fredag 11 maj 2012

ครก.112 ออกแถลงการณ์ไว้อาลัย "อากง" พร้อมแจ้งกำหนดการเคลื่อนไหว 27 พ.ค.นี้




« เมื่อ: วันนี้ เวลา 06:56:53 PM »




ขอไว้อาลัยต่อการจากไปของนายอำพล หรืออากง เหยื่อมาตรา 112
คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112


10 พฤษภาคม 2555

การเสียชีวิตของนายอำพล (ไม่เปิดเผยนามสกุล) หรืออากง
ในทัณฑสถานอย่างฉับพลันเมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา
ได้สร้างความเศร้าสลดให้แก่ครอบครัวของนายอำพลอย่างยิ่ง
พวกเขาไม่มีแม้แต่โอกาสจะได้ร่ำลาก่อนที่นายอำพลจะจากโลกนี้ไป
คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112)
จึงขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของนายอำพล
ที่ต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมอันเจ็บปวดครั้งนี้
เป็นโศกนาฏกรรมที่พวกเขาเองก็ไม่รู้ว่าจะเรียกร้องหาความยุติธรรมได้จากใคร
เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า
นายอำพลยืนยันตลอดมาว่าตนมีความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์
เคยพาหลานๆ ไป รพ. ศิริราช เพื่อร่วมถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
แม้จะเคยไปร่วมชุมนุมกับทั้งคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดง
แต่นายอำพลก็ไม่ได้เป็นคนเสื้อแดง ภาระหน้าที่หลักของชายชราคนนี้คือ
ดูแลหลาน 7 คน แต่เมื่อตกเป็นเหยื่อของกฎหมายอาญามาตรา 112
จึงทำให้เขากลายมาเป็น "นักโทษการเมือง" ในทันที
ซึ่งนี่เป็นจุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมของนายอำพลและครอบครัว กล่าวคือ
•      คำตัดสินจำคุกนายอำพลถึง 20 ปีเพราะส่ง sms 4 ครั้ง
แม้ว่าจะมี "ข้อกังขามากมาย" ต่อหลักฐานของฝ่ายอัยการก็ตาม
ชี้ว่าสังคมไทยในปัจจุบัน นักโทษการเมืองคดี 112 คือ
ผู้ที่ต้องถูกลงโทษอย่างรุนแรงที่สุด
และเป็นการลงโทษที่ไม่ต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน หลักมนุษยธรรม
หรือเมตตาธรรมใดๆ ทั้งสิ้น
•       ด้วยเหตุอันเดียวกันนี้ "นักโทษการเมืองคดี 112"
จึงมักถูกปฏิเสธสิทธิการประกันตน อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองทุกคน
แม้ว่านายอำพลจะมีอายุมาก สุขภาพทรุดโทรม
เคยป่วยเป็นมะเร็งในช่องปาก ไม่เคยทำร้ายใคร ยากจน การศึกษาน้อย
ไม่มีญาติพี่น้องในต่างประเทศ
ศาลก็ปฏิเสธไม่ให้ประกันตนถึง 8 ครั้ง ด้วยข้ออ้างว่าเป็นคดีร้ายแรง กลัวจะหลบหนี
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับนักโทษการเมืองคดี 112 คนอื่นๆ เช่นกัน
มันจึงชี้ว่านักโทษการเมืองคดี 112
ได้ถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานมากเสียยิ่งกว่านักโทษคดีอาญาทั่วไป
เหตุผลที่นักโทษการเมืองคดี 112 มักถูกลงโทษอย่างรุนแรงนั้น
ปรากฏชัดเจนในบทความ
"อากงปลงไม่ตก′เปิดคำเฉลย!ที่มาแห่งคดีโดยโฆษกศาล"
ของนายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม (14 ธ.ค. 2554) ที่ว่า
"สำหรับบุคคลที่เจนโลก โชกโชน สันดานเป็นโจรผู้ร้าย
มีเจตนาทำร้ายสังคมสถาบันหลักของประเทศชาติและองค์พระประมุข
อันเป็นที่เคารพสักการะของคนในชาติให้เกิดความหลงผิด
ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง
ผู้เขียนเชื่อว่า ไม่มีใครอยากให้คนเช่นนี้ลอยนวลอยู่ในสังคม
เพื่อสร้างความเสียหายต่อเนื่อง หรือแก่ผู้อื่นอีก
เพราะสักวันคนใกล้ตัวของคนเหล่านี้อาจตกเป็นเหยื่อด้วยก็ได้
มาตรการที่เหมาะสมจึงควรตัดโอกาส
ในการกระทำผิด ลงโทษให้หลาบจำสาสมไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่น"
คงไม่ผิดนักที่จะชี้ว่า
ทัศนคติดังกล่าวได้ครอบงำกระบวนการยุติธรรม
หน่วยงานรัฐ นักการเมือง สื่อมวลชนและวัฒนธรรมการเมืองไทยกระแสหลัก
ทัศนคติและการปฏิบัติข้างต้นจึงนำไปสู่ความตายของนายอำพลในที่สุด

เฉพาะส่วนที่นายสิทธิศักดิ์กล่าวว่า
"ไม่มีใครอยากให้คนเช่นนี้ลอยนวลอยู่ในสังคมเพื่อสร้างความเสียหายต่อเนื่อง
หรือแก่ผู้อื่นอีก เพราะสักวันคนใกล้ตัวของคนเหล่านี้อาจตกเป็นเหยื่อด้วยก็ได้"
เป็นคำกล่าวที่ไร้สาระ คำว่า "อาจตกเป็นเหยื่อ" คืออะไร?
หมายถึงอาจถูก "ดูหมิ่น หมิ่นประมาท" หรือ?
หากเป็นเช่นนั้นก็ไม่ได้เป็นเรื่องน่ากลัวร้ายแรงแต่อย่างใด
เพราะเป็นเรื่องปรกติของการอยู่ร่วมกันในสังคม
ซึ่งสามารถดำเนินการตามกฎหมายปรกติ
ประชาชนชาวไทยอยู่กันมาได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายรุนแรง
เกี่ยวกับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย
เพราะไม่ใช่ภัยร้ายแรงแต่อย่างใด  แม้แต่คำกล่าวของโฆษกศาลฯ ที่ยกมานี้
ก็ถือได้ว่าเป็นข้อความหมิ่นประมาทนายอำพลโดยแท้
ถ้าโฆษกศาลฯ ยังสามารถแสดงพฤติกรรมหมิ่นประมาทผู้อื่นได้โดยไม่มีความผิด
การไม่ยอมปล่อยตัวนายอำพลชั่วคราวซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญยิ่งไม่มีข้อแก้ตัวในทางสังคม
ในทางตรงกันข้าม เราควรเปลี่ยนคำบางคำของโฆษกศาลเสียใหม่ว่า
"ไม่มีใครอยากให้กฎหมายอยุติธรรมนี้ลอยนวลอยู่ในสังคม
เพื่อสร้างความเสียหายต่อเนื่อง หรือแก่ผู้อื่นอีก
เพราะสักวันคนใกล้ตัวของคนเหล่านี้ อาจตกเป็นเหยื่อด้วยก็ได้"
เราไม่ได้คาดหวังว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโศกนาฏกรรมของครอบครัวนายอำพล
ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม จะสำนึกผิดในกรรมที่ตนได้กระทำไว้
แต่เราหวังว่าประชาชนที่ได้ติดตามคดีของนายอำพลอย่างต่อเนื่อง
และตระหนักถึงปัญหาของมาตรา 112
จะช่วยกันทำให้กฎหมายที่ อยุติธรรมนี้
ยุติการทำร้ายประชาชนเสียที แม้ว่าจะต้องใช้เวลานานก็ตาม

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar