torsdag 1 december 2016

การ "รักเจ้า" ("รักพระบรมฯ") ผิดอย่างไร ในปริบทสังคมไทย

การ "รักเจ้า" ("รักพระบรมฯ") ผิดอย่างไร ในปริบทสังคมไทย
เราคงเคยได้ยินคนที่อยู่ใน "ฝ่ายประชาธิปไตย" พูดกันบ่อยๆทำนองว่า "การจะรักเจ้าไม่ผิดหรอก..." (ส่วนใหญ่จะมี "แต่" เช่น "แต่คุณไม่ควรไปห้ามคนอื่นไม่ให้ไม่รักหรือเกลียด" อะไรทำนองนั้น) ผมเองไม่เคยพูด เพราะมีความเห็นมาตลอดว่าการพูดเช่นนี้ไม่เพียงพอ หรือไม่ถูกต้อง และเป็นความเข้าใจผิดในหลักการเสรีนิยมหรือประชาธิปไตยที่แท้จริง กระทู้นี้ เกิดจากการที่มี "มิตรสหายท่านหนึ่ง" หยิบยกกรณีที่มีคนเชียร์เสื้อแดงจำนวนหนึ่งออกมาแสดงความ "รักพระบรมฯ" แล้วเหมือนจะมีคนส่วนหนึ่ง(เช่นผมคนนึง)ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย โดยมิตรสหายท่านนั้นเสนอว่า ไม่เห็นจะต้องไปแคร์หรือไปเครียดเลย ใครอยากจะ "รักพระบรมฯ" ก็รักไป ไม่เห็นผิดตรงไหน อะไรทำนองนั้น ผมจึงไปเขียนโต้แย้ง ข้อความข้างล่างนี้คือสิ่งที่ผมเขียน คิดว่าอาจจะมีประโยชน์ เลยนำมาตั้งเป็นกระทู้ให้ดูกันทั่วๆ
แน่นอน irony หรือ ตลกร้ายของเรื่องนี้คือ ถ้าเป็นเมื่อหลายๆปีก่อน ผมคงกำลังพูดกับคนรักเจ้าหรือรอยัลลิสต์ แต่ตอนนี้ พูดให้กับทั้งรอยัลลิสต์และคนเสื้อแดงที่คิดว่าอยู่ "ฝ่ายประชาธิปไตย" หรือกำลังเรียกร้องประชาธิปไตย อนึ่ง ข้อความข้างล่างนี้ผมใช้คำว่า "เสรีนิยม" โดยตลอด เพราะมิตรสหายท่านนั้น ใช้คำนี้ในความเห็นที่ผมโต้แย้ง (ทำนองว่า ถ้าคุณเป็นเสรีนิยมจริง จะไปเครียดหรือแคร์กับที่มีคน "รักพระบรมฯ" ทำไม) เวลาอ่านจะเปลี่ยนในใจเป็นคำว่า "ประชาธิปไตย" หรือ "นักประชาธิปไตย" หรือ "ฝ่ายประชาธิปไตย" ก็ได้
........................
ในกรณีนี้ - การรักเจ้า - ถ้าเรารัก คือเรากำลังรัก #ในสิ่งที่ห้ามคนเกลียด คือ #เรากำลังเข้าร่วมในกระบวนการกดทับไม่ให้คนเกลียดสิ่งที่เรารัก
กรณีเช่นว่านี้ #เสรีนิยมที่แท้จริงจึงต้องไม่รักในสิ่งที่ห้ามคนเกลียด คือต้องไม่ร่วมส่วน หรือ take part ในกระบวนการกดทับคนอื่น (ห้ามเขาเกลียดในสิ่งที่เรารัก) แต่ต้องเรียกร้อง #ก่อน ว่า จะต้องให้ทุกคนจะรักหรือเกลียดสิ่งนั้นได้โดยเสรี เราจึงจะค่อยยินดีรักสิ่งนั้น #เราจะไม่รักสิ่งนั้นจนกว่าจะทำให้สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่คนอื่นสามารถเกลียดได้โดยเสรี เราจึงจะรัก (ซึ่งถึงจุดนั้น ความรักของเราจึงเป็นความรักที่เสรีโดยแท้จริง ไม่ใช่ความรักบนฐานการกดทับความรู้สึกของคนอื่นไม่ให้เกลียด)
ในแง่นี้ เสรีนิยมที่แท้จริง จะต้องแคร์มากๆ ถ้าจะมีการรักอะไรในสิ่งที่ห้ามคนอื่นเกลียด คือแคร์มากๆว่าจะต้องไม่เข้าร่วมในกระบวนการรักที่อยู่บนฐานของการห้ามเกลียดในสิ่งที่เราจะรักนั้น #และต้องปฏิเสธที่จะมีความรักในภาวะเช่นนี้ #จนกว่าจะทำให้ทุกคนอื่นๆมีสิทธิ์ที่จะเกลียดในสิ่งที่เราคิดจะรักได้ นี่จึงจะเป็นเสรีนิยมที่แท้จริง
ผมนึกถึงตัวอย่างเปรียบเทียบ หรือ analogy อย่างหนึ่ง (แน่นอน เช่นเดียวกับ ตัวอย่างเปรียบเทียบทุกชนิด analogy นี้ก็มีข้อจำกัด ไม่เหมือนทั้งหมด แต่ใกล้เคียง เขียนเผื่อคนอื่นๆที่อ่านจะพอเห็นภาพมากขึ้น) ตัวอย่างเปรียบเทียบทีว่านี้ ความจริงอาจจะเคยเห็นในหนังสักเรื่องเกี่ยวกับอัฟริกาใต้สมัยแยกผิว หรือรัฐทางใต้สหรัฐก่อนขบวนการสิทธิพลเมือง
สมมุติมีไดเนอร์หรือร้านอาหารแห่งหนึ่ง ทำไพน์ที่เราชอบมากๆ แต่ร้านอาหารนี้มีเงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่ง คือจะขายเฉพาะลูกค้าที่เป็นคนผิวขาวเท่านั้น
สมัยเราเด็กๆ เราอาจจะเคยเข้าไปกินไพน์ร้านนี้บ่อย และชอบมากๆ เราไม่รู้ว่า อะไรคือการแยกผิว ทีสำคัญ ไม่รู้ว่าอะไรคือ "เสรีนิยม" แต่พอเราโตขึ้นมาพอจะรู้ว่า อะไรคือแยกผิว ความเสมอภาค ความเป็นคนเหมือนกัน รู้ว่าอะไรคือ เสรีนิยม
ถ้าเรายังคงไปกินไพน์ในร้านที่ว่านี้เสมอ เพราะเราชอบไพน์นั้น อย่างนั้น ก็เท่ากับเราไม่ได้เชื่อในเสรีนิยมจริงๆ เพราะการที่เราไปกินไพน์ในร้านที่ไม่ยอมบริการให้คนทีผิวสีต่างกับเราแบบนั้น #เท่ากับเรากำลังเข้าร่วมในกระบวนการแยกผิวที่ร้านนั้นปฏิบัติอยู่ด้วย #คือเราไปกินทั้งๆที่รู้ว่าร้านนี้ขายให้เฉพาะคนขาวเท่านั้น
ดังนั้น ถ้าเราเชื่อในเสรีนิยมจริง เราต้องปฏิเสธที่จะไม่เข้าร้านนี้ต่อไป ไม่ว่าเราจะชอบไพน์ร้านนี้ขนาดไหน
ทำนองเดียวกันกับเรื่อง "รัก" ที่เรากำลังพูดถึงนี้ ถ้าเราเชื่อในเสรีนิยมจริง เราจะต้องไม่รักสิ่งนั้น เพราะสิ่งนั้น ให้รักได้เท่านั้น ให้เกลียดไม่ได้ คือสิ่งนั้นกีดกันไม่ให้คนอื่นรู้สึกอย่างอืน (เหมือนร้านไดเนอร์ที่ห้ามไม่ให้คนสีผิวเข้าไปกิน) แต่เราจะต้องเรียกร้อง ต้องผลักดันให้ "ร้าน" ดังกล่าว เปลี่ยนนโยบายเช่นว่านั้นก่อน เราจึงจะเข้าไปกิน เราจะอ้างว่าเรา "ไม่แคร์" ต่อนโยบายนั้นไม่ได้ โดยบอกว่ามันเป็นสิทธิของเราที่จะกินหรือจะ รัก (ถ้าเราเชื่อเสรีนิยมจริงๆ) เพราะโดยการเข้าไป "กิน" หรือโดยการรักภายใต้ภาวะเช่นนั้น เท่ากับเราเข้าร่วมส่วนในการกีดกันคนอื่นพร้อมๆกันไปด้วย

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar