เลือกตั้งครั้งนี้จะปิดฉากประยุทธ์ ผู้ครองเก้าอี้นายกฯ จากรัฐประหารและสืบทอดอำนาจมาเกือบ 9 ปี
ประยุทธ์มีโอกาสน้อยมากที่จะกลับมาอีก แต่แน่ละ ความเบื่อความเกลียดประยุทธ์ ไล่เท่าไหร่ไม่ยอมไป ใช้อำนาจเหิมเกริม บนความพินาศฉิบหายทางเศรษฐกิจ ทำแล้ว ทำอยู่ ยังจะทำอีก ฯลฯ ก็ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ปลุกพลังถั่งโถม “ไล่ประยุทธ์” ยิ่งมี 250 ส.ว.ตู่ตั้ง ยิ่งปลุก “แลนด์สไลด์” เพื่อเอาชนะ ส.ว.ให้ได้
แต่พอเลือกตั้งเสร็จ เราก็จะพบว่าประยุทธ์เป็นอดีตไปแล้ว เผลอๆ ได้ไม่ถึง 25 เสียง หัวร่องอหาย แต่เงยหน้าขึ้นมาก็งงๆ แล้วเอาอย่างไรต่อไป
เพราะระบอบประยุทธ์ไม่ใช่แค่ประยุทธ์ เครือข่ายอนุรักษ์ที่ขยายอำนาจจากรัฐประหาร 2557 รัฐธรรมนูญ 2560 นั้นใหญ่ทะมึน โตมหึมา ไม่ใช่แค่ประยุทธ์และ 250 ส.ว.
ตัวประยุทธ์จะหมดความหมายหลังเลือกตั้ง ไม่มีทางกลับมาเป็นนายกฯ มีแต่กลับบ้านในค่ายทหาร แม้ยังมีคะแนนนิยมในมวลชนอนุรักษ์ หรือบัตรคนจน แต่ผลสำรวจทุกโพลก็ไล่เลี่ย 15% ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 15 คน
เลือกตั้ง 62 พลังประชารัฐได้ ส.ส. 116 คน 8.4 ล้านเสียง คิดเป็น 24% แต่ส่วนใหญ่ได้มาเพราะ ส.ส.บ้านใหญ่ มีคะแนนนิยมฝ่ายขวาเฉพาะในกรุงและภาคใต้ ที่ฉีดไบกอนฆ่าแมลงสาบตายเป็นเบือ หลังเห็นภาพทักษิณในงานแต่งอุ๊งอิ๊งที่ฮ่องกง
ครั้งนี้รวมไทยสร้างชาติเหลือบ้านใหญ่กี่คน ไม่มีสักคนในเหนืออีสาน กะปริบกะปรอยในภาคกลาง ถ้าลูกกำนันเป๊าะล้างบางเสี่ยเฮ้ง ภาคตะวันออกก็โบ๋เบ๋ เหลือแค่ภาคใต้ที่ต้องแย่งคะแนนมวลชนนกหวีดกับประชาธิปัตย์ แต่ภูมิใจไทยก็เป็นตาอยู่ ตามอัดใต้ดินใต้น้ำ
เด็กอมมือทางการเมืองก็รู้ว่า ภูมิใจไทยจะเป็นที่หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ประชาธิปัตย์จะแย่งกันเป็นที่สองสามสี่ ถ้ารวมกันได้เกินครึ่ง ประยุทธ์ได้ส.ส. 30-40 คน ยังมีหน้าไปแย่งอนุทิน?
ขณะที่ใครก็รู้ว่าเพื่อไทยที่หนึ่งแน่ แค่ไม่รู้เกินครึ่งหรือเปล่า (310 เป็นปฏิบัติการจิตวิทยา)
มองอีกมุม การเลือกตั้งครั้งนี้แม้ยังมี 250 ส.ว. แต่พรรคสืบทอดอำนาจแตกโพละ ส.ส.ย้ายหนี โดยแทบไม่มีกลุ่มใหญ่ย้ายตามประยุทธ์ มีแต่ ส.ส.ภาคใต้กับสุชาติ ชมกลิ่น คู่ชิงเพื่อไทยในภาคเหนือภาคอีสานกลายเป็นภูมิใจไทยกับพลังประชารัฐประปราย
แต่แน่ละ ความเข็ดขยาดหวาดกลัวประยุทธ์โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ ยังเป็นกระแสหลักในการเลือกตั้ง เพราะปัญหาปากท้องรุนแรงสาหัส ภาคธุรกิจ รายย่อย แบกได้อีกไม่กี่เดือนเท่านั้น ในทางกลับกันจึงเป็นโอกาสเพื่อไทย โดยแทบไม่ต้องดูนโยบาย ดูตัวบุคคลในทีมเศรษฐกิจ ในสายตานักธุรกิจพร้อมกว่าพรรคอื่น ทำงานได้ทันที รองลงมาคือพลังประชารัฐ แต่เป็นทีมจับฉ่าย จับคนเด่นดังคนละทิศคนละทางมาโฮะกัน (จนบิ๊กอายตกน้ำหาย)
แม้คนทั่วไปยังต้องการความชัวร์ว่า ประยุทธ์ไม่กลับมา แต่เลือกตั้งเดินหน้าไปพักจะเห็นว่า ประยุทธ์จบแล้ว แม้การเลือกตั้งครั้งนี้วิเคราะห์ยากมาก แต่โอกาสความเป็นไปได้สูงสุดคือ เพื่อไทยชนะที่หนึ่ง เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล แล้วดูผลเลือกตั้งอีกครั้งว่าจะจับมือพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือข้ามขั้ว โอกาสที่สอง ถ้าเพื่อไทยไม่ได้เป็นแกนนำ ก็เกิดรัฐบาลผสมสลายขั้ว ที่ไม่มีประยุทธ์อยู่ดี
ยังมีใครอยากแบกประยุทธ์อยู่อีก ไม่ว่าประวิตร อนุทิน ประชาธิปัตย์ (ซึ่งอภิสิทธิ์กลับมาช่วยหาเสียง)
ยุทธศาสตร์ฝ่ายประชาธิปไตยต้องลดละความกลัว “ประยุทธ์กลับมา” แล้วมองไปข้างหน้า จะเห็นปัญหาขนาดตอม่อรออยู่อีกเยอะ เครือข่ายอนุรักษ์อันใหญ่ทะมึนมหึมา มีอำนาจมากกว่ายุคประชาธิปไตยใต้อำนาจนำ หรือหลังรัฐประหาร 2549 เสียอีก ถ้าสมัยก่อนเรียกว่าอำนาจนอกระบบ สมัยนี้ก็เป็นอำนาจเหนือระบบ เป็นอำนาจที่ปฏิเสธไม่ได้ กดทับอยู่โดยตรง
อำนาจนี้เปลี่ยนผ่านมา 2 เฟส เฟสแรกรัฐประหารอำมหิต เฟสรองรัฐบาลประยุทธ์อำนาจนิยม เฟสสามยังมองไม่ออกว่าจะเป็นอย่างไร เพราะจะต้องทำ “ดีล” กับผู้ชนะเลือกตั้ง ให้รัฐบาลจากเลือกตั้งยอมรับว่ามีอำนาจจำกัดและถูกแทรกแซงได้
การเลือกตั้งครั้งนี้มีนัยทับซ้อนกัน 2 ประเด็น ประเด็นแรก เอาประชาธิปไตยหรือสืบทอดอำนาจ ซึ่งตกค้างมาจากปี 62 อันที่จริง “เอาประชาธิปไตย” ชนะ เพราะคนเลือกประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทยไม่รู้ว่าจะไปร่วมรัฐบาลประยุทธ์ ถึงกระนั้น พรรคฝ่ายค้านก็ยังได้ ส.ส.มากกว่า กระทั่งโดนสูตรคำนวณเศษมนุษย์ โดนยุบพรรคตัดสิทธิ โดนดูด จนเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากตามอำเภอใจ
ประเด็นนี้จึงค้างคาคับแค้นมาถึง 66 ทั้งที่ควรเปลี่ยนไปแล้ว ฉันทามติประชาชนส่วนใหญ่ไม่เอาการสืบทอดอำนาจ ไม่เอา 250 ส.ว.โหวตนายกฯ แล้ว แต่ผลพวงอำนาจล้าหลังยังฉุดรั้ง ให้จมอยู่กับประเด็นนี้ ทั้งที่ประเด็นมันเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องสืบทอดอำนาจแล้ว เป็นข้อถกเถียงว่า “เอาประชาธิปไตยแบบไหนแน่”
พูดง่ายๆ เลยว่าที่ถกเถียงกันทุกวันนี้ระหว่าง FC เพื่อไทยก้าวไกล คือการถกเถียงว่า “เราจะเอาประชาธิปไตยแบบไหนกันแน่” เอาแค่ปากท้อง หรือกระทุ้งโครงสร้าง แสดงพลังผ่านการเลือกตั้งเพื่อปฏิรูประบอบให้ได้มากที่สุด ให้อำนาจอนุรักษ์ยอมถอยได้มากที่สุด
ยุทธศาสตร์ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่ไม่เอาประยุทธ์
กลัวประยุทธ์กลับมา แม้ต้องการเอาชัวร์ก็เป็นแค่ข้อ 1 ต้องมีข้อ 2, 3, 4
มองไปข้างหน้า กว้างลึกไกลกว่าประยุทธ์
ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_7590121
..............................................................
ขอเสนอแคมเปญเลือกตั้ง ถ้าอยากให้บริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นตามเจตจำนง ประชาชนต้องช่วยกันรุมด่า ดักหน้าดักหลัง กกต.ไว้ก่อน ช่วยกันตรวจสอบจับจ้อง จะได้ไม่กล้าใช้อำนาจจับผิดหยุมหยิม อย่างที่แจกใบส้ม สุรพล เกียรติไชยากร จนแพ้คดี 56 ล้าน
พูดอย่างนี้เข้าข้างนักการเมืองโกง? โกงจริง กกต.ก็ทำอะไรไม่ได้ ซื้อเสียงไม่เคยจับได้ ที่จับได้คือคู่แข่งจับส่งทั้งนั้น กกต.มีหน้าที่จับผิดเอกสาร ถอดเทปคำปราศรัย จับโพสต์เฟซบุ๊ก (ซึ่งก็คู่แข่งอีกนั่นแหละ cap ส่ง กกต.)
นั่นคือ กกต.ซึ่งใช้งบปีละ 3 พันกว่าล้าน ไม่รวมค่าจัดเลือกตั้ง มีพนักงาน 2 พันกว่าคน เงินเดือนสูงกว่าข้าราชการทั่วไป เพราะเชื่อว่พนักงาน กกต.บริสุทธิ์ ไม่ฝักใฝ่พรรคการเมืองใด
คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า กกต.ไม่เป็นกลาง เพราะมาจากการสรรหากันเองในองค์กรอิสระ ให้ความเห็นชอบโดย สนช. หรือ ส.ว.แต่งตั้ง ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญรัฐประหาร ทั้ง 2550,2560
แต่ที่เป็นปัญหาไม่น้อยกว่ากันคือ กฎหมายเลือกตั้งแต่ไหนแต่ไร ดูถูกประชาชน ไม่เชื่อถือเจตจำนง แล้วก็ตั้งองค์กร กกต.ขึ้นเพื่อจ้องจับผิด ทุกคะแนนเสียงต้องคลีน บริสุทธิ์ เจออะไรเป็นมลทินนิดเดียว ต้องแจกใบเหลืองใบแดง ทำลายคะแนนเสียงทั้งเขตเลือกตั้ง หรือทั้งประเทศ
กฎหมายเลือกตั้งตั้งแต่อดีต มองประชาชน “จน เครียด กินเหล้า” ห้ามขายเหล้าวันเลือกตั้ง ราวกับหัวคะแนนมอมเหล้าอุ้มชาวบ้านเข้าคูหา ห้ามขายทั้งวันเลือกตั้ง เลือกล่วงหน้า แต่เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ร้านเหล้าเมืองนนท์-ปากน้ำ ครึกครื้น
เลือกตั้งทุกครั้ง ตำรวจ กกต. แถลงผลงานจับคนแก่ฉีกบัตร ทั้งที่เจตนารมณ์กฎหมาย ควรเอาผิดอาญาผู้นำบัตรเลือกตั้งไปทำลายโดยทุจริต เช่นเจ้าหน้าที่เอาหีบบัตรไปทิ้งไปเผา ชาวบ้านฉีกบัตรเพราะเข้าใจผิด ควรปรับ 20 บาทเป็นค่าให้บัตรไปกาใหม่
ดูข่าวเลือกตั้งอเมริกา ดาราฮอลลีวู้ดถ่ายบัตรเลือกตั้งลง IG โชว์อย่างภูมิใจว่าเลือกไบเดน ไม่เลือกทรัมป์ ถ้าเป็นคนไทย ติดคุก กฎหมายห้ามถ่ายบัตรเพราะเชื่อว่าใช้เป็นหลักฐานรับเงิน
กกต.ชุดแรกที่เครดิตสูงส่ง “ขั้นเทพ” ก็ตั้งมาด้วยทัศนะเดียวกัน ยังจำแม่นว่ามีผู้สมัคร ส.ว.ภาคใต้โดนใบแดงเพราะไปหาเสียงแล้วเด็กนักเรียนรำสีละต้อนรับ กกต.ชี้ว่าเป็น “มหรสพ” ทั้งที่ “มหรสพ” ควรเป็นกรณีจัดฉายหนังแสดงดนตรีเรียกคนมาฟังปราศรัย เด็กรำสีละหรือรำอวยพร ดึงดูดคนดูได้เท่าไหร่กัน แต่ กกต.ตีความกฎหมาย “เคร่งครัด”
ยี่สิบกว่าปี กกต.ยิ่งพัฒนา การตีความกฎหมายที่บ้าจี้จำกัดเจตจำนงอยู่แล้ว ตามตัวอักษร ตามกระดาษ A4 วัดกั้นหน้ากั้นหลังถูกต้องทุกกระเบียด
ยกตัวอย่างกรณี “ถือหุ้นสื่อ” ซึ่งตัวกฎหมายก็แย่อยู่แล้ว ถือหุ้นสื่อ ควรมีความหมายว่าสามารถใช้สื่อเอาเปรียบคู่แข่งในการหาเสียง ไม่ใช่นิตยสารที่ปิดไปแล้ว หรือหนังสือบริคณห์สนธิที่จดทะเบียนครอบจักรวาล
คดีธนาธร คดียุบพรรคอนาคตใหม่ ไทยรักษาชาติ อาจถูกมองว่า “มีใบสั่ง” แต่ก็มีคดี Non Sense อีกไม่น้อย ยกตัวอย่างใบเหลืองนายก อบจ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเลือกตั้งใหม่ พรรคเพื่อไทยชนะถล่มทลาย ไม่ใช่ใบสั่งแหงๆ
ใบเหลืองเพราะผู้ช่วยหาเสียงโพสต์วันสุดท้าย ใครอยากได้ป้ายหาเสียงรื้อไปใช้ได้เลย กกต.ตีความ“ให้ทรัพย์สิน” ทั้งที่เป็นเรื่องปกติ หาเสียงเสร็จผู้สมัครทุกคนก็ทิ้งป้าย ชาวบ้านอยากใช้ประโยชน์ก็เอาไปเลย จะเลือกหรือไม่เลือกก็เอาได้ ดีเสียอีก ไม่ต้องจ้างคนไปรื้อ
ศรีสุวรรณเอามาร้องชัชชาติ “ป้ายรีไซเคิล” แต่ถ้า กกต.เอาผิด ก็คงเจอเท้าคนกรุง 1.3 ล้านคู่ ประกาศว่า ไม่ได้เลือกเพราะป้ายรีไซเคิล (โว้ย)
หาเสียงครั้งนี้ยังมี “กฎเหล็ก” ในแผ่นกระดาษสี่เหลี่ยม สมองสี่เหลี่ยม ที่ชวนขำกลิ้ง เช่น โคตรพ่อโคตรแม่ผู้สมัครหาเสียง “ห้ามตาย” ในช่วงหาเสียง ก็ไม่ได้บอกว่าห้ามตายแต่ให้จัดงานพิธีเท่าที่จำเป็น งานศพงานบวชงานแต่ง หลีกเลี่ยงงานขนาดใหญ่ ที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก
หลงจู๊พ่อผู้สมัครบังเอิญ Stroke ชักแหง็กๆ งานศพคนมาทั้งจังหวัด ลูกชายโดนใบแดงนะครับ
ผู้สมัครไปงานศพได้ แต่ให้ส่งหรีดเฉพาะดอกไม้สด หรีดผ้าห่มหรีดพัดลมเป็น “ทรัพย์สิน” ทำราวกับเจ้าภาพอยากได้จนตัวสั่น เขาจะเลือกไม่เลือกมันไม่ขึ้นกับหรีดพวงเดียวหรอก
“ห้ามนักแสดง นักร้อง นักดนตรี สื่อมวลชน ใช้ความสามารถเพื่อเอื้อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง” เข้าใจว่าห้ามขึ้นเวทีร้องเพลงหรือแสดง แต่ถ้ามดดำไปเดินช่วยพ่อ ถือว่าใช้ความสามารถไหม นักร้องนักแสดงมีสิทธิเสรีภาพที่จะสนับสนุนพรรคหรือผู้สมัครไม่ใช่หรือ
นี่ไม่ต้องพูดถึงสื่อ ซึ่งไม่ต้อง “เป็นกลาง” สื่อเลือกข้างได้นะครับ ถ้าไม่ใช่สื่อรัฐเช่นวิทยุโทรทัศน์ของทหารหรือกรมประชาสัมพันธ์
อันตรายของ กกต.ไม่ใช่แค่ “ไม่เป็นกลาง” หรือ “มีใบสั่ง” อย่างที่คนเชื่อ แต่ที่สำคัญคือทัศนะรัฐราชการกระดาษ A4 ดูถูกประชาชน ไม่เข้าใจว่าการเลือกตั้งเป็นเรื่องของความนิยมซึ่ง ไม่ต้องมีเหตุผลไปเสียหมด ไม่ต้องสะอาดบริสุทธิ์ไปเสียหมด ขอแค่ผลออกมาสอดคล้องกับเจตจำนงของคนส่วนใหญ่ กกต.ซึ่งเป็นคนไม่กี่คนไม่ใช่เทวดา ไม่ควรมีอำนาจไปทำลายเจตจำนง
หลังเลือกตั้งต้องแก้รัฐธรรมนูญ รื้อโละ
กกต.รื้อไปถึงรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ในเบื้องต้น
ถ้าอยากให้เลือกตั้งเป็นไปตามเจตจำนง ประเทศนี้ขับเคลื่อนด้วยเสียงด่า
ก็ต้องด่า กกต.ดักหน้าดักหลังเอาไว้
ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_7575580
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar