söndag 30 juni 2024

"พิธา" เผย 2 คำตอบต่อศาลรัฐธรรมนูญใน "บันทึกถ้อยคำ" ล่าสุด

"พิธา" เผย 2 คำตอบต่อศาลรัฐธรรมนูญใน "บันทึกถ้อยคำ" ล่าสุด
.
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงความคืบหน้าคดียุบพรรคก้าวไกลเมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (30 มิ.ย.) โดยนอกจากจะกล่าวย้ำถึงข้อต่อสู้ 9 ข้อที่เคยได้แถลงการณ์ไปก่อนหน้านี้แล้ว สาระสำคัญในการสื่อสารต่อสาธารณะในครั้งนี้ คือ การเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนในบันทึกถ้อยคำ ซึ่งประกอบด้วย 2 คำถามจากศาลรัฐธรรมนูญ ตามคำสั่งของศาลฯ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่สั่งให้พรรคฯ จัดทำและส่งให้ศาลฯ ภายใน 7 วัน ก่อนที่จะมีกำหนดนัดพิจารณาครั้งต่อไปในวันที่ 3 ก.ค. นี้
.
คำถามที่ 1 คือ พรรคก้าวไกลได้โต้แย้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในประเด็นที่ไม่มีโอกาสชี้แจงในชั้นพิจารณาของ กกต. หรือไม่ นายพิธากล่าวสั้น ๆ ว่า "เราไม่มีโอกาสครับ" และว่า "ในเมื่อพรรคก้าวไกลไม่มีโอกาสในการรับข้อกล่าวหาและโต้แย้งในชั้น กกต. ดังนั้น จะเป็นไปได้อย่างไรที่พรรคก้าวไกลจะมีโอกาสเรียกร้อง กกต. ให้ทำตามกระบวนการ" และนายพิธายังอธิบายเหตุผลประกอบว่า ขั้นตอนดังกล่าวของ กกต. ไม่เป็นไปตามกระบวนการ และไม่มีกฎหมายใดที่กำหนดหน้าที่ของพรรคต้องโต้แย้งกรณีที่ กกต. ไม่ทำตามกระบวนการดังกล่าว และเมื่อเกิดความบกพร่องทางขั้นตอนของ กกต. แล้ว ไม่สามารถแก้ไข และชดเชยโอกาสที่สูญเสียไป ในชั้นศาลได้
.
"ผมยังเชื่อมั่น ถ้า กกต. เปิดประตูให้ผมได้พูดคุยกับ กกต. รับทราบข้อกล่าวหาและอธิบาย ผมคิดว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะยกคำร้องตั้งแต่ชั้น กกต. ด้วยเหตุผลที่ว่า มีคนร้องพรรคก้าวไกลสองครั้ง พรรคก้าวไกลไม่เคยโดยเตือนและ กกต. ก็ยกคำร้องทั้งสองครั้ง" นายพิธา กล่าว
.
คำถามที่ 2 คือ การกระทำตามข้อเท็จจริง ตามคดี 3/2567 อาจเป็น "ปฏิปักษ์" หรือไม่ ซึ่งคำตอบของพรรคก้าวไกล คือ การกระทำของพรรคฯ ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ อย่างไรก็ตามพรรคก้าวไกลตอบศาลรัฐธรรมนูญไปว่าจะไม่ตอบคำถามศาลในชั้นนี้ด้วยเหตุผลที่ว่า เพราะข้อกล่าวหาล่าสุดของ กกต. ใช้คำว่า “การกระทำเป็นการล้มล้างและอาจเป็นปฏิปักษ์” เป็นคนละข้อกล่าวหากับคดี 3/2567 ที่กล่าวหาว่า “ใช้เสรีภาพเพื่อล้มล้างฯ” เพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ กกต. ไม่เคยแจ้งข้อกล่าวหามาก่อน จึงเป็นประเด็นใหม่ต้องเริ่มกระบวนการใหม่ในชั้น กกต. ให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อน
.
ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวว่า การกระทำดังกล่าว ของ กกต. ที่พรรคก้าวไกลระบุว่า "ไม่ชอบด้วยกฎหมาย" กำลังทำให้การยุบพรรคมี 2 มาตรฐาน บางพรรคใช้มาตรา 92 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง และบางพรรคใช้มาตรา 93 ซึ่งพรรคก้าวไกลมองว่า มาตรา 92 และ 93 ไม่สามารถใช้แยกกันได้
.
อะไรคือ ข้อต่อสู้ 9 ข้อในคดียุบพรรคก้าวไกล อ่านเพิ่มเติมได้ที่:  
 
May be an image of 1 person and text

Thai E-News

ดูเพิ่ม - ‘พิธา’ แถลงเพิ่มเติมข้อต่อสู้คดี กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคก้าวไกล ตอบคำถามจากศาลฯ ๒ ข้อ

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar