จำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน เบิกความว่า ในปี 2552 เป็นเพียงผู้เขียนคนหนึ่งใน นิตยสาร Voice of Taksin ต่อมาเมื่อถึงฉบับที่ 9 จึงมารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการบริหาร (บก.บห.) ต่อจากนายประแสง มงคลสิริ (ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ-ประชาไท) โดยได้ค่าจ้าง 25,000 บาท นิตยสารเล่มนี้ไม่มีใครเป็นเจ้าของเด็ดขาด เนื่องจากร่วมกันหลายหุ้นและช่วยๆ กันทำ ส่วนเหตุที่ใช้ชื่อนี้ก็เป็นเพราะเหตุผลทางการตลาด มีแนวทางในการวิพากษ์วิจารณ์การรัฐประหาร พรรคประชาธิปัตย์ เน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย กระทั่งถูกสั่งปิดซึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะมีเนื้อหาวิพากษ์การโยกย้ายนายพลในช่วงเวลานั้นอย่างหนัก
สำหรับบทความที่ตีพิมพ์นั้น แบ่งเป็นบทความประจำที่ลงต่อเนื่อง และบทความใหม่ๆ ที่ต้องทำเพิ่มให้ทันสถานการณ์ ในส่วนบทความประจำจะมีทั้งผู้เขียนที่ใช้ชื่อจริงและนามแฝง โดยผู้มีชื่อเสียงเป็นที่น่าเชื่อถือของสังคมจะได้รับการลงพิมพ์ทั้งหมดโดยไม่มีการตัดทอนบทความแต่อย่างใด โดยปกติตนมีหน้าที่อ่านเพียงคร่าวๆ เนื่องจากมีบทความต้องพิจารณามาก และต้องเร่งให้ทันการปิดเล่ม
เมื่อถามว่า “จิตร พลจันทร์” เจ้าของบทความที่เป็นเหตุให้ถูกฟ้องคือใคร สมยศ ตอบว่า จักรภพ เพ็ญแข ซึ่งเป็นคอลัมนิสต์ของนิตยสารตั้งแต่ฉบับแรกๆ ก่อนที่เขาจะมาทำหน้าที่เป็น บก.บห. โดยผู้ประสานงานติดต่อให้จักรภพมาเป็นคอลัมนิสต์คือ นายประแสง
เมื่ออัยการถามว่าใครเป็นผู้ตัดสินใจคัดเลือกบทความในขั้นสุดท้าย สมยศขอดูรายชื่อกรรมการในนิตยสารอีกครั้งพร้อมระบุว่า ไม่อยู่ในรายชื่อนี้ จากนั้นอัยการได้ซักถามเพิ่มเติมจนสุดท้ายสมยศตอบว่า ผู้มีสิทธิตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการลงบทความ ก็คือตัวนักเขียนเอง ตนมีหน้าที่นำไปส่งโรงพิมพ์
ในด้านเนื้อหาของบทความ นายสมยศตอบทนายว่า เมื่ออ่านบทความของจิตรฯ แล้วคิดว่าสื่อถึง “อำมาตย์” ไม่คิดว่าจะสื่อความถึงสถาบันกษัตริย์ อีกทั้งภาพประกอบบทความก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด ไม่น่าจะทำให้ผู้อ่านโน้มเอียงไปในทางนั้นได้ ในส่วนที่พยานอื่นระบุว่าหมายถึงพระเจ้าตากสิน เขาไม่คิดว่าเป็นเช่นนั้น เนื่องจากไม่มีการเอ่ยอ้างถึงท่อนจันทร์ แต่กล่าวถึงถุงแดงซึ่งเขาไม่ทราบว่าหมายถึงอะไร การกล่าวถึงผู้อยู่ชั้นบนของโรงพยาบาลพระรามเก้าก็ไม่เกี่ยวข้องกษัตริย์ เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่โรงพยาบาลศิริราชโดยตลอด ส่วนการกล่าวถึงตัวละคร “หลวงนฤบาล” ก็ไม่อาจเทียบเคียงได้ว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์ เพราะตำแหน่งหลวงนั้นต่ำกว่า อีกทั้งบทความยังระบุว่าหลวงนฤบาลสอพลอทหารใหญ่ ซึ่งน่าจะหมายถึงนายทหารที่ยศต่ำกว่าจอมพลฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงเชื่อว่าไม่ได้หมายถึงกษัตริย์อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ยังมีการเบิกความเกี่ยวกับกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ โดยสมยศเบิกความว่า เนื่องจากเป็นสื่อมวลชน ก็ได้ศึกษาข้อกฎหมายอยู่บ้าง โดยรู้ว่าตาม พ.ร.บ.สิ่งพิมพ์ 2484 บก.ต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาของหนังสือที่จัดพิมพ์ แต่ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 นั้น ไม่ได้ระบุว่าให้บรรณาธิการเป็นผู้รับผิดชอบ
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar