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างคณะราษฎรและคณะเจ้า จากข้อขัดแย้งเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี และข้อโต้แย้งในเรื่องพระเกียรติยศและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่
ผู้นำกำลังทหารก่อกบฏคือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช แต่ฝ่ายรัฐบาลสามารถปราบปรามคณะกบฏลงได้ นับเป็นการกบฏครั้งแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ส่วนพระองค์เจ้าบวรเดชและพระชายาได้ลี้ภัยไปยังกัมพูช
king rama vii
คำบรรยายภาพ, รัชกาลที่ 7 และ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ณ กรุงเบอร์ลิน ปี 1934
"ชาวสยามมีความริษยาและทะนงตัวเป็นธรรมชาติ"

ในพระราชหัตถเลขาถึงผู้เชี่ยวชาญชาวอังกฤษฉบับนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงคาดการณ์ว่า มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ลัทธิสาธารณรัฐนิยมจะขยายตัวเนื่องจาก "ชาวสยามมีความริษยาและทะนงตัวเป็นธรรมชาติ"
"ชาวสยามไม่ใช่คนที่พยายามถีบตัวขึ้นทางสังคมเหมือนคนอังกฤษ แต่เป็นพวกอยากยกระดับตัวเองผ่านความอิจฉาริษยาและความเกียจคร้าน"
รัชกาลที่ 7 ทรงอธิบายให้ผู้เชี่ยวชาญชาวอังกฤษฟังว่า สยามประเทศในขณะนั้น ไม่มีพรรคการเมืองที่แท้จริงมีแต่กลุ่มความคิดเห็นและจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกันและไร้ซึ่งระเบียบ และทรงกล่าวหา กลุ่มทหารบกและทหารเรือในคณะราษฎรว่าเป็นพวก "รู้รักษาตัวรอด" และยังทรงชี้ว่าเป็นพวก "โจรตามป่าเขาที่ติดอาวุธชั้นดี" และดูเหมือนมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย
กองทัพ กับ ความจงรักภักดี
ในพระราชหัตถเลขานี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ตรัสถึงความภักดีของทหารในกองทัพบกและกองทัพเรือว่า "พวกเขาจะไม่ยอมรับที่กษัตริย์จะมาบังคับบัญชาการกองทัพโดยตรงและจะไม่เชื่อฟังคำสั่งใด ๆ ที่เป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ส่วนตัวของพวกเขา"
"หากนายทหาร (ของสยาม) ยึดถือคุณธรรมเช่นเดียวกับนายทหารในยุโรปแล้ว การรัฐประหาร 24 มิถุนายน 2475 ก็จะไม่เกิดขึ้น"
king rama vii
คำบรรยายภาพ, พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
"คนสยามส่วนใหญ่ภักดีต่อกษัตริย์"

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเชื่อว่า ชาวสยามส่วนใหญ่ล้วนแต่มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และนิยมเจ้าอย่างแข็งขัน พวกเขามองระบอบสาธารณรัฐอย่างอกสั่นขวัญแขวน แต่พวกเขายังไม่สามารถรวมตัวได้อย่างเป็นระบบ ทำให้พรรคการเมืองเพื่อราชวงศ์ยังไม่เกิดขึ้น
พระองค์ทรงแบ่งระดับความเข้มข้นทางความคิดของพวกนิยมเจ้า ออกเป็น
- พวกอนุรักษ์นิยมหัวแข็ง - พระองค์ทรงเห็นว่าบุคคลพวกนี้มีความคิดที่โบราณและเชื่อในโชคลาง
"คนพวกนี้อยู่ด้วยความหวังว่าสิ่งเหนือธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวของกษัตริย์จะทำให้ศัตรูของพระองค์พ่ายแพ้ไป"
แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงมองคนพวกนี้ว่าไม่มีค่าที่จะใช้เป็นพลังทางการเมือง พระองค์เชื่อว่าสถาบันกษัตริย์นั้นง่ายที่จะถูกทำลายเพราะความเชื่อแบบมืดบอด ของบุคคลเหล่านี้ และทรงชี้ว่าคนเหล่านี้ไม่เคยคิดที่จะช่วยพระองค์ในเวลาที่พระองค์ต้องการความช่วยเหลือ ในทางตรงกันข้ามพวกเขาคิดว่ามันเป็นหน้าที่ของพระองค์ ที่ต้องช่วยเหลือพวกเขาโดยใช้พลังเหนือธรรมชาติ
ถ้าพระองค์ไม่ทรงสามารถใช้พลังที่เหนือธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวของกษัตริย์ตามที่คนพวกนี้เชื่อ คนพวกนี้ก็จะว่าพระองค์ทรงได้สูญเสียบุญญาธิการและคุณธรรมไป ซึ่งถึงที่สุดแล้วคนพวกนี้ก็จะหันหลังให้และสาปแช่งพระองค์ในลักษณะเดียวกับที่ผู้บูชารูปเคารพเตะรูปเคารพของเขาเมื่อไม่ได้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการ
อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย
- พวกนิยมกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ -
 พระองค์ทรงอธิบายว่าชาวสยามส่วนมากอยู่ในกลุ่มนี้ แต่พวกเขายังไม่สามารถรวมตัวกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองได้ เพราะ ความคิดของบุคคลประเภทนี้ก็ยังคงแต่งแต้มไปด้วยความเชื่อถือเรื่องโชคลางเช่นเดียวกับพวกอนุรักษ์นิยมหัวแข็ง คนพวกนี้จะทำอะไรไม่ได้เลยถ้าขาดผู้นำที่เป็นเจ้า และบุคคลพวกนี้ก็ยังไม่มุ่งมั่นพอที่จะตายเพื่ออุดมการณ์ คนพวกนี้หวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่า "อังกฤษหรือฝรั่งเศสจะไม่ยอมให้สยามต้องกลายเป็นคอมมิวนิสต์"
"จุดจบของสถาบันพระมหากษัตริย์จะมาถึง เมื่อเชื้อพระวงศ์จะมาเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวให้ฝ่ายสนับสนุนเจ้า สิ่งที่ฝ่ายสนับสนุนเจ้าต้องทำก็คือหาพวกเดียวกันเองมานำ" พระองค์ทรงเตือนไว้

- พวกสนัสนุนสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างแข็งขัน - รัชกาลที่ 7 ทรงวิเคราะห์ว่าพวกนี้มีไม่มาก และความคิดของพวกเขาคือการทำรัฐประหารแล้วล้างบางคณะราษฎร และหวังว่าพระองค์จะจัดตั้งกองกำลังที่ภักดีต่อพระองค์แล้วเคลื่อนทัพมาทำสงครามในกรุงเทพฯ แล้วสังหารพวกคณะราษฎร ซึ่งพระองค์ทรงมองว่า "เป็นแนวคิดที่บ้าคลั่ง"
กบฏบวรเดช
คำบรรยายภาพ, อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรือ อนุสาวรีย์ปราบกบฏ เป็นอนุสรณ์รำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย คือ กบฏบวรเดช ที่เริ่มเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2476 คือหนึ่งในบรรดาอนุสรณ์สถานที่เกี่ยวกับคณะราษฎรและการต่อสู้เพื่อการได้มาซึ่งประชาธิปไตย ภาพนี้ถ่ายเมื่อเดือน เม.ย. 2560
สละราชสมบัติ

ในตอนท้ายของพระราชหัตถเลขา พระองค์ทรงระบุว่า อิทธิพลของพระองค์ต่อรัฐบาลลดลงไป หลังการหมดอำนาจของรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (นายกรัฐมนตรีคนแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475) ทำให้พระองค์เลือกใช้ การขู่สละราชสมบัติ เป็นเครื่องมือต่อรอง ซึ่งใช้ได้ผลมาแล้วหลายครั้ง
พระองค์ทรงเห็นว่าคำขู่จะมีประสิทธิผลนั้น ต้องออกไปให้ห่างจากเมืองหลวง เพราะถ้าพระองค์ยังอยู่ในกรุงเทพฯ พวกคณะราษฎรก็สามารถที่จะควบคุมตัวพระองค์ได้ง่ายซึ่งจะทำให้ฝ่ายสนับสนุนพระองค์ไม่สามารถที่จะทำการอย่างใดได้
"มันเป็นเรื่องโชคไม่ดีที่ผู้คนให้ความหวังมากเกินไปในตัวพระมหากษัตริย์ ซึ่งพระองค์ไม่สามารถช่วยพวกเขาได้มากนัก ยิ่งพวกเขาช่วยเหลือตัวเองได้เร็วเท่าไร ยิ่งเป็นการดี"
วันที่ 2 มี.ค. 2477 เป็นช่วง 7 เดือนหลังพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะประทับอยู่ที่พระตำหนักโนล กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ทรงลงพระปรมาภิไธยท้ายพระราชหัตถเลขาประกาศสละราชสมบัติ พระราชทานให้กับเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐบาลไปเข้าเฝ้าฯ
"...บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่า บัดนี้เป็นอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือหรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์ แต่บัดนี้เป็นต้นไป"

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar