tisdag 14 juli 2015

ชาวบ้านโง่หรือไม่? ที่ไม่ปลูก"หมามุ่ย"กก.ละ800บ.? บทความน่าสนใจจากนักวิชาการน้ำดีที่อธิบายถึงความจริงว่ามีหลายปัจจัยที่เป็นปัญหาทำให้เกษตรกรไทยไม่สามารถปลูกพืชที่ได้ราคาดีตามโอวาทของท่านผู้นำที่มาจากอาชีพทหาร...

ThaiE - News
"เดชรัต สุขกำเนิด"อ.เศรษฐศาสตร์เกษตร" ชี้ การใช้เศรษฐศาสตร์แบบ "ตาโต" หรือการแห่ปลูกพืชที่ได้ราคาดี ไม่ใช่คำตอบสำหรับเกษตรกร




"เดชรัต สุขกำเนิด"อ.เศรษฐศาสตร์เกษตร: ชาวบ้านโง่หรือไม่? ที่ไม่ปลูก"หมามุ่ย"กก.ละ800บ.

ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวให้โอวาทกับคณะโครงการเยาวชนไทยในสหรัฐอเมริกา เยือนแผ่นดินแม่ ตอนหนึ่งว่า “ขณะเดียวกันวันนี้เราขายหมามุ่ยได้ก.ก.ละกว่า 800 บาท และเมื่อส่งไปประเทศอินเดียแล้วมีการแปรรูปกลับมาเป็นยา เป็นอะไรต่างๆราคาได้กลายเป็นกก.ละ 8 หมื่นบาท แล้วเหตุใดเรายังโง่ปลูกอย่างอื่นที่มีกำไรเพียงพันบาทหรือไม่กี่บาท"

ล่าสุด วันที่ 11 ก.ค. ดร.เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวDecharut Sukkumnoed ถึงปัจจัยในการเลือกปลูกพืชเศรษฐกิจ ระบุว่า

ผมรอจนให้เรื่องนี้หมดความดราม่าก่อนแล้วจึงโพสต์ แม้ว่าจะเขียนไว้หลายวันแล้วครับ เพราะไม่ประสงค์จะให้เป็นโพสต์การเมือง เพียงแต่อยากทำความเข้าใจเรื่องที่คนบอกว่า

เกษตรกรนั้น เพราะมัวปลูกพืชที่ราคาไม่ดีเช่น ข้าวอยู่ได้ ทำไมไม่หันไปปลูกพืชที่ได้ราคาดีอย่างสมุนไพรที่บางคนแนะนำเช่น "หมามุ่ย"


 หนึ่ง เกษตรกรต้องเผชิญเงื่อนไขข้อจำกัดมากมาย ทั้งด้านที่ดิน ฟ้าฝน ภัยธรรมชาติ ศัตรูพืช เงินทุน หนี้สินที่มีอยู่เดิม แรงงาน สุขภาพ ช่องทาง ข้อมูล และสถานการณ์การตลาด ภูมิปัญญา อินเทอร์เน็ต ฯลฯ มากมายกว่าข้าราชการอย่างผมหลายเท่านัก ซ้ำร้ายเงื่อนไขหลายอย่างยังคาดเดาล่วงหน้าได้ยากด้วย การตัดสินใจของเกษตรกรจึงเป็นไปอย่างซับซ้อน ทั้งๆ ที่ตัวเลือกหรือทุนในมือก็มีไม่มาก เรียกว่า โจทย์ยากกว่าคนอื่นๆ มากทีเดียว

สอง นอกจากจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนแล้ว เกษตรกรยังมีความเปราะบางมากอีกด้วย เพราะมีฐานทุนเดิมอยู่จำกัด เมื่อพลาดพลั้งอะไรไป เกษตรกรจะต้องลำบากกว่าที่เกิดขึ้นกับคนอื่นๆ ที่เจอแบบเดียวกัน หลายกรณี ความพลาดพลั้งนั้นอาจผลักให้เกษตรกรรายนั้นตกอยู่ใน "กับดักความยากจน" (poverty trap) ไปนานทีเดียว

สาม เกษตรกรยังมีอำนาจที่จำกัด อำนาจที่ผมว่านี้ มิได้หมายถึงอำนาจในการสั่งให้ใครต่อใครทำตามใจที่ตนต้องการ แต่หมายถึงอำนาจที่จะต่อรองกับสิ่งที่จะมาสัมพันธ์หรือกระทบกับตนเอง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะมาจากกลไกรัฐหรือกลไกตลาด เกษตรกรก็มักจะต่อรองได้จำกัด เช่น เมื่อขาดแคลนน้ำหรือเมื่อน้ำท่วม เกษตรกรก็จะได้ผลกระทบก่อนและมากกว่ากลุ่มอื่น และเมื่อเกษตรกรซื้อปัจจัยการการผลิตก็ขึ้นอยู่กับผู้ขายเป็นผู้กำหนดราคา แต่เมื่อเวลาขายผลผลิตก็ไม่สามารถกำหนดราคาได้อีก ต้องขึ้นอยู่กับผู้ซื้อ เป็นต้น

การที่เกษตรกรแต่ละรายจะปลูกอะไรหรือไม่ปลูกอะไร จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับความโง่และความฉลาดของเกษตรกร แต่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ ฐานทุนเดิม และอำนาจต่อรองที่เกษตรกรแต่ละคนมีอยู่

การใช้เศรษฐศาสตร์แบบ "ตาโต" หรือการแห่ปลูกพืชที่ได้ราคาดี จึงอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับเกษตรกร เพราะพืชนั้นอาจไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขที่เกษตรกรมี หรือแย่ยิ่งกว่านั้น เมื่อมีการปลูกกันมากๆ ราคาก็จะตกลงเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาแลัวในอดีต ในขณะที่เกษตรกรก็แทบไม่มี "อำนาจต่อรอง" ใดๆเลย ที่จะทำให้ราคาสูงขึ้นได้ตามที่เคยหวัง กลายเป็นการซ้ำเติมความเปราะบางที่เกษตรกรมีอยู่เข้าไปอีก

การแก้ไขปัญหาของเกษตรกรจึงไม่ใช่การชี้ให้ไปปลูกโน่นปลูกนี้ แต่ควรเป็น

(ก) การลดทอนเงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ ที่เกษตรกรมีอยู่ เช่น การปฏิรูปที่ดิน การลงทุนในการพัฒนาที่ดิน การพัฒนาแหล่งน้ำในไร่นา ข้อมูลข่าวสาร ช่องทางการตลาด เป็นต้น

(ข) การลดทอนความเปราะบางของเกษตรกร ด้วยการกระจายความเสี่ยงในฟาร์ม การให้ข้อมูลเตือนภัยให้ทันการณ์ การประกันภัยพืชผล การพัฒนาระบบการออมและสวัสดิการชุมชน และ

(ค) การเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับเกษตรกร เช่น การสร้างช่องทางการตลาดใหม่ๆ การยกระดับคุณภาพของสินค้า การสร้างระบบตลาดและราคาที่เป็นธรรม เป็นต้น

ส่วนที่เหลือว่าจะปลูกอะไร จึงจะราคาดีและเหมาะสมกันตน ผมเชื่อว่า เกษตรกรสามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง
น่าเสียดายที่หนึ่งปีที่ผ่านมา เรายังไม่เห็นการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมในข้อหนึ่งข้อใดในสามข้อข้างต้น เราจึงได้เห็นแต่การโบ้ยให้เกษตรกรไปปลูกโน่นปลูกนี่ (มักจะเป็นการแนะนำเมื่อเกิดปัญหาแล้วเป็นส่วนใหญ่) และการกล่าวโทษพี่น้องเกษตรกรให้ปวดหัวใจ

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ไม่ใช่ผมไม่สนับสนุนหมามุ่ย เพราะมหาวิทยาลัยของผมก็พัฒนาและส่งเสริมอยู่ แต่ผมอยากให้เข้าใจว่า ถ้าเรา (รวมถึงคนพูดด้วย) ต้องเผชิญข้อจำกัดเหมือนที่พี่น้องเกษตรกรต้องเผชิญ ก็ไม่แน่เราจะเอาตัวรอดได้ดีเท่าที่พี่น้องเกษตรกรได้ทำอยู่หรือไม่

เพราะฉะนั้นท่ามกลางความยากลำบากที่เกษตรกรต้องเผชิญอยู่หากเราไม่สามารถช่วยอะไรได้อย่างน้อยก็ให้กำลังใจกับพี่น้องเกษตรกรก็ยังดีครับ

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar