måndag 13 januari 2020

ถ้าประเทศไทยจะออกจากวิกฤติที่ยืดเยื้อมากว่าสิบปี ...


Somsak Jeamteerasakul updated his status.

ถ้าประเทศไทยจะออกจากวิกฤติที่ยืดเยื้อมากว่าสิบปี
ประชาชนที่สนใจและแอ๊คทีฟทางการเมืองทุกคน ทุกฝ่ายจะต้องหยุด
ทั้งการเชียร์อย่างหลับหูหลับตาต่อเจ้า และด่าอย่างหลับหูหลับตาต่อเจ้า*
ต้องหยุดทั้งการเชียร์อย่างหลับหูหลับตาต่อระบบการเลือกตั้งและนักเลือกตั้ง และด่าอย่างหลับหูหลับตาต่อระบบการเลือกตั้งและนักเลือกตั้ง
...............
* ควรหมายเหตุไว้ด้วยว่า ความ irony หรือตลกร้าย ณ ปัจจุบัน คือ คนที่เชียร์อย่างหลับหูหลับตาต่อเจ้า ไม่ใช่มีเฉพาะ "เสื้อเหลือง" เท่านั้น แต่กลายมาเป็นมี "เสื้อแดง" ที่เคยด่าอย่างหลับหูหลับต่อเจ้าด้วย (คลิปแดงใต้ดินคลิปหนึ่ง ถึงกับเสนอว่า ต้องรักษา 112 ไว้เพื่อปกป้องกษัตริย์ใหม่จาก "สุเทพ-สิรินธร")
Somsak Jeamteerasakul updated his status.

น่าเสียดายที่ จนบัดนี้ คนรักเจ้าไทย ตั้งแต่เจ้าระดับสูงสุดเอง ลงมาจนถึงระดับชาวบ้านธรรมดา ดูเหมือนไม่มีใครมีสายตากว้างไกล และมีความกล้าหาญทางคุณธรรมเพียงพอ ที่จะมองเห็นหรือยอมรับว่า
วิธีการรักษาให้ประเทศไทยมีสถาบันกษัตริย์อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนไป คือการต้องปรับเปลี่ยนสถานะของสถาบันกษัตริย์ที่เป็นอยู่ ด้วยการ:

- ยกเลิกการอบรมในระบบการศึกษาและการประชาสัมพันธ์ทั้งหมดเกี่ยวกับเจ้า แบบที่ทำอยู่ในขณะนี้ ในลักษณะปลูกฝัง เผยแพร่ข้อมูลด้านเดียว ที่ไม่ให้ตรวจสอบ ไม่ให้โต้แย้ง
ความรักเจ้า ถ้าจะเกิดขึ้น จะต้องปล่อยให้เป็นความรักที่เกิดขึ้นเอง ตัดสินใจด้วยวิจารณาณของตนเอง เมื่อพลเมืองทุกคนโตขึ้นพอจะคิดใช้วิจารณาณได้เอง ในภาวะที่สามารถรับรู้ข่าวสารข้อมูลอย่างเสรี รอบด้าน ตรวจสอบได้ - เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆทุกเรื่อง และแน่นอน หากพลเมืองคนใดตัดสินใจจะไม่รัก จะไม่ชอบ จะเกลียด เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ ก็ย่อมเป็นสิทธิ์ของพลเมืองแต่ละคน

- เพื่อการณ์นี้ จะต้องยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

- ยกเลิกอำนาจควบคุมของเจ้าต่อทรัพย์สินสาธารณะที่เรียกว่า "ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" โอนให้ทรัพย์สินดังกล่าว กลับมาเป็นทรัพย์สินสาธารณะโดยแท้จริง ที่อยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบของสาธารณะอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับทรัพย์สินสาธารณะส่วนอื่นๆ
การใช้จ่ายงบประมาณ และการเงินของเจ้าทั้งหมด เช่นเดียวกับพนักงานรัฐทุกตำแหน่ง จะต้องอยู่ภายใต้บรรทัดฐานเดียวกัน ที่สามารถควบคุมตรวจสอบได้

- ยกเลิกอำนาจทางการเมืองของเจ้า ตำแหน่งพระมหากษัตริย์จะต้องอยู่ในลักษณะเป็นเชิงพิธีการ (ceremonial) อย่างเข้มงวด พระมหากษัตริย์จะต้องไม่มีอำนาจใดๆในการจัดการกิจการทางการเมือง ไม่ว่าโดยเปิดเผยหรือโดยลับ การ "แต่งตั้ง" พนักงานรัฐทุกตำแหน่งจากระดับสูงสุดถึงต่ำสุด (จากกองทัพ ถึงศาล ฯลฯ) ในนามพระมหากษัตริย์ ต้องเป็นเพียงเรื่องในเชิง ceremonial (หรือ เป็นการแต่งตั้ง "โดย" พระมหากษัตริย์เพียงในนาม) ล้วนๆ
องค์กรและบุคคลากรจำนวนมากมาย ที่รายล้อมและขึ้นต่อเจ้าในปัจจุบัน ตั้งแต่องคมนตรี ถึง สน.พระราชวัง ถึงทหารรักษาพระองค์ จะต้องไม่อยู่ในการควบคุมของเจ้า คณะองคมนตรีต้องยกเลิก เพราะถ้าเลิกอำนาจทางการเมืองที่เพิ่งกล่าวข้างต้นแล้ว ความจำเป็นจะต้องมีคณะองคมนตรีก็หมดไป และที่ปรึกษาหรือการปรึกษาหารือราชการถ้าจะมีขึ้น (ซึ่งในทางปฏิบัติเรียกได้ว่าแทบจะไม่มีแล้ว นึกถึงกรณีอังกฤษ เป็นต้น) ก็สามารถใช้รัฐบาลเป็นที่ปรึกษา
................
ผมขอยกคำของคุณกษิต ภิรมย์ Kasit Piromya เมื่อปี 2553 มาให้ดูอีกครั้ง ผมยังเห็นและยืนยันจนวินาทีนี้ว่า นี่เป็นการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ที่มองการณ์ไกลและดีที่สุดในบรรดาคนที่อยู่ในวงการเมืองในรอบหลายๆสิบปีมานี้ น่าเสียดายที่คุณกษิต ขาดความพยายามและความกล้าหาญทางคุณธรรม ที่จะยืนยันสิ่งที่พูดนี้ ก็หวังว่าในอนาคต คุณกษิต และคนในวงการเมืองอื่นๆ จะหันกลับมาพยายามยืนยันในจุดยืนนี้อีกครั้ง
".... ผมคิดว่า เราต้องพูดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ [ว่า] สถาบันกษัตริย์จะต้องปฏิรูปตัวเองอย่างไรให้สอดคล้องกับโลกยุคโลกาภิวัฒน์สมัยใหม่ เช่นเดียวกับที่สถาบันกษัตริย์อังกฤษ, สถาบันกษัตริย์เนเธอแลนด์, เดนมาร์ค, ลิชเต็นสไตน์ ต้องผ่านอะไรมาบ้าง เพื่อปรับตัวเองเข้ากับโลกสมัยใหม่ ...."
".... ผมคิดว่า เราต้องกล้าพอที่จะผ่านสิ่งเหล่านี้ และพูดกันแม้แต่ในประเด็น 'ต้องห้าม' เรื่องสถาบันกษัตริย์. เราต้องทำให้เหมือน ลิชเก็นสไตน์ หรือ ลักเซ็มเบิร์ก ที่ต้องผ่านสิ่งเหล่านั้น. ทุกวันนี้ ทุกสิ่งทุกอย่าง [ควร] จะกลายเป็นเรื่องเปิด เพื่อที่จะได้ไม่เป็นอะไรที่ถูกซ่อนไว้ใน 'ยาฮู' หรือ 'กูเกิ้ล' อะไรแบบนั้น ไม่จำกัดเป็นแค่เรื่องถกเถียงกันใต้ดิน ใต้โต๊ะ อะไรแบบนั้น เราต้องซื่อตรงต่อกันและกัน ขอให้เรามาอภิปรายกันในเรื่องเหล่านี้ ...."
Somsak Jeamteerasakul updated his status.

ปัญหาใหญ่อยู่ที่ว่า จะแทนที่ระบอบ คสช หรือการเมืองแบบกษัตริย์นิยม-ทหารนิยม ด้วยอะไร? - "การเมืองแบบทักษิณ"?

ผู้ที่เรียกกันว่า "ฝ่ายประชาธิปไตย" คงตอบทำนองว่า ก็แทนที่ด้วย "ประชาธิปไตย"
แต่ "ประชาธิปไตย" ในหมู่คนที่คัดค้านรัฐประหาร คัดค้านระบอบ คสช มีความแตกต่างกันไม่น้อย และจริงๆแล้วก็เป็นอะไรที่นามธรรมเกินไป ปัญหายังอยู่ที่ว่าในทางรูปธรรม "ประชาธิปไตย" ที่ต้องการให้มาแทนที่ มีลักษณะหรือความหมายอย่างไรบ้าง?
หลายคนคงตอบเพิ่มเติมว่า ก็ให้มีการเลือกตั้ง และรัฐบาลเลือกตั้งมีอำนาจนำ
แต่อันนี้ ก็มีปัญหาต่อว่า - ยังไง? เหมือนก่อน 2549 ใช่หรือไม่? พูดอีกอย่างคือ เหมือนสมัยยุคทักษิณ นันคือแทนที่ด้วยการเมืองแบบสมัยทักษิณ?

แต่การเมืองแบบก่อน 2549 หรือ "การเมืองแบบทักษิณ" (ผมจงใจหลีกเลี่ยงใช้คำว่า "ระบอบทักษิณ" แต่ขณะเดียวกัน ผมเห็นว่า การเมืองช่วงนั้น มีลักษณะพิเศษบางอย่างที่กำลังจะกล่าว ที่มีคาแร็กเตอร์สำคัญบางอย่างเกี่ยวกับทักษิณ-ไทยรักไทย จริง)
มีลักษณะบางอย่างที่ควรตั้งคำถามว่า สมควรกลับไปจริงหรือ?

"การเมืองแบบทักษิณ-ไทยรักไทย ก่อน 2549" (ที่แม้แต่ช่วงยิ่งลักษณ์หรือปัจจุบัน ก็ยังมีลักษณะดังกล่าวบางอย่างอยู่) เป็นการเมืองแบบที่ฝ่ายบริหารสามารถควบคุมกลไกต่างๆได้ในระดับที่การถ่วงดุลย์-ตรวจสอบ ไม่อาจมีประสิทธิภาพอะไร (ทีสำคัญคือคุมทั้งสภาล่าง-สภาสูง ... แม้แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็คุมทั้งสภาล่าง-สภาสูง) ผลคือ ในทีสุด เมื่อระบบตรวจสอบ-ถ่วงดุลย์ ตามระบบมีปัญหา ฝ่ายที่ต่อต้านเลย "จุดชนวน" หรือ "เปิดสวิช" activate ให้กลไกส่วนอื่นๆ ออกมาทำการ "ควบคุม" หรือจริงๆคือ "ล้ม" เลย
(อันนี้ ยังไม่พูดถึงว่า เอาเข้าจริง การเมืองแบบทักษิณก่อน 2549 ไม่ได้แตะต้องหมวดกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ ไม่แตะต้อง 112 ไม่แตะต้องเรื่องทรัพย์สินฯ เป็นต้น ไม่ได้แตะต้องบรรดาระบบการอบรมเรื่องสถาบันฯ ฯลฯ)

ปัญหาใหญ่ในขณะนี้คือ กลุ่มการเมืองที่ต่อต้านรัฐประหารใหญ่ทีสุด คือ พรรคเพื่อไทย-เสื้อแดง ยังคงตั้งเป้าหมายอยู่ที่การแทนที่ระบอบ คสช ด้วย "การเมืองแบบทักษิณ ก่อน 2549" (เรื่องนี้มีรายละเอียดซับซ้อนลงไป ที่ไม่สามารถอภิปรายละเอียดในที่นี้ คือในหมู่ผู้สนับสนุน ทักษิณ-เพื่อไทย-เสื้อแดง นั้น มีส่วนที่เพียงต้องการกลับไปที่ "การเมืองแบบทักษิณ ก่อน 2549" ที่ไม่แตะเรื่องสถาบันฯ - ที่ผมเขียนในวงเล็บย่อหน้าก่อน - กับพวกทีเรียกว่า "เปลี่ยนระบอบ" คือต้องการให้จัดการเรื่องสถาบันฯด้วย #แต่ทั้งสองฝ่ายมีจุดร่วม #ตรงที่ยังไงก็ไม่ได้คิดอะไรหรือเสนออะไรที่ไกลเกินกว่าการเมืองแบบทักษิณ คือการเมืองที่พรรคการเมืองที่จะเป็นรัฐบาล คือพรรคทักษิณ ยังอยู่ในการควบคุมของทักษิณ-ครอบครัว ในลักษณะที่ผมเรียกว่า "บริษัทชินวัตรการเมืองจำกัด" อยู่ และในระดับกลไกรัฐส่วนกลาง ไม่มีการตรวจสอบ-ถ่วงดุลย์ที่มีประสิทธิภาพ)

ในความเห็นผม ที่เคยเข้าไปเถียงกับพวก "ใต้ดิน" หลายครั้งว่า ตราบใดที่พวกเขาและผู้สนับสนุนทักษิณ-เพื่อไทย ("เสื้อแดง") ในวงกว้างออกไป ยังมีเป้าหมายเพียงแค่กลับไปสู่การเมืองแบบทักษิณ (ก) โอกาสที่จะ "ชนะ" เป็นไปได้ยากมากๆ และ (ข) สมมุติว่า เกิด "ชนะ" ขึ้นมาจริงๆ #ก็เป็นอะไรที่ไม่ดีต่อการเมืองแบบประชาธิปไตยที่แท้จริง

ปล. และถึงจุดนี้ ผมก็ยังมองไม่เห็นว่า ฝ่ายต้านระบอบ คสช ที่เรียกกันว่า "เสรีนิยม" หน่อย - คือไม่ใช่ฝ่ายที่เชียร์ทักษิณ-เพื่อไทยโดยตรง - ซึ่งเป็นกำลังรองมากๆในกำลังต่อต้าน คสช มีข้อเสนออะไรชัดเจนว่า ต้องการเอาอะไรมาแทนที่ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายมากเหมือนกัน กลุ่มที่ว่านี้ ซึ่งมีนักวิชาการและแอ๊คติวิสต์ปัญญาชนหลายคน ควรจะสามารถ "ทำการบ้าน" หรือมีข้อเสนอเรื่องนี้ได้ดีกว่านี้

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar