onsdag 2 december 2020

ประยุทธ์ ได้ไปต่อ ศาลรัฐธรรมนูญชี้ไม่ขาดคุณสมบัติ ปม “พักบ้านหลวง”

ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาอ่านคำวินิจฉัยเพียง 20 นาที

นายอรรถพล บัวใหญ่ ประกอบพิธีกรรมเชิงสัญลักษณ์ "ทุบศาล" ที่หน้าเวที่ปราศรัย ห้าแยกลาดพร้าว
คำบรรยายภาพ,

นายอรรถพล บัวใหญ่ ประกอบพิธีกรรมเชิงสัญลักษณ์ "ทุบศาล" ที่หน้าเวที่ปราศรัย ห้าแยกลาดพร้าว

กลุ่มผู้ชุมนุมในราม "ราษฎร" จัดกิจกรรมบริเวณห้าแยกลาดพร้าวเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 2 ธ.ค. โจมตีศาลรัฐธรรมนูญ หลังมีมติให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นนายกฯ จากกรณีพักอาศัยในบ้านพักข้าราชการทหารแม้เกษียณอายุไป 6 ปีแล้วก็ตาม

เมื่อเวลา 15.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีนายวรวิทย์ กังศศิเทียม เป็นประธาน ออกนั่งบัลลังก์เพื่ออ่านคำวินิจฉัย กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่ โดยใช้เวลาเพียง 20 นาที

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า การพักอาศัยใน "บ้านพักรับรอง" เลขที่ 253/54 ซึ่งตั้งอยู่ภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ถ.วิภาวดีรังสิต ของ พล.อ. ประยุทธ์ ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เมื่อปี 2553 ถึงปัจจุบัน ไม่ทำให้ผู้ถูกร้องขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีเฉพาะตัว เนื่องจากระเบียบกองทัพบก (ทบ.) ว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรอง พ.ศ. 2548 กำหนดให้อดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของ ทบ. ซึ่งทำคุณประโยชน์ให้กับ ทบ. และประเทศชาติ และเคยดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. มาแล้ว มีสิทธิเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรอง ทบ. โดยที่ ทบ. สนับสนุนงบประมาณค่ากระแสไฟและน้ำประปา ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการพักอาศัยตามความจำเป็นและเหมาะสมในการใช้งาน

ศาลรัฐธรรมนูญระบุด้วยว่า ตำแหน่งนายกฯ ถือเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญของประเทศ นอกจากเป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว รัฐธรรมนูญยังกำหนดให้ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินแล้ว ยังมีฐานะเป็นผู้นำของประเทศ ความปลอดภัยของนายกฯ รวมทั้งครอบครัวมีส่วนสำคัญ รัฐมีหน้าที่จัดการดูแลให้ปลอดภัยแก่นายกฯ และครอบครัวตามความเหมาะสมแก่สภาพการณ์

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว และไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงแต่อย่างใด

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับกำลังใจจากชาวสมุทรสงคราม ระหว่างลงพื้นที่เมื่อช่วงเช้าวันนี้
คำบรรยายภาพ,

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับกำลังใจจากชาวสมุทรสงคราม ระหว่างลงพื้นที่ไปตรวจราชการเมื่อช่วงเช้าวันนี้

คดีนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการที่ ส.ส.ฝ่ายค้านรวม 55 คน นำโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เข้าชื่อกันยื่นคำร้องผ่านประธานสภา เพื่อขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคุณสมบัติของนายกฯ ภายหลังไม่อาจ "ล้มรัฐบาล" กลางสภาได้ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อ ก.พ. ที่ผ่านมา

นี่ถือเป็นคดีที่ 2 ที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ พล.อ. ประยุทธ์ได้ไปต่อ หลังเคยตกเป็นผู้ถูกร้องว่ามีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญมาแล้วหนหนึ่ง

ในครั้งแรก ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเมื่อ 18 ก.ย. 2562 ว่า พล.อ. ประยุทธ์ ไม่มีลักษณะต้องห้ามเป็นนายกฯ เพราะ "ตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ"

มาครั้งนี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ พล.อ. ประยุทธ์และองคาพยพได้อยู่ในอำนาจต่อไป

ศาลคุมเข้ม ห้ามคนไม่เกี่ยวข้องเข้าพื้นที่

การออกนั่งบัลลังก์ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มข้น โดยไม่อนุญาตให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในห้องพิจารณาคดีและบริเวณศาลในรัศมี 50 ม. แต่ให้ติดตามชมการถ่ายทอดสดผ่านยูทิวบ์ช่อง "สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ" แทน

เจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 กองร้อย สับเปลี่ยนเวรกันดูแลความสงบเรียบร้อยรอบศูนย์ราชการ อาคารเอ อันเป็นที่ตั้งของศาลรัฐธรรมนูญ
คำบรรยายภาพ,

เจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 กองร้อย สับเปลี่ยนเวรกันดูแลความสงบเรียบร้อยรอบศูนย์ราชการ อาคารเอ ถ.แจ้งวัฒนะ อันเป็นที่ตั้งของศาลรัฐธรรมนูญ

วานนี้ (1 ธ.ค.) ศาลมีคำสั่งกำหนดบุคคลให้เฉพาะผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง ผู้รับมอบอำนาจ หรือผู้รับมอบฉันทะ รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่เท่านั้นอยู่ในห้องพิจารณาคดี และออกประกาศเรื่องอาณาบริเวณหรือพื้นที่ที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติงาน รักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย

ประกาศศาลรัฐธรรมนูญอ้างถึงคำแจ้งเตือนจากหน่วยงานความมั่นคงที่ว่า "มีสถานการณ์ที่มีสิ่งบอกเหตุ หรือข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าอาจมีเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัย และความไม่สงบเรียบร้อยเกิดขึ้น" จึงต้องทำให้กระบวนการพิจารณาของศาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ขณะที่ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลและเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม "ราษฎร" ได้นัดมวลชนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ให้เข้าร่วมการชุมนุมที่ห้าแยกลาดพร้าว เวลส 16.00 น. เพื่อติดตามผลจากคำวินิจฉัย "คดีพักบ้านหลวง" ของ พล.อ. ประยุทธ์

คำบรรยายวิดีโอ,

ศาลรัฐธรรมนูญ : พล.อ. ประยุทธ์ พ้นผิด "คดีพักบ้านหลวง"

"ราษฎร" เปิดปราศรัยวิจารณ์สถาบันตุลาการ กลางห้าแยกลาดพร้าว

ที่บริเวณห้าแยกลาดพร้าว การชุมนุมที่นัดหมายโดยกลุ่ม "ราษฎร" วันนี้ (2 ธ.ค.) ซึ่งมีการเปลี่ยนสถานที่จากศาลรัฐธรรมนูญ ใช้ชื่อการชุมนุมว่า "ไล่จันทร์โอชาออกไป" แกนนำหลายคนปราศรัยโจมตีมติศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกฯ กรณีพักบ้านหลวง นายอรรถพล บัวใหญ่ จากกลุ่ม "ขอนแก่นพอกันที" แนวร่วมกลุ่มราษฎร ปราศรัยแสดงความเห็นต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ วันนี้ว่า "ผิดหวังแต่ไม่ผิดคาด" ก่อนชี้ว่าในบรรดาอำนาจอธิปไตย ทั้งสามอำนาจ ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ นั้น ตุลาการเป็นสถาบันที่อำนาจอธิปไตยของประชาชน "ห่างไกลจากประชาธิปไตยมากที่สุด" เพราะเป็นสถาบันเดียวที่ไม่ได้มาจากประชาชน

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
คำบรรยายภาพ,

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หันมายิ้มให้สื่อมวลชนก่อนเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าช่วงบ่ายวันนี้ (2 ธ.ค.)

ด้านนายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน แกนนำกลุ่มราษฎร กล่าวถึงมติศาลรัฐธรรมนูญว่า "ต่อไปนี้เป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ขึ้นมาว่า ถ้าเป็นข้าราชการทางการเมืองหรือรัฐมนตรี ถ้ารับประโยชน์หรือทรัพย์สินอื่นใดจากหน่วยราชการ ซึ่งออกระเบียบเป็นการภายในนั้นไม่ผิด" เขาชี้ว่า หากใช้ "สามัญสำนึก" ตัดสิน การพักบ้านหลวง และการที่กองทัพจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือการรับประโยชน์หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ "ตรงตัวอยู่แล้ว" ก่อนชี้ว่าคำวินิจฉัยวันนี้ ทำให้ "ราษฎร" ต้องเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันตุลาการ นอกเหนือไปจากการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นข้อเสนอหลักของกลุ่มราษฎร"ในเมื่อยอมทำลายหลักกฎหมายเพื่อการดำรงอยู่ของคน ๆ เดียวได้ ต่อไปนี้ สถาบันตุลาการจะต้องถูกเรียกร้องให้ปฏิรูปด้วย"

อานนท์ ปราศรัย "หลักปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง"

นอกจากปราศรัยถึงบทบาททางการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว อานนท์ นำภา ผู้เปิดประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นคนแรกเมื่อเดือน ส.ค. ยังเปิดปราศรัยเรื่องหลักการ The King can do no wrong หรือ "หลักปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง" ของพระมหากษัตริย์

"ผมยืนยันว่าตอนนี้สถาบันฯ ไม่ได้เป็นกลางทางการเมืองอีกต่อไป" เขาเปิดเรื่อง

อานนท์ นำภา
คำบรรยายภาพ,

"ผมยืนยันว่าตอนนี้สถาบันฯ ไม่ได้เป็นกลางทางการเมืองอีกต่อไป"

อานนท์ สาธยายเหตุผลสนับสนุนคำพูดของเขาว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เป็นการกล่าวถึงหลักการนี้ด้านเดียว อีกทั้งการรัฐประหารอย่างน้อยสองครั้งหลังสุดมีการลงพระปรมาภิไธยรับรอง มีการขยายพระราชอำนาจจาก พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ ไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ รวมถึงการเปลี่ยนชื่อความเป็นเจ้าของทรัพย์สินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งหมดเป็นการที่ทรง "ปกครอง" มิใช่ "ปกเกล้า"

อานนท์ ระบุด้วยว่า "คำว่าปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง ยังหมายถึงการเป็นกลางทางการเมืองอีกด้วย"และเสริมว่า "ขณะที่เรา... คนอีกฝั่งหนึ่งเอาความจริงออกมา กลับใช้ (มาตรา) 112 ปิดปาก" อานนท์ ระบุ

ผู้ประท้วงจำนวนมากชูสามนิ้ว

อานนท์ยังย้ำถึงหนึ่งในข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ของ "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" เมื่อวันที่ 10 ส.ค. เรื่องยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น สถาบันกษัตริย์จะรับเงินสนับสนุนใด ๆ ไม่ได้หากไม่ได้รับการรับรองจากสภา ก่อนชี้ว่าการรับเงินโดยเสด็จพระราชกุศลจากเอกชนรายใดรายหนึ่งเกิน 100 ล้านบาท "จะทำให้รัฐบาลเกรงใจ" และเอกชนรายนั้น "จะขออะไรกับรัฐบาลก็ได้"

รุ้ง ปนัสยา ทวงถามการ "อุ้มหาย-อุ้มฆ่า" ผู้เห็นต่างทางการเมือง

น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้ปราศรัยทวงถามถึงข้อเท็จจริงต่อเหตุการณ์ที่ผู้ลี้ภัยทางการเมืองอันสืบเนื่องจากการพูดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ถูก "อุ้มหายหรือเข่นฆ่า"

ปนัสยา ได้อ่านชื่อผู้ลี้ภัยทางการเมืองทีละคนที่ถูกบังคับสูญหายและถูกพบว่าเสียชีวิต รวมทั้งผู้ลี้ภัยที่ยังมีชีวิตอยู่ในต่างประเทศ

รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล
คำบรรยายภาพ,

"รัฐบาลต้องมีคำตอบต่อญาติและประชาคมโลกว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขากันแน่..."

ประเด็นดังกล่าว เป็นหนึ่งในข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ ของแนวร่วม มธ. ที่ให้สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความเกี่ยวข้องใด ๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

"รัฐบาลต้องมีคำตอบต่อญาติและประชาคมโลกว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขากันแน่..."

รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธตลอดมาว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการสูญหายของนักกิจกรรมเหล่านั้น

"เพนกวิ้น" ชี้มติศาล รธน. ทำให้ระเบียบกองทัพบกใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ

พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิ้น นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 และแกนนำ "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" กล่าวว่า "การกระทำของศาลรัฐธรรมนูญพิสูจน์แล้วว่าประเทศไทยไม่มีมาตรฐานใด ๆ" ไม่ใช่สองมาตรฐานหรือหลายมาตรฐาน

เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์
คำบรรยายภาพ,

"ระเบียบกองทัพบกมันใหญ่มาจากไหน ทำไมถึงล้มล้างรัฐธรรมนูญได้"

เขาบอกว่า เท่าที่ฟังเหตุผลในคำวินิจฉัยชี้ว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ขาดคุณสมบัติ และอาศัยอยู่บ้านพักหลวงนั้นได้ เป็นเพราะระเบียบของกองทัพบก เขาตั้งคำถาม ว่าเหตุใดระเบียบของกองทัพบกจึง "ใหญ่กว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ" และคำวินิจฉัยวันนี้ เป็นการ "ฉีกรัฐธรรมนูญ" "ระเบียบกองทัพบกมันใหญ่มาจากไหน ทำไมถึงล้มล้างรัฐธรรมนูญได้ หรือเพราะเห็นว่ากองทัพบกเป็นผู้ที่ฉีกรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด เลยคิดว่าระเบียบกองทัพใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ"

ผู้ชุมนุมชูสามนิ้วที่แยกลาดพร้าว
คำบรรยายภาพ,

ผู้ชุมนุมกลุ่ม "ราษฎร" ชูสามนิ้วขณะแกนนำปราศรัยบนเวทีที่ตกแต่งคล้ายบัลลังก์ศาลรัฐธรรมนูญจำลองที่ห้าแยกลาดพร้าว

พริษฐ์ ยังใช้เวทีนี้ วิจารณ์ถึงความไม่ชอบธรรมของที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน โดยระบุว่า มาจากการแต่งตั้งด้วยการใช้มาตรา 44 ของหัวหน้า คสช. การเลือกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์เป็นผู้แต่งตั้ง และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) แกนนำราษฎรผู้นี้ ยังชี้อีกว่า คำวินิจฉัยวันนี้ ยังทำให้ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ของ "ราษฎร" ในข้อแรก ไม่เกิดขึ้น และจะเป็นผลเกี่ยวเนื่องให้ข้อเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นไปไม่ได้ "ถ้าไม่เอาศาลรัฐธรรมนูญออกจากระบบการเมืองไทย"

ทูตนอกแถวขึ้นเวที

ในการชุมนุมของกลุ่ม "ราษฎร" คืนนี้ นายรัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตไทย เจ้าของเพจ "ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador" ขึ้นเวทีปราศรัยด้วย โดยนายรัศม์ ระบุว่า ต้องการมาให้กำลังใจผู้ชุมนุม และยืนยันว่า การที่ผู้ประท้วงอยากเห็นประเทศก้าวหน้าไม่ใช่เรื่องผิด

รัศม์ ชาลีจันทร์
คำบรรยายภาพ,

"ไม่มีเผด็จการขวาจัดที่ไหนในโลก ที่ทำให้ประเทศเจริญได้จริง มีแต่ทำให้ตกต่ำทั้งสิ้น" นายรัศม์ กล่าว

นายรัศม์ กล่าวอีกว่า ในโลกนี้มีเผด็จการ 2 แบบคือ เผด็จการซ้ายจัดและขวาจัด โดยเผด็จการซ้ายจัดเช่น จีนและเวียดนาม ผู้นำขึ้นมามีอำนาจได้เพราะมีฐานเสียงสนับสนุนจากประชาชน แต่กรณีของไทยคือเผด็จการขวาจัด

"ไม่มีเผด็จการขวาจัดที่ไหนในโลก ที่ทำให้ประเทศเจริญได้จริง มีแต่ทำให้ตกต่ำทั้งสิ้น" นายรัศม์ กล่าว

นายรัศม์ เห็นว่า การจะทำให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าได้ก็ต้องอาศัยประชาธิปไตยตามมาตรฐานของโลกเพียงอย่างเดียว แต่ยอมรับว่าการต่อสู้จะต้องใช้เวลายาวนานกว่าที่ไทยจะมีประชาธิปไตยที่แท้จริง

แจกกล้วยลิง-ทุบศาลพระภูมิ-เผากระดาษใบหน้า 9 ตุลาการศาล รธน.

แนวร่วมกลุ่มราษฎร ได้จัดกิจกรรมให้ผู้ร่วมชุมนุมสะท้อนเสียงต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหลายกิจกรรม รวมทั้งการแทรกสัญญะในเวทีการปราศรัยของแกนนำหลายคน ได้แก่

บัลลังก์ศาลจำลงบนเวทีม็อบ

"ศาลประชาชน" ของ "ราษฎร" - เวทีปราศรัยใหญ่ของ "ราษฎร" มีการจำลองบนเวทีให้มีลักษณะเป็นบัลลังก์ศาลรัฐธรรมนูญ ด้านหลังเขียนชื่อว่า "ศาลประชาชน" ที่มีตุลาการเป็น "เป็ดเหลือง" ในชุดครุยสีดำแถบแดงมีการจำลองบทบาท ล้อเลียนการนั่งบัลลังก์ คดีบ้านพักหลวง โดย ไผ่ ดาวดิน นั่งเป็นตุลาการ และแนวร่วมอีก 1 คน รับบทเป็น พล.อ.ประยุทธ์

"วาดศาล" - กลุ่มศิลปะปลดแอก (Free arts) นำผืนผ้าใบไวนิลที่พิมพ์ภาพตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบนบัลลังก์ โดยปล่อยพื้นที่เว้นว่างให้ผู้มาร่วมชุมนุมใช้ปากกาเขียนแสดงความคิดเห็นต่อผลวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในช่วงบ่ายวันนี้ บางส่วนของข้อความ เช่น "ใต้ฟ้าเดียวกันแต่สองมาตรฐาน" "ตุลาการศาลวิบัติ" "ตัดสินบนบรรทัดฐานเดียวกันไม่มีอยู่จริง"

พ่นสีบนพื้นถนน
คำบรรยายภาพ,

กิจกรรมพ่นสีบนพื้นถนน แสดงความรู้สึกต่อมติศาลรัฐธรรมนูญ

"สตรีทอาร์ต" ส่งเสียงถึงศาลรัฐธรรมนูญ - แนวร่วม "ราษฎร" ที่ไม่เปิดเผยชื่อ นำชอล์กหลากหลายสีสันเปิดให้ประชาชน ร่วมขีดเขียนบนพื้นถนนพหลโยธินกลางห้าแยกลาดพร้าว สะท้อนความเห็นต่อมติศาลรัฐธรรมนูญ มีข้อความบางข้อความเช่น "เอียงมากระวังล้มนะ" รูปวาดตราชั่งเอียงข้างที่ระบายด้วยสีชอล์กหลายสี

"แจกกล้วยลิง-ทุบศาลพระภูมิ" - พิธีกรรมล้อเลียนนี้ นำโดย นายอรรถพล บัวใหญ่ จากกลุ่ม "ขอนแก่นพอกันที" เขาได้กล่าวถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ วันนี้ว่า "ผิดหวังแต่ไม่ผิดคาด" ก่อนเริ่มพิธีกรรมทุบศาลพระภูมิหน้าเวทีปราศรัย "ต้องเซ่นสรวงผู้อยู่ในศาล (พระภูมิ) ด้วย กล้วย 9 ลูกมอบให้ลิง 9 ตัว" ก่อนใช้ค้อนขนาดใหญ่ทุบศาลพระภูมิที่ทำจากปูนซีเมนต์พังทลาย

เผากระดาษใบหน้า 9 ตุลาการศาล รธน. และฉีกตำรารัฐศาสตร์ของ 1 ใน ตลก. - กิจกรรมนี้ดำเนินโดยพริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษารัฐศาสตร์ มธ. เขาได้ฉีกตำรารัฐศาสตรฺที่เขียนโดย นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ หนึ่งใน ตลก. ศาล รธน. ซึ่งเคยเป็นอดีตคณบดีและอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ที่เขาศึกษาอยู่ ก่อนทำกิจกรรมเผากระดาษเอสี่ที่มีใบหน้าและรายชื่อของ ตลก. 9 คน หน้าเวทีปราศรัย

เผาหนังสือและรูปภาพตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar