10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
รุ้ง-ปนัสยา นำกลุ่มมธ.และการชุมนุมยื่นหนังสือ 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ประธาน กมธ.พัฒนาการเมืองฯ พร้อมให้พื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออก เชิญ "ปลดแอก-มธ.และการชุมนุม-ภาคีนักเรียนฯ-นร.เลว" ถกความเห็น แก้ รธน.
26 ส.ค. 2563 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล แจ้งว่า วันนี้ (26 ส.ค.63) ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน เเละการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎรแถลงต่อสื่อมวลชน ถึงการรับฟังข้อเสนอของนักศึกษาที่เรียกร้องต่อรัฐบาลในสถานการณ์ปัจจุบันว่า ในส่วนนี้คณะกรรมาธิการเราอยากรับฟังความคิดของนักศึกษา ทางกรรมาธิการได้เชิญตัวแทนนักศึกษาไป 4 กลุ่ม คือกลุ่มประชาชนปลดแอก กลุ่มธรรมศาสตร์เเละการชุมนุม กลุ่มภาคีเครือข่ายนักเรียนแห่งประเทศไทย เเละกลุ่มอาชีวะรักษ์สถาบัน โดยในวันนี้มีเพียง 2 กลุ่มที่ตอบรับร่วมหารือเเละเสนอข้อคิดเห็นต่อคณะกรรมาธิการ คือ กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม และกลุ่ม uncommon international group โดยประเด็นเเละข้อเสนอของกลุ่มนักศึกษานั้น เป็นสิทธิที่ระบุไว้ตามรัฐธรรมนูญ เราควรเปิดโอกาสให้พวกเขาเเละจัดหาพื้นที่ปลอดภัย ในการเเสดงความเห็นเกี่ยวกับข้อเรียกร้องในส่วนของกลุ่มธรรมศาสตร์เเละการชุมนุม ซึ่งเรายังคงไม่นำข้อเสนอดังกล่าวเข้าในที่ประชุมในวันนี้ เเต่ในวันนี้เราจะนำเสนอในขั้นตอนของการตั้งสสร. เพื่อร่วมหาฉันทามติในสังคม
นฤเบศ รักวิจิตร ประธาน uncommon international group กล่าวว่า ว่าเราจะสามารถเป็นตัวกลางระหว่างภาคประชาชนเเละภาครัฐได้อย่างไร ซึ่งการประกาศจุดยืนของพวกเราไม่รับการสนับสนุนจากภาครัฐเเละพรรคการเมืองใดทั้งสิ้น ประชาธิปไตยที่จะเกิดขึ้นจะเป็นรูปแบบไหน อะไรคือประชาธิปไตยของประชาชนคนไทยอย่างเเท้จริง นอกจากนี้ ยังจะได้ติดตามทวงถามความคืบหน้าหลังจากที่ได้ยื่นหนังสือต่อ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ถึงมาตรการการรับมือกับสถานการณ์การคุกคามบุคลากรทางศึกษาว่ามีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง หากไม่มีความคืบหน้าก็จะนัดรวมตัวอีกครั้งที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการวันที่ 28 ส.ค.2563
ขณะที่ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง) เเนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวว่าในวันนี้ตนได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ต่อคณะกรรมาธิการการเมือง ผ่าน ปดิพัทธ์ สันติภาดา ประธานกรรมาธิการ เพื่อขอให้ช่วยผลักดันตามข้อเรียกร้องไปสู่การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. และเพื่อให้เรื่องนี้เป็นสาธารณะในการพูดคุยทั้งในรัฐบาลและทุกภาคส่วน ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นับเป็นสถาบันแรกที่พูดถึงสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเราต้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลได้ทำตาม 10ข้อเรียกร้องนี้
ปดิพัทธ์ กล่าวต่อไปว่า เราต้องรับฟังข้อเสนออย่างไร้อคติ ซึ่งคณะกรรมาธิการต้องทำให้สิ่งที่พวกเขาเรียกร้อง
สามารถพูดคุยได้ในพื้นที่สาธารณะ ตามหลักการประชาธิปไตย เพื่อหาฉันทามติร่วมกัน เเละอยู่ร่วมกันในสังคมได้
แม้วันนี้ตัวแทนนักเรียน นักศึกษาจะไม่มีสิทธิ์เป็น สสร. แต่พวกเขามีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นต่อสังคมที่อยู่ต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ในสัปดาห์หน้า ทางคณะกรรมาธิการจะเชิญกลุ่ม คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช. ) พร้อมเชิญตัวเเทนสื่อมวลชนเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อหาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ เเละหาฉันทามติในระบอบประชาธิปไตยต่อไป
สำหรับข้อเรียกร้อง 10 ข้อเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ถูกนำเสนอผ่านเวทีการชุมนุม '#ธรรมศาสตร์จะไม่ทน “เราไม่ต้องการปฏิรูปเราต้องการปฏิวัติ” โดยนักกิจกรรมนักศึกษาและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งบวกและลบ ด้านลบนั้นถูกกล่าวหาว่าเป็นการล้มสถาบันกษัตริย์ ส่วนด้วยบวกและนักวิชาการหลายคนออกมายืนยันว่า 10 ข้อเรียกร้องนี้เป็นข้อเรียกร้องที่ไม่ใช่การล้มสถาบันฯ หากแต่เป็นความพยายามให้สถาบันฯ อยู่กับระบอบประชาธิปไตยได้อย่างมีเสถียรภาพและไม่ใช้ข้อเสนอที่ผิดกฎหมาย แต่สื่อแทบทั้งหมดเลือกที่จะไม่นำเสนอรายละเอียดทั้ง 10 ข้อ ทำให้เกิดความสับสนด้วย
รายละเอียดข้อเสนอ 10 เพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ประกอบด้วย
1. ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ แล้วเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร
2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงเปิดให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน
3. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่ของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน
4. ตัดลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
5. ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น และหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น คณะองคมนตรี ให้ยกเลิก
6. ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด
7. ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ
8. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด
9. สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความเกี่ยวข้องใดๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
10. ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar